“ศิลปะคือหัวใจของการพัฒนาของเมือง”

หลายคนปรามาสว่านครสวรรค์เป็นเมืองพ่อค้า จะทำพื้นที่ศิลปะยังไงก็ไม่ขึ้นหรอก แต่นั่นล่ะ ผมมองว่าเพราะเราเป็นเมืองพ่อค้า นครสวรรค์จึงจำเป็นต้องมีพื้นที่ทางศิลปะ

ทำไมจึงคิดเช่นนั้น? เพราะที่ผ่านมาลูกหลานชาวปากน้ำโพไม่ค่อยได้รับการปลูกฝังให้มีใจรักในศิลปะ พวกเขาเติบโตมาด้วยความคาดหวังจากพ่อแม่ให้เป็นหมอ เป็นวิศวกร เป็นนักธุรกิจ ซึ่งผมคิดว่าถ้าเด็กสักคนมีศิลปะไว้จรรโลงจิตใจ พวกเขาน่าจะเป็นหมอ วิศวกร หรือนักธุรกิจที่ดีมากๆ ได้

ผมไม่ได้หมายความว่าจะให้ลูกหลานหันมาเป็นศิลปินกัน ขอแค่ชีวิตได้ใกล้ชิดศิลปะ และมีสุนทรียะในการมองโลกบ้างก็พอ เหมือนประเทศที่เจริญแล้วอย่างญี่ปุ่นเอย หรือในยุโรปเอย แม้แต่ในเมืองเล็กๆ เขาก็ยังมีหอศิลป์ให้เด็กๆ เข้าไปดู วันข้างหน้าเด็กๆ อาจโตมาเป็นนักบัญชี วิศวกร หรือช่างไฟฟ้า ก็ไม่สำคัญเลย แต่อย่างน้อยๆ ศิลปะก็อาจปลูกฝังเข้าไปในตัวพวกเขา

และถ้ามองในเชิงเศรษฐกิจ การมีพื้นที่ศิลปะหรือหอศิลป์ในเมือง ก็เป็นต้นทุนทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ดี ขอให้เมืองเรามีสักแห่งก่อน เดี๋ยวที่อื่นๆ จะตามมา คาเฟ่บางแห่งอาจเอางานศิลปะมาแขวนโชว์ มีตลาดนัดศิลปะ มีเทศกาลเล็กๆ ระบบนิเวศทางศิลปะมันจะเกิดขึ้น และถ้าเราดีลกับกระทรวงวัฒนธรรมให้มีการจัดไทยแลนด์เบียนนาเล่ได้อีก นั่นหมายถึงเม็ดเงินมหาศาลที่จะเข้ามาในจังหวัด

ยกตัวอย่างจังหวัดกระบี่ เมื่อก่อนนักท่องเที่ยวมากระบี่ เขาก็ลงเครื่องแล้วเดินทางไปเที่ยวอ่าวนาง ไปเที่ยวเกาะแก่งต่างๆ ตัวเมืองนี่เงียบเลย มีโรงแรมอยู่ 30 กว่าแห่ง จนกระบี่เริ่มสร้างหอศิลป์ ดึงศิลปินมาจัดกิจกรรมตามที่สาธารณะนั่นนี่ และสุดท้ายก็ได้งบประมาณจากกระทรวงวัฒนธรรม 120 ล้านบาทมาจัดไทยแลนด์เบียนนาเล่ ทุกวันนี้คุณไปดูสิ ในตัวเมืองมีโรงแรม 200 กว่าโรง คนจีนเหมาเครื่องบินบินตรงมาดูงานศิลปะที่กระบี่ ตัวเมืองเศรษฐกิจดีขึ้นมาก

ในฐานะคนที่เกิดและทำธุรกิจในปากน้ำโพ ก็อยากเห็นบ้านเมืองเราเป็นแบบนั้นบ้าง คือหนึ่ง ลูกหลานที่นี่มีความรักในศิลปะ และสอง ศิลปะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจของเมือง และทำให้เมืองน่าอยู่

พอมีการจัดตั้งกฎบัตรนครสวรรค์ขึ้น ผมก็เอาเรื่องนี้ไปเสนอ ซึ่งทางกฎบัตรเขาก็มีทิศทางเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน แต่อย่าลืมว่ากฎบัตรคือกรอบทิศทางการพัฒนา ยังไม่ใช่กลไก ผมก็เลยลงมาช่วยขับเคลื่อนกลไก

ตอนแรกเรามีความคิดกันว่าจะลองปรับปรุงท่าข้าวกำนันทรง ท่าเรือน้ำลึกเก่าแก่ที่ปลดประจำการแล้วใกล้ๆ กับสะพานเดชาติวงศ์ พื้นที่โอ่โถงเหมาะจะเป็นหอศิลป์ของเมืองได้เลย แต่ความที่เจ้าภาพมันทับซ้อน ก็เลยพับไอเดียนี้ไป แต่ก็พอดีกับที่ช่วงเดือนธันวาคม คณะผู้บริหารจากกระทรวงวัฒนธรรมจะมาเยือนนครสวรรค์พอดี ก็คิดว่าน่าจะเอาไอเดียการทำเมืองศิลปะไปเสนอเขา เรามีเวลา 20 วัน ก็เลยลองเสนอ proposal ที่เป็นรูปธรรม โดยใช้พื้นที่ 2 ชั้นล่างของโรงภาพยนตร์เก่าในห้างสรรพสินค้าแฟรี่แลนด์ของผม ทำเป็นหอศิลป์ของเมืองไปก่อนเลย

หอศิลป์เมืองนครสวรรค์จึงเกิดด้วยเหตุนี้ ผมชวนเครือข่ายเพื่อนศิลปินที่เป็นคนนครสวรรค์ ให้คัดเลือกงานมาจัดแสดง งบประมาณก็ควักส่วนตัวไปก่อน ไม่เยอะเท่าไหร่ อาศัยการช่วยเหลือกันมากกว่า ชั้นล่างจัดแสดงงานที่เป็น tradition หน่อยๆ และจำหน่ายงานศิลปะรวมถึงของที่ระลึกจากศิลปิน ส่วนชั้นสองแสดงงานร่วมสมัยและงานเชิงคอนเซปต์ พอจะคุยได้ว่าที่นี่เป็นหอศิลป์ที่ใช้งบประมาณน้อยที่สุดและใช้เวลาจัดสร้างเร็วที่สุดก็ว่าได้

พอทางกระทรวงวัฒนธรรมมาดู เขาก็เห็นภาพ เห็นแนวโน้มจะสนับสนุนเมืองเราได้ แต่นั่นก็ยังไม่พออยู่ดี เพราะเมืองเราต้องมีระบบนิเวศทางศิลปะให้ครอบคลุมกว่านี้

ผมก็เลยเริ่มเองเลย ไปคุยกับภาคส่วนต่างๆ รวมถึงกลุ่มศิลปินถึงความเป็นไปได้ที่จะมาสนับสนุนกัน จากนั้นก็คุยกับคาเฟ่หรือร้านกาแฟต่างๆ ทั่วเมืองที่ทุกวันนี้กลายเป็นแหล่งนัดพบของคนรุ่นใหม่แล้ว ตกลงกับเขาว่าให้เขามาดูงานศิลปะที่หอศิลป์เรา เขาชอบงานของศิลปินคนไหน เดี๋ยวผมประสานให้ แล้วเอางานของศิลปินคนนั้นไปแขวนที่คาเฟ่เลย ถ้ามีคนสนใจซื้อ ก็มาแบ่งส่วนแบ่งกัน ตอนนี้ผมเริ่มคุยไปแล้ว ตั้งใจจะมีอย่างน้อยๆ 10 คาเฟ่ทั่วเมือง

คาเฟ่ยังไม่พอ ร้านอาหารดังๆ ที่เป็นเหมือนห้องรับแขกของเมืองผมก็ใช้โมเดลนี้ รวมถึงโรงแรมดีไซน์สวยๆ ที่มีอยู่ทั่วเมือง เอาจิตรกรรมไปแขวน เอาประติมากรรมไปตั้งโชว์ ทำให้แขกโรงแรมได้เห็นว่างานของศิลปินนครสวรรค์มีเจ๋งๆ สวยๆ หลายชิ้นเลยนะ

พร้อมกันนี้ก็ยังคุยกับโรงแรม 42C Hotel บอกว่าเรามาร่วมเป็นเจ้าภาพทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนหรือ art exchange ไหม ชวนศิลปินต่างชาติสัก 15 คนมาพักที่โรงแรม ให้โรงแรมสนับสนุนค่าที่พัก อาหาร สตูดิโอ และอุปกรณ์ทำงานศิลปะ และก็ให้ศิลปินทำงานคนละ 1 ชิ้น ทำนิทรรศการกลุ่มในโรงแรม เป็นต้น

เหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ผมพอจะช่วยได้ ก็อยากให้ภาคส่วนต่างๆ รวมถึงภาครัฐมาช่วยกันหนุนเสริมต่อ หลายคนไม่รู้ว่าเรามีศิลปินเก่งๆ เยอะ เพียงแต่ที่ผ่านมา เมืองมันไม่มีพื้นที่ให้ศิลปินบ้านเราได้แสดงงาน เขาก็เลยต้องไปแสดงงานในกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ ถ้านครสวรรค์มีพื้นที่ที่หมุนเวียนงานศิลปะจากศิลปินท้องถิ่น จากที่ต่างๆ หรือในต่างประเทศ รวมถึงมีความเคลื่อนไหวทางศิลปะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้มันช่วยยกระดับเมืองเราได้เยอะ

เพราะถึงแม้ผมจะเป็นนักธุรกิจที่ทำห้างสรรพสินค้ามาสามสิบกว่าปีแล้ว แต่ก็ยืนยันอีกเสียงว่าศิลปะนี่คือหัวใจของการพัฒนาเมืองเลยนะ

สันติ คุณาวงศ์
กรรมการผู้จัดการห้างสรรพสินค้าแฟรี่แลนด์
และผู้ก่อตั้งหอศิลป์นครสวรรค์

กองบรรณาธิการ

Recent Posts

WeCitizens เมืองร้อยเอ็ด : ก้าวสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด

WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…

1 week ago

City View : ๑๐๑ เมืองรองที่ไม่เป็นรองใคร

ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…

1 week ago

๑๐๑ สานพลังผู้คนเพื่อกำหนดทิศทางเมือง

สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…

1 week ago

THE MAYOR : บรรจง โฆษิตจิรนันท์ : นายเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด และนายกสมาคมเทศบาลนครและเมือง

"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…

2 weeks ago

อ่านเสียงแก่งคอย เสียงของเมืองที่ก้าวข้ามบาดแผลประวัติศาสตร์มาสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

WeCitizens ชวนผู้อ่านเรียนรู้เมืองแก่งคอย เมืองประวัติศาสตร์ที่มีบาดแผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในวันนี้ แก่งคอยเปลี่ยนบาดแผลแห่งประวัติศาสตร์เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอ่านความคิด วิถีชีวิตผู้คนแก่งคอยได้ที่ WeCitizens : เสียงแก่งคอย, สระบุรี - WeCitizens Flip PDF…

1 year ago

ฟังเสียงนครสวรรค์ เมืองศูนย์กลางแห่งภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน

WeCitizens ชวนผู้อ่านเดินทางไปจังหวัดนครสวรรค์ เมืองที่อยู่กึ่งกลางระหว่างภาคเหนือและภาคกลาง เมืองที่เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางทางน้ำในอดีต นครสวรรค์จึงเป็นเมืองสำคัญอีกเมืองหนึ่งในฐานะของเมืองที่เป็นศูนย์กลาง (Hub) ทั้งด้านการค้า การคมนาคม และนำมาซึ่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้คนหลากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะชาวจีนโพ้นทะเล E-book ฉบับเสียงนครสวรรค์ฉบับนี้ จะพาผู้อ่านทุกคนไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวนครสวรรค์ วัฒนธรรมชาวจีนและเทศกาลตรุษจีนที่มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับประเทศและนานาชาติ และไปฟังเสียงผู้คนชาวนครสวรรค์ที่มองบ้านเมืองของตนเองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน…

1 year ago