“ขณะที่ผมไปสอนศิลปะ ผมก็ไปเรียนรู้ศิลปะจากชีวิตคนอื่นๆ ด้วย แลกเปลี่ยนกัน”

Start
370 views
34 mins read

ศิลปะกับการเรียนรู้

สนทนากับ ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ
กวีซีไรต์ผู้ใช้ศิลปะเป็นสื่อให้เด็กๆ เข้าใจคุณค่าของตัวเอง


อย่างที่ทราบ WeCitizens คือวารสารและสื่อออนไลน์ประกอบโครงการวิจัยเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยในฉบับนี้เราไปกันที่เมืองนครสวรรค์ เมืองที่มีแผนการใช้กลไกแห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเมืองสู่สมาร์ทซิตี้ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน อย่างไรก็ดีในอีกมุม การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ยังหมายรวมถึงการปลูกฝังให้ผู้คนรักในการเรียนรู้นอกตำรา เรียนรู้ทุกช่วงวัย และเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

นั่นจึงเป็นโอกาสที่ดีที่เราได้สนทนากับ กิตติศักดิ์ มีสมสืบ หรือที่รู้จักในนามปากกา ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ ศิลปินอิสระ กวีซีไรต์จากรวมบทกวี ‘มือนั้นสีขาว’ ปี พ.ศ. 2535 และศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ในปี 2559 ศักดิ์ศิริใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตในฐานะครูศิลปะในโรงเรียนที่อำเภอชุมแสง กระนั้นหลังเกษียณ เขาก็ยังคงทำการสอนศิลปะนอกห้องเรียนแก่เด็กๆ และผู้ที่สนใจ โดยมุ่งใช้ศิลปะเป็นสื่อให้ผู้เรียนเข้าใจชีวิต เข้าใจสังคม และรู้จักความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่เพื่อนมนุษย์

“การศึกษาสำหรับผม มันไม่ใช่แค่คุณเรียนเพื่อจะได้มีงานทำมาหล่อเลี้ยงปากท้อง แต่เป็นการเรียนเพื่อเลี้ยงชีวิต เลี้ยงจิตวิญญาณของเรา คุณเรียนรู้เพื่อจะได้รู้จักตัวเอง และรู้ว่าจะทำยังไงให้คุณและคนรอบข้างมีความสุข…” บางส่วนจากถ้อยคำสัมภาษณ์ของเขา

และนี่คือบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของเขา ศิลปินที่เติบโตมาในเมืองที่อาจไม่ได้มีความโดดเด่นด้านศิลปะเท่าไหร่อย่างนครสวรรค์ แต่เขาก็ยังเชื่อมั่นว่าศิลปะจะทำให้เมืองเมืองนั้นโดดเด่นและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เท่าที่ไปสัมภาษณ์ชาวนครสวรรค์หลายคน เขามีมุมมองคล้ายๆ กันว่านครสวรรค์ไม่ได้มีพื้นที่หรือบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเป็นเมืองศิลปะ หรือเป็นเมืองที่ศิลปินจะใช้ชีวิตอยู่ได้สักเท่าไหร่ เลยอยากทราบว่าอะไรทำให้อาจารย์สนใจศิลปะและวรรณกรรมได้ถึงขนาดนี้

ผมเป็นลูกครูน่ะ เกิดที่อำเภอไพศาลี พอเป็นลูกครู เลยได้โตมากับหนังสือ เลยได้อ่านวรรณคดี ศิลปะการละเล่นและการแสดงอยู่เยอะ มันก็สั่งสมความสนใจเรามาเรื่อยๆ จนอยากเรียนศิลปะ

อยากเป็นศิลปินตั้งแต่วัยรุ่นเลยหรือครับ

อยากเรียนเพราะอยากรู้ให้มากก่อน ผมไปเรียนศิลปะที่เพาะช่างในกรุงเทพฯ ตอนนั้นรู้อยู่แล้วว่าการเป็นศิลปินในเมืองไทยน่ะอยู่ยาก เนื่องจากการศึกษาศิลปะยังไม่ได้ลงลึกไปในเชิงที่ว่าทำให้เกิดรสนิยม เกิดหนทางเลือกของสังคม แต่ความที่ผมชอบ และเห็นว่าศิลปะมันช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจน่ะ เลยเลือกมาเป็นครูศิลปะก่อน แล้วก็สอบบรรจุเป็นครูที่อำเภอชุมแสง และอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ปี 2520

เป็นครูศิลปะเพื่อจะได้สอนเด็กๆ ให้เข้าใจในศิลปะ

ทำให้ผู้คนเรียนรู้และนำมันไปใช้ให้เกิดผลต่อชีวิต ต่อเพื่อนมนุษย์ และต่อสังคมน่ะ เพราะศิลปินจะมุ่งแต่ส่วนตนไม่ได้ ผมพยายามจะพูดเรื่องนี้มาตลอด แต่คุณเข้าใจไหมว่าระบบการศึกษาบ้านเรา ผู้ใหญ่จะมองกันว่าเรียนไปเพื่อจะได้ทำงานให้ตรงกับที่เรียน เรียนศิลปะคุณไม่มีงานทำหรอก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ การศึกษามีไว้เลี้ยงชีวิตเราทั้งชีวิต ไม่ใช่แค่เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง มันเลี้ยงจิตใจ เลี้ยงจิตวิญญาณ เลี้ยงอุดมคติเราทุกคน

แล้วการเป็นครูสอนศิลปะหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของเรายังไงได้บ้างครับ

การเห็นเด็กๆ มีความเข้าใจชีวิตระดับหนึ่ง มีมุมมอง และมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับเพื่อนมนุษย์ ผมบอกทุกคนเสมอว่าผมไม่ได้สอนให้เด็กๆ วาดรูปให้เป็น แต่ผมสอนศิลปะ สอนวิธีแก้ปัญหากับสิ่งที่พวกเขา กำลังเผชิญ 

อย่างชุมชนที่ผมอยู่ เด็กๆ ไม่ได้มาจากครอบครัวที่มีฐานะอะไร ผมก็ทำให้เขาเห็นว่าเราจะทำงานศิลปะอย่างไรให้ใช้เงินน้อยที่สุด ผมไปเจอสีผสมอาหารซองละ 2 บาท ใช้ 5 สี 5 ซอง เด็กทั้งชั้นมี 20 คน เราใช้งบประมาณค่าสีแค่ 10 บาท กระดาษเอาที่รีไซเคิลมาได้ เอาเทปกาวมาผนึกไม่ให้กระดาษย่น พู่กันไม่มี ใช้สำลีกับกิ่งไม้ก็ได้ นี่คือกระบวนการ ผมสอนทักษะการวาดรูปให้เขา แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือทักษะในการแก้ปัญหาจากข้อจำกัด สิ่งนี้สำหรับผมคือศิลปะ

ทุกวันนี้ยังสอนหนังสืออยู่ไหมครับ
ผมเกษียณมาสิบกว่าปีได้แล้ว แต่ก็ยังสอนเด็กๆ ในฐานะศิลปินผ่านการจัดกิจกรรมนอกห้องเรียนอยู่บ่อยๆ อย่างเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมเพิ่งจัดกิจกรรมวาดรูปแม่น้ำ มีเด็กๆ มาเข้าร่วม 30 คน แทบไม่มีทุนสนับสนุนเลย แต่ผมก็ใช้กระบวนการอย่างที่บอก ให้เด็กๆ เอากระดาษมาจากที่บ้าน บอกพวกเขาให้ห่อข้าวกลางวันมากินเอง ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่จะเอาอาหารมาเฉพาะแค่ของตัวเอง เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเอามาแบ่ง บ้านคุณมีส้ม คุณไม่หยิบส้มติดตัวมาลูกเดียวหรอก คุณก็หยิบมาเผื่อเพื่อน ซึ่งมันไม่ใช่แค่อาหาร แต่อุปกรณ์ศิลปะ เด็กๆ ก็ได้แบ่งปันกัน

เรานัดมาเจอกันที่ริมแม่น้ำ ผมก็บอกกับพวกเขาว่าการที่เราเอาของมาแบ่งกัน มันก็เหมือนกับแม่น้ำสายนี้ แม่น้ำไม่ใช่ของใคร แม่น้ำเป็นของโลก มีไว้สำหรับทุกคน และก็พาเขาไปดูริมน้ำ เจอขยะ เจอถุงพลาสติก ก็ชวนให้พวกเขาไปเก็บมาทิ้งถังขยะ ปรากฏว่าเด็ก 30 คน เก็บขยะคนละไม้ละมือ ขยะหายไปจากแม่น้ำเป็นร้อยๆ ชิ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร เกิดความรู้สึกในตัวเขาว่าพอได้ทำอะไรบางอย่างให้แม่น้ำดีขึ้น โดยที่เราไม่ต้องไปสอนเรื่องสิ่งแวดล้อม แค่คนเดินหน้าไปหยิบขึ้นมา คนเดินตามหลังหยิบสิ่งนี้มันส่งถึงกันได้โดยไม่ต้องสอนไม่ต้องสั่ง

อาจารย์คิดว่าเหตุผลที่อาจารย์จัดกิจกรรมนอกห้องเรียนเหล่านี้อยู่บ่อยๆ เป็นเพราะการเรียนรู้ในห้องเรียนมันไม่พอหรือเปล่า

เพราะในห้องเรียน เขาเน้นการสอนวิชาการมากกว่า แต่การมีชีวิตอยู่จริงมันไม่ใช่แค่เรื่องนี้ ขณะเดียวกัน แม้ผมเป็นคนสอน แต่ในอีกมุม ผมก็เป็นคนได้เรียนรู้จากพวกเขาด้วย ผมจึงเลือกที่จะจัดกิจกรรมหลายๆ พื้นที่

เช่นผมไปบ้านคลองเสลา อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ที่นั่นมีโรงเรียนอีมาดอีทราย เป็นโรงเรียนของเด็กชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ซึ่งโดยปกติพวกเขาจะพูดภาษาถิ่นของเขา แต่ถ้าเข้าโรงเรียนเขาจะต้องพูดภาษากลาง ช่วงที่ผมไปสอน ผมเลยขอให้เด็กๆ พูดภาษาถิ่นสื่อสารกับผม ซึ่งก็ปรากฏว่าผมฟังพวกเขาพูดไม่รู้เรื่องเลย อย่างไรก็ตาม ผมกลับรับรู้ความหมายได้ในเชิงนามธรรม และผมก็มีความสุขที่เห็นพวกเขายังคงแข็งแรงในการใช้ภาษาของพวกเขา ในเสื้อผ้า หรือในวัฒนธรรมของพวกเขา

นอกจากนั้นผมยังมีโอกาสได้กินแกงลูกมะตาด อาหารพื้นถิ่นที่นั่น และก็ได้สูตรอาหารมาหลายชนิดเลย ผมก็พูดคุยกับพ่อแม่ของเด็กๆ ว่าอาหารของพวกคุณอร่อยมากเลย ซึ่งจริงๆ อาหารทุกสัญชาติอร่อยหมดแหละ ถ้าเรารักพ่อแม่ปู่ย่าตายยายเรา เราก็ทำแบบนั้นแล้วเอาของอร่อยๆ ไปให้คนอื่นกินบ้าง ให้คนภาคกลางกิน ให้คนพื้นล่างกิน คือไม่ใช่ว่าของเราไม่ดีอะไรเขาเรียกว่าความนับถือตัวเอง นั่นล่ะ ขณะที่ผมไปสอนศิลปะ ผมก็ไปเรียนรู้ศิลปะจากชีวิตคนอื่นๆ ด้วย แลกเปลี่ยนกัน

กลับมาที่เมืองนครสวรรค์บ้าง อยากรู้ว่าบรรยากาศด้านศิลปะในเมืองนครสวรรค์ตอนนี้มันมีพื้นที่มากกว่าแต่ก่อนไหมครับ

ผมขอพูดถึงชุมแสงเมืองที่ผมอยู่ก่อน ชุมแสงเรามีตลาดร้อยปีที่เป็นตลาดเก่าแก่และมีทัศนียภาพที่สวย แต่ความที่มันอยู่กับวิถีชาวบ้านมานาน เขาก็ไม่ได้คิดว่านี่คือความงามทางศิลปะเท่าไหร่

ทีนี้ด้วยความที่ผมเป็นครูศิลปะที่อยากให้ศิลปะมันอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน ผมก็เลยเอางานที่ตัวเองวาดไปประดับตามผนังตรอกเรณู ซึ่งเป็นตรอกเล็กๆ ในตลาด ในที่ที่เขาอนุญาตให้ติด จากนั้นก็เริ่มชวนเด็กๆ มาวาดรูปเอาผลงานมาติด ศิลปะมันก็แค่นี้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่หรูหราใหญ่โต แม้แต่อยู่ในตลาดก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าของมันลดลงแต่อย่างใด

ล่าสุดก็เพิ่งมีการเปิดนิทรรศการศิลปะเล็กๆ ในตรอกนี้ โดยชวนศิลปินกรุงเทพฯ มาแสดงงาน ทีนี้พอผมเปิดตรอกนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐก็มาร่วมด้วยเลย นายอำเภอ วัฒนธรรมจังหวัด นายกเทศมนตรีก็มาลงพื้นที่ มีการจัดสรรงบมาฟื้นฟูพื้นที่ มีไฟมาติด โดยที่ผมไม่ได้ทำหนังสือไปเรียนเชิญ เขาเห็นว่าเป็นประโยชน์กับเมืองก็เลยมา ผมก็ยินดีต้อนรับ แต่วันงานเปิดเราก็ไม่มีโซฟาหรูหราให้นั่งหรอกนะ ไม่มีพิธีให้ผู้ใหญ่มากล่าวเปิดงานด้วย เราทำงานกันอย่างเรียบง่าย ซึ่งปรากฏว่าคนมาร่วมงานก็มีความสุขกันมาก

แล้วกับในเทศบาลนครนครสวรรค์ล่ะครับ

เจ้าของห้างสรรพสินค้าแฟรี่แลนด์เขามีวิสัยทัศน์ที่ดีมากๆ เขาจัดตั้งหอศิลป์เมืองนครสวรรค์ขึ้น และผมก็ไปช่วยเขาประสานกับเครือข่ายศิลปินในจังหวัด ให้คัดเลือกมาแสดงงาน เขามีแผนอยากให้เมืองของเรามีพื้นที่ศิลปะให้มากกว่านี้ ไปจนถึงการเป็นเจ้าภาพเทศกาลศิลปะระดับนานาชาติ หรือ อาร์ทเบียนนาเล่ ถึงผมจะยินดีสนับสนุนเขาเต็มที่ แต่สำหรับผมเป้าหมายนี้ไม่สำคัญหรอก สิ่งสำคัญกว่าคือการทำให้ศิลปะมันเข้าไปอยู่ในชีวิตคนในเมืองนี้มากกว่า

แล้วกับที่อาจารย์ทำพื้นที่ศิลปะที่ตลาดร้อยปี ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของชาวบ้าน หรือมีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้เรารู้สึกว่ามาถูกทางแล้วบ้างไหมครับ

เราเห็นว่าสิ่งนี้ค่อยๆ ขยับไปเรื่อยๆ นะ แรกๆ เอารูปอะไรมาติด บางรูปเป็นทิวทัศน์ เป็นดอกไม้ คนก็ชอบเพราะมันสวยดี บางรูปเป็นคนร้องไห้ หรือปีศาจ เขาก็บอกว่ามันน่ากลัว หรือเป็นรูปนามธรรมเขาก็บ่นว่าดูไม่รู้เรื่อง อย่างไรก็ตาม พอเราได้เอางานมาแสดง ก็ทำให้เด็กๆ ในโรงเรียนต่างๆ สนใจ และร่วมทำงานเพื่อมาแสดงด้วย

และพอตรอกแห่งนี้ได้รับความสนใจ เทศบาลเขาก็เอาไฟมาติด นำงบประมาณมาช่วยปรับปรุงพื้นที่ให้โดยที่เราไม่ได้ขอ หรือกระดานมันผุ ก็มีคนในตลาดเอากระดานใหม่มาปูให้ ตรอกมันมีการขับเคลื่อนด้วยตัวเองตามวิถีอย่างน่ายินดี   

แต่ที่เล่ามานี้ก็ใช้เวลาพิสูจน์นานเหมือนกันนะ ผมทำตรอกนี้มาเป็น 10 ปีแล้ว ขณะเดียวกัน กับเมืองชุมแสงหรือกับเมืองนครสวรรค์ มันก็ไม่ใช่แค่มีผมทำคนเดียว คนหนุ่มสาวเขาก็ทำแกลเลอรี่ ทำพื้นที่ศิลปะควบคู่ไปด้วย ผมถือว่าตัวเองเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของพลวัตของเมืองในแง่มุมของศิลปะ 

เป้าหมายที่อาจารย์ยังคงสอนศิลปะอยู่คือการบ่มเพาะศิลปะให้อยู่ในหัวใจเด็กๆ แต่ขณะเดียวกัน โลกเราทุกวันนี้มันเคลื่อนตัวไปเร็วมากๆ ช่องว่างระหว่างวัยก็ถูกถ่างขึ้นเรื่อยๆ เลยอยากรู้ว่าอาจารย์รับมือกับความท้าทายตรงนี้ยังไง

ผมพยายามทำในพื้นที่ของผมให้ดีที่สุด สอนศิลปะให้กับเด็กๆ ในแบบของผมต่อไป แต่นั่นล่ะ แค่นี้มันยังไม่เพียงพอ ทุกองค์ประกอบในสังคมมันต้องช่วยกัน คุณจะไปโทษระบบการศึกษาหรือการเมืองอย่างเดียวก็ไม่ได้ หรือคุณจะบอกว่าครอบครัวเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งก็ใช่ แต่อย่าลืมว่าครอบครัวหนึ่งคุณมีสมาชิกกี่คน… 4-5 คน นั่นไม่เพียงพอหรอก ผมว่าทั้งหมดทั้งมวลคือการที่ทุกฝ่ายรู้หน้าที่ของตัวเอง รู้จักเรียนรู้เพื่อตระหนักในคุณค่าและศักดิ์ศรีของตัวเอง ถ้าคุณตระหนักในสมบัติที่คุณมีสิ่งนี้ อะไรก็มาทำให้คุณหวั่นไหวไม่ได้ อย่าเอาแต่โทษคนอื่น เริ่มจากตัวคุณเอง ผมจึงย้ำอยู่เสมอว่าการศึกษาน่ะสำคัญ ทั้งในและนอกห้องเรียน เพราะมันทำให้คุณรู้จักคุณค่าของคุณเอง 

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย