ธรรมชาติแปรเปลี่ยนไป วัฒนธรรมก็เปลี่ยนไปอีก แล้วเราจะอนุรักษ์ยังไง
นี่แหละคือปัญหา

Start
353 views
12 mins read

“ขลุงเป็นเมืองที่สงบ ไม่ทะเลาะวิวาท ไม่แตกแยก คือก็มีแหละ แต่ไม่ขัดแย้งกันมากนัก เพราะเรามีบรรพบุรุษที่เป็นโรงเรียนศรีหฤทัยซึ่งปีนี้ก็ครบ 75 ปี (สถาปนาโรงเรียนวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2490) ก็หลอมรวมคนคริสต์ พุทธ คนที่อยู่ในตลาด 30% คนนอกอีกประมาณ 60% ทั้งไร่หนองบอน นาวง ฉะนั้นวัฒนธรรมตรงนี้จึงหลอมรวมความหลากหลายของเชื้อชาติของคนขลุงมารวมกัน

ในอดีต การที่เด็กพุทธเด็กคริสต์ทะเลาะกันเรื่องพระเอ็ง พระข้า โรงเรียนก็จะช่วยหลอม เพื่อนผมมีหลายกลุ่ม ทะเลาะกันเดี๋ยวก็ดีกัน เพราะก็ต้องมานั่งเรียนด้วยกัน นโยบายของทางคริสตจักร พอถึงวันสำคัญทางศาสนาก็ให้ทุกคนอยู่ด้วยกันหมด ณ วันนี้ก็มีชั่วโมงศีลธรรม เชิญพระมาเทศน์ บาทหลวงมาให้ข้อมูล แล้วเราก็พาเด็กไปร่วมทำบุญ ร่วมงานประเพณีอยู่แล้ว ฉะนั้นความขัดแย้งเรื่องของเยาวชนก็ไม่ค่อยมี บรรพบุรุษก็เอื้อเฟื้อกัน แต่งงานข้ามวัฒนธรรมก็เยอะ วัดวันยาวบน วัดวันยาวล่าง มาทอดบุญกฐินผ้าป่าที่นี่ก็เคยทำกันอยู่ เวลาคริสต์มาส ประเพณีใหญ่ของศาสนาคริสต์ ก็เชิญพระไปให้ชาวพุทธได้ชื่นชม แสดงความอวยพรยินดี ช่วงที่ยังไม่มีโควิด สงกรานต์เราก็มีรดน้ำดำหัว เชิญตัวแทนองค์พ่อชิ่น พระเยซู ขึ้นรถไปแห่ สรงน้ำพระพุทธรูป พระคริสต์ รวมทั้งกินเจ บางทีพวกเราไปทำบุญ ไปไหว้เจ้าฮุดโจ้ว สองศาสนาของเมืองขลุง ก็เป็นเรื่องปกติ รู้สึกว่าไม่แปลกแยก ทำให้อะไรๆ ของเมืองขลุงดูราบรื่น กลมกลืน ปัญหาก็มีเป็นเรื่องปกติ ชุมชนคาทอลิกกับเทศบาลก็ต้องเกี่ยวพันกัน แม้กระทั่งนักการเมืองก็ต้องมาหาเสียงกับกลุ่มคาทอลิก พวกเราเหนียวแน่น ถ้าเสียงตรงนี้แตกเมื่อไหร่ เทให้ใคร โอกาสแพ้ชนะเป็นไปได้

บ้านเรามีของดีหลายอย่าง เพียงแต่การส่งเสริมไม่ต่อเนื่อง ภาครัฐเคยลงมาทำแต่ไม่สำเร็จ เช่นเคยพยายามทำตลาดน้ำตรงเกาะลอย แต่เนื่องจากพื้นที่เป็นน้ำขึ้นน้ำลง ทำได้เฉพาะช่วงน้ำขึ้น ช่วงน้ำลงจัดไม่ได้คนก็ไม่มา มันก็ไม่ได้อารมณ์เหมือนตลาดน้ำที่น้ำไหลตลอดทั้งปี แล้วขณะนี้การท่องเที่ยวระดับชาติลงมา เพราะเรามีหมู่บ้านไร้แผ่นดิน มีเรือนั่งไปตลอด นักท่องเที่ยวเยอะ มีบริการท่องเที่ยว คนทั้งประเทศรู้จักหมดแล้ว ผมก็โตมาตรงแถวนั้นแหละ พวกเรา กับทะเล คลอง ชุมชน มันเป็นเรื่องปกติ สมัยก่อนเดินทางด้วยเรือ เราไม่มีน้ำ ก็เอาปลาไปแลกน้ำ เอากุ้งไปแลกส้มโอ เขาเอาส้มโอให้เรากิน เราขอน้ำเขากิน แบ่งกัน เอื้อเฟื้อกัน ณ วันนี้ก็เปลี่ยนไป มีเรือขายน้ำ เวลาหน้าแล้งต้องซื้อน้ำกินน้ำอาบ

การพัฒนาเป็นเมืองเรียนรู้ให้คนเข้ามา ทางราชการก็ทำอยู่ แต่อาจจะไม่มีทิศทางเท่าไหร่ คุยกันหลายคณะ แต่คุยเสร็จก็จบ นี่คือปัญหา หาคนทำต่อเนื่องจริงจังไม่ได้ ชาวบ้านเองก็อยากทำ ถ้าติดตลาดขึ้นมา คนเข้ามา ก็ค้าขายได้ เป็นประโยชน์ เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว รถทัศนาจรเข้ามาเป็นร้อยคันเพื่อมาซื้อผลไม้ถึงที่ เกษตรกรได้ผลประโยชน์เต็มๆ ตอนนี้โลจิสติกส์ถึงกันหมด อยู่ตรงไหนคุณก็กินทุเรียนได้ จะเอาเท่าไหร่ก็บอก เดี๋ยวส่งไปให้ ง่ายมาก นี่คืออดีตของตลาดขลุง เพราะฉะนั้นคนขลุงจะมีความสุขมากช่วงฤดูผลไม้ ได้ตังค์เยอะขึ้น ขายทุเรียนกวน ผลไม้ ขายชะลอมอย่างเดียวก็ได้วันนึงเป็นร้อย เพราะในอดีตไม่มีถุงพลาสติกไง เนี่ย ธรรมชาติแปรเปลี่ยนไป วัฒนธรรมก็เปลี่ยนไปอีก แล้วเราจะอนุรักษ์ยังไง นี่แหละคือปัญหา ภาคไหนจะเป็นคนกระตุ้นให้อนุรักษ์กลับมาเรื่องของเก่า ซึ่งเด็กรุ่นหลังก็ไม่เอาแล้ว ไม่อยู่ด้วย ไปอยู่ที่อื่น กรุงเทพฯ ต่างประเทศ นี่คือปัญหาของชุมชนที่คนในพื้นที่ช่วงอายุไม่ต่อเนื่อง มีช่องว่างของวัย การผลักดันคนรุ่นใหม่ หาเวทีให้ได้คุยกัน จะ talk only แต่อย่างน้อยก็ยังได้คุยกัน มาแชร์ จุดประกายใครสักคนหนึ่งได้ งานในโลกนี้ไม่ได้ทำสำเร็จง่ายๆ เอดิสันทดลองตั้งกี่พันครั้งล่ะ กว่าจะสำเร็จ เราเป็นลูกหลานชุมชน ทำมานาน บางทีมันก็เหนื่อย เป็นเรื่องปกติ แต่เราก็ทิ้งไม่ได้ ต้องจับต่อไป พื้นที่ขลุงใครจะคิดว่าเมืองเก่าจะเจริญได้ขนาดนี้ ก็เกี่ยวกับเศรษฐกิจบูมขึ้นมา คนส่วนใหญ่ของพื้นที่ก็เอาจริงเอาจัง ทุกคนได้ประโยชน์”

อำพัน เจริญรูป
ประธานกองทุนคุณพ่อชิ่น เพื่อศรีหฤทัย

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย