“ชุมชนพูลสุขเป็นชุมชนเก่าแก่ของเทศบาลเมืองหัวหินที่จัดตั้ง 40 กว่าปีมาแล้ว ประธานชุมชนตอนนี้เป็นรุ่นที่ 6 แล้ว เป็นเด็กรุ่นใหม่ไฟแรง อัตลักษณ์ของชุมชนพูลสุขมีอารยสถาปัตย์หลายอย่าง เป็นชุมชนดั้งเดิมของเมืองหัวหิน เป็นชุมชนชายทะเล อาชีพหลักคือทำประมงเรือเล็ก มีทำปลาเค็ม หมึกเค็ม แปรรูปส่งขายที่ตลาดฉัตรไชย เป็นชุมชนการฝีมือ ทำเปลือกหอยจากแม่อรุณ คงดี จำหน่ายนักท่องเที่ยว พัดใบตาลของคุณย่าอ้น ดรุณี ใบเกตุ มีกลุ่มหัวหินถิ่นมนต์ขลังของแม่อรุณ ซึ่งเน้นการละเล่นพื้นบ้านหลายๆ การละเล่นมารวมกัน เช่น ประเพณีผีพุ่งไต้ การละเล่นอีอึ่งยึด ผีอึ่งอ่าง ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาได้ไปแสดงที่ชายหาดเพื่อเสริมสร้างความสุขให้หัวหินกลับมามีความสุขอีกครั้ง
พื้นเพเราเป็นคนชะอำ มาประจำการที่นี่ 10 ปี ตอนมาใหม่ๆ ชุมชนกับเทศบาลฯ ปฏิสัมพันธ์กันไม่มากสักเท่าไหร่ เรามาก็เสริมทางด้านอาชีพ การท่องเที่ยว ในซอยพูลสุขมีบาร์เบียร์เยอะ เราก็ไปจัดตั้งกลุ่มสตรีหรรษาบาร์เบียร์ให้เขา กลุ่มสตรีที่ตอนกลางคืนทำกิจการงานบริการ กลางวันเขาไม่มีอะไรทำ เราก็ไปเสริมอาชีพให้ทำการฝีมือบ้าง ผ้ามัดย้อมบ้าง ในซอยบิณฑบาตก็มีสินค้าของกลุ่มสตรีไปขายเล็กๆ น้อยๆ แล้วเมืองท่องเที่ยวมีคนต่างถิ่นเข้ามามาก คนท้องถิ่นต้องปรับตัวมากขึ้น คนในชุมชนพูลสุขนี่ปะทะกับนักท่องเที่ยวร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นย่านการค้า การบริการ ถามว่าคนดั้งเดิมจริงๆ ของชุมชนพูลสุข ส่วนใหญ่ย้ายถิ่นฐานขึ้นไปอยู่บนเขา ที่เหลือส่วนใหญ่ทำอาชีพค้าขาย บ้านเช่าเปลี่ยนเป็นสถานบริการไปเกือบทั้งหมด คือไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยแล้วด้วยสภาพแวดล้อม ถามว่าเรื่องลักเล็กขโมยน้อยมีมั้ย ก็ไม่หรอกค่ะ เพราะอยู่ใกล้สถานีตำรวจ มียามมีอะไรมากมาย แล้วชุมชนนี้ราตรีไม่หลับไหล อึกทึกครึกโครมตลอดเวลา แต่ในความมีบาร์เบียร์ บางคนเขาก็เห็นว่าผู้หญิงกลางคืนคือผู้หญิงหาสตางค์ แต่คือเป็นอาชีพของเขา แล้วเขาก็ไม่ได้มายุ่งวุ่นวายกับคนไทย ใจเขามุ่งไปนักท่องเที่ยวต่างชาติ ถามว่ามันย้อนแย้ง คนไทยจะรังเกียจเขาหรือเปล่า แต่ก่อนเราไม่รู้ แต่ ณ ปัจจุบัน จากการสัมผัส เราก็ไปบาร์เบียร์บ่อย เพราะต้องไปดูกลุ่มสตรีหรรษา เราว่าเขาเข้ากันได้ดี ชุมชนก็ได้รายได้ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มบาร์เบียร์ด้วย มีการเปิดใจมากขึ้นที่จะยอมรับกันและกัน
แต่ละชุมชนมีอัตลักษณ์ของเขาอยู่ เช่น ชุมชนบ่อฝ้ายเป็นชุมชนเก่าแก่ มาชุมชนริมหาด อัตลักษณ์เขาก็ทำการประมง อาชีพทำหอย ตากปลาเค็ม ปลาหมึก เขาก็ยังคงของเขาอยู่อย่างนั้น ที่โดดเด่นคือชุมชนชายทะเล ชุมชนพูลสุข ชุมชนแนบเคหาสน์ ซึ่งเรียงอยู่ติดกันเลย แต่คุณภาพชีวิตต่างกัน ชุมชนแนบเคหาสน์เป็นชุมชนคนรวยทั้งหมด ส่วนชุมชนที่ยังมีพื้นบ้านอยู่บ้าง มีประมงอยู่บ้าง ก็มีชุมชนสมอเรียง พูลสุข ชายทะเล ซึ่งมีโรงแรม บ้านพัก ร้านอาหาร ประปราย ถามว่าเมืองหัวหินได้รายได้จากตรงไหนเยอะ ได้จาก 3-4 ชุมชนนี้แหละ แล้วรายได้มากอีกที่ชุมชนริมหาด ชุมชนหัวดอน ชุมชนตะเกียบ รายได้ดีกว่าทางนี้อีก เพราะตรงนี้พื้นที่จำกัด แน่นแล้ว เลยไปขยายทางโน้นซึ่งดีกว่า แล้วก็ชุมชนศาลเจ้าพ่อเสือ ถ้าเข้าไปจะเห็นว่าสลัมเลย คุณภาพชีวิตไม่เหมือนเลย ชุมชนหัวหินมีหลายสเต็ปมาก
หน้าที่ของกองสวัสดิการสังคมคือดูเรื่องคุณภาพชีวิต สภาพจิตใจและสังคม รัฐสวัสดิการ เบี้ยยังชีพ ชุมชนก็มีผู้ด้อยโอกาสเยอะ ตกเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐานเยอะมาก เพราะด้วยคนพื้นเพเก่าของหัวหิน เขาไม่ได้ยากจนอะไร แต่คนต่างถิ่นที่มาอาศัยอยู่ นี่แหละคือภาระอันหนักอึ้งของเทศบาลฯ ถ้าดูปีสองปีที่ผ่านมา ชาวบ้านมีปัญหาเยอะมาก ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรมมีการปลดพนักงานหลายร้อยคน รัฐก็ช่วยบ้างเล็กน้อย ในส่วนของประชาชนก็มีปัญหา มาขึ้นทะเบียนกับเรา แต่เราก็ต้องไปลงเยี่ยมดูว่าเขายากจนจริงหรือเปล่า แต่หลังจากนั้นมาจนถึง ณ ปัจจุบัน สถานการณ์กระเตื้องขึ้นมาเกือบ 80% แล้ว ตอนนี้นักท่องเที่ยวเข้า ศุกร์เสาร์อาทิตย์นี่เต็ม โรงแรมหาไม่ได้ แต่แต่ก่อน สักคนนึงไม่มี โรงแรมร้าง คือดูแค่ตรงนี้พอ แต่คนเที่ยวเยอะ กำลังซื้อน้อย เป็นทั้งประเทศ อย่างเราไปเที่ยวเราก็เซฟนะ คนมาเที่ยวคืออยากมาดูหัวหินถิ่นมนต์ขลัง เมืองแห่งความรักความอบอุ่น พอเขามาเขาก็ไม่ค่อยกล้าซื้อมาก หนึ่ง หัวหิน ของแพง ตลาดฉัตรไชยคึกคักแค่ช่วงเช้า ไม่คึกคักเหมือนแต่ก่อน ตลาดโต้รุ่งอยู่ถัดมา แต่ก่อนรายได้ต่อร้านเป็นหมื่นสองหมื่น เดี๋ยวนี้คนเดินเยอะ แต่บางวันได้หลักพัน บางวันได้หลักร้อย เมื่อเช้าแม่ค้าก็มานั่งพูดว่า คนเยอะ แต่ของขายไม่ดีเหมือนเก่า การเงินก็ยังไม่สะพัดเท่าไหร่ แต่คุณภาพของนักท่องเที่ยวที่มาก็ดีกว่า
ศูนย์เรียนรู้ก็มีของชุมชนพูลสุขกับศูนย์เรียนรู้หัวหินถิ่นมนต์ขลัง มันไม่ได้เสริมสร้างรายได้ แต่เสริมสร้างด้านจิตใจ ถ้าเสริมสร้างรายได้ด้วย ฐานะการเงินก็จะฟูขึ้น มันเยียวยากันคนละอย่าง ทำให้จิตใจดีขึ้น คิดไปถึงอดีตว่าตอนนั้นเป็นอย่างนั้น ความสุขมันก็เกิด แต่เงินในกระเป๋ายังไงเราไม่รู้ จริงๆ คนหัวหินเขาไม่ต้องการอาชีพเสริม เพราะเขาเชื่อว่ารายได้ประจำอื่นเขาดีกว่า ไปรับจ้างตรงโน้นตรงนี้ วันละ 300 บาท 500 บาท เขาได้ดีกว่ามานั่งหลังขดหลังแข็งทำหอยวันนึงได้ 60 บาท 80 บาท ทีนี้ถ้าพูดถึงศูนย์เรียนรู้ วัตถุดิบของหัวหินมีอะไร มีทรายกับหอย วัตถุดิบพัดใบตาลก็ของชะอำเพชรบุรี นอกเสียจากทำอาหารอบแห้ง อาหารทะเล ปลาเค็ม ของชุมชนสมอเรียง มีนักท่องเที่ยวอยากมาทำอาหารทะเลแห้ง มีโรงแรมประสานงานมา เราก็พาพวกป้าๆ ยายๆ ไปสาธิต แสดงโขน รำให้ฝรั่งดู ป้าก็ได้รายได้ เขาก็มีความสุขของเขาด้วย มีจัดประกวดมิสรีไซเคิล คนแก่ๆ ก็มากัน ตอนหลังท่านนายกฯ (นพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน) มีนโยบายฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมขึ้นมา จัดงานเทศกาลสงกรานต์ ลอยกระทง ไฮไลต์ก็เป็นประเพณีพื้นบ้าน กีฬา ดนตรี เป้าหมายคือหัวหินเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ระดับโลก”
รัมภา จำลองราช
ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม เทศบาลเมืองหัวหิน
พลังคน พลังโคมลำพูน: เมืองเล็ก ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์ แม้ ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์ เป็นคนเชียงใหม่ เธอก็หาใช่เป็นคนอื่นคนไกลสำหรับชาวลำพูนเพราะก่อนจะเข้ามาขับเคลื่อนงานวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดกับเทศบาลเมืองลำพูน เธอได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเมืองแห่งนี้มาหลายครั้ง โดยเฉพาะโครงการขับเคลื่อนเยาวชนเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นพลเมืองของเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ในปี 2566-2567 - นั่นล่ะ…
“เป็นสิ่งวิเศษที่สุด ที่ผ้าไหมของจังหวัดลำพูนได้ปรากฏต่อสายตาผู้คนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งเมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้การส่งเสริม และทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ และกระทั่งในปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 10 ก็ทรงส่งเสริมผ้าไหมไทย และฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญเช่นกัน ดิฉันเป็นคนลำพูน มีความภูมิใจในงานหัตถศิลป์การทอผ้าไหมยกดอกนี้มาก ๆ และตั้งใจจะรักษามรดกทางวัฒนธรรม ทำหน้าที่ส่งต่อถึงคนรุ่นต่อไป…
“ความที่โตมาในลำพูน เราตระหนักดีว่าเมืองเรามีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สูงมาก ทั้งยังมีบรรยากาศที่น่าอยู่ อย่างไรก็ดี อาจเพราะเป็นเมืองขนาดเล็ก ลำพูนมักถูกมองข้ามจากแผนการพัฒนาของประเทศ เป็นเหมือนเมืองที่มีศักยภาพ แต่ยังไม่ถูกปลุกให้ตื่นความที่เราเคยทำงานที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ปัจจุบันคือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA - ผู้เรียบเรียง) ได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จของกระบวนการพัฒนาย่านด้วยกรอบพื้นที่สร้างสรรค์ในหลายพื้นที่…
“ผมเป็นคนลำพูน และชอบทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันเป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดลำพูน ควบคู่ไปกับกำลังศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากประสบการณ์การทำงานในสภาฯ ทำให้ผมเห็นว่า เยาวชนลำพูนมีศักยภาพที่หลากหลาย แต่สิ่งที่ขาดไปคือเวทีที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความสามารถและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการสนับสนุนจากโรงเรียนหรือโครงการของภาคเอกชน ปี 2567 พี่อร (ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์…
“อาคารหลังนี้แต่ก่อนเป็นที่ประทับของเจ้าราชสัมพันธวงษ์ลำพูน (พุทธวงษ์ ณ เชียงใหม่) น้องเขยของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของลำพูน อาคารถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2455 หลังจากนั้นก็ถูกขายให้พ่อค้าชาวจีนไปทำเป็นโรงเรียนหวุ่นเจิ้ง สอนภาษาจีนและคณิตศาสตร์ โรงเรียนนี้เปิดได้ไม่นานก็ต้องปิด เพราะสมัยนั้นรัฐบาลเพ่งเล็งว่าอะไรที่เป็นของจีนจะเกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่หนูก็ไม่รู้หรอกว่าโรงเรียนนี้เกี่ยวข้องหรือเปล่า (ยิ้ม) จากนั้นอาคารก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนมงคลวิทยาในปี…
“เราโตมากับวัฒนธรรมของคนลำพูน ชอบไปเดินงานปอย ร่วมงานบุญ ก่อนหน้านี้ก็เคยทำงานรับจ้างทั่วไป จนเทศบาลฯ มาส่งเสริมเรื่องการทำโคม โดยมีสล่าจากชุมชนศรีบุญเรืองมาสอน เราก็ไปเรียนกับเขา ตอนนี้อาชีพหลักคือการทำโคม ทำมาได้ 2 ปีแล้ว สำหรับเรา โคมคืองานศิลปะ เป็นสัญลักษณ์และมรดกที่ยึดโยงกับวัฒนธรรมของคนบ้านเรา ตอนแรกเราไม่มีความคิดเลยว่ามันจะกลายมาเป็นอาชีพได้…