ชุมชนควรค่าม้าสามัคคีก่อตั้งขึ้นเมื่อ 22 ปีก่อน ปัจจุบันมีคนเข้ามาดูงาน มาจัดกิจกรรมมากมาย และขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ในชุมชนร่วมกับคนรุ่นเก่า

Start
359 views
13 mins read

“ยี่สิบกว่าปีก่อนหลังจากแม่กลับจากช่วยหลานทำสวนทุเรียนที่จันทบุรี ความที่แม่ไม่ได้อยู่เชียงใหม่มานาน เลยไปเที่ยวงานแถวประตูท่าแพ จำไม่ได้แล้วว่าเป็นงานอะไร แต่ในงานมีรำวงด้วย แม่ก็ดื่มและขึ้นไปรำวงกับเขา แล้วก็ได้ยินเสียงโฆษกประกาศเชิญสาวรำวงจากชุมชนนั้น ชุมชนนี้ขึ้นมาเต้น ตอนนั้นแหละที่แม่เพิ่งรู้ว่าในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ ก็มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมในฐานะชุมชนด้วย เลยย้อนกลับมาคิดถึงบ้านเรา

แม่เกิดและเติบโตในชุมชนหลังวัดหม้อคำตวง ทุกคนก็รู้จักกันหมด แต่นอกจากไปวัด ก็ไม่ได้มีการร่วมกันจัดกิจกรรมอะไรจริงจัง แม่เลยคิดว่าเราน่าจะตั้งชุมชนกัน ก็ไปปรึกษาเจ้าหน้าที่ที่แขวง เขาก็บอกว่าต้องรวบรวมลูกบ้านให้ได้ 50-60 ครัวเรือนเพื่อขอจัดตั้ง แม่ก็เลยไปคุยกับชาวบ้านว่าถ้าเราตั้งขึ้นมานะ เราก็สามารถขอสวัสดิการจากรัฐได้ หรือได้งบสนับสนุนจากเทศบาลมาจัดงาน และได้ช่วยเหลือกันยามลำบากด้วย ทุกคนก็ตกลง

จากนั้นแม่ก็ไปบอกเจ้าอาวาสวัดหม้อคำตวงสมัยนั้นว่าจะขอตั้งสำนักงานชุมชนในวัด แต่เจ้าอาวาสแกไม่เข้าใจ ไม่ให้พื้นที่ทำ สุดท้ายแม่เลยเดินไปวัดใกล้ๆ คือวัดควรค่าม้า ซึ่งท่านเจ้าอาวาสตอบตกลง ชุมชนควรค่าม้าสามัคคี จึงก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2543 ชาวบ้านเห็นเราเป็นตัวตั้งตัวตีเลยให้เราเป็นประธานชุมชน แม่เป็นประธานมา 22 ปีแล้ว

ความที่เป็นเรื่องใหม่ในชุมชนมากๆ ปีที่ก่อตั้ง เราจำเป็นต้องมีคณะกรรมการชุมชน 15 คน แม่ก็ไปชวนคนนั้นคนนี้มาลง ปรากฏว่าไม่มีผู้ชายคนไหนกล้ามาลงเลย เขาอาจไม่เข้าใจว่าต้องทำยังไงบ้าง สุดท้ายแม่ก็เลยเลือกเอาเพื่อนๆ กันนี่แหละ สรุปคือชุมชนเรามีประธานและคณะกรรมการเป็นผู้หญิงทั้งหมด เป็นชุมชนพลังหญิงจริงๆ (หัวเราะ)

หลังจากเราก่อตั้งชุมชนได้ไม่นาน ก็พอดีกับที่คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็มีนโยบายกองทุนหมู่บ้าน แม่ก็เลยประกาศให้ประชาคมมาปรึกษากันว่าจะของบเขามาทำอะไรดี ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่ายังมีซอยในหมู่บ้านที่ยังเป็นลูกรัง เคยขอเทศบาลไปเขาก็ไม่มาทำให้สักที เลยขอกองทุนหมู่บ้านมาทำตรงนี้ คือได้เงินมาจ้างช่างทำกันเองจนสำเร็จ น่าจะเป็นตรงนี้มั้งที่ชาวบ้านเริ่มเห็นความสำคัญของการจัดตั้งชุมชน ก็เลยมาร่วมกันมากขึ้น

พอปีต่อมา ก็ได้เงินจากกองทุนหมู่บ้านมาอีก จำได้ว่าได้มาสามแสน สรุปกันว่าเราซื้อรถปิคอัพของชุมชน จะได้พาคนเฒ่าคนแก่ไปหาหมอ พาสมาชิกในชุมชนไปอบรมที่ต่างๆ หรือถ้าคนทำงานหรือนักศึกษาที่ไหนอยากย้ายบ้าน ย้ายหอ ก็ให้เขาจ้างคนในชุมชนเราเป็นคนขับรถคันนี้ย้ายให้ เงินที่ได้หลังแบ่งให้คนขับก็มาเข้ากองกลาง มีเหรัญญิกสามคนคอยคุมบัญชี และเปิดเผยให้ชาวบ้านเห็นอย่างโปร่งใสว่าเอาไปทำอะไรบ้าง ชาวบ้านก็เชื่อใจ

ยังไม่พอ แม่เห็นว่าในชุมชนเรามีแม่บ้านหรือคนที่ตกงานเยอะ ขณะเดียวกันชุมชนเราก็ตั้งอยู่ในย่านที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือน เลยคิดว่าน่าจะทำธุรกิจนวดแผนโบราณ ก็ทำเรื่องของบจากรัฐเพื่อไปจ้างครูสอนนวดมาสอนคนในชุมชนที่สนใจจะหารายได้เสริม ไปขอพื้นที่วัดหม้อคำตวงและวัดควรค่าม้าเปิดร้าน ชุมชนเราเลยมีอีกธุรกิจหนึ่งเพิ่มเข้ามาคือนวดไทย ซึ่งรายได้ก็ให้หมอนวดที่เป็นคนในชุมชนทั้งหมดนั่นแหละ

พอนึกย้อนกลับไปแล้วตลกดี แม่คิดอยากก่อตั้งชุมชน เพียงเพราะดื่มเหล้าเมาแล้วได้ยินโฆษกในวงรำวงพูด ไม่คิดว่าเราจะมาได้ไกลและสนุกขนาดนี้ ความภูมิใจของแม่ไม่ใช่แค่การได้เห็นบ้านเกิดเรามีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม หรือได้ช่วยเหลือกันยามลำบากอย่างเช่นช่วงโควิด แต่การที่มีคนจากชุมชนอื่นๆ นักศึกษา หรือเจ้าหน้าที่รัฐมาขอดูงานที่เรา เคยมี สสส. มาจัดงาน Spark U ปิดถนน และชวนคนจากที่อื่นๆ มาเดินสำรวจชุมชน มีการออกร้าน เล่นดนตรี ทำสตรีทอาร์ท หรืออย่างปีล่าสุดก็มีเทศกาล กิ๋นหอม ตอมม่วน ที่ชวนคนเฒ่าคนแก่มาโชว์ฝีมือทำอาหารกัน ซึ่งน่าดีใจว่างานหลังนี้เกิดจากการขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ในชุมชนเราเอง ไม่ใช่งานจากคนแก่ๆ ฝ่ายเราฝ่ายเดียวอีกต่อไป

นั่นแหละ แม่ว่ามันไม่ใช่แค่การช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างเพื่อนบ้าน การร่วมกันจัดงานประเพณี หรือต่อรองกับรัฐเพื่อทำให้คนในชุมชนเราเข้าถึงสวัสดิการที่ดี แต่สำหรับแม่ที่ยังทำงานในตำแหน่งนี้มาจนถึงอายุเจ็ดสิบกว่าอย่างตอนนี้ แม่คิดว่าการได้ร่วมกันคิด ช่วยกันทำ เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีกลับคืนสู่ชาวบ้านทุกคน คือเรื่องที่สนุก”

///

แม่แอ – รัตนา ชูเกษ

ประธานชุมชนควรค่าม้าสามัคคี

#WeCitizensTh #LearningCity #ChiangMai

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย