“ช่วงเล็กๆ เห็นในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จตามป่าตามเขา รู้สึกว่าทำไมต่างจังหวัดสวยจัง มีแต่ต้นไม้ ภูเขา พื้นเพเดิมเป็นคนกรุงเทพฯ ก็อยากมีที่มีทางอยู่ต่างจังหวัด อยู่กับต้นไม้ ธรรมชาติ อากาศดีๆ พอปี 2540 ผมเจอวิกฤติฟองสบู่แตก ช่วงนั้นทำบ้านจัดสรรก็โดนเต็มๆ แต่ไม่ย่อท้อ มีอะไรก็ขายหมดเพื่อที่จะสร้างและโอนให้กับลูกค้าทุกหลัง ก่อนนี้ก็ขับรถเที่ยวปากช่อง เขาใหญ่ โคราชบ่อย ก็เลยได้โอกาสหันเหจากชีวิตคนเมืองมาสู่สังคมเขาใหญ่ เพราะการเดินทางไม่ไกลจากกรุงเทพฯ จะกลับไปเยี่ยมคุณแม่เดินทางแค่สองชั่วโมงก็ถึงละ แล้วพื้นที่แถวนี้ ด้วยสภาพอากาศ ผืนดิน แหล่งน้ำ ก็มีความรู้สึกว่าเราจะทำอะไรกับชีวิตต่อไป หันมาสู่ภาคการเกษตรดีกว่า
ผมมาปากช่องพร้อมกับหนี้สินเยอะมาก มาเริ่มทำการเกษตร ก็ค่อยๆ เรียนรู้ ค่อยๆ ปลูก เริ่มจากปลูกข้าวโพดหวานส่งไร่สุวรรณ ทำอยู่หลายปี ตอนหลังปลูกกุยช่าย ผักใบ แล้วเราก็เอาการตลาดนำการผลิต ก็เข้าไปตลาดไท หากลุ่มแม่ค้า กลุ่มเป้าหมายที่จะขาย แล้วค่อยเริ่มผลิต แต่ความสำคัญคือ การผลิตแล้วขายได้ ต้องมีความต่อเนื่อง ผมเริ่มจากเช่าพื้นที่เล็กๆ แค่ 5 ไร่เอง จนเช่าใหญ่ขึ้น 20 ไร่ พื้นที่ข้างหน้า 85 ไร่ เช่าพื้นที่ฟาร์มม้าเดิมอีก 400 กว่าไร่ ธุรกิจเริ่มดีขึ้นก็ค่อยๆ เริ่มซื้อ เพราะฉะนั้น ที่อยู่ ณ ปัจจุบันนี้เป็นพื้นที่ที่ค่อยๆ เช่าและซื้อมา เกือบ 500 ไร่ ผลผลิตประมาณ 5-6,000 กิโลกรัมต่อวัน ทุกวัน เพียงพอในการส่งขายให้กับลูกค้า พื้นที่ขายผักเราส่วนใหญ่เป็นตลาดในกรุงเทพฯ ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท บริษัทส่งออก เข้าตลาดแมสเลย ช่วงนึงก็ส่งห้างเทสโก้โลตัสด้วย
ปี 2557 เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และอีสานประสบปัญหาภัยแล้งมาก พื้นที่ใหญ่ของผม แหล่งน้ำผิวดินไม่เพียงพอ เลยปรับลงมาทำในพื้นที่เล็กๆ มาปลูกผักในอาคารโรงเรือนที่มีอยู่ซัก 6,700 กว่าตารางเมตร เสร็จก็ค่อยๆ มาปรับเปลี่ยน คิดว่าการท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้ได้ ก็ปรับมาทำศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตร และทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรเรื่องหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำอย่างไรให้คนเจอวิกฤติเศรษฐกิจแล้ว สามารถอยู่ได้แบบยั่งยืน เข้มแข็ง ไม่ต้องไปอาศัยเงินทุนมาก แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือใจต้องมาก่อน ถ้าใจเราสู้ ใจรักเรื่องการทำเกษตร ก็สามารถทำได้ องค์ความรู้ ปราชญ์ มีอยู่ทั่วไป ในมือถือสามารถเซิร์ชหาข้อมูลได้ คุณอยากทำอะไร มันก็ง่าย ค่อยๆ เรียนรู้ ลองทำ เดี๋ยวนี้ไม่ต้องไปลองผิดลองถูก มีคนลองให้แล้วคุณก็ไปปรับให้เข้ากับพื้นที่ของคุณ แต่ต้องลงมือ เหมือน Learning by Doing
คนเข้ามาที่นี่ จะสังเกตว่าเงียบ แขกวอล์กอินค่อนข้างน้อย จุดแข็งในการขายเรื่องภาคการเกษตรอาจจะน้อย ยิ่งถ้าเป็นเจนใหม่ รุ่นเจน-วาย มาถึงไม่มีเซลฟี ไม่มีคาเฟ่ จะไม่ค่อยมา ฉะนั้น ส่วนใหญ่เป็นลูกค้ากลุ่มศึกษาดูงาน ราชการ โรงเรียน บริษัทที่เข้ามาทำเรื่อง CSR บ้าง เข้ามาเราก็บรรยาย สร้างแรงบันดาลใจ ให้เรียนรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แล้วก็แยกเข้าไปตาม 5 ฐาน มีฐานเรียนรู้การผลิตเชื้อไตรโคเดอร์มา ซึ่งเป็นเชื้อราดีในการป้องกันโรคพืชต่างๆ เข้าไปสู่ฐานเกษตรทฤษฎีใหม่ จำลองการแบ่งพื้นที่ 30-30-30-10 ฐานเพาะปลูกต้นกล้า ฐานเรียนรู้การผสมดิน ทำให้มีอาหารพืชที่สมบูรณ์ ถัดเข้าไปเป็นฐานการปลูก มีแปลงผักสลัด คณะที่เข้ามาก็จะได้ทำการปลูกและได้ต้นกล้ากลับไป เสร็จแล้วเดินวนออกมาก็เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรปากช่อง เอาผลิตภัณฑ์ สินค้า มาขายกัน ถ้าวันธรรมดาที่ไม่มีคณะก็จะมีแต่พนักงานของเรา แต่สินค้ามีขายตลอด ถ้ามีกรุ๊ป ก็จะมีแหนมเห็ดทอด ผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบ ผลไม้ ผัก เขาเข้ามาจัดร้านกันเต็มบูท เราให้พื้นที่ฟรี กลุ่มศึกษาดูงานที่มาก็เสียคนละ 100 บาท มี Welcome Drink น้ำอัญชัน ถ้ามีเบรก ก็มีขนมไทยที่เราอุดหนุนชาวบ้านแถวนี้ คนที่วอล์กอินเข้ามาไม่เสียสตางค์ เดินวนไปในแต่ละฐาน แต่ละจุดมีคิวอาร์โคด อยากรู้จุดไหน ต้นไม้อะไร ก็สแกนคิวอาร์โคดดู เขาสามารถมาอ่านดูทีหลังได้
เราเป็นฟันเฟืองตัวเล็กๆ ที่ไปคุยกับสถาบันพัฒนาเมือง ว่าทำอย่างไรจะมีแผนพัฒนาเมืองปากช่อง เขาใหญ่ให้คนป่วยน้อยลง ก็ช่วยขับเคลื่อนเอาชุมชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเข้ามาเพื่อให้มีองค์ความรู้ด้านการผลิตอาหารอินทรีย์เพื่อสุขภาพ ทำอย่างไรให้คนกินพืชผักไม่มีสารเคมีตกค้าง ทำอย่างไรให้เกษตรกรมีจิตสำนึกในการไม่เอาสารเคมีปนเปื้อนไปให้กับผู้บริโภค และก็เป็นประโยชน์กับตัวเกษตรกรด้วย แค่คุณฉีดพ่น ไอ้ฝุ่นละอองเคมีที่คุณสูดดมเข้าไปทุกวัน ก็มีผลต่อร่างกาย อาจจะไม่เห็นผลวันนี้ แต่ส่งผลระยะยาว ทำอย่างไรที่จะเป็นโมเดลตัวอย่างของปากช่อง เขาใหญ่เพื่อที่จะทำอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ในอีกส่วนที่เป็นประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรปากช่อง เราก็ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยง เป็นเส้นทางท่องเที่ยวจากทางหลวง 2235 ที่วิ่งจากถนนมิตรภาพเข้ามา เชื่อมกับวังน้ำเขียว วิ่งเข้าไปถนนธนะรัชต์ เขาใหญ่ จากถนนมิตรภาพขึ้นไปฝั่งสระบุรี เราก็มีกลุ่มที่เป็นพันธมิตรเครือข่ายกระจายกันอยู่เกือบ 140 ราย มีเล็กใหญ่ สวนเกษตรอินทรีย์ ธุรกิจร้านอาหารบ้าง โรงแรมบ้าง
กระบวนการขับเคลื่อนเขาใหญ่ ปากช่อง เมืองอาหารอินทรีย์ ผมว่าเริ่มจากจิตสำนึกรักของผู้ผลิต คือไม่ว่าคุณจะทำพืชผัก หรือปศุสัตว์ ทำอย่างไรจะลดสารเคมีลง มันทำได้ อย่างของผมเอง แต่ก่อนก็เป็นเคมี ส่วนใหญ่เริ่มต้นจากเคมีก่อน เพราะง่าย ถ้าพืชใบไม่เขียว ไปร้านขายยา ซื้อไนโตรเจน พืชกำลังจะออกดอกออกผล เอาฟอสฟอรัส โพแทสเซียมมาเพิ่มความหวาน พอมาทำอินทรีย์ ไม่อยากเชื่อเลยว่า อาหารพืชมีอยู่ในชีวิตประจำวันเต็มไปหมด ใบไม้แห้งที่ร่วงหล่น เอามาหมักกับมูลสัตว์ เลี้ยงหมู เลี้ยงวัว เลี้ยงไก่ เอามูลเขามาหมัก แต่ไม่ใช่เอาใบไม้ มูลสัตว์ไปกลบนะ ต้องมีกระบวนการหมัก กระบวนการย่อยสลาย จะต้องมีจุลินทรีย์ ซึ่งจุลินทรีย์ที่ถูกที่สุดและฟรี มีพด.1 คุณไปขอที่กรมพัฒนาที่ดินได้ เอาบัตรประชาชนเข้าไป จำกัดคนละ 10 ซอง แต่ 10 ซองนี่หมักปุ๋ยได้เป็นสิบๆ ตันนะ เอามารดกับวัสดุหมัก ทิ้งไว้ 1-2 เดือน ก็เอามาใช้ได้ ปัญหาการผลิตอันดับหนึ่งคือโรคและแมลง ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ต่ำมาก เพราะสู้กับโรคและแมลงไม่ค่อยไหว อาจจะเป็นเพราะเกษตรกรยังไม่ค่อยเข้าใจ หรือมีองค์ความรู้น้อยในการที่จะปรับปรุง บำรุงดินอย่างไรให้มีอาหารพืช NPK ซึ่งได้จากธรรมชาติ ธาตุหลักธาตุรองที่ได้จากธรรมชาติที่ไม่ใช่ปุ๋ยเคมี มันมีกระบวนการที่จะให้ได้สิ่งเหล่านี้มาหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปุ๋ยหมัก น้ำหมัก ฮอร์โมน โปรตีนต่างๆ
อาชีพเกษตรกรอยู่ได้ครับ เราต้องมีการตลาดมาก่อน อย่าไปปลูกพืชตามกระแส เห็นคนโน้นปลูกผักสลัด ชั้นปลูกบ้าง แต่ปลูกแล้ว ถึงเวลาต้องตัด คุณขายใคร ตรงนี้สำคัญ เอาเป็นว่ายังไม่คิดสเกลใหญ่ ผมปลูกผักอินทรีย์ ผมไปหาแผงขายตลาดนัดข้างบ้านได้มั้ย ถ้าขายตลาดนัดยังไม่หมด บอกเพื่อนบ้าน ข้างบ้าน ผมปลูกผักสลัดอินทรีย์นะ สนใจลองกินของผมมั้ย วันแรกผมแจกฟรีก่อน เขาชิมเสร็จแล้วอาจจะต่างจากผักเคมี กรอบดี หวาน อายุการเก็บยาวนาน กินดี เพื่อสุขภาพ ไม่ป่วย วันหลังเขาก็มาซื้อ อาจจะบอกต่อ ก็ค่อยๆ ขยายตลาดจากวงใกล้ตัวได้ แต่ขั้นตอนก็ใช้เวลา ผมถึงบอกว่า ใจต้องมีมาก่อน ถ้าคุณมีใจในการที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่จะสร้างอาหารปลอดภัย คุณต้องรอได้ คุณต้องมีความอดทนในการที่จะไปถึงจุดนั้นได้ ศักยภาพเขาใหญ่มันพร้อม เพราะฉะนั้น แผนพัฒนาเมืองที่ทำขึ้นมา ผมว่ามีประโยชน์มหาศาล เราค่อยๆ สร้างแบรนด์ที่มีความเข้มแข็ง อีกหน่อยนักท่องเที่ยวเข้ามา มีอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แถมมีอาหารเกษตรอินทรีย์ แทบทุกชุมชนปลูกพืชผักอินทรีย์ปลอดภัยหมดเลย สามารถทำได้ แต่ต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ
ผมมองถึงแผนพัฒนาเมือง หนึ่ง ทำอย่างไรที่จะสร้างจิตสำนึกให้กับคนในท้องถิ่น หันมาให้ความสำคัญเรื่องอาหารปลอดภัย คำว่า อาหาร ไม่ใช่แค่พืชผักนะ ทุกอย่างที่เป็นอาหาร เราเริ่มจากลด ละ เลิกการใช้สารเคมีให้ได้มากที่สุด เดี๋ยวทุกอย่างตามมาเอง สอง คนที่เป็นประชากรแฝงที่เข้ามาอยู่ ส่วนใหญ่ที่เห็นมองในเรื่องของผลประโยชน์ ธุรกิจตัวเอง ไม่ค่อยได้เกื้อหนุนพื้นถิ่น ไม่ค่อยได้คืนสิ่งที่คุณเอาจากท้องถิ่นกลับเข้ามา คุณมาสูดอากาศดีๆ ของเขาใหญ่ ปากช่อง แต่คุณกลับทิ้งขยะ สร้างมลภาวะ จากการที่คุณทำธุรกิจ คุณใช้น้ำบาดาลจากใต้ดินให้น้อยลงได้มั้ย เท่ากับช่วยเซฟทรัพยากรละ ผมศึกษาเรื่องธนาคารน้ำใต้ดิน การขุดหลุมขุดคลองแล้วชู้ตน้ำลงไปใต้ดิน แทนที่ฝนตกแล้วจะปล่อยให้น้ำไหลทิ้งไป น้ำที่ใช้จากการล้างจาน อาบน้ำ คุณมีบ่อบำบัด ดักไขมัน เสร็จแล้วให้มันตกตะกอน แล้วเอาน้ำตรงนี้กลับมารดน้ำต้นไม้ได้ จาก 20 กว่าปีที่ผมอยู่นะ ไม่ใช่ทุกคนนะ คนที่ทำประโยชน์ก็มีแต่ยังน้อย ทำอย่างไรที่จะให้คนมีจิตสำนึกส่วนรวมให้มากขึ้น ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยกันพัฒนาทรัพยากรบุคคลในพื้นที่ ช่วยกันคืนสิ่งที่คุณเอาจากธรรมชาติกลับเข้าไปสู่ธรรมชาติ”
ชยพล กลมกล่อม
สวนผักปากช่อง
วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรปากช่อง
อุปนายกฝ่ายท่องเที่ยวเชิงเกษตร สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่
“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…
ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…
WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…
ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…
สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…
"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…