“ถ้าเมืองนครสวรรค์ไม่มีการวางแผนเพื่อรองรับโอกาสนี้ให้ดี เราก็อาจเป็นเพียงเมืองผ่านที่คนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่แวะมาเยี่ยมเยือน” 

Start
256 views
8 mins read

“ผมเริ่มทำโรงพยาบาลศรีสวรรค์ เมื่อปี พ.ศ. 2539 ภายใต้โจทย์สำคัญคือ ต้องการสร้างโรงพยาบาลเอกชนที่มีมาตรฐานทัดเทียมกรุงเทพฯ เพราะแต่ก่อน หากคนในจังหวัด ต้องการจะเข้ารับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลเอกชน พวกเขามักจะเลือกเดินทางเข้าไปรับการรักษาที่กรุงเทพฯ ก็เลยตั้งใจให้โรงพยาบาลศรีสวรรค์เป็นโรงพยาบาลเอกชนทางเลือกแรกของคนนครสวรรค์

พอตั้งโจทย์แบบนี้ เราจึงทำให้พื้นที่ของเรามีบริการทางการแพทย์ที่ครอบคลุมมากที่สุด โรงพยาบาลศรีสวรรค์เป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิขั้นสูงในหลายด้าน มีศัลยแพทย์ผ่าตัดสมอง การผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง สวนหัวใจทำบายพาส โดยในอนาคต เราตั้งเป้าดูแลกลุ่มผู้ป่วยอัมพาตที่มีอาการเส้นเลือดอุดตันด้วยการสอดสายรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด รวมถึงการสวนสมองและหัวใจ รวมถึงการร่วมงานกับสถาบันวิจัยและโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ในการรักษาผู้ป่วยด้วยยีนและสเต็มเซลล์ อีกด้วย

ทั้งนี้ ในภาพใหญ่ระดับภูมิภาค ด้วยตระหนักดีว่านครสวรรค์เป็น 1 ใน 9 จังหวัด ระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสและเขตนวัตกรรมทางการแพทย์ของประเทศ ซึ่งสอดรับกับการเข้ามาของโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง รวมถึงการตัดเส้นทางรถไฟสายใหม่จากอำเภอแม่สอด โรงพยาบาลของเราจึงมุ่งมั่นยกระดับการบริการให้รองรับกับการขยายตัวเศรษฐกิจของเมือง ในฐานะหนึ่งในแกนนำด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพ โดยหวังให้นครสวรรค์เป็น wellness destination ของพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง

หนึ่งในแอคชั่นที่สำคัญของเราคือการจับมือกับคณะกรรมการกฎบัตรนครสวรรค์ ในการร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ของเมือง ผลักดันให้เราเข้าสู่ระเบียงเศรษฐกิจครบวงจรตั้งแต่สุขภาพ เศรษฐกิจ และนวัตกรรม รวมถึงการเป็นโรงพยาบาลต้นแบบ Wellness Hospital ทั้งการทำอาคารให้ผ่านมาตรฐานอาคาร WELL ยกระดับสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ใช้อาคาร การสนับสนุนเกษตรกรผู้ผลิตพืชผักปลอดภัยเพื่อนำผลิตผลมาเสิร์ฟคนไข้ รวมถึงการสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อยกระดับนวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพ ผมมองว่าเมืองนครสวรรค์ของเราหลังจากนี้ จะมีการพัฒนาทางโครงสร้างพื้นฐานอย่างมีนัยสำคัญ นี่เป็นเรื่องที่ดีมากๆ ต่อการพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตของคนในเมือง อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าถึงแม้เราจะมีทางรถไฟรางคู่เส้นทางใหม่ตัดผ่านซึ่งสามารถเชื่อมไปยังประเทศเมียนมาร์ได้ แต่ถ้าเราไม่มีการวางแผนเพื่อรองรับโอกาสนี้ให้ดี นครสวรรค์ก็อาจเป็นเพียงเมืองผ่านที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เลือกจะผ่านไปอีก และไม่แวะมาเยี่ยมเยือนก็เป็นได้”

นายแพทย์ชวลิต วิมลเฉลา
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีสวรรค์
https://www.srisawan.com/

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย