“ถึงขอนแก่นจะเป็นเมืองที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจเป็นอันดับต้นๆ ของอีสาน แต่เมืองก็กลับมีมุมมืดอยู่ไม่น้อย มุมมืดที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำ การเข้าไม่ถึงโอกาส ไปจนถึงสภาพแวดล้อมของชุมชนแออัดหลายจุด ซึ่งทำให้เด็กหลายๆ คนหลุดออกจากระบบการศึกษา ไปจนถึงเลือกเดินทางผิด
อย่างสมัยก่อนชุมชนที่ผมอยู่เป็นชุมชนเปลี่ยวๆ และอยู่ใกล้กับแหล่งที่มีวัยรุ่นมาซ่องสุมกันมาก ผมก็พบว่ามีเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันหลายคนที่หันไปหารายได้พิเศษด้วยการเดินยาเสพติด ผมก็ยังได้รับการชักชวนด้วย อย่างไรก็ตาม ผมโชคดีที่โรงเรียนผม เขามีกิจกรรมนอกห้องเรียนให้เลือกหลากหลาย และมันก็ช่วยดึงความสนใจของผมไปอยู่ที่กิจกรรมเหล่านี้ อย่างผมเข้าร่วมโครงการทูบีนัมเบอร์วัน (TO BE NUMBER ONE) ซึ่งมีส่วนกำหนดเส้นทางชีวิตของผมในปัจจุบันค่อนข้างมาก
หลายคนอาจได้ทราบถึงกิจกรรมของโครงการนี้จากสื่อมาเยอะแล้ว แต่ในฐานะที่ผมเข้าร่วมและมีส่วนขับเคลื่อนโครงการตอนเป็นรุ่นพี่ซีเนียร์ ผมเห็นว่าหัวใจสำคัญคือการทำให้เด็กๆ ได้เห็นตัวอย่างดีๆ จากรุ่นพี่ และการที่รุ่นพี่คอยสานความร่วมมือกับคนนั้นคนนี้ หรือหน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้ ในการหากิจกรรมให้เด็กๆ และเยาวชนได้ร่วมสนุก เพื่อทำให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง
ซึ่งจริงอยู่ จุดนี้จริงๆ มันควรจะเป็นบทบาทของสถาบันครอบครัว แต่ก็ต้องย้อนกลับไปอย่างที่ผมบอกตอนต้นว่า เพราะขอนแก่นเรายังเหลื่อมล้ำอยู่มาก ใช่ว่าทุกครอบครัวจะมีผู้ปกครองที่มีเวลาดูแลลูกได้ การที่เมืองมีพื้นที่ มีกิจกรรม และมีเครือข่ายของเพื่อนและรุ่นพี่ที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน จึงเป็นเรื่องสำคัญ
หลังเรียนจบมัธยม ผมเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน ในสาขาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ พร้อมกันนั้นผมก็เข้าร่วมกิจกรรมของสภาเด็กและเยาวชนของเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ผมร่วมมาตั้งแต่สมัยมัธยม โดยผมเพิ่งได้รับเลือกเป็นประธานไม่นานมานี้เอง
ในฐานะประธานสภาฯ ที่ตั้งใจไว้คืออยากให้ขอนแก่นเรามีพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงความสามารถหรือได้พิสูจน์ตัวเองมากกว่านี้ครับ ผมคิดนโยบายนี้มาจากปมของตัวเอง ที่เราอาจจะมีอะไรบางอย่างแตกต่างจากคนอื่น ทำให้สมัยเด็กๆ เลยโดนผู้ใหญ่ดุว่าสารพัด และนั่นจากที่ผมเป็นคนเก็บตัวอยู่แล้ว ก็ยิ่งไม่กล้าแสดงออกมากเข้าไปใหญ่ พอไม่กล้าแสดงออก ก็เริ่มไม่มีสังคมเท่าที่ควร มันก็มีความเครียด
แต่นั่นล่ะ อย่างที่บอกว่าผมโชคดีอยู่อย่างที่มีโอกาสเข้าร่วมโครงการทูบีนัมเบอร์วัน และก็ได้เจอเพื่อนและรุ่นพี่ที่เขาผลักดันให้ผมกล้าเป็นตัวของตัวเอง และกล้าแสดงออก คือถ้าไม่ได้ร่วมกิจกรรมนี้ บางทีผมอาจไปกับเพื่อนอีกกลุ่มแล้วไปทำงานผิดกฎหมายก็เป็นได้ ผมจึงคิดว่าการมีสังคมที่ดีและพื้นที่ที่พร้อม มันจำเป็นมากๆ และจากที่เป็นคนเก็บตัว ไม่อยากทำงานกลุ่มกับใคร ผมก็ค่อยพัฒนาทักษะทางสังคมจนมีความเป็นผู้นำขึ้นมาได้
ผมจึงนำวิธีคิดที่ได้จากทูบีนัมเบอร์วันมาใช้ในการทำงานสภาเด็กฯ เป็นพื้นที่เปิดให้เด็กๆ ในเขตเทศบาลทุกคนสามารถเสนอความคิดของตัวเอง ฝันถึงเมืองขอนแก่นที่เขาอยากอยู่ และมาหารือกันดูว่าด้วยกำลังที่เรามีและเครือข่ายที่เรามี เราพอจะเปลี่ยนอะไรได้บ้าง หรือฝากฝังให้ผู้ใหญ่เขาทำอะไรได้บ้าง
ส่วนพื้นที่ที่ว่านั่นคือที่ไหน? ขอนแก่นเนี่ยเรามีสวนสาธารณะเยอะนะครับ หลายแห่งก็มีขนาดใหญ่มากด้วย แต่สิ่งที่มันขาดคือคุณภาพและความหลากหลายในการใช้สถานที่ ผมจึงอยากเข้ามามีส่วนทำให้พื้นที่เหล่านั้นมีความเคลื่อนไหว และความชัดเจนที่จะช่วยดึงดูดให้คนเข้ามาใช้งานมากขึ้น ทั้งการเชื่อมโยงกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ให้มีอีเวนท์นัดหมายกันไปใช้พื้นที่ จะกลุ่มเต้นคัฟเวอร์ กลุ่มศิลปะ กลุ่มถ่ายรูป หรืออะไรก็ตามแต่ สวนสาธารณะมันเป็นได้มากกว่าที่วิ่งออกกำลังกายหรือนั่งพักผ่อน
ในฐานะคนที่เกิดและโตในขอนแก่น ก็อยากฝากให้ผู้ใหญ่และทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เช่นเดียวกับการอำนวยความสะดวกให้ทุกๆ คนเข้าถึงพื้นที่… ใช่ครับ ผมหมายถึงการมีระบบขนส่งมวลชนที่ดี ซึ่งเมืองเราควรจะมีมาตั้งนานแล้วเสียที เพราะอย่าลืมว่าเด็กหลายคนเขาไม่มีรถส่วนตัว เขาก็ไปไหนไม่ได้ พอไปไหนไม่ได้ นั่นก็แปลว่าเขาเข้าไม่ถึงพื้นที่ เข้าไม่ถึงโอกาสในการทำกิจกรรม หรือการพัฒนาตัวเอง”
ศุภชัย นาคประเวศ
ประธานสภาเด็กและเยาวชนเทศบาลนครขอนแก่น
“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…
ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…
WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…
ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…
สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…
"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…