การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงเกษตรเป็นที่นิยมและเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งสะท้อนค่านิยมและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปในทางใฝ่หาการเรียนรู้ความดั้งเดิม จริงแท้ของชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น ประเทศต่างๆ จึงใช้การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
สำหรับจังหวัดจันทบุรีเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมที่มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงเกษตรที่สำคัญมากมาย ตั้งแต่แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่หมู่บ้านไร้แผ่นดิน บ้านบางชัน (อำเภอขลุง) และบ้านหนองชิ่ม-เกาะเปริด (อำเภอแหลมสิงห์) มีที่พักแบบโฮมสเตย์และกิจกรรมล่องแพเปียก ชมป่าชายเลน ดูเหยี่ยว เที่ยวทะเลใน และทะเลแหวกปากน้ำเวฬุ (อำเภอขลุง) ส่วนแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ เช่น อาสนวิหารพระนางมารีปฏิสนธินิรมล ชุมชนริมน้ำจันทบูร ศาลหลักเมือง ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ค่ายเนินวง อู่ต่อเรือพระเจ้าตากสิน วัดทองทั่ว วัดพลับ (อำเภอเมืองจันทบุรี) คุกขี้ไก่ ตึกแดง ป้อมไพรีพินาศ (อำเภอแหลมสิงห์) เขาพลอยแหวน (อำเภอท่าใหม่) และงานเทศกาลทางวัฒนธรรม ได้แก่ งานนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง ที่อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ (อำเภอเขาคิชฌกูฏ) ประเพณีแข่งเรือวัดจันทนาราม (อำเภอเมืองจันทบุรี) ประเพณีชักพระบาท (อำเภอขลุง) งานวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชรำลึก งานเทศกาลคริสต์มาส ณ อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล (อำเภอเมืองจันทบุรี) งานป้อมไพรีพินาศรำลึก (อำเภอแหลมสิงห์)
ขณะที่อำเภอขลุง ก็นับเป็นอำเภอหนึ่งที่มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และเชิงนิเวศที่หลากหลาย เริ่มตั้งแต่ในเขตเทศบาลเมืองขลุง ซึ่งมีพื้นที่ 3.18 ตารางกิโลเมตร นับว่ากะทัดรัด หากขี่จักรยาน เดิน หรือขับรถวนเที่ยวแป๊บเดียวก็ครบรอบการชมภูมิทัศน์วัฒนธรรมแบบชุมชนเมือง สองฝั่งถนนสายเทศบาลเรียงรายด้วยบ้านเก่าและเรือนแถวค้าขายในรูปแบบดั้งเดิม สะท้อนเอกลักษณ์ย่านชุมชนเก่าทางการค้า อาคารสถานที่หลายแห่งแสดงถึงความหลากหลายที่เชื่อมโยงขลุงให้โดดเด่นเป็นเมืองพหุวัฒนธรรม 2 ศาสนา (พุทธ คริสต์) 3 วัฒนธรรม (ไทย ญวน จีน) ด้วยคนไทยที่นับถือพุทธ คนไทยพุทธเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่มากในย่านเศรษฐกิจ ถนนเทศบาลสาย 4 และคนไทยเชื้อสายญวน นับถือศาสนาคริสต์ เช่น วัดพระหฤทัยแห่งพระเยซูเจ้า ซึ่งชุมชนคาทอลิกขลุงร่วมแรงร่วมใจกันสร้างโบสถ์คริสต์เป็นศูนย์รวมจิตใจ วัดวันยาวบน นับว่าเก่าแก่และสำคัญที่เป็นวัดแรกของเมืองจันทบุรี สร้างประมาณปี พ.ศ. 2100 ในสมัยอยุธยาตอนกลาง มีเจดีย์เก่าอายุประมาณ 100 ปี และธรรมาสเก่าที่ขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุโบราณ ศาลเจ้าจีน 3 แห่งคือ ศาลหลักเมืองขลุง อันเปรียบเสมือนหัวมังกร ศาลเจ้าขลุงมูลนิธิเปรียบเสมือนท้องมังกร และศาลเจ้าปึงเท่ากง (โรงเจขลุง) เปรียบเสมือนหางมังกร ซึ่งหากเจาะลึกเข้าไปในชุมชนชาวจีนมีการสืบทอดเรื่องเล่าจากผู้อาวุโสต่อกันมาว่าโรงเจขลุงคือหัวมังกร ศาลเจ้าขลุงมูลนิธิคือท้องมังกร ศาลหลักเมืองขลุงคือหางมังกร ซึ่งไม่ว่าจะมองมุมไหน แนวมังกรของสามศาลเจ้าคือจุดที่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่าทำให้คนอยู่ร่มเย็นเป็นสุข และอยู่กันอย่างสมานฉันท์ ไม่แบ่งแยกศาสนาและวัฒนธรรม หากหลอมรวมกันอย่างไม่เหมือนที่ไหน เห็นได้ชัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีการแห่รูปเคารพของทั้งศาสนาพุทธ คริสต์ และเทพเจ้าจากศาลเจ้าจีนให้ชาวเมือง ซึ่งพากันแต่งกายในชุดประจำวัฒนธรรมตน เป็นต้นว่า ชุดไทย ชุดพื้นเมืองญวนอ๋าวหย่าย ได้กราบสักการะเป็นสิริมงคล เช่นเดียวกับเทศกาลคริสต์มาสของคนคริสต์และเทศกาลใหญ่ของคนไทยจีนอย่างเทศกาลกินเจ ที่ชาวเมืองต่างมาร่วมงานกันอย่างไร้พรมแดนทางศรัทธา
ย่านชุมชนตลาดขลุงมีเสน่ห์น่ารักแบบเมืองเล็ก บ้านเรือนไม้ที่อยู่กันมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นพ่อวางตัวคู่ขนานไปกับอาคารพาณิชย์สองชั้นสามชั้น คือร้านรวงที่พึ่งปากท้องของชุมชน ร้านขายของชำ ร้านขายอาหารตามสั่ง ร้านก๋วยเตี๋ยว ที่ต่างสืบทอดกิจการมาถึงรุ่นที่สาม บ้างเป็นเจ้าใหม่ที่เช่าพื้นที่ทำร้านกาแฟ ร้านขนมตกแต่งให้ทันสมัย เติมสีสันให้เมืองมีชีวิตชีวา ขณะที่ตลาดสดเทศบาลขลุงอัดแน่นด้วยร้านค้าและแผงขายผักสด ผลไม้ หมูเห็ดเป็ดไก่ อาหารปรุงสำเร็จ ให้เลือกซื้อหาในความสะอาดสะอ้านของตลาดที่ได้รับการทำความสะอาดสม่ำเสมอ และเมื่อเลยตลาดสดมายังสำนักงานเทศบาลเมืองขลุง ด้านหน้าคือศาลหลักเมืองขลุง เล่ากันมาว่า เดิมเป็นศาลเจ้าเล็กๆ ที่มีคนมากราบไหว้ขอพรเป็นประจำ โดยไม่มีใครรู้ว่าเป็นศาลหลักเมือง จนในปี พ.ศ. 2500 ขลุงมูลนิธิทำพิธีขุดศพไร้ญาติในพื้นที่โรงเรียนเทศบาลขลุง ซึ่งสมัยนั้นเป็นป่าช้า เพื่อนำพื้นที่มาสร้างเป็นโรงเรียน คณะทรงจากอำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรีอัญเชิญเทพเจ้าจากศาลเจ้าต่างๆ มาร่วมพิธี เมื่อคณะทรงองค์เทพฮุดโจ้ว โป๊ยจุนเซี๊ยฮุด ประทับทรง ได้แจ้งแก่คณะกรรมการว่ายังไม่ได้เชิญเจ้าหลักเมืองขลุงมายังปะรำพิธี คณะกรรมการไม่รู้ว่าเจ้าหลักเมืองขลุงอยู่ที่ใด ท่านฮุดโจ้วจึงนำคณะกรรมการไปยังหลังสำนักงานเทศบาลตำบลขลุง และแจ้งว่าศาลเจ้าหลังดังกล่าวคือศาลหลักเมืองขลุง จึงได้รู้กันว่ามีศาลหลักเมืองอยู่ในเขตอำเภอขลุง ต่อมาปี พ.ศ. 2507 ได้อัญเชิญท่านฮุดโจ้ว จากขลุงมูลนิธิ มาประทับทรงเพื่อหาพื้นที่ที่เป็นมงคลสร้างศาลหลักเมืองขึ้น ในพื้นที่ปัจจุบัน โดยสร้างเป็นอาคารไม้ 1 หลัง และได้รื้อถอนสร้างเป็นอาคารคอนกรีตหลังปัจจุบันในปี พ.ศ. 2515
ออกจากถนนเทศบาลเข้าสู่ถนนสุขุมวิท หรือที่เรียกว่า “ถนนสายขลุง-พลิ้ว” เส้นทางคมนาคมสายรองเชื่อมระหว่างอำเภอขลุงกับตำบลตะปอน และเส้นทางเชื่อมจังหวัดจันทบุรีกับตราด มีการเชื่อมโยงวัฒนธรรมและการเกษตรที่มีศักยภาพเป็นพื้นที่เรียนรู้ตลอดชีวิตในรูปแบบถนนแห่งการเรียนรู้เชิงวัฒนธรรม ตะปอน-เกวียนหัก-เทศบาลขลุง ระยะทางรวม 9.8 กิโลเมตร เริ่มต้นจากกองพระเจดีย์ทรายใหญ่เก่าแก่ บ้านป่าคั่น หมู่ 4 ตำบลตะปอน ผ่านตำบลเกวียนหัก สิ้นสุดที่เทศบาลเมืองขลุง โดยมีการสืบประวัติความเป็นมาว่าเป็นถนนสายโบราณที่ในอดีตพระเจ้าตากเคยใช้เป็นเส้นทางเดินทัพในช่วงรวบรวมกำลังพลจากเมืองตราด ชุมชนตะปอนนั้นเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีมรดกทางวัฒนธรรมโดดเด่น มีตลาดโบราณ 270 ปี ที่วัดตะปอนใหญ่ ตั้งชื่อตลาดตามประวัติศาสตร์วัดตะปอนใหญ่ที่มีการผูกพัทธสีมามา 270 ปี (พ.ศ. 2290 สมัยอยุธยาตอนปลาย) แม้ตลาดในวันนี้ ขวบปีที่ 275 จะไม่คึกคักเหมือนตอนแรกเปิดตลาด แต่ก็ยังสะท้อนถึงความร่วมมือร่วมใจของชุมชน ซึ่งเราได้เจอนักเล่าเรื่องชุมชนตะปอน จิราภรณ์ รัตนาคะ เล่าถึงความสนุกของตลาดที่สร้างจุดเด่นด้วยการให้พ่อค้าแม่ขายใส่ชุดไทยตั้งแต่ก่อนจะมีกระแสออเจ้าละครบุพเพสันนิวาสเสียอีก ของที่ขายก็เป็นของดีบ้านตะปอน ผักพื้นบ้านปลอดสารพิษ อาหารท้องถิ่น ที่ไม่มีที่อื่น ทำให้การมาตลาดโบราณที่นี่ไม่เหมือนที่ใด
ได้เจอนักเล่าเรื่องชุมชนแล้ว เราจึงยังสนุกกับการนั่งฟังนานาเรื่องเล่าตั้งแต่ว่า ทำไมถึงตั้งชื่อตำบลหรือชุมชนตะปอนน้อย ตะปอนใหญ่ คานรูด เกวียนหัก ก็เพราะสมัยก่อน มีพ่อค้าที่เดินทางมาจากเมืองจันท์ ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า บ้านรูด ขับเกวียนมาเรื่อยๆ จนถึงชุมชนตะปอน ตรงช่วงกองพระทราย ซึ่งเป็นทรายทะเล พื้นก็ร้อน ลาที่เทียมเกวียนมา เลยเกิดอาการที่เรียกว่า ตะโพง คือเหมือนการควบของสัตว์ มาถึงช่วงตะปอนน้อย ก็เริ่มตะโพงน้อยๆ พอถึงช่วงตะปอนใหญ่ ก็เริ่มตะโพงใหญ่ๆ แล้วเสียงก็เพี้ยนมาเป็นตะปอนน้อย ตะปอนใหญ่ พอไปถึงช่วงคานรูด ด้วยความที่วิ่งมา เกวียนเริ่มไม่ปลอดภัย ก็เริ่มคานรูด พอถึงช่วงเกวียนหัก ปรากฏว่าเกวียนก็หักลง แต่ก็มีอีกเรื่องเล่าที่ว่า เมื่อก่อน มีบึงบอนใหญ่ บึงบอนน้อย เลยเรียกว่า ตะปอนใหญ่ ตะปอนน้อย หรือวัดคานรูด ก็มีเรื่องเล่าว่า สมัยก่อน พระเจ้าตากเดินทัพผ่านมาทางนี้ ไปตั้งค่ายอยู่ที่คานรูด ตรงนั้นมีบ่อน้ำโบราณ พอเดินทัพมาก็ขุดน้ำไว้กินไว้ใช้ บ่อน้ำโบราณนั้นน้ำไม่เคยแห้งจนบัดนี้
วัดตะปอนใหญ่มีโบสถ์เก่าแก่ น่าจะอายุเกิน 400 ปี สร้างในช่วงต้นถึงปลายอยุธยา และมีต้นโพธิ์หุ้มเจดีย์ ความที่สมัยก่อนเดินทางโดยทางน้ำมาตามคลอง วัดวาอารามสร้างอยู่ริมน้ำ มีเจดีย์ตรงจุดที่เคยเป็นโรงฉันก่อนจะย้ายโรงฉันมาอยู่ด้านใน เจดีย์เก่านั้นอยู่ใกล้ต้นโพธิ์ซึ่งเติบโตใหญ่ขึ้นจนเนินดินกลบไปหมดทำให้ปัจจุบันมองไม่เห็นเจดีย์ที่คนเฒ่าคนแก่ในชุมชนเคยเห็น ทั้งยังบอกเล่ากันมาว่า สมัยก่อนจะดูโพธิ์ต้นนี้ว่าหมู่บ้านจะมีปัญหาหรือสุขสงบ ปีไหน ใบสวยงาม แสดงว่าปีนั้น น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ไม่มีเหตุเภทภัยเกิดขึ้น แต่ถ้าปีไหน ต้นโพธิ์มีอาการใบเหลือง ใบร่วง ไม่สวย ปีนั้นก็อาจเกิดเหตุเภทภัยได้
ส่วนวัดตะปอนน้อย นับว่าพลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง นอกจากความเก่าแก่ด้วยสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2125 มีเจดีย์ฐาน 8 เหลี่ยมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ก็มีความโดดเด่นทางประติมากรรม อาคารอุโบสถก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง ภายในตัวอุโบสถมีเสาไม้รับโครงหลังคา เป็นศิลปกรรมผสมผสานสมัยอยุธยาตอนปลายต่อสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หน้าบันปรากฏภาพสลักไม้รูปนารายณ์ทรงสุบรรณ ใต้หน้าบันเป็นแผ่นสลักไม้สี่เหลี่ยมเรื่องรามเกียรติ์ เป็นท่าจับช่วงพญายักษ์รบกับลิง ภายในโบสถ์มีจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนกลาง เป็นภาพเขียนสีฝุ่นผสมกาว ที่ได้รับการบูรณะโดยกรมศิลปากร สะท้อนความเป็นไปของบ้านเมืองในอดีต วิถีชีวิต ที่บ่งบอกถึงการติดต่อค้าขายทางเรือกับชาวต่างชาติ ดังปรากฏภาพเขียนเป็นคนไทย คนจีน เงาะป่า ฝรั่งฮอลันดา และสิ่งที่โบสถ์วัดตะปอนน้อยกับวัดตะปอนใหญ่แตกต่างจากที่อื่น คือประตูทางเข้าโบสถ์เข้าจากด้านข้าง ประตูออกสองข้างด้านหลังพระประธาน ขณะที่โบสถ์สมัยนี้ประตูเข้าด้านหน้า แสดงถึงทำเลที่ตั้งดั้งเดิมที่อยู่ใกล้ทะเล จึงมีการรักษาสภาพแวดล้อมภายในโดยทำประตูไม่ให้เปิดรับไอทะเลตรงๆ
วัดตะปอนน้อยยังเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทผ้า อันเป็นผ้าผืนใหญ่ กว้าง 1.5 เมตร ยาว 7 เมตร บนผ้าเขียนรอยพระบาทจำลองสี่รอยซ้อนกัน เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าสี่พระองค์ ได้แก่ รอยด้านนอกที่มีขนาดใหญ่สุดเป็นรอยของพระกกุสันโธ ถัดมาเป็นรอยของพระโกนาคม จากนั้นเป็นรอยของพระกัสสปะ และรอยเล็กที่สุดเป็นรอยของพระโคตมพุทธเจ้าหรือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน โดยเป็นผ้าพระบาทจำลองอัญเชิญมาทางเรือจากวัดช้างไห้ จังหวัดปัตตานี ขึ้นฝั่งที่บ้านคลองยายดำก่อนมาประดิษฐานที่วัดตะปอนน้อย ด้วยเหตุที่ต้นทางของผ้าพระบาทมาจากภาคใต้ จึงมีผู้สันนิษฐานว่าประเพณีแห่ผ้าพระบาทอาจมาจากประเพณีชักพระทางภาคใต้ โดยมีการแห่ผ้าพระบาทรอบหมู่บ้านในช่วงประเพณีสงกรานต์ของทุกปี งานบุญที่ทำร่วมกันที่วัดตะปอนน้อยและวัดตะปอนใหญ่ และมีกิจกรรมที่ทำร่วมกับประเพณีแห่ผ้าพระบาทคือชักเย่อเกวียนพระบาท ซึ่งในอดีตเชื่อว่าเมื่ออัญเชิญผ้าพระบาทขึ้นเกวียนแห่ไปตามสถานที่ต่างๆ ในชุมชน จะทำให้โรคภัยไข้เจ็บของผู้คนที่เกวียนพระบาทชักลากผ่านไปทุเลาและหายลง อีกทั้งได้รับโชคดี ทำให้แต่ละบ้านอยากอัญเชิญผ้าพระบาทไปประดิษฐานไว้ จึงเกิดกิจกรรมการเล่นชักเย่อเกวียนพระบาทขึ้นตามมา โดยตำบลตะปอนเป็นชุมชนที่มีการเล่นชักเย่อเกวียนพระบาทสืบทอดต่อกันมายาวนานที่สุด
หากเดินทางจากวัดตะปอนใหญ่ วัดตะปอนน้อยไปตามถนนสุขุมวิทสายเก่า ขลุง-พลิ้ว ทางด้านซ้ายมือก่อนถึงสี่แยกพลิ้ว จะเห็นกองพระเจดีย์ทรายใหญ่ ซึ่งไม่สามารถสืบอายุได้ว่าเริ่มมีการนำทรายมาเมื่อไหร่ แต่มีการถมทุกปีๆ จนสูงท่วมหัวคน มีหลากหลายเรื่องเล่าตั้งแต่เป็นเส้นทางเสด็จประพาสน้ำตกพลิ้วของรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงหยุดพัก ณ กองทรายนี้ จึงมีประเพณีก่อกองพระทรายขึ้นมา กับอีกเรื่องเล่าว่า บริเวณนั้นเป็นทรายทะเล ค่อนข้างขาว พระสนมของรัชกาลที่ 5 มาก่อกองพระทรายตรงนั้น เลยมีประเพณีสืบเนื่องมาทุกปี ผู้เฒ่าผู้แก่บางคนก็เล่าว่า สมัยก่อนเป็นเส้นทางเดินทัพของพระเจ้าตาก ซึ่งพาเชลยศึก นักโทษมาด้วย ว่ากันว่า ตรงนั้นเป็นจุดประหารนักโทษ เลยมีการทำบุญให้วิญญาณนักโทษ กองทรายนี้จึงดูจะมีความขลังอยู่ มีเรื่องเล่าต่อมาอีกว่า ทรายเยอะจนกองใหญ่มาก มีความพยายามเอารถมาตักทรายตรงนั้นเพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ แต่ปรากฏว่า ตักไม่ได้ พอรถจะสตาร์ทคือไม่ติด ลองทุกวิธีก็ออกไม่ได้ แต่พอเอาทรายออก รถก็ไปได้!
เส้นทางเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมเองก็ซ้อนทับเส้นทางการเรียนรู้ภูมิปัญญาทางด้านการเกษตร ตั้งแต่พื้นที่ตำบลวันยาวซึ่งติดชายทะเล เกษตรกรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงเรือเล็ก ขณะที่ตำบลตะปอน ตำบลซึ้ง และตำบลตรอกนอง เป็นที่ราบ ที่ชัน และภูเขา เหมาะแก่การทำนา ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ สวนยางพารา สวนผลไม้ เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง สละ ข้าว และสวนพริกไทย เกษตรกรมีประสบการณ์ความรู้ความสามารถ และมีเครือข่ายสวนเกษตรอินทรีย์และเกษตรผสมผสานที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าไปศึกษาดูงานและท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งการได้เยี่ยมชมสวนผลไม้อินทรีย์ เช่น สวนเกษตรอินทรีย์คุณทองใส สมศรีที่มีฟาร์มสเตย์ให้ทำกิจกรรมหลากหลาย สวนทุเรียนโบราณลุงต้อย แปลงมังคุดอินทรีย์ตรอกนองของคุณชนะพล โห้หาญ ได้เห็นเกษตรกรที่ผสมผสานวิถีเกษตรดั้งเดิมกับเกษตรอัจฉริยะ ช่วยเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจในการทำเกษตรกรรมที่ต้องอาศัยการลองผิดลองถูก ความเอาใจใส่ น้ำอดน้ำทน เพื่อดูแลผลผลิตให้ออกมาคุณภาพดี
แม้จันทบุรีได้ชื่อว่าเป็นเมืองผลไม้ และผลไม้อย่างทุเรียน มังคุดจากอำเภอขลุงก็ทำรายได้มากให้จังหวัด ทั้งดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวชมสวนชิมผลไม้กันอย่างคึกคักในช่วงหน้าร้อนของทุกปี แต่การได้ท่องไปบนถนนการเรียนรู้ในเมืองพหุวัฒนธรรมและเกษตรนำวิถีของอำเภอขลุงในช่วงนอกฤดูผลไม้ ก็เปิดมุมมองให้คนต่างถิ่นได้รู้จากการสัมผัสประสบการณ์จริงว่า จันทบุรีสามารถเที่ยวได้ตลอดปี และสโลแกนที่เราเห็นในเมืองว่า “สุขทุกวันที่จันทบุรี” “สุขทุกวินาทีที่เมืองขลุง” ไม่ใช่คำพูดเกินจริง
“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…
ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…
WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…
ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…
สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…
"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…