จากทวดทองสู่นครราษฎรสร้าง
สำรวจหาดใหญ่ผ่านประวัติศาสตร์
ข้ามศตวรรษ

Start
557 views
46 mins read

หาดใหญ่คือชื่ออำเภอหนึ่งของจังหวัดสงขลา ด้วยสถานะของการเป็นศูนย์กลางของหลายสิ่งอย่างในภาคใต้ตอนล่าง รวมถึงการเป็นที่ตั้งของท่าอากาศยานนานาชาติ หลายคนจึงเข้าใจผิดว่านี่คือชื่อจังหวัด หรือเข้าใจว่าเป็นอีกชื่อของอำเภอเมืองจังหวัดสงขลา  

อย่างไรก็ตาม หาดใหญ่คือชื่ออำเภอ ส่วนอำเภอเมืองจังหวัดสงขลาอยู่ห่างออกมาราว 30 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ นี่คืออำเภอที่ว่าไปแล้วก็มีเกร็ดอันย้อนแย้งหลายประการ ไม่ว่าจะเรื่องความเข้าใจผิดถึงสถานะของเมืองดังที่ว่ามา การมีชื่อขึ้นต้นด้วยหาด แต่กลับไม่มีพื้นที่ติดทะเล หรือการที่เมืองมีสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ (สวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ มีพื้นที่กว่า 900 ไร่) แต่กลับแทบไม่มีพื้นที่สีเขียวในย่านชุมชนและย่านเศรษฐกิจใจกลางเมืองเลย เป็นต้น

เดิมชื่ออำเภอฝ่ายเหนือ ซึ่งมีหมู่บ้านเพียง 2 แห่งคือบ้านโคกเสม็ดชุดและบ้านท่าหาดใหญ่ พื้นที่เต็มไปด้วยป่าต้นเสม็ดชุนและท้องนา กระทั่งมีทางรถไฟพาดผ่าน เกิดสถานีรถไฟชุมทางอู่ตะเภา ก่อนจะถูกย้ายและเปลี่ยนชื่อไปเป็นสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ และมีชาวจีนผู้รับเหมาสร้างทางรถไฟมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ จึงกว้านซื้อที่ดินรอบสถานี และพัฒนาจนเกิดเป็นเมืองเล็กๆ ที่ต่อมาถูกเปลี่ยนจากอำเภอฝ่ายเหนือเป็น ‘อำเภอหาดใหญ่’ ดึงดูดให้ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศเดินทางมาลงหลักปักฐานเพื่อทำการค้าที่นี่ตลอดศตวรรษที่ผ่านมา

และอาจเพราะที่นี่เป็นเป็นศูนย์กลางความเจริญหลายสิ่ง ยกเว้นอยู่อย่างเดียวคือศูนย์กลางราชการ ในอีกมุมหนึ่ง หาดใหญ่จึงได้รับการจดจำในฐานะเมืองที่ราษฎรหรือสามัญชนช่วยกันสร้างและพัฒนาขึ้นมา…

ไม่ว่าจะตำนานเรื่อง ‘ทวดทอง’ นายโรงมโนราห์ผู้หักร้างถางพงป่ากันดารให้กลายเป็นแผ่นดิน และถือเป็นบรรพบุรุษของชาวหาดใหญ่ (ปัจจุบันมีอนุสรณ์สถานทวดทอง ตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาลหาดใหญ่) จนถึงยุคที่เมืองก้าวเข้าสู่ความทันสมัยจากการมาของสถานีรถไฟ และการพัฒนาพื้นที่และสาธารณูปโภคของบุคคลสำคัญทั้งสี่คน ได้แก่ นายเจียกีซี (ต่อมาได้รับพระราชทานนามเป็นขุนนิพัทธ์จีนนคร) คุณพระเสน่หามนตรี นายซีกิมหยง และพระยาอรรถกระวีสุนทร ก่อนจะมีการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น จนมาถึงชาวหาดใหญ่ในปัจจุบัน

อย่างที่ทราบกัน WeCitizens ฉบับนี้ พาไปรู้จักหาดใหญ่ผ่านโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ ‘คลองเตยลิงก์’ แต่ก่อนจะไปสำรวจพื้นที่คลองและฟังเสียงของคนที่นี่ เราขอพาผู้อ่านย้อนเวลากลับไปสำรวจพัฒนาการของเมืองเมืองนี้ จากท้องนาห่างไกลความเจริญ สู่เมืองที่มีความเจริญเป็นอันดับต้นๆ รวมถึงเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับประเทศ จากการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตและส่งอีเมลฉบับแรกของไทย

ลำดับเหตุการณ์ด้วยปีพุทธศักราช (พ.ศ.)

2381

ชื่อหาดใหญ่ปรากฏหลักฐานครั้งแรกในเหตุการณ์ปราบกบฏไทรบุรี รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ในครั้งนั้น ตนกูมูฮาหมัดซาอัด (Tunku Muhammad Sa’ad) และตนกูมูฮาหมัดทาอิบ (Tunku Muhammad Taib) สองพี่น้องผู้เป็นหลานชายของอดีตสุลต่านตวนกูปะแงหรัน พยายามกอบกู้รัฐไทรบุรีจากสยาม พวกเขาได้เข้ายึดเมืองไทรบุรีและตรัง ก่อนเข้ารุกรานเมืองปัตตานีและสงขลา ทั้งนี้ในเอกสารจดหมายหลวงอุดมสมบัติที่เขียนถึงพระยาศรีพิพัฒน์ (ทัด) ฉบับที่ 1 และในพงศาวดารเมืองสงขลา เรียบเรียงโดยพระยาวิเชียรคิรี (ชม) กล่าวว่าในระหว่านั้นได้เกิดศึกสงครามระหว่างเมืองไทรบุรีกับเมืองสงขลา ปรากฎว่าทุ่งหาดใหญ่เป็นหนึ่งในเส้นทางของการทำศึกสงครามด้วย 

2405                   

สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โปรดเกล้าให้สร้างทางหลวงระหว่างเมืองไทรบุรีเชื่อมต่อเมืองสงขลา (ถนนกาญจนวนิช) เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรไปมาได้สะดวก ส่งผลให้หาดใหญ่ซึ่งในสมัยนั้นอยู่ในเขตของอำเภอฝ่ายเหนือ กลายเป็นศูนย์กลางคมนาคมและขนส่งสินค้า

2452         

สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) มีพระบรมราชโองการให้สร้างทางรถไฟสายใต้ และนายเจียกี

ซี ชาวจีนจากมณฑลกวางตุ้ง ได้เข้าทำงานกับบริษัทรับเหมาสร้างทางรถไฟ โดยทำหน้าที่เป็นผู้จัดการและ

ผู้จัดการทั่วไปเส้นทางพัทลุง-สงขลา

2455         

ภายหลังที่นายเจียกีซี รับเหมาสร้างสถานีรถไฟปาดังเบซาร์และสุไหงโกลกแล้วเสร็จ เขาได้ย้ายมาปลูกบ้านริมคลองอู่ตะเภา (ข้างที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ในปัจจุบัน) ก่อนซื้อที่ดินบริเวณบ้านโคกเสม็ดชุนจำนวน 50 ไร่ ด้วยเงิน 175 บาท ซึ่งต่อมาที่ดินบริเวณนี้ ทางการได้ขอซื้อต่อเพื่อทำเป็นสถานีรถไฟโคกเสม็ดชุน หรือสถานีหาดใหญ่ในปัจจุบัน

2456

เริ่มมีการทำเหมืองแร่ในจังหวัดสงขลา นายเจียกีซีก่อตั้งบริษัทนิพัทธ์และบุตร เพื่อดำเนินกิจการแร่ดีบุกและวุลแฟรม โดยในปีนั้นเอง พระเสน่หามนตรี (ชื่น สุคนธหงส์) ย้ายจากพัทลุงมาเป็นนายอำเภอฝ่ายเหนือ

2459

หลังจากนายเจียกีซีขายที่ดินให้ทางการนำไปทำสถานีรถไฟ เขาได้ปรับพื้นที่ใกล้ๆ เป็นห้องแถวไม้หลังคามุงจากจำนวน 5 ห้อง โดย 2 ห้องแรกเปิดให้เพื่อนเช่าทำโรงแรม (โรงแรมเคี่ยนไห้ และหยี่กี่ ซึ่งถือเป็นโรงแรมแห่งแรกของเมือง) ส่วนอีก 3 ห้องหลังเป็นบ้านพักอาศัย ร้านขายของชำ และโรงแรมของเขาเอง (โรงแรมซีฟัด ปัจจุบันคือที่ตั้งของธนาคารนครหลวงไทย) และจากห้องแถว 5 ห้อง ก็มีการตัดถนนอีก 3 สาย ได้แก่ถนนเจียกีซี 1, 2 และ 3 (ต่อมาคือถนนนิพัทธ์อุทิศ 1, 2 และ 3) พร้อมมีการวางผังเมืองแบบตาราง (grid) โดยได้นำรูปแบบมาจากผังเมืองสุไหงปัตตานี ประเทศมลายู ซึ่งเป็นผังเมืองที่ทางการอังกฤษมาออกแบบไว้อีกที

2460

มีการเปลี่ยนชื่ออำเภอฝ่ายเหนือเป็นอำเภอหาดใหญ่ โดยที่มาของชื่อหาดใหญ่นี้มีหลากหลาย บ้างก็ว่าในอดีตมีท่าเรือตั้งอยู่บริเวณคลองอู่ตะเภา (หลังที่ว่าการอำเภอในปัจจุบัน) บริเวณดังกล่าวมีหาดทรายขนาดใหญ่ ทำให้ชาวบ้านเรียกกันว่าท่าหาดใหญ่ ส่วนอีกที่มา คือการเรียกชื่อจาก ‘ต้นมะหาด’ ซึ่งเป็นไม้หมายเมืองสูงสง่าบริเวณที่ปัจจุบันคือถนนนิพัทธ์อุทิศ 3 ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าต้นมะหาดใหญ่ ก่อนจะมีการกร่อนคำเหลือเพียงหาดใหญ่ ทั้งนี้ ภายหลังมีการเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอหาดใหญ่ พระเสน่หามนตรี (ชื่น สุคนธหงส์) ก็ดำรงตำแหน่งนายอำเภอหาดใหญ่คนแรก โดยในปีเดียวกันนั้นเองก็ได้มีการย้ายสถานีรถไฟอู่ตะเภาที่เผชิญปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้งมายังสถานีรถไฟโคกเสม็ดชุน หรือสถานีรถไฟหาดใหญ่ในปัจจุบัน

2466

ปีเดียวกับที่หลวงพ่อปาน ปุญญมณี บุกเบิกวัดร้างเป็นวัดโคกเสม็ดชุน นายซีกิมหยง บุตรชายของนายซียิซาน ผู้รับเหมาสร้างทางรถไฟสายใต้ ได้ย้ายมาตั้งรกรากที่หาดใหญ่ และกว้านซื้อที่ดินในพื้นที่เพื่อสร้าง ‘ตลาดซีกิมหยง’ หรือตลาดกิมหยงในปัจจุบัน รวมถึงมีการสร้างวัดจีน โรงเจ สุเหร่า โรงพยาบาลมิชชั่น และโรงเรียนศรีนคร ทั้งนี้ในช่วงทศวรรษ 2460 เป็นต้นมา หาดใหญ่รุ่งเรืองทั้งการเป็นสถานีการค้าทางรถไฟ บริษัททำยางพารา โรงมหรสพ และตลาด อันถือเป็นเมืองที่มีความทันสมัยที่สุดในภาคใต้ตอนล่าง

2467

มีการจัดงานเฉลิมฉลองสถานีรถไฟและตลาดโคกเสม็ดชุน (ตลาดหาดใหญ่) โดยในปีนั้นจึงถือเป็นปีของการเปิดทำการสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่อย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกันได้มีหมอจากอินเดีย นามว่า ‘ปิแอร์’ ได้เปิดคลินิกรักษาโรคชื่อว่า ‘ดาราสยามโอสถ’ บริเวณถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 กล่าวได้ว่านี่คือคลินิกรักษาโรคของเอกชนแห่งแรกของเมืองหาดใหญ่

2468

มีการก่อตั้งบริษัท ยิบอินซอย แอนโก บนถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 ทำหน้าที่ซื้อแร่เพื่อส่งไปถลุงที่ปีนัง ภายหลังได้รับซื้อไม้สัก ยางพารา และสินค้าพื้นเมือง โดยในปีเดียวกันและในพื้นที่เดียวกันนั้นยังมีการจัดสร้าง ‘บ้าน 9 ห้อง’ โดย นายห้าว่านชิว นักธุรกิจเหมืองแร่จากเมืองอิโปห์ เป็นอาคาร 2 ชั้น จำนวน 9 ห้อง กว้าง 6 เมตร ลึก 30 เมตร ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างตะวันตกและตะวันออก (Eclectic Style) โดยเปิดให้เช่าราคาสูงถึง 20 บาทต่อห้องต่อเดือน (สมัยนั้นทองคำหนัก 4 บาทมีราคา 40 บาท) ปัจจุบันบ้าน 9 ห้องยังได้รับการอนุรักษ์โครงสร้างไว้อย่างดี และกลายเป็นแลนด์มาร์คหนึ่งในย่านใจกลางเมืองหาดใหญ่   

2472
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เสด็จประพาสภาคใต้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อนายเจียกีซี เป็น ‘ขุนนิพัทธ์จีนนคร’ ขณะเดียวกันในปีนี้ ก็มีการเปิดโรงภาพยนตร์หาดใหญ่สำเริงสถาน หรือ HAADYAICINEMA ดำเนินการโดยบริษัทภาพยนตร์ซีตงก๊ก


2478

ประชากรหาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น จึงมีประกาศในพระราชกฤษฎีกา ยกฐานะเป็นสุขาภิบาลหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2478 และมีการก่อตั้งโรงเรียนหาดใหญ่วิทยา โรงเรียนราษฎร์แห่งแรกในอำเภอ มีอาจารย์ประดิษฐ์ ดิษยะศริน เป็นครูใหญ่คนแรก

2484

เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา และเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม กองทัพญี่ปุ่นบุกสงขลา มีการทิ้งระเบิดบริเวณหน้าสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ และในปีต่อมา (พ.ศ. 2485) ญี่ปุ่นได้เข้ามาสร้างสะพานข้ามคลองอู่ตะเภา ข้างที่ว่าการอำเภอ ทำให้มีทางสัญจรได้ทั้งทางรถไฟและทางถนน

2487
เปิดโรงเรียนสตรีแห่งแรกของเมืองหาดใหญ่ ชื่อ โรงเรียนสตรีสมบูรณ์กุลกันยา ปัจจุบันคือ โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา 

2491

ชาวมุสลิมเปิด ‘สามัคคีสมาคมมุสลิมสามัคคี’ โดยมีโต๊ะครูหะยีแอ เป็นแกนนำหลัก หลังจากนั้นจึงมีมัสยิดและชุมชนมุสลิมเกิดขึ้นเรื่อยมา

2493

เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในเมืองหาดใหญ่ โดยเปลวเพลิงเผาผลาญบ้านเรือนบริเวณถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 เสียหายเกือบทั้งสาย นับว่าเป็นอัคคีภัยครั้งใหญ่ที่สุดของเมือง

2498

เทศบาลในยุคนายกเทศมนตรี กี่ จิรนคร จัดซื้อที่ดิน 203 ไร่ บริเวณเชิงเขาคอหงส์ เพื่อพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็นสวนสาธารณะ ซึ่งต่อมารู้จักในชื่อสวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ ซึ่งกลายมาเป็นสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ ด้วยพื้นที่ 974 ไร่ โดยภายในยังเป็นที่ตั้งของสวนสัตว์หาดใหญ่ (ปัจจุบันปิดไปแล้ว) ท้องฟ้าจำลอง ร้านอาหาร และหาดใหญ่เคเบิ้ลคาร์ หรือโครงการกระเช้าลอยฟ้าชมเมือง

2499

ชาวหาดใหญ่ร่วมก่อตั้งมูลนิธิมิตรภาพสามัคคี (ท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง) ขึ้นเป็นแห่งแรกในภาคใต้ โดยทางมูลนิธิมิตรภาพสามัคคี (ท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง) ยังได้สร้างโรงพยาบาลขึ้น ชื่อโรงพยาบาลมูลนิธิมิตรภาพสามัคคี

2500
เปิดตลาดสดหาดใหญ่ พร้อมหอนาฬิกา และมีการก่อสร้างโรงพยาบาลหาดใหญ่ในพื้นที่ป่าช้าและโรงฆ่าสัตว์เก่า ก่อนที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จมาทำพิธีเปิดในวันที่ 24 มิถุนายน 2502

2510
เปิดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของภาคใต้ โดยชื่อย่อ ม.อ. มาจากชื่อพระนามเดิมของพระราชบิดาของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั่นคือ ‘มหิดลอดุลยเดช’ ทั้งนี้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยกว่า 1,000 ไร่ เดิมเป็นของพระยาอรรถกวีสุนทร ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่คนหาดใหญ่ให้การนับถือ ท่านเป็นคนบริจาคที่ดินผืนนี้เพื่อจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยภาคใต้ ซึ่งเป็นชื่อเดิมของ ม.อ.

2511

สร้างสะพานลอยแห่งแรกของเมือง บริเวณสี่แยกโรงแรมวีแอล คนหาดใหญ่จึงจดจำสี่แยกนี้ ในอีกชื่อว่า ‘สี่แยกสะพานลอย’ โดยในปีต่อมา (2512) มีการเปิดใช้สะพานข้ามทางรถไฟ ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างที่สร้างความตื่นตาให้คนในเมืองยุคนั้นอย่างมาก มีการราดยางมะตอยสีดำบนสะพาน จึงเรียกว่า ‘สะพานดำ’

2515

เปิดโรงแรมสุคนธา โรงแรมชั้นนำแห่งแรกๆ ของเมืองหาดใหญ่ บริเวณศูนย์การค้าเสน่หามนตรี ชั้นล่างของโรงแรมมีลานโยนโบว์ลิ่ง และห้องอาหารมรกต เสิร์ฟอาหารนานาชาติเจ้าแรกๆ ของเมือง รวมถึงเป็นที่ตั้งของดิสโก้เธคที่ได้รับความนิยมอย่างมากในยุคนั้น โรงแรมแห่งนี้เปิดทำการถึงราวต้นทศวรรษ 2530 ก่อนปิดกิจการ และมีการสร้างโรงแรมขึ้นมาใหม่ในชื่อ เซ็นทรัลสุคนธา หรือที่รู้จักในชื่อ โรงแรมเซ็นทารา หาดใหญ่ ในปัจจุบัน

2530

มีอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นเป็นที่แรก ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปี 2530 เป็นการเชื่อมต่อเครื่องคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับสถาบันเทคโนโลยีแห้งเอเชีย (AIT)  ไปยังมหาลัยวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย โดยในปีถัดมา ในวันที่ 2 มิถุนายน 2531 ก็มีการส่งอีเมลฉบับแรกที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย โรเบิร์ต เอลซ์ โปรแกรมเมอร์ผู้มาช่วยพัฒนาระบบ ได้เป็นผู้ส่งอีเมลฉบับนี้ไปยังมหาวิทยาลับเมลเบิร์น ซึ่งเนื้อความในอีเมลมีเพียงคำทักทายว่า Hi และลงท้ายว่า Bye เพื่อเป็นการทดสอบระบบ 

2531

เปิดทำการท่าอากาศยานหาดใหญ่ในฐานะสนามบินพาณิชย์ หลังจากแต่เดิมเป็นสนามบินศุลกากรหาดใหญ่ตั้งแต่ปี 2515

2538

ยกสถานะเทศบาลเมืองหาดใหญ่สู่เทศบาลนครหาดใหญ่

2540

เปิดโรงแรมลีการ์เด้นส์ หาดใหญ่ ในอาคารสูง 33 ชั้น ซึ่งกลายมาเป็นศูนย์รวมความบันเทิงและแหล่งไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นหาดใหญ่ในยุคดังกล่าว ทั้งนี้ พื้นที่ของโรงแรมลีการ์เด้นส์ แต่เดิมคือโรงภาพยนตร์โคลีเซียม หาดใหญ่ อดีตโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดของเมือง

2543
เกิดฝนตกหนักระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน จนทำให้มีน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุด กินระยะเวลายาวนานหลายสัปดาห์ มูลค่าความเสียหายมากถึง 10,000 ล้านบาท และมีผู้เสียชีวิตถึง 35 คน (ประกาศจากทางการ) โดยหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ รัฐบาลก็ได้จัดทำแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัย ด้วยการจัดสร้างคลองผันน้ำ 6 คลอง ได้แก่ คลอง ร.1 – ร.6 ทั้งนี้ชื่อคลอง ร. ย่อมาจาก ‘คลองระบายน้ำ’ โดยคลอง ร.1 ซึ่งเป็นคลองสายหลักที่มีความยาวมากที่สุดถึง 28 กิโลเมตร มีหน้าที่ผันน้ำจากคลองอู่ตะเภาไปทะเลสาบสงขลา คลองสายนี้มีชื่อเต็มว่า ‘คลองภูมินาถดำริ’ เป็นชื่อพระราชทานจากในหลวง รัชกาลที่ 9

2547

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ถึงแม้ในช่วงแรกจะไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในอำเภอหาดใหญ่ หากก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวในพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญ

2553
เกิดพายุดีเปรสชั่นเข้าถล่มหลายพื้นที่ของภาคใต้ และทำให้หาดใหญ่ต้องประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน โดยในย่านตลาดกิมหยงมีระดับน้ำสูงถึง 2-3 เมตร กินระยะเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์

2555

เกิดคาร์บอมบ์ภายในอาคารจอดรถของโรงแรมลีการ์เด้นส์ ส่งผลโดยตรงต่อการท่องเที่ยวเมืองหาดใหญ่ ซึ่งต้องใช้เวลาเกือบปี กว่าจะเรียกความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและมาเลเซียกลับมาเยือนหาดใหญ่อีกครั้ง ทั้งนี้ในปีเดียวกันนั้นเองยังเป็นปีที่ Lazada แพลตฟอร์ม E-commerce จากสิงคโปร์ เริ่มเข้ามาทำธุรกิจในอาเซียน ตามมาด้วย Shopee ที่เริ่มเข้ามาทำตลาดในปี 2558 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจการค้าในเมืองหาดใหญ่ ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นศูนย์กลางจำหน่ายสินค้าจากประเทศจีน 

2563
จังหวัดสงขลา เข้าร่วมโครงการเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย (TCDN) พัฒนาสงขลาไปสู่เมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์

2564
เลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ครั้งแรกในรอบ 7 ปี สืบเนื่องจากเหตุรัฐประหารของ คสช. ในปี 2557 โดยการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 ปรากฏว่า พลตำรวจโท สาคร ทองมุณี ได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีลำดับที่ 28 ของเมือง โดยนายกเทศมนตรีท่านนี้มีวิสัยทัศน์ทำให้หาดใหญ่เป็น Smart City เป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว และน่าลงทุน

2565

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ UNESCO ประกาศรับรองหาดใหญ่  เป็น 1 ใน 77 เมืองจาก 44 ประเทศสมาชิกใหม่ เข้าร่วมเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ ระดับโลกของ (UNESCO GNLC)  โดยในประเทศไทยยังมี จังหวัดพะเยา และสุโขทัย เข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย

ที่มา
ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้ : สำนักทรัพยากรการเรียนรู้คุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
https://www.hatyaicity.go.th/
https://www.hatyaifocus.com/
https://news.gimyong.com/

https://www.thaipbs.or.th/news/content/219266
https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/97288-stagnanthatyai.html

th.wikipedia.org/wiki/ลำดับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย