ถ้าเราเริ่มเดี๋ยวร้านอื่นก็เริ่ม แล้วเราไม่ต้องไปอิจฉากัน สุดท้ายเราร่วมกันทั้งเมืองยาวไปถึงโลกเมตาเวิร์สได้เลย

               “ร้านแนบเคหาสน์เปิดเมื่อ 1 ตุลาคม 2564 เปิดเย้ยโควิดเลย เปิดแล้วก็คนแน่นทั้งเดือนเพราะร้านอื่นปิดหมด ที่ผมทำร้านนี้เพราะหัวหินไม่มีสภากาแฟให้นั่งเลย คิดว่าบ้านตัวเอง เท็กซ์เจอร์ได้อยู่แล้ว ตัวร้านอายุประมาณ 120 ปี ตัวเรือนไทยด้านหลังบ้านประมาณ 140 ปีแล้ว คือบ้านหลังนี้เดิมตั้งอยู่ที่ตลาดดอนมะขาม ตรงห้าแยก ทางลงศาลเจ้าแถวโรงแรมฮิลตัน แล้วพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากรมาขอซื้อที่ที่บ้าน ทำตลาดฉัตรไชย คนก็คิดว่าที่แถวนี้ต้องมีราคาเลยย้ายขึ้นมาแถวนี้หมด ปู่ซึ่งเดิมทำงานเป็นข้าราชการตำรวจผ้าพันแข้งในรัชกาลที่ 6 เป็นมหาดเล็กรักษาพระองค์ในวังพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน พอย้ายมาอยู่ที่ถนนแนบเคหาสน์นี่ก็เลยทำบ้านหลังนี้เป็นโรงไม้ สร้างโดยใช้ไม้ของตัวเองหมดเลย ส่วนใหญ่เป็นไม้มะค่า กับไม้สัก บ้านผมยังแข็งแรงอยู่ เป็นไม้มะค่า แข็งมาก ตะปูตอกแทบไม่ลง แล้วมันพิเศษคือถ้าตรงไหนเป็นตะปู เขาจะมีแหวนรองตะปู แต่แหวนบ้านนี้เป็นเหรียญสตางค์รู สมัยนั้นมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่วนเวียนมาตลอด ทั้งเป็นโรงไม้ ทั้งทำบ้านเช่า แล้วเป็นบ้านปู่ย่า ท่านมีลูก 10 คน พ่อผมเป็นคนที่ 9 ทุกคนก็เกิดที่นี่ พอมาถึงรุ่นหลาน บ้านก็เป็นบ้านกลาง ใครมาก็มาหาที่นี่ มีผมดูแลอยู่ มันผูกพัน ไม่ได้ย้ายไปอยู่ที่อื่นเลย มีไปเรียนกรุงเทพฯ ที่บ้านสมเด็จ (มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา) เป็นศิลปินเล่นขลุ่ยอยู่วงบางกอกไซโลโฟนพักนึง ตอนหลังหัวหน้าวงเสียชีวิต ผมก็กลับบ้าน มาบรรจุเป็นข้าราชการครูปี พ.ศ. 2556 อยู่โรงเรียนหัวหิน สอนวิชาดนตรีไทยและศิลปะ ปีนี้ปีที่ 10 แล้ว

               พื้นที่อย่างถนนแนบเคหาสน์นี่แทบไม่ได้เปลี่ยนเลยนะ อาจจะเปลี่ยนเจ้าของหรือคนเช่า แต่ตัวอาคารมีเปลี่ยนแปลงใหญ่สุดคือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว อย่างบ้านฝั่งตรงข้ามเดิมเป็นไม้ เขาก็ร่วมกันทำเป็นตึกขึ้นมา บ้านไม้ก็น่าจะเหลือที่เดียวละในย่านนี้ แต่ข้างในซอยบ้านก็ยังเก่าๆ เป็นร้อยปีอยู่ แต่ก็ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ปกติถนนเส้นนี้เป็นถนนที่หาที่จอดยากมาก แต่ปีที่แล้ว ช่วงโควิด ทั้งถนนมีอยู่ 2 คัน เอาง่ายๆ นั่งอยู่เนี่ยแทบไม่ได้ยินเสียงรถวิ่งเลย วิกฤติขนาดนั้น คือถ้าความพลุกพล่าน ผมว่าหัวหินยินดีต้อนรับเลย นอกจากการประมง ก็มีการท่องเที่ยว ถ้าไม่มีการท่องเที่ยว หัวหินตายเลย เพราะอุตสาหกรรมมันสร้างไม่ได้เพราะอยู่ใกล้วัง ทีนี้ชุมชนหัวหินจะรู้จักกันหมด คนอยู่อาศัยแถบนี้ก็ยังเป็นคนดั้งเดิมอยู่ แต่ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมาเนี่ย คนต่างถิ่นเข้ามาในหัวหินเยอะ ปีหนึ่งคนย้ายมาอยู่เยอะนะ เขาถึงมีเพลงหัวหินถิ่นมนต์ขลัง ใครมาต้องหลงเสน่ห์ที่นี่

               แต่ก่อนสภากาแฟหัวหินคือมีร้านโจ๊ก ร้านเจ๊กเปี๊ยะ ตอนนี้ถ้าเห็นร้านเจ๊กเปี๊ยะคนพลุกพล่านมาก แต่ร้านผมคนไม่ได้เยอะขนาดนั้น ไม่ได้แน่นมากในวันหยุด เราต้องการแบบไหนเราก็ทำแบบนั้น วันธรรมดาก็คนในพื้นที่ วันหยุดก็นักท่องเที่ยวเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วผมตั้งราคาไม่สูง ราคาที่คนหัวหินก็กินได้ คนต่างจังหวัดก็กินได้ ก็เลยเป็นจุดเด่นหนึ่งให้คนกลับมานั่ง ผมคิดว่ามีที่นั่งคุย กินน้ำชากัน ซึ่งหัวหินไม่ค่อยมีแล้ว มีแต่คาเฟ่ แต่ผมไม่ทำคาเฟ่ ร้านเหล้า ผมทำอย่างนี้มีความสุขกว่า เพราะเราสามารถเจอคนได้ตั้งแต่เด็กยันคนแก่เลย เฟรนด์ลี่กว่า ได้เจอคนใหม่ๆ มีพื้นที่ให้คนแก่นั่ง ก็มีคนในชุมชน คนเกษียณอายุ คนสูงวัย มานั่งคุย อีกอย่างเรื่องของชุมชน สมมติต้องการประชุมหรือรวมตัว เขามาที่ร้านเรา นั่งได้เลยสามสี่ชั่วโมง แล้วตัวผมเป็นครู ผมทำอย่างนี้ เด็กก็มาได้ ผู้ใหญ่ก็มาได้ มาทำเวิร์กช็อป ทำศิลปะหรืออะไร ร้านเราซัพพอร์ตได้ คือเป็นพื้นที่ความสุขมากกว่ากำไรที่ผมเห็น

               หัวหินมีของดีเยอะมาก แต่คนไม่รู้ว่ามีอะไร สิ่งที่ผมได้ยินนะ ลูกค้ามาถาม เที่ยวไหนต่อได้บ้าง คือหัวหินเป็นอะไรที่ไม่รู้จะไปไหนจริงๆ ถ้ากลางวันผมจะแนะนำลูกค้าว่า นอนเถอะครับ ตกเย็นค่อยออกมา เพราะร้อนมาก เย็นออกไปทะเล ผมก็เลยกำลังทำแผนที่ท่องเที่ยวบนกำแพงร้าน ส่วนหนึ่งเราได้ประชาสัมพันธ์ให้หัวหิน ส่วนหนึ่งคนก็จะมาร้านเรา มันวินวิน แล้วเราไม่ต้องตอบคำถามใครเลย คุณสามารถมองแผนที่ได้เลย ให้เขาเห็นว่าตรงไหนเป็นตรงไหน สถานีรถไฟอยู่ตรงนี้ ชี้จุดเลย อุทยานราชภักดิ์ วัดห้วยมงคล ปากน้ำปราณ แล้วผมจะทำคิวอาร์โคดติดไว้ คุณมาสแกน มีแผนที่ไปต่อได้ ถ้าผมดึงชุมชนเข้ามา อย่างคุณมีรถเช่า มีเรือนำเที่ยวไปตกหมึก คุณเอามาติดแล้วใครมาเห็นก็ติดต่อหรือสแกนไปได้ ซึ่งผมไม่ได้คิดตังค์ซักบาทเดียว เรามองแบบไม่ต้องใจแคบนะ ถ้าเราเอาคนอื่นเข้ามาโดยเราไม่ได้คิดเขา สิ่งที่เราได้พร้อมกันคือนักท่องเที่ยว สุดท้ายก็สุขด้วยกันหมด แต่ถ้าเราไปคิดว่าคุณต้องซื้อพื้นที่บริการ ซื้อที่เช่า ผมว่ามันไม่ได้ช่วยอะไร สุดท้ายนักท่องเที่ยวเข้ามาเพราะเรือ แล้วเขาอาจมากินร้านเรา หรือร้านอื่นก็ได้ มีรถเช่าเรียกต่อได้ เขาก็อุ่นใจกว่า แล้วสิ่งที่เห็นได้ชัดของหัวหิน คือทะเล มันไม่เห็นทางลงหาดเลย นอกจากตรงซอยหัวหิน 51 ที่พอเห็นทะเล นักท่องเที่ยวก็จะใช้วิธีสุ่มถามหรือกูเกิล บางคนขี้เกียจหาเขาก็ถอดใจ ไปปากน้ำปราณ ไปชะอำ เพราะหัวหินมันโดนปิดด้วยร้านอาหาร คอนโด ที่พัก ก็เหมือนที่ผมบอก จะทำยังไงให้คนรู้ ก็ต้องใช้จุดเราเป็นตัวสัมพันธ์ ถ้าเราไม่เริ่ม ใครจะเริ่ม ถ้าเราเริ่ม เดี๋ยวร้านอื่นก็เริ่ม แล้วเราไม่ต้องไปอิจฉากัน สุดท้ายเราร่วมกันทั้งเมือง มันก็เป็นจิ๊กซอว์ แล้วเทศบาลฯ ร่วม ททท. เข้า มันทำต่อได้ ยาวไปถึงโลกเมตาเวิร์สได้เลย

               ทางเข้าหาดสาธารณะตรงโรงแรมรถไฟ (เซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ทและวิลลา หัวหิน) เข้าไปตรงนั้นคือจุดแรกของหัวหิน ตรงนั้นมีหินเยอะมาก แล้วมีหินก้อนเบ้อเร่อก้อนนึง เดิมเรียกว่า หลักหิน เพี้ยนไปเพี้ยนมาเป็นหัวหิน ซึ่งเรื่องพวกนี้ ถ้าอยากจะรู้ ต้องรุ่นพ่อผม บางทีผมนั่งฟังพ่อกับเพื่อนรุ่นเขาคุยกัน สิ่งที่ได้ยินเป็นกลอนหัวหินโบราณที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนด้วยซ้ำ ถ้าหมดรุ่นพ่อผมก็น่าจะไม่เหลือเรื่องเล่าเก่าละ จริงๆ ส่วนนี้น่าทำหอสมุดมาก ทุกวันนี้หัวหินไม่มีหอสมุดเลย ทำยังไงดี ก็เริ่มจากร้านเรานี่แหละ ผมก็คอยนั่งฟัง หรือดีสุดคือต้องเรียกคนเก่าแก่ของหัวหินมารวมกันให้ได้ มาสัมภาษณ์เก็บข้อมูล แล้วทำเรื่องเล่าตรงนี้ เป็นหอประวัติศาสตร์ เก็บเป็นเรื่องเล่าของหัวหิน คือถ้าไปถามบ้านนี้ก็ได้เรื่องนึง บ้านนี้ก็ได้อีกเรื่องนึง เพราะคนหัวหินสมัยก่อนรู้จักกันหมด แล้วเมืองมีอยู่แค่นี้ วนไปวนมา ไม่ได้ใหญ่เหมือนที่คนคิด

               เทศบาลเมืองหัวหินมี 39 ชุมชน ถ้าดึงชุมชนขึ้นมามีความสำคัญ ผมว่าเรื่องการศึกษาการเรียนรู้การท่องเที่ยวบูม สมมติชุมชนแนบเคหาสน์ ชุมชนชายทะเล เรือประมงออกเรือไม่ได้หน้ามรสุมหรือหน้าที่ไม่มีปลา คุณสามารถแปลงเรือ โดยขออนุญาตกรมเจ้าท่า ร่วมกับเทศบาลฯ เป็นคนจัดให้ ทำเป็นเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมได้ มีทัวร์ลง พักโรงแรมนี้ ชุมชนไหน คุณก็ร่วมกัน พาไป ผมเคยพูดในที่ประชุมการท่องเที่ยว เขาถามว่าแล้วใครจะร่วมในเมื่อหัวหน้าชุมชนยังทะเลาะกันเลย ผมบอกก็เอาเยาวชนขึ้นมาเป็นมัคคุเทศก์สิ เพราะถ้าเยาวชนในชุมชนคุณมีหน้ามีตา มีรายได้ ไม่มีใครทะเลาะกันหรอก สมมติมีต่างชาติ เกาหลี เข้ามาทัวร์นี้ ทริปหัวหิน 5 วัน 4 คืน เขาได้ทำหอยเสียบมะละกอ ได้ถักอวน ได้ออกดูทะเล อย่างนี้นักท่องเที่ยวเข้า โรงแรมได้ ชุมชนได้ แล้วเทศบาลฯ ซัพพอร์ตเรื่องรถนำเที่ยว รถราง ผมว่าเวิร์ก แต่ตอนนี้ ชุมชน เทศบาล หน่วยงานรัฐ เป็นจิ๊กซอว์ที่ยังต่อกันไม่ได้ ถ้าร้านผมทำอย่างนั้นได้นะ สุดท้ายก็เป็นพื้นที่เชื่อม คือตอนแรกที่เปิดร้านไม่ได้คิด แต่ผมเอาฟีดแบ็กจากลูกค้าโดยตรงเลย เหมือนเราได้เปิดพื้นที่ เหมือนเสวนาไปในตัวโดยที่เราไม่ต้องถามว่าคุณต้องการอะไร แต่เราเอาสิ่งที่เป็นปัญหามาขึ้นแผนที่ให้หมดเลย สุดท้ายเราตกผลึก แก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ แก้ได้แล้วก็คือความสุข”

นิพนธ์ วรรณศรีเพ็ชร

ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ โรงเรียนหัวหิน

เจ้าของร้านแนบเคหาสน์ หัวหิน

กองบรรณาธิการ

Recent Posts

THE INSIDER : ณัฐธิยาภรณ์ อ้วนวงศ์ นักวิจัยโครงการเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ร้อยเอ็ด และนักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองยุทธศาสตร์และงบประมาณ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด

“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…

5 days ago

WeCitizens : The Concept

ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…

6 days ago

WeCitizens เมืองร้อยเอ็ด : ก้าวสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด

WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…

1 month ago

City View : ๑๐๑ เมืองรองที่ไม่เป็นรองใคร

ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…

2 months ago

๑๐๑ สานพลังผู้คนเพื่อกำหนดทิศทางเมือง

สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…

2 months ago

THE MAYOR : บรรจง โฆษิตจิรนันท์ : นายเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด และนายกสมาคมเทศบาลนครและเมือง

"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…

2 months ago