“ต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ต เรื่องการทำปุ๋ยหาดูที่ไหนก็ได้ เปิดยูทูบเดี๋ยวนี้เยอะแยะ แต่ถ้าทำโดยยังไม่เข้าใจหลักคิด สุดท้ายก็วิ่งหาเงิน เป็นทุนนิยมเหมือนเดิม”

“เราเกิดและโตที่หนองน้ำแดง เรียนอยู่ในวัดที่โรงเรียนวัดวชิราลงกรณวราราม วิ่งเล่นอยู่ละแวกนี้มาตลอด พอเรียนจบด้าน Computer Science มหาวิทยาลัยขอนแก่น สมัยนั้น (ปี 2534) ที่นี่ไม่มีอาชีพรองรับ ต้องเข้าเมืองใหญ่ ซึ่งก็เป็นค่านิยมของคนทั่วไป ก็มาทำงานด้านไอทีของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ตัวเราอยู่กรุงเทพฯ พอมีลูกเข้าเรียน เห็นระบบการศึกษาไทยว่ามีปัญหา เรียนอะไรเครียดขนาดนี้ แล้วลูกเราเป็นตัวแทนโรงเรียนประกวดแข่งขัน มันพัฒนาไปสู่การชิงดีชิงเด่น สังคมพาไปสู่ความอีโก้ แล้วเด็กไม่ได้เรียนรู้ทักษะชีวิต ในสิ่งที่เขาควรจะได้เรียนรู้ ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างถูกทาง แต่เขาโตแล้ว จะไปหักดิบไม่ได้ พอมีลูกสาวคนที่สอง เลยมองหาที่เรียนระบบอื่นอยู่หลายที่มาก

ดูรายการทีวีที่อาจารย์ยักษ์ (ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร) พูดถึงโรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย (ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงพระราชนิพนธ์ในพระมหาชนกว่า ถ้าหากจะฟื้นฟูต้นมะม่วงจะต้องตั้งปูทะเลย์มหาวิชชาลัย) สอนวิธีสร้างให้เด็กเป็นคนดีมีวินัยเพื่อแก้ปัญหาสังคม เป็นการฟื้นฟูประเทศวิธีหนึ่ง และก็เป็นวิถีการเรียนรู้แบบบวรที่เราเติบโตมา น่าจะตอบโจทย์การพัฒนาลูกเราได้ โรงเรียนอยู่ที่ศูนย์การเรียนกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี เป็นศูนย์ออกแบบการเรียนรู้ตามอัธยาศัย และบูรณาการการศึกษาวิชาหลักไปด้วยกัน แรกๆ ลูกสาวก็ไม่อยากไปนะ เด็กในเมือง เขาก็คิดว่าจะอยู่ได้ยังไง ทีนี้ โรงเรียนมีเงื่อนไขว่า พ่อแม่ต้องไปอบรมกสิกรรมธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง 5 วัน 4 คืน ลูกก็ต้องไปด้วย และต้องไปทำจิตอาสา 50 ชั่วโมง ปลูกต้นไม้ 100 ต้น แล้วลูกเราได้ร่วมกิจกรรมเรียนรู้กินอยู่กับพวกรุ่นพี่ โชคดีเจอรุ่นพี่ที่เคมีตรงกัน เขารู้สึกว่า เออ ก็สนุก แฮปปี้ดี แล้วการที่เราได้ไปอบรมด้วย ค่อยๆ เกิดจุดเปลี่ยนในความคิดของเรา เข้าใจคำว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมากกว่าเดิมที่เรารู้ผิวๆ เหมือนคนทั่วไป มองแค่ว่าต้องมาทำเกษตร ต้องมาอยู่แบบกระเหม็ดกระแหม่ ปลูกผักกิน แต่พอเข้าใจจริงๆ มันไม่ใช่ แล้วหลังจากที่ลูกไปเรียน มันไม่ใช่แค่โรงเรียนลูก กลายเป็นโรงเรียนพ่อแม่ด้วย

พ่อแม่ได้แลกเปลี่ยน ร่วมออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ช่วยกิจกรรมเอามื้อลงแขก (การเอามื้อสามัคคี เป็นการช่วยเหลือกันในชุมชนด้วยการไปช่วยงานในแปลงของเพื่อนบ้านหรือเครือข่าย) ก็เริ่มมีเพื่อนฝูง กลุ่มผู้ปกครอง ความที่ทุกคนต้องมีพื้นที่หรือวิธีให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ เดินตามทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียงให้ได้ ก็เลยนึกถึงพื้นที่ตรงนี้ที่เป็นของคุณพ่อคุณแม่ เราทิ้งว่างเปล่าไว้ 20-30 ปี เคยพยายามกลับมาทำประโยชน์ จ้างคนทำ ปลูกสารพัด ใช้เงินลงทุนเพื่อจะหาเงิน แนวคิดทุนนิยมเลย สุดท้ายเงินจม ก็ให้เพื่อนเช่าที่ปลูกแก้วมังกร พอเราเปลี่ยนมายด์เซ็ต กลับมาฟื้นฟูที่นี่ใหม่ เริ่มจากเอาต้นไม้มาปลูก ทุเรียน มะม่วง จนต้นไม้เริ่มโต เราก็ให้ถอนแก้วมังกรที่เขาใช้สารเคมี สภาพดินแร่ธาตุถูกใช้ไป แล้วให้พี่น้องในเครือข่ายมาช่วยดู ช่วยออกแบบ ขุดหนอง ทำโคกหนองนา ก็ทำขนานกับงานประจำที่กรุงเทพฯ อยู่ 2 ปี วันศุกร์เย็นขับรถมา ดีใจมาก จะได้กลับมาที่นี่ พาลูกมาปลูกต้นไม้ เช้ามืดวันจันทร์ก็ขับรถเข้าไปทำงาน เวียนอย่างนี้ จนเริ่มมีผลผลิต ปล่อยไม่ได้ละ ต้องดูแล ทางพี่ดนัยซึ่งเป็นนักวิจัยด้านมะเร็งอยู่สถาบันมะเร็งแห่งชาติก็เกษียณ พอดีกับช่วงโควิดที่ต้อง Work from Home เรามาทำงานอยู่ที่นี่ ลูกมาที่นี่ก็เริ่มซึมซับ รู้สึกว่าอยู่ปากช่องดีกว่า รถไม่ติด ก็เลยตัดสินใจลาออกจากงาน ย้ายกลับบ้านเกิด

พื้นที่ศูนย์เรียนรู้ปูทะเลย์หนองน้ำแดงตรงนี้เกิดจากการร่วมกันของเครือข่าย ช่วยกันสร้าง เราได้ไปอบรมหลายที่ เช่นโครงการพึ่งตน เพื่อชาติ ที่ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณนา เขาใหญ่ ซึ่งก็เป็นเครือข่ายกันอยู่ อาจารย์ยักษ์ก็มาร่วมเป็นที่ปรึกษาโครงการ โอ๋ (ปรเมศวร์ สิทธิวงศ์ – เขาใหญ่ พาโนราม่า ฟาร์ม) เป็นลูกศิษย์อาจารย์ยักษ์เหมือนกัน แล้วก็เป็นรุ่นน้องอยู่มหาวิทยาลัยเดียวกัน ก็ชวนเข้าชมรมโคกหนองนาวิศวขอนแก่น ก็เลยมีกิจกรรมเอามื้อช่วยกันขุดคลองไส้ไก่ ก่อนหน้านั้นก็มีนักเรียนปูทะเลย์ฯ นักศึกษาสถาบันอาศรมศิลป์เข้ามาทำกิจกรรมด้วย เราตั้งใจให้พื้นที่ตรงนี้เหมือนเป็นแคมปัสหนึ่งของโรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย ที่เรียนรู้ของเด็กๆ มาใช้พื้นที่ฝึกมือ มาพักได้ มีห้องพัก ห้องอบรม มีอาคารด้านหลัง ไว้ทำเวิร์กช็อป มีที่กางเต็นท์ได้ ห้องน้ำ ห้องพักแบบห้องน้ำในตัวที่ให้ผู้ใหญ่ครูบาอาจารย์มาพัก แต่จะบอกว่าที่นี่ไม่ใช่ศูนย์เรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติ เพียงแต่ว่าเรานำวิถีกสิกรรมธรรมชาติมาเป็นวิถีชีวิต สิ่งสำคัญที่เราโฟกัสคือการศึกษาของเยาวชน เป็นโครงการจากโรงเรียนสู่ชุมชน ขยายผลไปสู่บวร

คือต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ต เรื่องการทำปุ๋ยหาดูที่ไหนก็ได้ เปิดยูทูบเดี๋ยวนี้เยอะแยะ แต่ถ้าคุณจะทำโดยยังไม่เข้าใจหลักคิด สุดท้ายก็วิ่งหาเงิน ทุนนิยมเหมือนเดิม จะทำเกษตรอินทรีย์ก็เถอะแต่เป้าหมายคุณก็ยังคือธุรกิจ แต่ของเราคือพัฒนาคน การทำพื้นที่ขุดโคกหนองนา ขุดไปเถอะ แต่ถ้าคุณไม่ได้พัฒนาคน ก็ไม่มีประโยชน์ เราโฟกัสเรื่องนี้ ค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ก่อน ซึ่งตรงนี้เดี๋ยวลูกๆ จะเข้ามาต่อยอด เริ่มมีโครงการกับศูนย์แม่แล้วว่าจะใช้ตรงนี้เป็นโหนดหนึ่งในการบ่มเพาะเยาวชน อาจจะมีจัดค่าย จัดกิจกรรม เป้าหมายตอนนี้คือเยาวชน เพราะรู้แล้วว่าผู้ใหญ่อาจจะยากนิดนึงเพราะเขาเติบโตมาด้วยวิถีแบบนั้น อีกกลุ่มที่เราโฟกัสคือกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งอนาคตจะเยอะขึ้น ทำยังไงให้ผู้สูงวัยมีความสุข เห็นคุณค่าในตัวเอง ซึ่งพอเราขับเคลื่อนศูนย์ฯ นี้ออกมาเป็นรูปธรรม ทางพัฒนาชุมชนมีโครงการโคกหนองนา ก็ให้เราเป็นครอบครัวต้นแบบ คนก็มาดูงานเยอะมาก ทั้งอบต. ครู มาเป็นครอบครัวก็มี สถาบันอาศรมศิลป์มาจัดค่าย เราก็ใช้พื้นที่เรียนรู้ทั้งที่นี่ ที่วัดถ้ำไตรรัตน์ใกล้ๆ นี่ และวัดวชิราลงกรณวราราม ซึ่งเราได้ไปช่วยกับ 7 ภาคีเครือข่ายทำโครงการโคกหนองนาวัดวชิราฯ ก็ตรงตามเป้ากับที่เราต้องการฟื้นฟูวิถีบวรอยู่แล้ว

ผลผลิตในสวนเกษตรผสมผสานของเราก็ออกดอกออกผล ทุเรียนอร่อยมาก เป็นทุเรียนหมอนทองธรรมชาติ มีมะม่วง อะโวคาโด หม่อน ลูกหว้า มะม่วงหาวมะนาวโห่ มะปราง ลูกท้อ หลากหลายมาก เรียกว่าปลูกมั่วไปหมด ว่างอะไรตรงไหนก็ปลูก ตอนพยายามขุดหนองน้ำ คนแถวนี้ก็ว่าเราบ้า บอกเก็บน้ำไม่ได้หรอก มันก็เก็บไม่ได้จริงๆ แต่เราต้องรอเวลา ต้องปลูกป่าให้เยอะๆ ให้มันมีรากไม้อุ้มน้ำใต้ดิน เรามีแหล่งน้ำใต้ดิน พอน้ำไหลมารวมกันใต้ดินเราก็จับมาหมุนเวียน เลี้ยงปลาได้ ดินในพื้นที่เป็นดินร่วนปนทราย ไม่อุ้มน้ำ ก็ได้เครือข่ายมาช่วยกันย่ำ รอกันซึมเป็นบ่อสำหรับชะน้ำลงดิน เราขุดคลองไส้ไก่ รับน้ำจากนอกพื้นที่ที่เขาไม่ต้องการ จับมารวมที่เรา โชคดีที่เป็นที่ราบ มันก็ลงไปอยู่ใต้ดิน ใช้โซลาร์เซลล์ปั๊ม แดดมา น้ำตกก็มา สามารถเอาน้ำตรงนี้ไปรดต้นไม้ได้ ปล่อยไปตามคลองไส้ไก่ กระจายความชื้นไปทั่ว ก็สามารถปลูกพืชผักได้

ที่นี่ยังขาดเรื่องผักสวนครัว เพราะมีงานเครือข่ายเยอะมาก เพิ่งเริ่มมาปักหลักอยู่ที่บ้าน พืชผักสวนครัวปลูกง่าย แต่เป็นผักปัญญาอ่อน ต้องดูแลอย่างดี แต่เราจะมีผักปัญญาแข็ง ไปไหนหลายๆ เดือน กลับมาก็ยังมีผักกิน เช่น ผักไชยา เราต้องรู้จักว่าใบอะไรกินได้ มาเป็นผักได้ และเป็นยาด้วย ย่านางแดงก็เป็นยา เสลดพังพอนก็เป็นทั้งยาล้างพิษ กินเป็นผักสดก็ได้ วอเตอร์เครส ปลูกทิ้งไว้ สวยด้วย กินได้ด้วย พวกนี้บางทีเด็กๆ ไม่รู้ ตรงนี้ก็เป็นศูนย์เรียนรู้ เป็นทั้งที่เรียนรู้ของเรา และของคนที่เข้ามา ไม่ได้บอกว่าเราเป็นอาจารย์ต้องมาสอนเขา เขาเข้ามาสอนเราก็ได้ แล้วระหว่างที่เราพัฒนาพื้นที่ ไม่ใช่ต้องรอจนสมบูรณ์ถึงให้คนเข้ามาเรียนรู้ ระหว่างทางคือการเรียนรู้ มาร่วมกันสร้าง ร่วมกันทำ คนที่เข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้ก็จะภูมิใจกับพื้นที่นี้ กลับมาก็เหมือนบ้านตัวเอง”

เกศแก้ว – ดนัย ทิวาเวช
ศูนย์เรียนรู้ปูทะเลย์หนองน้ำแดง

กองบรรณาธิการ

Recent Posts

[THE RESEARCHER]<br />ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์<br />หัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด เทศบาลเมืองลำพูน<br />นักวิจัยจากสถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พลังคน พลังโคมลำพูน: เมืองเล็ก ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์ แม้ ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์ เป็นคนเชียงใหม่ เธอก็หาใช่เป็นคนอื่นคนไกลสำหรับชาวลำพูนเพราะก่อนจะเข้ามาขับเคลื่อนงานวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดกับเทศบาลเมืองลำพูน เธอได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเมืองแห่งนี้มาหลายครั้ง โดยเฉพาะโครงการขับเคลื่อนเยาวชนเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นพลเมืองของเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ในปี 2566-2567 - นั่นล่ะ…

4 days ago

[THE CITIZENS]<br />ปริยาพร วีระศิริ<br />เจ้าของแบรนด์ผ้าไหม “อภิรมย์ลำพูน”

“เป็นสิ่งวิเศษที่สุด ที่ผ้าไหมของจังหวัดลำพูนได้ปรากฏต่อสายตาผู้คนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งเมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้การส่งเสริม และทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ และกระทั่งในปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 10 ก็ทรงส่งเสริมผ้าไหมไทย และฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญเช่นกัน ดิฉันเป็นคนลำพูน มีความภูมิใจในงานหัตถศิลป์การทอผ้าไหมยกดอกนี้มาก ๆ   และตั้งใจจะรักษามรดกทางวัฒนธรรม   ทำหน้าที่ส่งต่อถึงคนรุ่นต่อไป…

1 week ago

[THE CITIZENS]<br />ไชยยง รัตนอังกูร<br />ผู้ก่อตั้ง ลำพูน ซิตี้ แลป

“ความที่โตมาในลำพูน เราตระหนักดีว่าเมืองเรามีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สูงมาก ทั้งยังมีบรรยากาศที่น่าอยู่ อย่างไรก็ดี อาจเพราะเป็นเมืองขนาดเล็ก ลำพูนมักถูกมองข้ามจากแผนการพัฒนาของประเทศ เป็นเหมือนเมืองที่มีศักยภาพ แต่ยังไม่ถูกปลุกให้ตื่นความที่เราเคยทำงานที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ปัจจุบันคือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA - ผู้เรียบเรียง) ได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จของกระบวนการพัฒนาย่านด้วยกรอบพื้นที่สร้างสรรค์ในหลายพื้นที่…

1 week ago

[THE CITIZENS]<br />ธีรธรรม เตชฤทธ์<br />ประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดลำพูน

“ผมเป็นคนลำพูน และชอบทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันเป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดลำพูน ควบคู่ไปกับกำลังศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากประสบการณ์การทำงานในสภาฯ ทำให้ผมเห็นว่า เยาวชนลำพูนมีศักยภาพที่หลากหลาย แต่สิ่งที่ขาดไปคือเวทีที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความสามารถและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการสนับสนุนจากโรงเรียนหรือโครงการของภาคเอกชน ปี 2567 พี่อร (ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์…

1 week ago

[THE CITIZENS]<br />ชนัญชิดา บุณฑริกบุตร<br />ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน

“อาคารหลังนี้แต่ก่อนเป็นที่ประทับของเจ้าราชสัมพันธวงษ์ลำพูน (พุทธวงษ์ ณ เชียงใหม่) น้องเขยของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของลำพูน อาคารถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2455 หลังจากนั้นก็ถูกขายให้พ่อค้าชาวจีนไปทำเป็นโรงเรียนหวุ่นเจิ้ง สอนภาษาจีนและคณิตศาสตร์ โรงเรียนนี้เปิดได้ไม่นานก็ต้องปิด เพราะสมัยนั้นรัฐบาลเพ่งเล็งว่าอะไรที่เป็นของจีนจะเกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่หนูก็ไม่รู้หรอกว่าโรงเรียนนี้เกี่ยวข้องหรือเปล่า (ยิ้ม)  จากนั้นอาคารก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนมงคลวิทยาในปี…

2 weeks ago

[THE CITIZENS]<br />นงเยาว์ ชัยพรหม<br />คนทำโคมจากชุมชนชัยมงคล

“เราโตมากับวัฒนธรรมของคนลำพูน ชอบไปเดินงานปอย ร่วมงานบุญ ก่อนหน้านี้ก็เคยทำงานรับจ้างทั่วไป จนเทศบาลฯ มาส่งเสริมเรื่องการทำโคม โดยมีสล่าจากชุมชนศรีบุญเรืองมาสอน เราก็ไปเรียนกับเขา ตอนนี้อาชีพหลักคือการทำโคม ทำมาได้ 2 ปีแล้ว  สำหรับเรา โคมคืองานศิลปะ เป็นสัญลักษณ์และมรดกที่ยึดโยงกับวัฒนธรรมของคนบ้านเรา ตอนแรกเราไม่มีความคิดเลยว่ามันจะกลายมาเป็นอาชีพได้…

2 weeks ago