“ผมเป็นคนหมู่ 4 ตำบลปากพูน เรียนจบมัธยมต้นที่โรงเรียนปากพูน และย้ายไปเรียนต่อที่อื่น จนกลับมาบรรจุเป็นครูสอนวิชาเคมีที่โรงเรียนเดิม สาเหตุที่เลือกกลับมาทำงานที่นี่ ข้อแรกคือผมต้องกลับมาดูแลครอบครัว และข้อที่สอง คือผมเห็นโอกาสที่มีในบ้านเกิดแห่งนี้
ปากพูนเป็นตำบลที่ผู้คนมีทรัพยากรเยอะมากนะครับ ประมงอุดมสมบูรณ์ ส่วนชาวสวนส่วนใหญ่ก็มีที่ดินทำกินค่อนข้างมาก อาจจะเพราะความที่อะไรก็สมบูรณ์อยู่แล้วด้วย ชาวบ้านจึงไม่ได้คิดขวนขวายกับการพัฒนาอาชีพเท่าไหร่ อย่างถ้าคุณทำสวนมะพร้าว ถึงเวลาก็จะมีล้งมารับซื้อไป บางช่วงเขาไม่มารับ คุณขายไม่ได้ ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะไม่รู้จะทำยังไง หรือถ้าบ้านไหนทำประมง ก็มีลักษณะคล้ายๆ กันคือสามีจะออกเรือหาปลา ส่วนภรรยาก็จะเป็นแม่บ้านอยู่บ้าน ทั้งที่ในบ้านของตัวเองก็มีสวนให้ปลูกนั่นปลูกนี่ สามารถหารายได้เสริมเยอะแยะ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร
นี่แหละที่ทำให้ผมเห็นว่าที่ผ่านมา ปากพูนเป็นเมืองที่มีต้นทุน แต่ผู้คนกลับไม่ค่อยมีความหวัง
ควบคู่ไปกับการสอนหนังสือ ความที่ผมเป็นลูกหลานของเกษตรกรทำน้ำตาลมะพร้าวอยู่แล้ว เลยมีความคิดต่อยอดจะทำสวนในแบบของผมเอง ผมซื้อที่ดินทำสวนเพิ่ม คิดว่าสามารถทำทั้งการขายมะพร้าวผล นำไปแปรรูป และทำสวนเกษตรผสมผสาน ตั้งใจให้สวนของผมไม่ต้องง้อล้งมะพร้าว ถ้าเขากดราคาเรามาก ก็ไม่ขาย หาช่องทางขายทางอื่นเอา และก็อยากสนับสนุนให้ชาวสวนในปากพูนทำแบบนี้ คือมีความสามารถในการต่อรองราคากับคนกลาง และมีผลผลิตอื่นๆ สร้างรายได้เสริม
นอกจากมะพร้าว ในสวนของผมก็มีฝรั่งไส้แดง ส้มเขียวหวาน มีน้ำผึ้งจากผึ้งและชันโรงที่มาจากป่าโกงกางซึ่งผมทำคอนโดให้พวกเขาอาศัย เลี้ยงปศุสัตว์ ทำปุ๋ยจากมูลไก่อัดเม็ด รวมถึงขุดร่องสวนเพื่อเลี้ยงปลา และอย่างที่บอกว่าผมเป็นอาจารย์สอนเคมี ก็เลยมีความรู้เรื่องการแปรรูป เลยได้ผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นขึ้นมาอีกตัว ผมตั้งชื่อว่า ‘สวนปันสุข’ เพราะคิดว่านอกจากผลผลิตในสวนแห่งนี้ เรายังสามารถแบ่งปันความรู้จากการทำสวนให้คนอื่นได้
ที่สำคัญ ผมยังใช้สวนแห่งนี้ประกอบการเรียนการสอนที่โรงเรียนอีกด้วย ผ่านกิจกรรมชุมนุมเศรษฐกิจพอเพียง ชวนนักเรียนให้ไปดูและทำกิจกรรมที่สวน ให้ความรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่และโคกหนองนาโมเดล แล้วก็ลองให้พวกเขาทดลองจินตนาการว่าถ้าเรามีสวนพื้นที่ 1 ไร่ เราจะทำโคกหนองนาของเราอย่างไร ให้นักเรียนออกแบบพื้นที่การใช้งานสวนด้วยคอมพิวเตอร์มาส่ง จากนั้นก็สอนกันต่อไป หรือถ้ามีโอกาส ไม่ต้องมีบทเรียนอะไรก็ได้ ให้เด็กๆ มาวิ่งเล่นในสวน มาซึมซับ มาดูว่าสวนของผมนี้มีอะไรหรือมีระบบนิเวศอะไรบ้าง
อย่างที่บอกว่าคนปากพูนมีต้นทุนแต่ไม่มีความหวัง ผมจึงคิดว่าถ้าเราอยากให้ชุมชนเรามีความหวัง การปลูกฝังในตัวเด็กเป็นเรื่องสำคัญ เลยตั้งใจให้สวนปันสุขเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้เด็กๆ กลับไปคิดถึงทรัพยากรและที่ดินของที่บ้านพวกเขา เราสามารถแปรรูปวัตถุดิบที่มี หรือต่อยอดพื้นที่เป็นอะไรได้บ้างจนเกิดเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน
สมัยก่อนผมเคยคิดนะครับว่าถ้าเราอยากประสบความสำเร็จ เราต้องเรียนให้หนัก เรียนในสิ่งที่ยากๆ แต่ทุกวันนี้ หลังทำสวนมาหลายปี ผมกลับสอนเด็กๆ ใหม่ว่าให้ทำเรื่องเรียนเป็นเรื่องง่าย โจทย์สำคัญกว่านั้นคือควรเรียนในสิ่งที่เราสนใจจริงๆ และรู้ว่าเราจะนำสิ่งที่เรียนบวกกับต้นทุนที่มีไปพัฒนาเป็นอะไรได้มากกว่า อย่างเด็กปากพูนของเรามีต้นทุนในด้านทรัพยากรที่ดีอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเขาจะเอาความรู้หรือสิ่งที่ได้เรียนรู้มาไปพัฒนาเป็นอะไร ผมเชื่อว่าการที่เรามีความรู้และรู้จักเรียนรู้ มันสร้างโอกาสใหม่ๆ ได้ไม่สิ้นสุดครับ”
ธงชัย ศักดามาศ
คุณครูโรงเรียนปากพูน และเจ้าของสวนปันสุข
Facebook: สวนปันสุข เกษตรผสมผสาน
https://www.facebook.com/profile.php?id=100066780458381
พลังคน พลังโคมลำพูน: เมืองเล็ก ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์ แม้ ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์ เป็นคนเชียงใหม่ เธอก็หาใช่เป็นคนอื่นคนไกลสำหรับชาวลำพูนเพราะก่อนจะเข้ามาขับเคลื่อนงานวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดกับเทศบาลเมืองลำพูน เธอได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเมืองแห่งนี้มาหลายครั้ง โดยเฉพาะโครงการขับเคลื่อนเยาวชนเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นพลเมืองของเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ในปี 2566-2567 - นั่นล่ะ…
“เป็นสิ่งวิเศษที่สุด ที่ผ้าไหมของจังหวัดลำพูนได้ปรากฏต่อสายตาผู้คนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งเมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้การส่งเสริม และทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ และกระทั่งในปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 10 ก็ทรงส่งเสริมผ้าไหมไทย และฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญเช่นกัน ดิฉันเป็นคนลำพูน มีความภูมิใจในงานหัตถศิลป์การทอผ้าไหมยกดอกนี้มาก ๆ และตั้งใจจะรักษามรดกทางวัฒนธรรม ทำหน้าที่ส่งต่อถึงคนรุ่นต่อไป…
“ความที่โตมาในลำพูน เราตระหนักดีว่าเมืองเรามีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สูงมาก ทั้งยังมีบรรยากาศที่น่าอยู่ อย่างไรก็ดี อาจเพราะเป็นเมืองขนาดเล็ก ลำพูนมักถูกมองข้ามจากแผนการพัฒนาของประเทศ เป็นเหมือนเมืองที่มีศักยภาพ แต่ยังไม่ถูกปลุกให้ตื่นความที่เราเคยทำงานที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ปัจจุบันคือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA - ผู้เรียบเรียง) ได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จของกระบวนการพัฒนาย่านด้วยกรอบพื้นที่สร้างสรรค์ในหลายพื้นที่…
“ผมเป็นคนลำพูน และชอบทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันเป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดลำพูน ควบคู่ไปกับกำลังศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากประสบการณ์การทำงานในสภาฯ ทำให้ผมเห็นว่า เยาวชนลำพูนมีศักยภาพที่หลากหลาย แต่สิ่งที่ขาดไปคือเวทีที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความสามารถและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการสนับสนุนจากโรงเรียนหรือโครงการของภาคเอกชน ปี 2567 พี่อร (ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์…
“อาคารหลังนี้แต่ก่อนเป็นที่ประทับของเจ้าราชสัมพันธวงษ์ลำพูน (พุทธวงษ์ ณ เชียงใหม่) น้องเขยของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของลำพูน อาคารถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2455 หลังจากนั้นก็ถูกขายให้พ่อค้าชาวจีนไปทำเป็นโรงเรียนหวุ่นเจิ้ง สอนภาษาจีนและคณิตศาสตร์ โรงเรียนนี้เปิดได้ไม่นานก็ต้องปิด เพราะสมัยนั้นรัฐบาลเพ่งเล็งว่าอะไรที่เป็นของจีนจะเกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่หนูก็ไม่รู้หรอกว่าโรงเรียนนี้เกี่ยวข้องหรือเปล่า (ยิ้ม) จากนั้นอาคารก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนมงคลวิทยาในปี…
“เราโตมากับวัฒนธรรมของคนลำพูน ชอบไปเดินงานปอย ร่วมงานบุญ ก่อนหน้านี้ก็เคยทำงานรับจ้างทั่วไป จนเทศบาลฯ มาส่งเสริมเรื่องการทำโคม โดยมีสล่าจากชุมชนศรีบุญเรืองมาสอน เราก็ไปเรียนกับเขา ตอนนี้อาชีพหลักคือการทำโคม ทำมาได้ 2 ปีแล้ว สำหรับเรา โคมคืองานศิลปะ เป็นสัญลักษณ์และมรดกที่ยึดโยงกับวัฒนธรรมของคนบ้านเรา ตอนแรกเราไม่มีความคิดเลยว่ามันจะกลายมาเป็นอาชีพได้…