“กาฬสินธุ์มีโรงงานอุตสาหกรรมหนักแห่งเดียวในจังหวัดคือโรงงานแปรรูปไม้ หรือโรงเลื่อย ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนที่แม่เป็นประธาน นั่นคือชุมชนหน้าโรงเลื่อย
ชุมชนหน้าโรงเลื่อยตั้งอยู่ติดกับลำน้ำปาว หรือคลองปาว ซึ่งยังเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อโสมพะมิตร ผู้ก่อตั้งเมืองกาฬสินธุ์ โดยพระยาโสมพะมิตร เดิมเป็นเจ้านายลาวที่อพยพเทครัวมาจากเวียงจันทน์ มาตั้งรกรากใหม่บริเวณแก้งส้มโฮง ดงสงเปือย (แก่งสำโรง โค้งสงเปือย) หรือบริเวณริมคลองปาวแห่งนี้ ก่อนที่พระองค์ท่านจะเสด็จไปเข้าเฝ้าในหลวง รัชกาลที่ 1 เพื่อขอสวามิภักดิ์เข้ากับสยาม ในปี พ.ศ. 2336
ในการเฝ้าครั้งนั้นพระองค์ท่านนำกาน้ำสำริดที่ติดตัวมาจากเวียงจันทน์เป็นเครื่องบรรณาการมอบแด่รัชกาลที่ 1 สยามจึงยกฐานะบ้านแก่งสำโรงให้เป็นเมืองขึ้น ตั้งชื่อว่า ‘กาฬสินธุ์’ และแต่งตั้งพระยาโสมพะมิตร เป็นพระยาชัยสุนทร เจ้าเมืองคนแรกของกาฬสินธุ์ ภายหลังเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน จากหัวเมืองประเทศราช กาฬสินธุ์ก็กลายเป็นหนึ่งในจังหวัดของสยามมาจนถึงปัจจุบัน
แม่เป็นคนกาฬสินธุ์ตั้งแต่กำเนิด ทำธุรกิจร้านรับทำป้าย (ต๊ะโปสเตอร์) และเป็นประธานชุมชนแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2527 สมัยก่อนโรงเลื่อยแห่งนี้เป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญของเมือง เปิดมาไม่ต่ำกว่า 60 ปีแล้ว คนงานในโรงเลื่อยก็มีทั้งคนในชุมชนและชาวลาว โดยก่อนหน้านี้โรงเลื่อยเดิมเป็นโรงกลั่นเหล้า จนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีกฎหมายไม่ให้ทำการกลั่นเหล้าในเมือง ก็เลยเปลี่ยนมาเป็นโรงเลื่อย มายุคหลังที่คนจีนเข้ามาเช่าทำต่อ เขาจะแปรรูปไม้ประดู่อย่างเดียว ส่งกลับไปที่ประเทศจีน แต่ความที่โรงเลื่อยมันสร้างมลภาวะให้คนในเมืองด้วย พอเจ้าของมีแผนที่จะขยายโรงงาน เลยตัดสินใจไปตั้งโรงงานใหม่นอกเมือง
ชุมชนหน้าโรงเลื่อยที่แม่อยู่จึงมีประวัติศาสตร์สำคัญสองเรื่อง คือเป็นชุมชนดั้งเดิมในยุคตั้งเมืองเมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว กับเป็นที่ตั้งของโรงงานเก่าแก่แห่งเดียวในตัวเมือง ในทุกเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เมืองกาฬสินธุ์จะมีการจัดพิธีบวงสรวงพระยาชัยสุนทร โดยจัดทำขบวนแห่จากบริเวณอนุสาวรีย์พระยาชัยสุนทรตรงหน้าไปรษณีย์ ผ่านวัดกลาง บนถนนกาฬสินธุ์ และมาสิ้นสุดที่ศาลเจ้าพ่อโสมพะมิตรในชุมชนของแม่
พอแห่มาถึงศาลเจ้า ก็จะมีพิธีสะเดาะเคราะห์ และพวกแม่ๆ พร้อมตัวแทนจากชุมชนคนอื่นๆ ก็จะจัดขบวนฟ้อนภูไทเพื่อเป็นการบวงสรวงพระองค์ท่านทุกปี นอกจากงานนี้ เวลามีข้าราชการคนไหนเข้ารับตำแหน่งในเมืองกาฬสินธุ์ รวมถึงคนที่ย้ายมาทำงาน เรียนหนังสือ หรือตั้งรกรากที่นี่ ก็จะมีการจัดพิธีถวายตัวเป็นลูกเจ้าเมือง ก็จะมีตัวแทนจากทั้ง 11 อำเภอของจังหวัดมาเข้าร่วมพิธีที่นี่ พวกแม่ๆ ก็มาฟ้อนบวงสรวงในพิธีกรรมไปพร้อมกัน
แต่ก่อนบริเวณริมคลองตรงศาลเจ้าพ่อโสมพะมิตรค่อนข้างเสื่อมโทรม จนเทศบาลเข้ามาฟื้นฟู ก่อสร้างทางเดินริมน้ำให้คนได้พักผ่อนและออกกำลังกาย ซึ่งใกล้จะเสร็จแล้ว และช่วงที่ใกล้จะเสร็จก็ตรงกับที่มีงานบวงสรวงด้วย จากที่จัดกันเล็กๆ ในชุมชน ปีนี้เลยจัดใหญ่ เพราะมีทางมหาวิทยาลัย และหน่วยงานรัฐต่างๆ มาร่วมด้วย จึงเกิดเป็น มหกรรมฟื้นใจเมือง ‘ภูมิถิ่น แก่งสำโรง โค้งสงเปือย’ มีการออกร้านจากชุมชนต่างๆ แม่ก็ไปเปิดร้านขายขนมและเครื่องดื่มกับเขาด้วย นอกจากนี้ ยังมีการแสดงจากนักเรียนในโรงเรียนเขตเทศบาล มีการแสดงดนตรี และฉายหนังกลางแปลง รวมถึงหนังที่บอกเล่าประวัติศาสตร์การก่อตั้งเมืองด้วย
ชุดที่แม่ใส่ฟ้อนวันนี้เป็นชุดภูไทดำ 1 ใน 4 ชนเผ่าภูไทของเมืองกาฬสินธุ์ แม่ไม่ใช่คนภูไทหรอก แต่ภูไทก็ถือเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมประจำจังหวัดเรา และชุดนี้ก็สวยมาก เราก็เลยตกลงกับช่างฟ้อนว่าจะสวมชุดภูไทไปร่วมพิธีกรรม
นอกจากประวัติศาสตร์ ชุมชนแม่ยังมีขนมเบื้องญวนเป็นของอร่อยขึ้นชื่อ ซึ่งมีการสืบทอดตำรับมาหลายรุ่น รวมถึงไส้กรอกปลากาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่นายกเทศมนตรี จารุวัฒน์ บุญเพิ่ม คิดค้นร่วมกับนักวิจัยด้านอาหาร เป็นผลิตภัณฑ์ที่มาทีหลัง แต่ก็กลายเป็นของฝากขึ้นชื่ออีกอย่างของกาฬสินธุ์ โดยโรงงานที่ผลิตไส้กรอกปลาก็อยู่ในละแวกชุมชนเรานี่เอง
แม่อยู่กาฬสินธุ์มาหลายสิบปีแล้วนะ เห็นว่าช่วงหลังมานี่แหละที่เมืองมีการพัฒนาขึ้นมาก อย่างสมัยก่อนบริเวณริมคลองปาวนี่ดูไม่ได้เลย มีชุมชนแออัดมาอยู่ และค่อนข้างสกปรก เทศบาลก็ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ หาที่อยู่ใหม่ให้เขา และปรับปรุงภูมิทัศน์ให้กลายเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ ถนนหลายสายก็ได้รับการปรับปรุงดีขึ้นมาก
จริงอยู่ เมืองเราอาจไม่ได้มีโครงการขนาดใหญ่มาดึงดูดเศรษฐกิจหรือการท่องเที่ยว แต่ถ้าถามคนในเมืองอย่างแม่ ที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็ดีมากแล้ว”
สายหยุด ตะติยรัตน์
ประธานชุมชนหน้าโรงเลื่อย
“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…
ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…
WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…
ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…
สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…
"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…