“ผมมักจะถามนักวิจัยที่ทำหน้าที่ประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้โรงงานต่างๆ ในระยองทุกคนว่า คุณเป็นคนระยอง หรือมีญาติพี่น้องอยู่ในระยองหรือเปล่า?
เพราะผมทำงานด้านสิ่งแวดล้อมจึงรู้ดี เวลาที่บริษัทใดก็ตามในระยองมีโครงการจะขยายโรงงานหรือเปิดโรงงานเพิ่ม หน่วยงานภาครัฐก็จะต้องว่าจ้างที่ปรึกษาที่เป็นนักวิจัยให้มาทำหน้าที่ตรวจสอบว่าโรงงานใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น มีมาตรการจัดการมลภาวะผ่านเกณฑ์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ซึ่งมันเป็นเรื่องย้อนแย้งที่นักวิจัยเหล่านั้นส่วนใหญ่ ก็ได้รับว่าจ้างโดยกลุ่มทุนและบริษัทที่จะขยายกิจการพร้อมกัน ดังนั้น ท้ายที่สุด พวกเขาก็จะประเมินให้โครงการที่เปิดใหม่เกือบทั้งหมดผ่านเกณฑ์อยู่ดี
ผมจึงมักถามพวกเขาว่ามันไม่ใช่แค่การประเมินให้ผ่านเกณฑ์ไปตามหน้าที่ แต่ต้องคำนึงถึงความเป็นจริงที่คนระยองต้องประสบด้วย ขณะเดียวกันก็พยายามจะบอกกับเจ้าของโรงงานอยู่เสมอว่าบางทีคุณลดกำไรลงมาหน่อย และใส่ใจเรื่องการทำ eco factory บ้าง สร้างกำไรในเชิงความยั่งยืนคืนให้แก่คนในเมือง ระยองตอนนี้มีโรงงานอยู่ราว 4,000 โรง ถ้าแต่ละโรงใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมจริงๆ ไม่ใช่แค่การทำไปตามข้อกำหนดกับภาครัฐ ผู้คนในเมืองก็จะเผชิญกับมลภาวะน้อยลงกว่านี้เยอะ
จริงอยู่ที่ระยองเป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัว หรือ GDP สูงที่สุดในประเทศ โรงงานขนาดใหญ่หลายแห่งทำกำไรมหาศาลและจ่ายภาษีคืนกลับให้รัฐบาลเยอะมากๆ อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรที่ไม่ได้ทำงานในภาคอุตสาหกรรม ระยองก็ยังมีคนเสี่ยงชีวิตขายของตามสี่แยก มีแรงงานที่ต้องปากกัดตีนถีบ มีชาวบ้านที่มีคุณภาพชีวิตไม่ดีอีกมากมายเต็มไปหมด เมืองเรายังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก
ในฐานะที่ผมทำงานสำนักงานธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง ซึ่งมีบทบาทหลักในการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ก็พยายามชวนหน่วยงานอื่นๆ ช่วยกันคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้พี่น้องที่อยู่นอกระบบอุตสาหกรรมมีรายได้ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเราต่างเห็นตรงกันว่าการท่องเที่ยวและภาคการเกษตรนี่แหละจะช่วยสร้างงานสร้างอาชีพ ยกระดับผู้คนในเมืองเราได้ ระยองมีแหล่งท่องเที่ยวครบครันทั้งพื้นที่ธรรมชาติ ป่าโกงกาง ชายหาด เกาะแก่ง ภูเขา รวมถึงพื้นที่ทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกันกับภาคเกษตรที่เรามีสวนทุเรียนและสวนผลไม้ที่ให้ผลผลิตอร่อยๆ ดึงดูดผู้คนได้มากมาย แต่ต่อให้เรามีทรัพยากรดีแค่ไหน ถ้าเมืองยังถูกจดจำว่ามีสภาพอากาศเป็นพิษหรือน้ำทะเลปนเปื้อนคราบน้ำมัน ก็ไม่มีประโยชน์
ดังนั้น ควบคู่ไปกับการกวดขันและสร้างจิตสำนึกให้กับโรงงานแต่ละแห่ง ทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดระยองจึงพยายามทำโครงการต่างๆ เพื่อช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นโครงการชายหาดติดดาว ที่ทำร่วมกับกรมควบคุมมลพิษและกรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมของแต่ละชายหาดในระยอง และสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่นั้นๆ เพื่อช่วยกันดูแลพื้นที่เพื่อให้ได้รับ 5 ดาว สร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวไปด้วยอีกทาง
หรือการพัฒนาระยองให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของผู้คนในทุกมิติ ซึ่งนี่เป็นภาพฝันที่ผมอยากให้ระยองเป็นเลยล่ะ
อย่างไรก็ตาม การจะทำให้ระยองเป็นแบบนั้นได้ หน่วยงานที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมก็จำเป็นต้องทำการประเมินมาตรฐานหลายด้าน และตรงนี้เองที่ผมพบว่าเกณฑ์การประเมินบางอย่างอาจไม่สอดคล้องกับบริบทของเมืองระยอง เช่น ค่าปนเปื้อนในน้ำ เราไม่อาจนำเกณฑ์ของระยองที่มีแม่น้ำสายเล็กและระบายได้ช้า ไปเทียบกับอยุธยาหรือสมุทรปราการที่มีแม่น้ำสายใหญ่ซึ่งละลายมลภาวะได้ดีกว่าอย่างเจ้าพระยา เพราะแม้จะผ่านเกณฑ์เหมือนกัน แต่แม่น้ำเจ้าพระยาก็อาจมีมลภาวะตกค้างน้อยกว่าแม่น้ำระยอง เป็นต้น
ผมจึงมองว่าพร้อมไปกับการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ เรื่องการกำหนดเกณฑ์การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับบริบทของเมืองต่างๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่จิตสำนึกต่อส่วนรวมของผู้ประกอบการและผู้ประเมินผลกระทบก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อการบรรลุเป้าหมายร่วมกัน
ผมเชื่อจึงว่าแม้จะเป็นเมืองอุตสาหกรรม แต่ถ้ามีการจัดการที่ดี เมืองอุตสาหกรรมนั้นก็เป็นเมืองที่น่าอยู่ได้ และเราทุกคนสามารถทำให้ระยองเป็นแบบนั้นได้”
ครรชิต ศรีนพวรรณ
ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง
“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…
ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…
WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…
ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…
สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…
"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…