“แม่ไม่มีลูก มีแต่หลานๆ และความที่เราเป็นประธานชุมชนและอยู่มานาน คนในชุมชนและในตลาดจึงเรียกเราติดปากว่าแม่ เลยมีลูกๆ เป็นพ่อค้าแม่ค้าในตลาดแทน (ยิ้ม) ลูกๆ และหลานๆ เหล่านี้นี่แหละสอนแม่ใช้ไลน์ สอนให้รู้ว่าจะจ่ายเงินหรือรับโอนเงินทางมือถืออย่างไร ซึ่งทำให้ชีวิตแม่ง่ายขึ้นมาก
แม่มีกลุ่มไลน์ที่ตั้งไว้ขายอาหาร ในทุกๆ เย็น เราจะเขียนบอกคนในกลุ่มว่าพรุ่งนี้จะทำกับข้าวอะไรบ้าง ไข่คว่ำ หลามบอน น้ำพริกแมงดา แกงฮังเล จอผักกาด วันหนึ่งประมาณ 5-6 อย่าง จากนั้นแต่ละคนก็จะเขียนออเดอร์ทิ้งไว้ในกลุ่ม ทีนี้เราก็รู้แล้วว่าจะต้องทำกับข้าวแต่ละอย่างปริมาณเท่าไหร่ และก็ทำเผื่อไว้ประมาณหนึ่งสำหรับบ้านที่เขาไม่มีไลน์ พอตอนเช้า แม่ก็ขี่มอเตอร์ไซค์ตระเวนส่งตามที่แต่ละบ้านสั่งไว้ ซึ่งเกือบทั้งหมดอยู่ในย่านคูเมือง เฉลี่ยวันหนึ่งจะมีขาประจำประมาณ 30 กว่าหลัง และมีขาจรอีก 10 กว่าๆ อย่างบ้านไหนไม่มีไลน์ แม่ก็จะจอดรถเอิ้น เอากับข้าวเปล่าเจ้า ก่อนจะร่ายไปว่ามีอะไรบ้าง แม่ทำอย่างนี้ทุกวัน ถ้าไม่แวะเม้าท์มอยกับลูกค้า วันหนึ่งส่งอาหารชั่วโมงเดียวก็เสร็จ และถ้ารู้ว่าอีกวันต้องมีธุระไปทำงานให้ชุมชน ก็แค่ไลน์บอกเขาว่าพรุ่งนี้ไม่ส่ง โดยจะมีวันศุกร์วันเดียวที่แม่ไปเปิดร้านที่กาดกองเก่า ถนนคนเดินวัดล่ามช้าง วันนั้นก็จะทำเยอะหน่อย แต่ก็ขายหมดตลอด
พอเปลี่ยนมาขายกับข้าวทางไลน์แบบนี้ ทำให้แม่จ่ายตลาดง่าย ทำแล้วก็ไม่เหลือทิ้ง แล้วก็ไม่ต้องเสียค่าเช่าสถานที่หรือต้องรอว่าเมื่อไหร่ลูกค้าจะเข้ามาอีก มีเวลาเหลือไปทำอย่างอื่น แต่ที่เป็นแบบนี้ได้ก็มาจากการที่เราเคยเปิดร้านมาก่อนในชุมชนควรค่าม้ามาหลายปี ทำให้มีลูกค้าประจำด้วย
ตอนแรกก็ไม่ได้คิดหรอกว่าจะขายแบบนี้ แต่มีเหตุที่ทำให้แม่ไม่ได้ขายในร้านที่เดิมแล้ว และเราต้องย้ายบ้านมาอยู่ย่านสันติธรรม ซึ่งที่อยู่ใหม่มันไม่เหมาะจะเปิดเป็นร้าน คิดอยู่สักพักว่าจะทำยังไง เลิกขายดีไหม จนมีลูกๆ หลานๆ มาสอนให้เล่นไลน์ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่มากๆ สำหรับเรา แต่ก็ทำให้เราได้คิดว่านอกจากส่งสติ๊กเกอร์สวัสดีประจำวัน หรือส่งรูปมาอวดเพื่อนๆ ในกลุ่มกัน เราก็ขายกับข้าวทางนี้ได้เหมือนกันนี่ ยิ่งช่วงโควิดมาใหม่ๆ และคนไม่อยากออกไปข้างนอก เรายิ่งขายดีเลย
นี่ขายกับข้าวทางออนไลน์นี้มาก่อนพวกฟู้ดแพนด้าหรือแกร็บฟู้ดจะเข้ามาในเชียงใหม่อีกนะ (ยิ้ม)”
///
แม่แอ – รัตนา ชูเกษ
ประธานชุมชนควรค่าม้าสามัคคี และแม่ค้าขายกับข้าวพื้นเมืองทาง (ออน) ไลน์