“หัวหินเป็นเมืองพระราชวัง มีข้าราชบริพารตามเสด็จมา แล้วเขาก็มาเดินเที่ยวชายหาด เขาเดินไปตรงบ้านพักส่วนตัว คนเฝ้าชื่อ ลุงขาว มีอาชีพเลี้ยงม้า ลุงขาวเห็นมีคนมาเที่ยวเยอะ แกก็นึกได้ เอาม้ามาจูงเล่น คนก็อยากขี่ ตั้งแต่นั้นมาเลยเกิดมีม้าให้คนขี่ท่องเที่ยวชายหาดหัวหิน ก็มีมาเป็นร้อยปีแล้ว ตั้งแต่รุ่นพ่อผม ตัวผมนี่ก็อายุจะหกสิบแล้ว ทีนี้พอมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ เราก็ต้องกำหนดราคา ทำให้มีมาตรฐาน ก็เลยตั้งเป็นกลุ่มชมรม ตอนนั้นนายกหนุ่ย (นพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน) เป็นสมาชิกสภาเทศบาล ท่านก็เรียกพวกม้าชายหาดขึ้นไปประชุมแล้วตั้งเป็นชมรมม้าหัวหิน ก็ยี่สิบกว่าปีแล้ว
สมาชิกชมรมม้าหัวหินมี 61 คน เป็นคนในพื้นที่ทั้งหมด ติดเบอร์ม้า 1-61 เอาเท่านี้เลย ไม่มีเพิ่ม ใครมาขอเป็นสมาชิกเราก็ไม่ให้ เอาเฉพาะคนและม้าในพื้นที่เรา เขตสมาชิกไปได้ถึงพระราชวังอ้อมเขาตะเกียบไปจนถึงสวนสน พูดง่ายๆ ก็ 19 ไร่ ม้าก็มีเป็นจุดๆ บางคนบ้านอยู่เขาตะเกียบเขาก็ลงแถวนั้น บ้านผมอยู่ตรงข้างห้างบลูพอร์ต หัวหิน ผมก็ลงตรงนี้ใกล้ นอกจากว่าไม่มีคน ผมถึงเดินไปหน้าหาดโรงแรมรถไฟ (เซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ทและวิลลา หัวหิน) ทั้งคนอยากเช่าขี่ม้าทั้งคนขี่ม้าออกมาชายหาดจุดไหนก็ได้ แล้วแต่เจอ ม้าเรามีเบอร์ทุกตัว ก็ซื้อกันมาจากหลายที่ ราชบุรี เพชรบุรี มีสามสายพันธุ์ ม้าไทยเรียกม้าแคระ ม้าลูกผสม ตัวใหญ่เรียกม้าเทศ ส่วนมากเราจะเลี้ยงม้าลูกผสมกับม้าไทย เพราะบ้านเราอากาศร้อน ม้าเทศเลี้ยงลำบาก การดูแลก็ลำบาก เหมือนฝรั่งมาอยู่เมืองไทยเจออากาศร้อนแหละครับ พอซื้อก็มาทำประวัติม้ากัน ตรวจเลือดม้า ฉีดวัคซีน ม้าเราก็มีบัตรประชาชนล่ะ เกิดบางคนไปขึ้นราคา ยิ่งเขาจำเบอร์ได้ เราจะรู้เลยว่าเป็นม้าใคร หรืออย่างผมเบอร์ 8 พอนักท่องเที่ยวเดินมา เห็นม้าอึ ไม่เก็บ ก็รู้ละว่าใคร แล้วเราก็เป็นจิตอาสาคอยดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว สมมติของหายหรืออะไร เพราะถ้าชายหาดไม่ปลอดภัย ใครก็ไม่อยากมาเที่ยว เราก็ขาดรายได้
ค่าบริการเรากำหนดไว้ว่า 1 ชั่วโมง 1,000 บาท ครึ่งชั่วโมง 500 บาท 20 นาที 400 บาท 15 นาที 300 บาท ถ่ายรูปก็แล้วแต่ 50 บาทบ้าง 100 บาทบ้าง บางคนก็ให้มากกว่านั้นนะครับ ก็แล้วแต่เขา ตอนช่วงโควิดก็แย่ไปตามๆ กัน เราก็ต้องประหยัด เคยกินอยู่วันละร้อย ก็เหลือ 40-50 บาท ม้าก็ประหยัดด้วย แต่กรมปศุสัตว์ก็ดีมาก เอาหญ้ามาให้ ช่วยเหลือเรา ยิ่งตอนนั้นสองปีที่แล้วช่วงคู่กับโควิดมีกาฬโรคม้า ม้าของเราก็มีตายไปสิบกว่าตัว เพราะติดจากที่อื่น แต่กรมปศุสัตว์ก็มาช่วยดูแล ฉีดวัคซีนให้ 2 เข็ม แต่เจ้าของม้าที่ตายก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินซื้อม้าตัวใหม่เพราะเขาทำอาชีพประกอบการม้าเช่าอยู่แล้ว เขาก็ต้องเลี้ยงครอบครัว ณ ตอนนี้ หลังโควิด สมาชิกเราก็ยัง 61 คนเหมือนเดิม ไม่มีใครเลิกอาชีพ ช่วงโควิดก็ประคองตัวกันไป เราคนที่นี่อยู่แล้ว ทำก่อสร้างมั่ง ขายของมั่ง พอเลี้ยงตัวได้ ตอนนี้ก็เริ่มดีขึ้นแล้วตั้งแต่เรามาฉีดวัคซีน ม้าก็ทำวัคซีนเรียบร้อย พูดง่ายๆ ว่าปลอดภัยทั้งคนทั้งม้า ตอนใหม่ๆ ก็อย่างนี้ ต่างคนต่างกลัว แต่นี่เรามีภูมิคุ้มกันแล้ว ก็ต้องขอบคุณท่านนายกหนุ่ยที่ได้งบประมาณมาฉีดวัคซีนให้คนในพื้นที่หัวหิน บางคนพกใบฉีดวัคซีนมาด้วยนะ บางคนเขาไม่เชื่อ เคยขี่ม้าอยู่ก็ไม่กล้า
ผมทำอาชีพม้าเช่าชายหาดมาตั้งแต่อายุสิบกว่าขวบ พ่อแม่มีลูก 4 คน มีผมคนเดียวที่ชอบมาตั้งแต่เล็ก เราชอบม้า แล้วมีรายได้ สมัยก่อนผมเรียนอาชีวะ วันธรรมดาไปเรียนหนังสือ เสาร์อาทิตย์ก็มาประกอบการม้าเช่า ไม่ต้องขอตังค์พ่อแม่ เอาตังค์ที่เหลือให้พ่อแม่ เราก็เอาไปแค่พอกินที่โรงเรียน ก็อยู่ได้ ผมหยุดไปทำงานโรงแรม พออายุ 55 เขาให้เกษียณอายุก่อน ทีนี้เราชอบทางนี้อยู่แล้ว ดีกว่าไปเป็นลูกจ้างเขา อย่างนี้ทำอิสระของเราเอง ถึงผมหยุดทำม้าเช่าไปช่วงนึง แต่ผมก็คลุกคลีม้าตลอด ไม่ได้ทิ้ง ตอนนี้ผมทำทุกวัน ม้าตัวไหนผมรู้หมดทุกคนว่าใครชื่ออะไร
ม้าเช่าชายหาดที่อื่นมีนะ ที่ชะอำ แต่ต้นกำเนิดมาจากหัวหิน สมัยก่อนวันตรุษจีน พวกผมนี่แหละครับ ขี่ม้าจากหัวหินไปชะอำ เพราะนักท่องเที่ยวเยอะ แล้วที่นั่นเขาไม่มีม้า ก็ขี่ม้าไปขี่ม้ากลับ ก็รายได้ดี พอตอนหลัง คนที่อยู่หัวหินเขาย้ายถิ่นไปทำม้าที่ชะอำ แต่เริ่มแรก หัวหินมีที่เดียวที่ผมจำได้ตั้งแต่สมัยคุณพ่อ เป็นสัญลักษณ์เลยว่าถ้ามาหัวหินต้องมาขี่ม้าชายหาด มีอยู่สองอย่างหัวหินที่คู่กันแต่ก่อน สามล้อปั่นกับม้าชายหาด เดี๋ยวนี้สามล้อปั่นแทบไม่มีละ มีแต่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แต่ม้าชายหาด เรายังอนุรักษ์ไว้ เรื่องความสะอาดและความปลอดภัยนี่ไม่ต้องพูดถึง เราช่วยดูแลกันอยู่แล้ว เราพกถุงกันทุกคน ม้าอึก็เก็บ เอาไปทิ้งขยะ นี่เดินดูได้ ขี้ม้าแทบไม่มีเลย เรื่องลักเล็กขโมยน้อยก็มีนิดหน่อย สมัยก่อนยังไม่เจริญก็อาจมี ทางเทศบาลฯ ก็ช่วยอนุรักษ์ด้วย ช่วงเทศกาลเราก็มีขบวนม้าไปร่วมงานกับเขาด้วย ผมคิดว่าก็ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ สมาชิกเรามีอายุ 70 อยู่คนนึง แต่เขายังแข็งแรงนะ นอกนั้นก็มีสมาชิกลูกๆ หลานๆ กันนี่แหละ ม้าชายหาดหัวหินไม่สูญหายไปแน่ครับ”
สมพงษ์ กล่ำกล่อมจิตร
ประธานชุมชนรุ่งสว่าง
ประธานชมรมม้าหัวหิน ผู้ประกอบการม้าเช่าชายหาด
“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…
ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…
WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…
ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…
สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…
"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…