“ข้อดีของวัฒนธรรมจีนก็คือ การส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นที่ไม่เฉพาะแค่ด้านการบริหารกิจการของตัวเอง แต่ยังรวมถึงบทบาทในงานทางสังคมต่างๆ”

Start
321 views
11 mins read

“พิษณุโลกเป็นเมืองที่มีคนไทยเชื้อสายจีนอยู่มากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ รองจาก กรุงเทพฯ ภูเก็ต และนครสวรรค์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าความเจริญย่านใจกลางเมือง บริเวณหอนาฬิกาเรื่อยไปถึงหน้าศูนย์การค้าท็อปแลนด์ ส่วนหนึ่งก็มาจากการบุกเบิกของลูกหลานชาวจีนที่บรรพบุรุษของพวกเขาเข้ามาตั้งรกรากที่นี่

และเพราะมีลูกหลานชาวจีนอยู่มาก กลุ่มพ่อค้าชาวจีนในพิษณุโลกจึงก่อตั้งโรงเรียนสิ่นหมิน บนถนนบรมไตรโลกนาถขึ้น โดยแต่เดิมใช้ชื่อว่าโรงเรียนแชมิน เปิดทำการสอนครั้งแรกในปี พ.ศ. 2465 ปัจจุบันโรงเรียนมีอายุ 101 ปี จนทุกวันนี้ โรงเรียนก็ยังเปิดสอนภาษาไทยและจีนควบคู่การเรียนวิชาสามัญ โดยเน้นการบริการการศึกษาแก่ชุมชนเป็นหลัก โดยทำการสอนนักเรียนชั้น ป.1-ป.6 ก่อนที่ต่อมาจะมีการจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลประชาราษฎร์ จัดการการศึกษาในระดับอนุบาล ภายใต้การดูแลของสมาคมนักเรียนเก่าสิ่นหมิน

ภายหลังเปิดโรงเรียนสิ่นหมิน ด้วยเห็นว่ายังมีลูกหลานชาวจีนอพยพมาตั้งรกรากในพิษณุโลกอย่างต่อเนื่อง จึงมีการจัดตั้งสมาคมจีนจังหวัดพิษณุโลกขึ้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนชาวจีนในพิษณุโลก เมื่อราว 76 ปีก่อน โดยผู้บริหารโรงเรียนสิ่นหมินจะเป็นคณะกรรมการของสมาคมจีนแห่งนี้ด้วย

นอกจากการช่วยเหลือชาวไทยเชื้อสายจีน รวมถึงชาวจีนที่เข้ามาในจังหวัดพิษณุโลกทั้งด้านการท่องเที่ยวและการลงทุน สมาคมจีนยังสนับสนุนด้านการศึกษาด้วยการมอบทุนการศึกษาแก่ผู้ขาดโอกาส โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องมีเชื้อสายจีนหรือไม่

ที่สำคัญ เรายังทำงานด้านการบริการสังคมแก่เมืองพิษณุโลก ทั้งการเป็นผู้สนับสนุนจัดงานเทศกาลต่างๆ ของจังหวัด อาทิ เทศกาลสงกรานต์ เทศกาลลอยกระทง งานสมโภชพระพุทธชินราช และอื่นๆ รวมถึงเป็นคณะกรรมการดูแลศาลหลักเมืองพิษณุโลก และงานด้านพัฒนาชุมชนอื่นๆ ด้วยความที่ลูกหลานชาวจีนตระหนักดีว่าการที่ทุกคนมีวันนี้ได้ก็เพราะเมืองพิษณุโลก สมาคมจึงร่วมมีส่วนในการพัฒนาเมืองในภาพรวมด้วย

เช่นในปีที่ผ่านมาที่ทางคณะนักวิจัยโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้จากมหาวิทยาลัยนเรศวร เข้ามาทำโครงการย่านเก่าเล่าเรื่องในพื้นที่ตลาดใต้ ซึ่งเป็นย่านชุมชนเก่าแก่ของคนไทยเชื้อสายจีน สมาคมจีนในฐานะที่เป็นคณะกรรมการดูแลศาลเจ้าพ่อปุ่นเถ่ากง-ม่า ก็เข้าไปร่วมโครงการ ทั้งในฐานะผู้อำนวยความสะดวกด้านสถานที่ และการนำเสนอข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ในพื้นที่

ในทางกลับกัน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นวันชาติจีน ทางสมาคมของเราก็ขอความอนุเคราะห์จากทางโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ นำวิดีโอนำเสนอศักยภาพของตลาดใต้ที่ทางโครงการจัดทำไปจัดฉายให้ท่านกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำจังหวัดเชียงใหม่ได้รับชม ในโอกาสที่ท่านมาร่วมงานวันชาติที่โรงแรมท็อปแลนด์ พิษณุโลก โดยในงานนั้นสมาคมจีนเป็นเจ้าภาพในนามสหสมาคมไทย-จีนพิษณุโลก ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของสมาคมต่างๆ ของผู้ประกอบการเชื้อสายจีนในจังหวัด

และเพราะความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันมาเช่นนั้น แม้เราจะใช้ชื่อว่าสมาคมจีน แต่เชื้อชาติก็ไม่ใช่ข้อจำกัดหรืออุปสรรคใดๆ ในการทำงานที่ผ่านมา เพราะเอาเข้าจริงคนเชื้อสายจีนก็กลมกลืนเหนียวแน่นกับคนพิษณุโลกพื้นถิ่นมานับศตวรรษ และพวกเขาเหล่านี้ก็เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเมืองพิษณุโลกในปัจจุบัน

สำหรับโอ๋ คิดว่าข้อดีของวัฒนธรรมจีนก็คือ การส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นที่ไม่เฉพาะแค่ด้านการบริหารกิจการของตัวเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบทบาทในงานทางสังคมต่างๆ โดยคนรุ่นก่อนหน้าเขาจะขึ้นไปเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ และเปิดทางให้ลูกหลานมาทำงานต่อ นั่นทำให้เครือข่ายสมาคมต่างๆ ที่ทำงานเพื่อสังคมเมือง มีคนรุ่นใหม่มาช่วยสานงานต่ออย่างไม่ขาดช่วง”  

ณภัค อยู่เย็นธนภา
เจ้าหน้าที่ประสานงานสมาคมจีน จังหวัดพิษณุโลก

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย