“ผมเริ่มตลาด We Market เมื่อ 5 ปีที่แล้ว จากการที่ได้รู้จักกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ย้ายกลับมาทำธุรกิจที่บ้าน ก็คุยกันว่าเราน่าจะมีช่องทางในการทำมาหากินมากขึ้นด้วยการทำตลาดที่จำหน่ายอาหารปลอดภัย ต้นไม้ และผลิตภัณฑ์ที่มีความใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม ตอนแรกคิดถึงการของบประมาณจากหน่วยงานรัฐต่างๆ มาทำ เพราะผมก็เคยทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน แต่มาคิดดูแล้วว่าถ้าเราของบเขามาทำ คนให้งบเขาก็คาดหวังในภาพของเขา ซึ่งอาจจะคลาดเคลื่อนกว่าภาพของเรา สุดท้ายก็ลงมือทำกันเอง เพราะผมก็มีทักษะด้านการทำสื่อวิดีโอและสื่อออนไลน์ด้วย ก็มีต้นทุนในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์อยู่พอสมควร
เราเปิดตลาดที่แรกหลังโรงเรียนอนุบาลลำปาง ขายเฉพาะช่วงเช้าวันอาทิตย์ ได้รับผลตอบรับดีทีเดียว แต่ผ่านไปสองปี ฝั่งตรงข้ามตลาดมีโครงการจะมาเปิดร้านสะดวกซื้อ เราก็เลยชิงย้ายมาอยู่บนถนนสายวัฒนธรรมของชุมชนท่ามะโอ เพราะความที่เราเป็นคนในย่านนี้อยู่แล้ว เรารู้จักผู้ใหญ่ในชุมชน และที่สำคัญคือย่านนี้ต้นไม้เยอะร่มรื่น แล้วก็เป็นโซนเมืองเก่า ก็เลยไปขอเทศบาลมาเปิด เอาจริงๆ ทำเลเก่านี่ลูกค้าเยอะกว่านะครับเพราะอยู่ในตัวเมือง ท่ามะโอถึงลูกค้าน้อยลง แต่ก็กลับมีเสน่ห์กว่า และตลาดเราก็สอดรับไปกับบรรยากาศของพื้นที่ด้วย
เราย้ายมาเปิดที่ท่ามะโอเดือนมกราคม 2563 เปิดได้เดือนเดียว โควิดก็มา หลังจากปิดตลาดไปพักใหญ่ ก็กลับมาเปิดอีกครั้ง โดยผมคิดค่าเช่าแค่ 20 บาท เพราะอยากช่วยผู้ประกอบการด้วย จนมาตอนหลังตลาดเริ่มฟื้น เป็นฝ่ายผู้ประกอบการมาบอกให้ผมขึ้นค่าเช่า จะได้เป็นทุนให้ผมทำสื่อโปรโมท เลยขึ้นเป็น 50 บาท
หลักๆ ใช้เงินหมดไปกับการโปรโมทในเฟซบุ๊คน่ะครับ ผมเป็นแอดมินและทำสื่อประชาสัมพันธ์และคลิปวิดีโอเอง ด้วยมองว่าแม้เราทำตลาดนัด แต่การทำการตลาดออนไลน์เป็นสิ่งสำคัญ เราได้กลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้นทางนี้ด้วย หรือคนจากที่อื่นมาเที่ยวลำปางก็ได้รู้จากช่องทางนี้
นอกจากสินค้าที่ขาย ไฮไลท์หนึ่งของตลาดเราที่ดึงดูดลูกค้า คือการจัดอีเวนท์ประจำเดือนเป็นธีมต่างๆ อาทิ ตลาดนัดต้นบอนสี หรืองานแคคตัส จากช่วงปกติจะมีผู้ประกอบการมาขายประมาณ 14-15 ราย พอมีอีเวนท์ครั้งหนึ่งก็มีคนมาร่วมขายเกือบ 60 เจ้า คึกคักและสนุกมาก อย่างไรก็ตาม ในมุมของคนทำตลาดอย่างผม ความสนุกหรือพูดได้ว่าเป็นความสุขที่แท้จริงคือการทำงานหลังบ้าน หรือการได้เชื่อมผู้ประกอบการเข้าด้วยกัน
เพราะจุดประสงค์แรกของตลาดแห่งนี้คือการได้รวมตัวของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์เดียวกัน การที่ผมมีส่วนสร้างเครือข่ายให้ผู้ประกอบการได้รู้จักกัน ได้แลกเปลี่ยนความรู้ และวัตถุดิบจนสำเร็จ จึงเป็นเรื่องน่าปลื้มใจ เช่นผมแนะนำให้คนทำน้ำเงี้ยวได้พบเกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศอินทรีย์ได้ ก็เป็นการเพิ่มช่องทางการทำตลาดให้เกษตรกรไปในตัว การได้ช่วยเหลือเกษตรกรให้ขายสินค้าทางออนไลน์ คือบางคนเขาก็ไม่ถนัดจริงๆ ผมก็บอกให้เขาถ่ายรูปสินค้าและทำกำหนดการการเก็บเกี่ยวมา ผมก็ไปโพสต์ช่วยเขาขาย หรือการได้เห็นพี่ที่ขายกาแฟดริปคนหนึ่งขายกาแฟในตลาดเราแค่ 20 บาท เพราะอยากนำเสนอเมล็ดกาแฟจากผู้ปลูกรายย่อย รวมถึงผลักดันให้ผู้ปลูกหันมาทำแปรรูปเองด้วย เป็นต้น
ส่วนตัวเลยไม่คิดว่าจะขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้นครับ เป้าหมายคืออยากขยายให้เล็กลงมากกว่า (ยิ้ม) หมายถึงว่าอาจมีผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็คงไม่ทำให้เป็นตลาดนัดขนาดใหญ่แบบทั่วไป ผมอยากทำให้เป็นตลาดที่ผู้ประกอบการสนับสนุนกันและกัน ลูกค้าไว้วางใจในพ่อค้าแม่ค้า และช่วยส่งเสริมให้เรามีช่องทางการขายใหม่ๆ ให้ตลาดนัดแห่งนี้เป็นสถานที่แสดงสินค้าของพวกเขาช่องทางหนึ่ง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็สามารถขยายตลาดทางออนไลน์หรือที่อื่นๆ ของเขาได้เอง ผมเลยไม่คิดอยากทำตลาดขนาดใหญ่ แต่อยากทำตลาดที่ไซส์ประมาณนี้ แต่มีคุณภาพที่ทุกคนวางใจได้มากกว่า
ส่วนอะไรที่ทำให้ผมรู้สึกว่ามาถูกทางแล้วหรอครับ การได้กินขนมฟรีครับ (หัวเราะ)
เปล่าหรอก ขอตอบแบบนี้ อาทิตย์ที่แล้ว ผมไปส่งสินค้าให้คุณป้าท่านหนึ่งมา ป้าก็ชวนให้ผมเข้ามาที่บ้าน และให้ข้าวสาร 5 กิโลกรัมกับผมหนึ่งถุง ป้าบอกอยากให้ผมได้ชิมข้าวที่แกปลูกและก็อยากให้กำลังใจด้วย หรือทุกครั้งที่เปิดตลาด พอพ่อค้าแม่ค้าตั้งร้านเสร็จ เขาก็จะแวะเวียนเอาขนมมาให้ผมกินเป็นสินน้ำใจ พอตอนเก็บตลาด ก็มีลูกค้าที่มาซื้อของยังมาช่วยเก็บเต็นท์ เก็บของให้ หรืออย่างที่บอกไปว่าขายๆ ไป จู่ๆ ผู้ประกอบการก็เป็นคนมาบอกผมเองว่าให้ขึ้นค่าเช่าเถอะ (หัวเราะ) ผมอธิบายความรู้สึกนี้ไม่ถูกเหมือนกัน แต่คิดว่ามิตรภาพแบบนี้แหละที่ทำให้ผมพบว่า We Market ประสบความสำเร็จ”
กฤษดา เขียวสนุก
ผู้ก่อตั้ง We Market
หมายเหตุ: We Market คือตลาดที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่คนลำปาง จัดขึ้นทุกเช้าวันอาทิตย์ (6.00 น. – 12.00 น.) บนถนนสายวัฒนธรรม ชุมชนท่ามะโอ https://we-market-lampang.business.site/
“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…
ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…
WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…
ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…
สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…
"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…