การเริ่มต้นจากการสร้างความร่วมมือเพื่อปลุกพื้นที่เรียนรู้ในย่านเล็กๆ แต่มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์

“เราเป็นคนย่านสบตุ๋ย ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยสวนดุสิตที่เราทำงานอยู่ก็ตั้งอยู่ย่านนี้ พอได้รับโจทย์งานวิจัยเรื่องพื้นที่แห่งการเรียนรู้ในย่านสบตุ๋ย ทำให้เรารู้สึกกระตือรือร้นเป็นพิเศษ ไม่ใช่เพราะเราเป็นลูกหลานที่คุ้นเคยกับคนในย่าน แต่โครงการนี้ก็มีส่วนในการกลับมาเรียนรู้บ้านเกิดของเราในเชิงลึก อันมีส่วนในการพัฒนาเมืองในภาพรวมด้วย

สบตุ๋ยเป็นย่านเศรษฐกิจการค้าที่เคยเป็นศูนย์กลางของเมืองลำปาง พร้อมกับการมาถึงของรถไฟเมื่อศตวรรษก่อน ทำให้ความเจริญทุกอย่างมารวมกันอยู่ในย่านนี้ โดยเฉพาะการเข้ามาตั้งรกรากและทำธุรกิจของกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าชาวจีน อันทำให้เกิดสถาปัตยกรรม ร้านรวง และร้านอาหารที่มีตำรับเก่าแก่มากมายส่งผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ และก็เพราะมรดกทางภูมิปัญญาหลากหลายในอดีต ซึ่งเป็นฐานรากสำคัญของผู้คนในยุคปัจจุบัน ทีมวิจัยของเราจึงเห็นตรงกันว่าสบตุ๋ยไม่ต่างอะไรกับ ‘พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต’ พื้นที่เก่าแก่ที่ผู้คนร่วมสมัยยังคงใช้ชีวิต โดยหาได้ปรับเปลี่ยนวิถีอะไรจากรากเหง้าเดิมนัก

ในโครงการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์มีชีวิตย่านสบตุ๋ย เราแบ่งการมองย่านออกเป็น 3 ส่วน คือ หนึ่ง. บ้านเก่า สอง. อาหารการกินในตำนาน และสาม. แหล่งเรียนรู้ โดยเราและอ๊อฟ (จาตุรงค์ แก้วสามดวง) เข้าไปศึกษาทรัพยากรในแต่ละส่วน และออกแบบแนวทางที่จะสื่อถึงพิพิธภัณฑ์มีชีวิต 3 ส่วนนี้ให้เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้

ในส่วนแรก ‘พิพิธภัณฑ์เปิดบ้านเก่าเล่าความหลัง’ เราได้คัดเลือกจากบ้านที่ถูกสร้างขึ้นในยุคของการพัฒนาย่านนับตั้งแต่การมาถึงของรถไฟ โดยเข้าไปศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรม อิทธิพลของการออกแบบ ไปจนถึงตระกูลเก่าแก่ที่เป็นเจ้าของบ้านซึ่งมีส่วนพัฒนาย่านแห่งนี้ โดยทำสื่อทั้งภาพนิ่งและคลิปวิดีโอแบบ 360 องศา ก่อนจะทำคิวอาร์โค้ดให้คนเข้ามาสแกนเข้าไปชมพื้นที่ภายในบ้าน เพราะแม้จะมีบ้านบางหลังอย่างบ้านพระยาสุเรนทร์ หรือบ้านกิจเสรี ที่เขาเปิดพื้นที่เป็นร้านอาหารและให้ผู้ที่สนใจเข้าไปชมได้อยู่แล้ว แต่ก็มีบ้านหลายหลังที่ยังมีคนอยู่ และเขาต้องการความเป็นส่วนตัว เราก็เลยใช้วิดีโอ 360 องศานี้ ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าไปชมภายในได้

ในแง่มุมของอาหาร ซึ่งชัดเจนอยู่แล้วว่าย่านนี้เต็มไปด้วยร้านอาหารเก่าแก่คู่เมือง เราจึงจัดทำเส้นทาง ‘พิพิธภัณฑ์กินได้ อาหารในตำนานย่านสบตุ๋ย’ ซึ่งรวมร้านขนม เครื่องดื่ม และร้านของฝากประเภทอาหารไปด้วย โดยเข้าไปสัมภาษณ์เจ้าของกิจการ เรียบเรียงเนื้อหา และคัดสรรออกมาได้ราวสิบกว่าร้าน เน้นร้านที่มีอายุเก่าแก่เกิน 50 ปี ซึ่งหลายร้านก็ไม่ได้อยู่ในลิสต์ร้านเด่นที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว แต่เป็นร้านดั้งเดิมที่คนลำปางเขากินกัน

และกลุ่มสุดท้ายคือ ‘พิพิธภัณฑ์ถนนเรียนรู้’ นำเสนอแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตของคนที่ผ่านแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ครอบคลุมตั้งแต่อาคารสถานีรถไฟลำปาง พิพิธภัณฑ์ต่างๆ กาดเก๊าจาว ไปจนถึงสถานที่เชิงวัฒนธรรมอย่างวัด ศาลเจ้า และโบสถ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นมิติทางวัฒนธรรมที่หลากหลายของย่านนี้ จากนั้นเราก็รวมเส้นทางเรียนรู้ผ่านพิพิธภัณฑ์มีชีวิตทั้ง 3 ส่วน เข้าด้วยกัน อย่างถ้าเริ่มต้นจากสถานีรถไฟ เราจะไปที่ไหน ไปกินอะไร หรือไปชม ไปศึกษาอะไรได้บ้างเป็นต้น

พร้อมกับการทำข้อมูลตรงนี้ โครงการก็สร้างกิจกรรมการเรียนรู้ในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น กิจกรรมชวนคนลำปางนั่งรถม้าสำรวจย่านก่อนไปจิบน้ำชาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันที่บ้านพระยาสุเรนทร์ กิจกรรมชวนเจ้าของสูตรอาหารในย่านมาเป็นวิทยากรเวิร์คช็อปทำอาหารอย่าง กุยช่าย บ๊ะจ่างสูตรโบราณ หรือขนมปุยฝ้าย ไปจนถึงชวนผู้หลักผู้ใหญ่มาเล่าย้อนความหลังถึงสถานที่ต่างๆ ในย่านสบตุ๋ย เป็นต้น

นอกจากการเปิดและสร้างเครือข่ายพื้นที่เรียนรู้ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ชีวิตในย่านนี้แล้ว เรามองว่ากระบวนการที่เกิดระหว่างนั้น โดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือของผู้คนในภาคส่วนต่างๆ ทั้งหน่วยราชการ กลุ่มผู้ประกอบการ ชุมชน และสถาบันการศึกษา ยังเป็นเป้าหมายที่เราคาดหวังไว้ เพราะที่ผ่านมา เราพบว่าหน่วยงานทุกหน่วยงานเขามีความหวังดีอยากพัฒนาเมืองลำปางนะคะ แต่มันติดที่ว่าต่างคนก็ต่างทำงานตามบทบาทในพื้นที่ของตัวเองไป จึงไม่อาจส่งผลกระทบในภาพรวมของเมืองได้เสียที การเริ่มต้นจากการสร้างความร่วมมือเพื่อปลุกพื้นที่เรียนรู้ในย่านเล็กๆ แต่มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์แห่งนี้ รวมถึงในย่านท่ามะโอที่โครงการได้ขับเคลื่อนด้วย ก็อาจเป็นเครื่องมือเชื่อมประสานหนึ่ง ที่นำไปสู่การพัฒนาเมืองในสเกลใหญ่ต่อไปได้”

พัชพร วิภาศรีนิมิต

นักวิจัยโครงการลำปางเมืองแห่งการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์ลำปาง

(การพัฒนาเมืองลำปางสู่เมืองแห่งการเรียนรู้จากฐานภูมิทางสังคมและวัฒนธรรม)

กองบรรณาธิการ

Recent Posts

THE INSIDER : ณัฐธิยาภรณ์ อ้วนวงศ์ นักวิจัยโครงการเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ร้อยเอ็ด และนักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองยุทธศาสตร์และงบประมาณ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด

“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…

5 days ago

WeCitizens : The Concept

ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…

7 days ago

WeCitizens เมืองร้อยเอ็ด : ก้าวสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด

WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…

1 month ago

City View : ๑๐๑ เมืองรองที่ไม่เป็นรองใคร

ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…

2 months ago

๑๐๑ สานพลังผู้คนเพื่อกำหนดทิศทางเมือง

สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…

2 months ago

THE MAYOR : บรรจง โฆษิตจิรนันท์ : นายเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด และนายกสมาคมเทศบาลนครและเมือง

"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…

2 months ago