“หัวหินเป็นประมงชายฝั่ง ไม่มีเรือใหญ่อย่างเรือเก๋ง เรือเครื่อง เพราะภูมิภาคของหัวหินไม่มีคลอง เรือใหญ่เข้ามาจอดไม่ได้ เราก็อยากขยับขนาดเรือประมงให้ใหญ่ขึ้น แต่สถานที่ของเราไม่ได้ ของผมมีเรือเล็ก 1 ลำ เรือปั่นไฟ 2 ลำ ในเรือไดหมึกมีอุปกรณ์ไดไฟ ปั่นไดนาโม ขนาดประมาณ 5-6 เมตร อย่างละ 3 วา เวลาไปไดหมึกคือออกไปจองที่ แนวในตั้งแต่บ่อฝ้ายไปถึงห้วยทรายใต้ เอาเรือเล็กออกไปลำนึง ลากเรือปั่นไฟไปได้หลายลำ กลับเข้าฝั่งพร้อมกัน เรือไดหมึกจะใช้ช่วงระยะห่างกันพอสมควร หมึกจะไปเกาะที่มีแสงไฟมาก ถ้าเกิดเรืออยู่ใกล้กัน พอดับลำนี้ หมึกจะแห่ไปอยู่ลำใกล้ ถ้าเราทิ้งระยะห่างกัน เราหรี่ไฟ หมึกก็จะยังอยู่ในบริเวณเดียวกัน วิธีการคือทอดสมอแล้วก็ปล่อยอวนหรือกางแหขึงที่ปลายคันไม้ไผ่ยื่นออกไปข้างนอกตัวเรือ เปิดไฟล่อหมึกจนมีหมึกตอมแสงไฟเยอะแล้วก็ทยอยดับไฟทีละดวง จนเหลือเฉพาะไฟราวกลางลำ แล้วเปิดไฟหรี่สีแดง ฝูงหมึกก็จะว่ายเข้ามาตรงที่หรี่ไฟ ก็เอาแหทอด หรือแหครอบหมึกขึ้นมา แล้วก็เปิดไฟล่อใหม่ เรือเริ่มกลับเข้าฝั่งช่วงเช้ามืด ได้เท่าไหร่ก็ตามนั้น เย็นค่อยว่ากันต่อ
พันธุ์ที่เราเก็บคือหมึกกล้วย ขนาดเล็กๆ เรียก กะตอย ตัวใหญ่เรียก จิ๊กโก๋ เดี๋ยวนี้หมึกราคาดี ออกเรือไป ได้ 10 กิโลก็ถือว่าดี ได้เยอะแล้ว แต่มันก็มีช่วงที่ได้ 30 กิโล 40 กิโล 70 กิโล 80 กิโล 100 กิโลก็มี ตกหมึกจะดีช่วง 6-10 ค่ำ น้ำจะหยุด ไม่เชี่ยว สามารถทำการประมงได้นาน จะหรี่ไฟตอนไหนก็ได้ เพราะน้ำเดินช้า ทำงานได้ทั้งคืน มีเวลาเยอะ ก็ได้หมึกมาก ช่วงมรสุมหมึกอยู่ข้างล่าง เรือใหญ่เขาจับกันทั้งปี แต่การทำประมงหัวหินไดหมึกไม่ได้ทั้งปี เริ่มทำตั้งแต่เดือน 4-5-6-7-8-9 จนถึงตุลาคมนี่อันตรายละ เป็นช่วงลมตะวันออก ลมว่าว นอนหลับไม่ได้ เสี่ยงตาย ฟ้าแลบต้องนั่งดูแล้ว ช่วงนั้นหมึกก็ดี แต่มันก็เสี่ยง ช่วงหน้ามรสุม จะเอาเรือขึ้นหาด ถ้าเอาเรือออกหน้ามรสุมกางแหต้องเก็บให้ไว ผมเคยไปโดน ชะล่าใจ ปกติสารบบการทำประมง ถ้าฝนตกทั้งวัน กลางคืนจะไม่มีพายุ ไม่มีลม วันนั้นฝนตกทั้งวัน ผมกลับมาจากชุมพรก็ออกไปปั่นเลย เพราะเห็นเรือออกกันเยอะแยะ ไปถึงก็กางเต็นท์นอน เสร็จก็เปิดไฟล่อหมึก แต่เข้าไปนอนแป๊บเดียว ลมมาตึงเลย เก็บไม่ทัน เต็นท์นี่กลับลำตีลังกา สาวสมอก็ไม่ทัน ไฟยังเก็บได้แค่ข้างเดียว จากนั้นฝนก็มาประมาณ 4 ชั่วโมง ลมแบบยกสุดลงสุด 4-5 เมตร เกือบซัดเข้าสะพาน ผมติดอยู่ในทะเลประมาณ 2 ชั่วโมง ดูทรงว่าน่าจะได้แล้วค่อยเก็บ สาวสมอเข้ามาข้างใน มีเรือจมอยู่ 2-3 ลำ ลำผมเกือบจม อาศัยใหญ่หน่อย
ชาวประมงพื้นบ้านหัวหินมีทั้งหมด 7 กลุ่ม ก็เป็นกลุ่มตามพื้นที่ที่ออกเรือ บ่อฝ้าย สมอเรียง F16 หัวดอน ตะเกียบ บ้านเขาเต่า และสมาคมชาวประมงหัวหิน กลุ่มผม กลุ่มประมงเรือเล็ก F16 มี 30 กว่าลำ ก็มีเทศบาลเมืองหัวหินเหมือนเป็นพี่เลี้ยง เวลามีเรือจม เดือดร้อน เราก็ประสานไปทางเทศบาลฯ เขาก็ช่วยหาเงินมาเยียวยา มันได้ไวกว่าทางประมงอำเภอ คือประมงอำเภอเขาก็ดี ก็ช่วย แต่เรื่องเร่งด่วน อย่างเรือจม ไปแจ้งทางอำเภอหัวหิน แจ้งไปทางจังหวัดประจวบฯ หลายทอด กว่าจะได้เงินหกเดือน มันได้แหละแต่นาน อย่างอำเภอฯ ให้สองหมื่น เทศบาลฯ ให้หมื่นเจ็ด แต่ได้ 2-3 เดือน เราต้องเลือกที่เดียว เราก็เลือกเทศบาลฯ กองสวัสดิการสังคมดูแล ได้เงินน้อยกว่าแต่ได้เร็วกว่า กอบกู้เรือได้เลย
ช่วงที่ทำประมงได้คือช่วงเก็บเกี่ยว ต้องออกทะเลทุกวัน เพราะหน้าคลื่นลมมันออกไม่ได้ พอหมดหน้าหมึก ก็ไปออกอวนปู หมดปู มีปลา เราก็หาปลา ช่วงหน้ากุ้งเราก็หากุ้ง หาไปตามทรัพยากรที่มี อุปกรณ์เราต้องพร้อม เครื่องมือครบ ในเรือไดหมึกผมก็ลงอวนปลาด้วย ออกไปลงอวนปลาที่นึงแล้วกลับไปเอา หมึกจะไปไหนไม่ได้ ต้องอยู่กับที่ ผมก็ออกมาที่สะพานปลาทุกเช้า มารับเรือ ลูกน้องเอาไปขาย แล้วเอาบิลมา เขาได้ 40% หลังจากหักค่าน้ำมัน วันนี้ได้ปลาทู ปลาสาก ปลาแป้น ปลาสิกุ๊น ได้ปลาหมึก 9 กิโล ถือว่าเท่าทุน พออยู่ได้ ค่าน้ำมัน 400 บาท ค่ากิน 100 บาท แต่ก่อนทำได้ดีกว่านี้ แต่ราคาขายได้ถูกกว่านี้ ถ้าเป็นเมื่อก่อนเรารวยได้ เดี๋ยวนี้ แพงหมด น้ำมันแพง เราต้องได้หมึกมาก แต่ของทะเลมันมีจำกัด
อาชีพประมงเป็นอาชีพไม่แน่นอน จริงจังกับทะเลไม่ได้ บางครั้งออกไปไม่ได้อะไรเลยก็มี ถ้าเราทำการประมงอย่างเดียวมันไม่พอเลี้ยงชีพ ถ้าหน้าคลื่นหน้าลม ออกเรือไม่ได้ เอาอะไรกินกัน ยิ่งช่วงนี้วิกฤติน้ำมันแพง ก็มีผลกระทบมาก สมัยก่อน น้ำมัน 200 บาท ไปทำการประมงได้ละ เดี๋ยวนี้ต้องมี 400 บาท ขึ้นไปเท่าตัว แล้วราคาอาหารทะเลก็ไม่ได้ปรับตัวดีดแรงขึ้น เพราะเรามีเถ้าแก่ซื้อจากคนกลาง เขาก็ซื้อในเพดานที่ต่ำอยู่ อย่างที่นี่ ขายปลาหมึกอยู่กิโลละ 170 บาททุกไซส์ จะหมึกเล็กหมึกใหญ่ ไม่ต้องเลือก ถามทางเรือเราก็แฮปปี้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าให้ดี เราอยากได้ซักกิโลละ 190 บาท แต่ถ้าไปขายทางตะเกียบ ได้ถึง 200 บาท เพราะเขามีช่องทางไปได้อีก แต่ถ้าเราไปขายที่ตะเกียบแล้วมาขายที่นี่เขาจะไม่ซื้อเรา คนรับซื้อก็รับซื้อกลุ่มเดิมๆ พอเราเอากลับมาขายใหม่ เขาจะเลือกหมึกเป็นสองไซส์ 150 บาท 170 บาท บีบบังคับให้เราต้องขายไปกลายๆ
ผมเองทำธุรกิจหลายอย่าง แต่ประมงก็ต้องออก ใครมีงานฝั่งก็ทำงานฝั่ง พวกกลุ่มผมค่อนข้างสบาย เรามีอาชีพฝั่งกันทุกคน รับราชการ พ่อค้าแม่ค้า ทำโรงแรม ประมงคืออาชีพเสริม แต่ตอนเย็นเราก็มานั่งคุยกันทุกวัน ผมทำประมงมาหลายสิบปี ผูกพันกับทะเลมานาน เมื่อสมัย 30 ปีที่แล้วมีเรือดำ เรืออวนลาก เรือลากกุ้ง มาจอดนอนที่นี่มาก พวกคนเรือก็ไม่รู้ไปหาของกินที่ไหน พ่อผมก็ไปขายไอติม ขายขนมในเรือ เหมือน 7-11 เคลื่อนที่ บางทีขายไม่ได้ตังค์ ไปแลกม้าน้ำ หอย หอยสังข์ พอแลกได้มากๆ บ้านผมก็เปิดเป็นโรงงานหอย โรงมุก ผมไปส่งตั้งแต่ภูเก็ตยันสายเหนือสายตะวันออก คนงาน 40-50 คน พอพ่อเสียผมก็เลิก มันอิ่มตัว วัตถุดิบเครื่องประดับหายากขึ้น หัวหินก็ขึ้นชื่อเรื่องหอยประดับ เดี๋ยวนี้ก็น้อยลง การท่องเที่ยวเปลี่ยน เก็บปะการังไม่ได้ด้วยเดี๋ยวนี้ผิดกฎหมาย แล้วช่างทำก็หมดเหมือนกัน
สภาพสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนทั้งน้ำ เปลี่ยนทั้งลม ทรายก็เปลี่ยน แต่อาชีพประมงก็ไปได้เรื่อยๆ แนวโน้มน่าจะดีขึ้น เพราะเดี๋ยวนี้พวกเรือประมงเรือลากที่ผิดกฎหมายมันเข้มงวด เรือทำลายล้างหมดไป ปลาทูนี่หายจากหาดหัวหินไปห้าปีไม่มีเห็นเลยซักตัวเดียว เริ่มได้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ปีนี้ก็ได้เยอะ ลูกปลาทูเริ่มเกิด ผมมองว่าทะเลหัวหิน ประจวบฯ น่าจะกลับมาฟื้นฟู แสดงว่านโยบายที่กวาดเรือมันได้ผล ราคาสินค้าน่าจะขยับขึ้นไปนิดนึง อะไรขยับหมด แต่ของทะเลไม่ขึ้น ทุกวันนี้ บางทีผมก็ไปแปรรูปมั่ง ทำหมึกไข่แดดเดียว หมึกตาก ได้ราคามากขึ้น ตอนนี้ก็มีธนาคารปูม้า ทรัพยากรฟื้น ทำให้เราทำได้มากขึ้น จากที่ค่อนข้างจะน้อยแบบหายไปเลย ก็กลับมาเยอะขึ้น มีกุ้ง ปลาหมึก ปลาทู ปู กลับมา เมื่อวานก็ไปรับกุ้งที่ปากน้ำปราณ รัฐมนตรีเกษตรฯ มาปล่อยพันธุ์ปลากะพงกับกุ้งแชบ๊วยให้กลุ่มประมงหัวหิน-ปราณบุรี แต่กลุ่มคนประมงรุ่นใหม่ก็หายากขึ้น ในกลุ่มผม 30-40 ปี ไม่มีอายุ 60-70 ละ แก่ๆ เขาไม่ไหวแล้ว พวกอาชีพประมงดั้งเดิมเขาก็ไม่ค่อยให้ลูกหลานทำ มันเหนื่อย แล้วลูกหลานเห็นมาตั้งแต่เด็กเขาก็อยากทำงานบนฝั่งมากกว่า แต่อาชีพประมงก็มีตัวตายตัวแทนแหละ คนที่รักทะเล อยากออกทะเลยังมีมาก”
มานะ ปิ่นทอง
หัวหน้ากลุ่มประมงเรือเล็ก F16
“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…
ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…
WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…
ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…
สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…
"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…