ท่องไปในประวัติศาสตร์ 1,300 ปี8 พื้นที่แห่งการเรียนรู้ใน 4 ยุคสมัยของเมืองลำปาง

กุกุฎนคร อาลัมภางค์ เขลางค์นคร เมืองละคร นครลำปาง ฯลฯ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งจากทั้งหมด 11 ชื่อที่ผู้คนในยุคต่างๆ เคยใช้เรียกเมืองที่ปัจจุบันรู้จักกันดีในนาม ‘จังหวัดลำปาง’ โดยสาเหตุที่ทำให้เมืองรุ่มรวยไปด้วยชื่อเรียกมากขนาดนี้ ก็เพราะเมื่อสืบสาวจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ จะพบว่าเมืองลุ่มแม่น้ำวังแห่งนี้มีอายุเก่าแก่ถึง 1,300 ปี และใช่ นอกจากภาพจำถึงรถม้าและชามตราไก่ ด้วยอายุที่ยาวนานอันมาพร้อมกับโบราณสถานที่ยังคงหลงเหลืออยู่ท่ามกลางวิถีของเมืองสมัยใหม่ หลายคนจึงจดจำลำปางในฐานะ ‘เมืองประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต’ – เมืองที่องค์ความรู้ยังคงแฝงฝังอยู่ตามวัดวาอาราม ถนนหนทาง ไปจนถึงแนวกำแพงโบราณ และสถานที่อีกมากมาย

WeCitizens ฉบับ(เสียงลำปาง) ขอชวนคุณนั่งรถม้าชมเมืองไปพร้อมกับการย้อนรอยประวัติศาสตร์ 4 ยุคสมัยสำคัญตลอดอายุกว่า 1,300 ปีของเมืองลำปาง ใน 8 พื้นที่ทั้งเก่าและใหม่ ซึ่งต่างเป็นหลักฐานเด่นชัดว่านอกจากลำปางจะเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต นครหลากชื่อแห่งนี้ยังเต็มไปด้วยพื้นที่แห่งการเรียนรู้เปี่ยมศักยภาพ ที่หากมาลำปางแล้ว ใครไม่ได้แวะเช็คอิน ก็เหมือนกับว่ามาไม่ถึง

ยุคที่ 1: สมัยหริภุญชัย (ราวพุทธศตวรรษที่ 13)

วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม

จากเอกสารประวัติศาสตร์อย่างชินกาลมาลีปกรณ์และตำนานมูลศาสนา ระบุว่าเขลางค์นครหรือเมืองลำปางในปัจจุบันได้รับการก่อร่างสร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 13 เมื่อครั้นพระนางจามเทวีเคลื่อนทัพจากละโว้มาสร้างเมืองหริภุญชัย (ลำพูนในปัจจุบัน) ในครานั้นพระนางจามเทวีได้แต่งตั้งให้พระเจ้าอนันตยศ โอรสของพระนางมาสถาปนาพื้นที่ดอนริมแม่น้ำวัง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองลำพูน นั่นคือจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์เมืองลำปาง

เมืองโบราณลำปางในยุคแรกมีผังเมืองเป็นรูปหอยสังข์แบบเดียวกับเมืองลำพูน โดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณพื้นที่ที่ปัจจุบันคือที่ตั้งของวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม มีประตูม้าซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือเป็นประตูทางเข้าเมือง ทั้งนี้ในปัจจุบันวัดพระแก้วดอนเต้าเป็นวัดสำคัญของเมือง และถือเป็นแลนด์มาร์คหลักบนเส้นทางรถม้าชมเมืองลำปาง โดยวัดแห่งนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตยาวนานถึง 32 ปี ก่อนถูกอัญเชิญไปเชียงใหม่ เวียงจันทน์ และกรุงเทพฯ อีกทั้งยังมีมณฑปศิลปะพม่าซึ่งสะท้อนให้เห็นมิติอันหลากหลายทางสถาปัตยกรรมของเมืองลำปางได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้วัดแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งลานนา พื้นที่รวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุและศาสนวัตถุที่พบได้จากวัดสำคัญๆ หลายแห่งในเมืองลำปาง เรียกได้ว่าถ้าใครสนใจงานพุทธศิลป์โบราณ มาที่พิพิธภัณฑ์ในวัดแห่งนี้ ได้ชมครบจบในที่เดียว

ยุคที่ 2: ยุคล้านนา (พ.ศ. 1845-2325)

วิหารพระเจ้าพันองค์ (วัดปงสนุก)

ยุคสมัยที่ 2 ของเขลางค์นคร เริ่มต้นภายหลังที่พระญามังรายแห่งเมืองเชียงใหม่เข้ายึดเมืองลำปางได้สำเร็จ และมอบหมายให้ขุนไชยเสนาสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ. 1845 โดยมีศูนย์กลางใหม่อยู่ที่วัดเชียงภูมิ หรือที่รู้จักในชื่อ ‘วัดปงสนุก’

สันนิษฐานกันว่าวัดปงสนุกถูกสร้างมาตั้งแต่สมัยเขลางค์นครยุคแรก และเป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่ยังคงหลงเหลือมาตั้งแต่สมัยชุมชนรัฐ วัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานของวิหารพระเจ้าพันองค์ วิหารที่มีศิลปะผสมผสานระหว่างล้านนา จีน และพม่า และเต็มไปด้วยงานพุทธศิลป์เชิงสัญลักษณ์อันน่าตื่นตา และด้วยความร่วมแรงร่วมใจในการบูรณะและอนุรักษ์วิหารของชาวชุมชนและกลุ่มนักวิชาการจนสำเร็จ วัดปงสนุกยังได้รับมอบรางวัลการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจากยูเนสโกในปี 2551 อีกด้วย 

ถนนวัฒนธรรม (ชุมชนท่ามะโอ)

อันที่จริงพื้นที่ชุมชนท่ามะโอก็ตั้งอยู่ในอาณาเขตของผังเมืองรูปหอยสังข์ในเขลางค์นครยุคแรกด้วยเช่นกัน กระนั้นโบราณสถานสำคัญๆ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นี้ส่วนใหญ่ได้รับการสร้างขึ้นในยุคล้านนายุคนี้ อาทิ กู่เจ้ายาสุตา และซุ้มประตูโบราณอีกหลายแห่ง รวมถึงประตูป่อง อันเป็นที่ตั้งของวัดประตูป่อง วัดสำคัญของชุมชนท่ามะโอ

ด้านหลังของวัดประตูป่องยังเป็นที่ตั้งของถนนวังเหนือ หรือ ถนนวัฒนธรรม ถนนสายเล็กๆ ที่สวยที่สุดของเมืองสายหนึ่ง โดยในทุกเช้าวันเสาร์และอาทิตย์ ยังมีตลาดนัดสินค้าเกษตรอินทรีย์ We Market เปิดให้ผู้คนได้เลือกซื้อหา จิบกาแฟ และพูดคุยกันท่ามกลางความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่ เป็นภูมิทัศน์ที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตร่วมสมัยซ้อนทับไปกับแลนด์สเคปดั้งเดิมของเมืองอย่างงดงาม

ยุคที่ 3: ยุคฟื้นฟูเมืองลำปาง (พ.ศ.2325-2417)

มิวเซียมลำปาง

ภายหลังที่อาณาจักรล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า พระเจ้ากาวิละอาศัยความร่วมมือกับพระเจ้ากรุงธนบุรีขับไล่พม่าออกจากอาณาจักรล้านนาได้สำเร็จ ก่อนมีการกวาดต้อนผู้คนมาสร้างบ้านแปงเมืองใหม่ โดยศูนย์กลางเมืองในยุคนี้ตั้งอยู่บริเวณที่ตั้งของศาลหลักเมือง และอาคารศาลากลางหลังเก่าที่ปัจจุบันได้รับการบูรณะและเปิดเป็น พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปาง หรือมิวเซียมลำปาง

มิวเซียมลำปางเป็นศูนย์การเรียนรู้ระดับจังหวัด จัดแสดงนิทรรศการถาวรชุด ‘คน-เมือง-ลำปาง’ โดยนำเสนอผ่านหัวข้อหลักๆ ว่าด้วยเรื่อง “คน” ที่มีบทบาทสำคัญต่อเมือง หัวข้อที่ 2 ว่าด้วยเรื่องของ “เมือง” ลำปาง นำเสนอประวัติศาสตร์เมืองลำปางตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และสุดท้ายในหัวข้อ “ลำปาง” นำเสนอวิถีชีวิตของชาวลำปางในพื้นที่ต่างๆ ทั้ง 13 อำเภอของจังหวัด นิทรรศการจัดแสดงด้วยรูปแบบ interactive ที่ทันสมัย มีลูกเล่นหลากหลาย และเพลิดเพลิน ลบภาพพิพิธภัณฑ์แบบเดิมๆ ไปหมดสิ้น 

ยุคที่ 4: ยุครถไฟและรถม้า (พ.ศ. 2459-2500)

สถานีรถไฟลำปาง

ยุครถไฟและรถม้าซึ่งคาบเกี่ยวกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งเป็นยุคที่ทำให้ลำปางเป็นเมืองที่ทันสมัยมากที่สุดในภาคเหนือ เพราะไม่เพียงมีการตัดทางรถไฟมาถึง แต่ก่อนหน้านั้นไม่นาน ลำปางยังเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมค้าไม้สักที่รัฐบาลสยามให้สัมปทานอังกฤษเข้ามาทำไม้ มรดกจากยุคสมัยนี้อยู่ในรูปแบบของอาคารสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นผสมตะวันตกมากมาย ทั้งในย่านกาดกองต้า ชุมชนท่ามะโอ และสบตุ๋ย อันเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟลำปางแห่งนี้

ออกแบบโดยวิศวกรชาวเยอรมัน สถานีรถไฟเมืองลำปางสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2459 เป็นอาคารครึ่งปูนครึ่งไม้ทรงปั้นหยาผสมจั่วซ้อนชั้นคล้ายหลังคาตามสถาปัตยกรรมล้านนา ที่ชั้นล่างมีช่องประตูคานโค้ง (Arch) 4 ช่วง ขนาบด้วยหน้าต่างโค้งสองฝั่ง รูปแบบนีโอคลาสสิกอันเป็นเอกลักษณ์ นี่เป็นอาคารประวัติศาสตร์ที่แคล้วคลาดจากการทิ้งระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และตระหง่านเป็นแลนด์มาร์คคู่เมืองมาถึงปัจจุบัน



พิพิธภัณฑ์มีชีวิตย่านสบตุ๋ย

ย่านสบตุ๋ยเป็นย่านที่เติบโตมาพร้อมกับสถานีรถไฟลำปาง เคยเป็นที่ตั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย สถานีโทรทัศน์ และร้านรวงอันทันสมัยในศตวรรษที่แล้ว ปัจจุบันย่านนี้เต็มไปด้วยอาคารเก่าแก่และพื้นที่แห่งการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งซ้อนอยู่กับวิถีชีวิตของผู้คนร่วมสมัย ประหนึ่งพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต  

ไม่ว่าจะเป็น บ้านพระยาสุเรนทร์ บ้านสไตล์โคโลเนียลที่สร้างขึ้นในยุคสัมปทานค้าไม้เพื่อไว้สำหรับเป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางคนแรก ปัจจุบันได้รับการบูรณะเป็นภัตตาคารหรูของเมือง (บ้านพระยาสุเรนทร์ บาย มาดามมูเซอร์) วัดศรีรองเมือง วัดพม่าที่สะท้อนความรุ่มรวยทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของชาวพม่าที่เข้ามาตั้งรกรากที่ลำปางในยุคสัมปทานค้าไม้ หอปูมละกอน ศูนย์การเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองลำปางของเทศบาลนครลำปาง เป็นต้น

นอกจากนี้ ย่านสบตุ๋ยยังเต็มไปด้วยร้านอาหารเก่าแก่เจ้าเด็ดเจ้าดังของคนลำปางแทบนับไม่ถ้วน รวมถึงยังเป็นที่ตั้งของกาดเก๊าจาว ตลาดอายุกว่า 100 ปีใกล้สถานีรถไฟ จึงเป็นย่านที่ใครมาแล้วได้ทั้งอิ่มสมองไปพร้อมกับอิ่มท้องอย่างเพลิดเพลิน

กาดกองต้า

จากสบตุ๋ย เราไปกันต่อที่กาดกองต้า อีกหนึ่งย่านการค้าเก่าแก่ที่เรียงรายไปด้วยอาคารไม้สักรูปแบบโคโลเนียล อันเป็นมรดกตกทอดมาจากยุคสัมปทานค้าไม้ กาดกองต้าเป็นที่รู้จักในฐานะที่ตั้งของถนนคนเดินที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของเมือง ขณะเดียวกันที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของแหล่งเรียนรู้หลายแห่ง

ไม่ว่าจะเป็น หม่องโง่ยซิ่น อาคารทรงขนมปังขิงที่สร้างขึ้นโดยฝีมือช่างหลวงชาวพม่าเมื่อปี พ.ศ. 2451 ปัจจุบันนอกจากเป็นคาเฟ่แสนชิลล์แล้วยังมีนิทรรศการที่บอกเล่าความเป็นมาของบ้านหลังนี้ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับบ้านเก่าในย่าน หอศิลป์ลำปาง โดยมูลนิธินิยม ปัทมเสวี ซึ่งตั้งอยู่ในเรือนไทยโบราณไม่ไกลจากวัดเกาะกลาง เป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะให้ศิลปินและนักศึกษาศิลปะในลำปาง และ Papacraft คาเฟ่กึ่งแกลเลอรี่และร้านจำหน่ายงานหัตถศิลป์ร่วมสมัยจากหลากหลายช่างฝีมือรุ่นใหม่ชาวลำปาง โดยทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ทีมงาน Papacraft ยังไปเปิดโซนพิเศษ กองคร้าฟต์ ภายในถนนคนเดินกาดกองต้า ให้ผู้คนได้มาอัพเดตว่าศิลปินรุ่นใหม่ลำปางเขาไปถึงไหนกันแล้วอีกด้วย

บ้านหลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์

ข้ามแม่น้ำวังกลับมายังชุมชนท่ามะโอ แหล่งเรียนรู้สุดท้ายแต่ไม่ท้ายที่สุดที่เราจะพาไปรู้จักคือ บ้านหลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ หรือที่คนลำปางรู้จักในชื่อสั้นๆ ว่า ‘บ้านหลุยส์’ เรือนปั้นหยาสไตล์โคโลเนียลที่มีโถงมุขเจ็ดเหลี่ยมเป็นเอกลักษณ์หลังนี้ เคยเป็นบ้านของ หลุยส์ ตี. เลียวโนเวนส์ นายห้างค้าไม้ชาวอังกฤษ ลูกชายแหม่มแอนนา ครูสอนภาษาอังกฤษให้ในหลวงรัชกาลที่ 5 หลุยส์มาสร้างบ้านหลังนี้ไว้ขณะมาทำการค้าในลำปางเมื่อปี พ.ศ. 2449 ก่อนที่จะส่งมอบให้กับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ดูแลต่อภายหลังที่สัมปทานที่อังกฤษทำไว้กับสยามหมดลง

หลังจากบ้านถูกทิ้งร้างมาหลายปี เครือข่ายชุมชนท่ามะโอก็ได้ร่วมมือกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และจังหวัดลำปางในการบูรณะบ้าน และเปิดเป็นพื้นที่เรียนรู้แห่งใหม่ของเมือง ซึ่งนอกจากจะมีนิทรรศการที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ยุคสมัยการค้าไม้ในลำปางแล้ว ลานด้านหน้ายังรองรับกิจกรรมสร้างสรรค์หลากหลายของชุมชน อาทิ ตลาดนัด การจัดเวิร์คช้อปทางศิลปะและหัตถกรรม ไปจนถึงการแสดงดนตรีโฟล์ค

ทั้งนี้นอกจากบ้านหลุยส์ ในชุมชนท่ามะโอแห่งนี้ ยังมีบ้านเก่าๆ สวยๆ และแหล่งเรียนรู้ที่เป็นความภาคภูมิใจของคนลำปางอีกไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น บ้านเสานัก บ้านเก่าแก่ที่มีเสาไม้สักมากถึง 116 ต้น บ้านท่าเก๊าม่วง เรือนไทยประยุกต์ที่เปิดเป็นโฮมสเตย์ วัดประตูป่อง วัดเก่าแก่บนถนนสายวัฒนธรรมที่มีจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าวิถีชีวิตชาวลำปางในอดีต

รวมถึง บ้านม้าท่าน้ำ แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับคนเลี้ยงม้าและสารถีรถม้า ซึ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเรียนรู้ไปจนถึงทำเวิร์กช้อปการตีเกือกม้า และความที่เจ้าของ (ว่าที่ร้อยเอก สุพจน์ ใจรวมกุล) ยังเป็นพ่อครูภูมิปัญญา เขาจึงยังจัดเวิร์กช้อปการฟ้อนเจิงและฟ้อนดาบเป็นบางวาระอีกด้วย     

กองบรรณาธิการ

Recent Posts

THE INSIDER : ณัฐธิยาภรณ์ อ้วนวงศ์ นักวิจัยโครงการเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ร้อยเอ็ด และนักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองยุทธศาสตร์และงบประมาณ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด

“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…

7 days ago

WeCitizens : The Concept

ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…

1 week ago

WeCitizens เมืองร้อยเอ็ด : ก้าวสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด

WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…

2 months ago

City View : ๑๐๑ เมืองรองที่ไม่เป็นรองใคร

ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…

2 months ago

๑๐๑ สานพลังผู้คนเพื่อกำหนดทิศทางเมือง

สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…

2 months ago

THE MAYOR : บรรจง โฆษิตจิรนันท์ : นายเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด และนายกสมาคมเทศบาลนครและเมือง

"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…

2 months ago