เทศบาลนคร X ระยองพัฒนาเมือง หมวกสองใบในการขับเคลื่อนเมืองระยองของภูษิต ไชยฉ่ำ

ภูษิต ไชยฉ่ำ มีหมวกหลายใบ หมวกที่ว่าไม่ได้หมายความถึงเครื่องแต่งกาย หากแต่เป็นบทบาทในการทำงานส่วนตัวของเขาซึ่งเชื่อมโยงกับเมืองระยอง – บ้านเกิด เมืองที่เขาใช้เป็นที่ทำงาน และอาศัย

หมวกใบหนึ่งเขาเป็นนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์และเจ้าของโรงแรมชั้นนำของเมือง ขณะที่หมวกอีกใบ คือรองนายกเทศมนตรีนครระยอง รับผิดชอบกองสวัสดิการสังคม ทำหน้าที่ออกนโยบายเพื่อดูแลสวัสดิภาพของพี่น้องประชาชนในเขตเทศบาลนครระยองกว่า 60,000 คน และหมวกใบที่สาม ในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัท ระยองพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด

ทั้งนี้ ด้วยหมวกใบสุดท้าย ซึ่งมีบทบาทในฐานะตัวกลางเชื่อมการทำงานระหว่างภาคส่วนต่างๆ ของระยองในการขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรมพัฒนาเมือง ทั้งยังจุดประกายให้เกิดโมเดลการขับเคลื่อนเมืองในรูปแบบ ‘บริษัท’ แห่งแรกๆ ของไทยนี้ ทำให้ภูษิตได้รับทุนจาก บพท. ในการนำเครื่องมือที่ชื่อว่าเมืองแห่งการเรียนรู้ มาทดลองขับเคลื่อนเมืองระยองระหว่างปี 2564-2565

และใช่ ด้วยบทบาทนี่ ทำให้เรา WeCitizens มีโอกาสสนทนากับเขา

‘การพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้บนฐานประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในเขตเทศบาลนครระยอง’ คือชื่องานวิจัยของบริษัทระยองพัฒนาเมือง ที่มีภูษิตเป็นหัวหน้าโครงการ โครงการวิจัยเลือก 2 พื้นที่ที่เป็นแลนด์มาร์คในเขตเทศบาลนครระยอง และออกแบบกระบวนการเรียนรู้ในพื้นที่นั้นอย่างชัดเจน

สองพื้นที่ที่ว่าได้แก่ ย่านเมืองเก่ายมจินดา ถนนเศรษฐกิจสายแรกของจังหวัดระยอง สำหรับการเป็นพื้นที่เรียนรู้ด้านสังคมและทักษะในศตวรรษที่ 21 และพื้นที่ป่าชายเลนรอบพระเจดีย์กลางน้ำ พื้นที่ป่าโกงกางกว่า 300 ไร่ใจกลางเมือง ซึ่งถือเป็นปอดที่สำคัญของเมืองระยอง โดยพื้นที่หลังนี้ ทางโครงการมองว่าตอบโจทย์การเป็นพื้นที่เรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม

WeCitizens สนทนากับภูษิต ไชยฉ่ำ ถึงเบื้องหลังงานวิจัยดังกล่าว การพัฒนางานวิจัยไปสู่เครื่องมือในการยกระดับเมือง รวมถึงเรื่องที่ว่าหมวกหลายใบที่เขาสวมเหล่านี้ มีส่วนในการทำให้ระยองเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ และเมืองน่าอยู่อย่างที่คนระยองอยากเห็นได้อย่างไร

ย้อนกลับไปก่อนที่คุณจะก่อตั้งบริษัทระยองพัฒนาเมือง และก่อนที่คุณจะมาดำรงตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีนครระยอง คุณเป็นนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจดีอยู่แล้ว อะไรทำให้คุณหันมาสนใจทำงานด้านการพัฒนาเมือง

ผมเป็นคนระยอง ก็เหมือนคนระยองอีกหลายคนที่อยากเห็นเมืองมีความเจริญ ซึ่งแน่นอน คุณอาจจะบอกว่าระยองมันเจริญอยู่แล้ว เพราะจังหวัดเรามี GDP สูงที่สุดในประเทศ แต่ถ้ามาอยู่ที่นี่จริงๆ คุณจะพบว่าเมืองมันยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่เยอะมากด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันการเติบโตของเมืองที่ผ่านมามันก็ไม่มีแบบแผนเท่าที่ควร นั่นแหละครับ ถามว่าทำไมถึงสนใจทำงานด้านนี้ ก็เพราะอยากเห็นบ้านเมืองเรามันพัฒนาไปอย่างมีความคิด มีแบบแผน ให้เหมือนเมืองที่เจริญแล้วเมืองอื่นๆ เขาเป็นกัน

ซึ่งการที่จะเป็นเมืองแบบที่เราอยากเห็นได้ มันไม่ใช่คุณมีเงินเอามาเนรมิตนั่นนี่แล้วจบ ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ดีๆ จะเกิดขึ้นมา แต่มันต้องถูกออกแบบอย่างเป็นระบบ ศึกษาจากบทเรียน และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผมจึงคิดว่าในฐานะคนระยองที่อยากเห็นบ้านเมืองเราดี ก็น่าจะมีส่วนขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ 

โดยความเข้าใจพื้นฐาน หน้าที่ของการพัฒนาเมือง ถ้าไม่ใช่หน่วยงานรัฐ ก็อาจเป็นเครือข่ายภาคประชาสังคม แต่กับทิศทางการทำงานของคุณอยู่ในรูปแบบของบริษัท ในฐานะบริษัทระยองพัฒนาเมือง จึงอยากให้เล่าให้ฟังว่าการที่ไปที่มาของโมเดลนี้หน่อยครับ
ข้อแรกคือผมและเพื่อนๆ ที่ร่วมก่อตั้งบริษัท ต่างเป็นนักธุรกิจที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงของเมืองเหมือนกัน สิ่งที่พวกเราถนัดที่สุดคือการบริหารจัดการบริษัท ซึ่งพอทำบริษัทก็ต้องมีกำไรใช่ไหมครับ แต่กำไรที่ว่าเนี่ย มันไม่ได้อยู่ในรูปแบบของเงินปันผลให้กับผู้ประกอบการ แต่เป็นกำไรที่ส่งผลไปสู่คนในเมืองของเรา

ความตั้งใจของบริษัทระยองพัฒนาเมือง คือการเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงความต้องการและความคิดเห็นของพลเมืองระยองกับหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ ทั้งหน่วยงานท้องถิ่น รัฐบาล หรือองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีผลต่อทิศทางการพัฒนาเมืองระยอง โดยอยู่ในรูปแบบของงานวิจัย แคมเปญต่างๆ รวมถึงกิจกรรมที่มีส่วนต่อการพัฒนาเมือง

แล้วกับบทบาทที่คุณมาทำงานราชการในเทศบาลนครระยอง มันจะไม่ทับซ้อนกับการเป็นผู้บริหารบริษัทที่ทำงานด้านพัฒนาเมืองหรือครับ
อันที่จริง ผมไม่ได้ตั้งใจจะทำงานการเมืองเลย ก่อนหน้านี้ผมเป็นที่ปรึกษาของเทศบาล ผ่านไปหนึ่งปี ก็ถูกชวนให้มาทำตำแหน่งรองนายกเทศมนตรี อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าสิ่งที่ผมทำมันไม่ได้มีประโยชน์ทับซ้อน แถมยังเป็นการหนุนเสริมในเชิงบวกอีกด้วย

หนุนเสริมอย่างไร
ต้องอธิบายก่อนว่า แม้บริษัทระยองพัฒนาเมืองเป็นบริษัทเอกชน แต่เราก็จดทะเบียนบริษัทเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ซึ่งตอนจดทะเบียน ยังมีให้เลือกอีก 2 แนวทางคือแบ่งกำไร 30% ให้ผู้ถือหุ้น กับอีกทางคือได้กำไรมาเท่าไหร่ จะไม่มีการแบ่ง แต่จะเอาไปลงทุนพัฒนาในโปรเจกต์เกี่ยวกับสังคมต่อไป และบริษัทเราก็เลือกทางที่สอง เช่นนั้นแล้ว ผมจะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในเชิงเม็ดเงินจากบริษัทนี้เลย

ทีนี้คำถามว่าทำไมผมถึงมาทำงานราชการ เพราะจากการที่เราทำระยองพัฒนาเมืองมาเนี่ย ผมพบว่าถึงเราจะสร้างความร่วมมือที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกได้ แต่ลำพังบริษัทเราไม่สามารถสร้างนโยบายที่ส่งเสริมการพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรม กล่าวคือเรายังไม่สามารถขับเคลื่อนในภาพใหญ่ เลยคิดว่าถ้าเราทำพร้อมกันสองขา โดยฝั่งระยองพัฒนาเมือง ผมก็ถอยออกมาเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง และให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์มาบริหารต่อ ขณะเดียวกัน บทบาทของผมในเทศบาล คือกองสวัสดิการสังคม ซึ่งก็เป็นกองที่เน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับประชาชน รวมถึงทำนโยบายเพื่อเมือง ไม่ใช่หน่วยงานที่สร้างรายได้อะไร

แล้วจากการที่คุณทำงานภาคเอกชนมาเป็นหลัก พอต้องหันมาทำงานราชการที่เอาเข้าจริงมีระเบียบบางอย่างที่…ถ้าไปถามคนทำงานเอกชนส่วนใหญ่ก็มักจะส่ายหัว คุณรับมือกับเรื่องนี้ยังไง

ความที่ผมอยู่ในระดับบริหาร จึงมีอำนาจในการจัดการได้มากพอสมควร เช่นนั้นแล้ว ผมจึงทำงานราชการด้วยวิธีแบบการบริหารบริษัทเอกชน จัดฟังก์ชั่นใหม่ วางกระบวนการดีๆ และ put the man on the right job ผมจึงสามารถดึงงานเล็กๆ น้อยๆ ออกจากมือตัวเอง เพื่อจะได้เอาเวลาส่วนใหญ่มาทำงานกับชาวบ้าน และวางนโยบายที่ตอบโจทย์ของเมืองได้ เพราะระยองเรามีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การบริหารราชการแบบเดิมๆ ไม่มีทางตามทันอย่างแน่นอน

ขอเข้าเรื่องโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ที่บริษัทคุณได้รับทุนจาก บพท. คุณมองเห็นศักยภาพอะไรของโครงการนี้ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนเมืองของคุณได้

ผมคิดว่าหัวใจสำคัญในการพัฒนาเมือง คือการทำให้ผู้คนมีมุมมองแบบเดียวกับเรา มาร่วมแนวคิดเดียวกับเรา จึงเห็นว่ากลไกเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้ มันช่วยสร้างความรู้และการมีส่วนร่วม ถ้าเราทำให้คนในเมืองรู้จักเมืองของตัวเองอย่างรอบด้าน พวกเขาจะรักเมืองของเขา สิ่งนี้มันช่วยสร้างสาวกพัฒนาเมืองซึ่งพร้อมจะมาร่วมกับเราได้ เพราะการสร้างเมืองมันต้องสร้างคนก่อน แต่จู่ๆ จะไปสร้างคนเลยไม่ได้ มันต้องอาศัยการกระบวนการการเรียนรู้ ส่งเสริมประสบการณ์ และมีกระบวนทัศน์ให้ทุกคนสามารถทำงานไปด้วย คุยไปด้วย เรียนรู้ไปด้วยกัน สุดท้ายมันจะตกผลึกเป็นกลไกที่สามารถนำมาทำเป็นนโยบายที่เป็นรูปธรรม ซึ่งนั่นแหละ ผมอยู่เทศบาลอยู่แล้ว ก็จะเห็นว่ามันมี core body ของคน ของการทำงาน ที่เราสามารถขยับต่อด้วยงบประมาณที่มี และนำมาทำงานร่วมกันในอนาคตได้

ในงานวิจัยเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้ปี 2564-2565 คุณพุ่งเป้าไปที่พื้นที่เมืองเก่ายมจินดาและป่าชายเลนกลางเมืองระยอง อะไรเป็นเหตุผลให้คุณเลือกสองพื้นที่นี้

อันที่จริง เราต้องการขยายให้เต็มเขตเทศบาลนครระยองอยู่แล้ว แต่เราก็ต้องพิจารณาบริบท ข้อดี ข้อเด่น โดยเริ่มจากพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเพื่อจุดประกายสู่การเปลี่ยนแปลง จุดแรกที่เราเลือกคือ ถนนยมจินดา ถนนสายวัฒนธรรมที่มีกิจกรรมน่าสนใจของคนรุ่นใหม่ ควบคู่ไปกับการเป็นย่านประวัติศาสตร์และการท่องเที่ยว พื้นที่นี้มันยังมีศักยภาพให้คนรุ่นใหม่มาค้นหาตัวตนของตัวเอง รวมถึงการค้นหาคุณค่าจากรากเหง้าของผู้คนในพื้นที่ และก็พอดีกับที่คุณครูของผมท่านหนึ่งเป็นเจ้าของร้านศรีประดิษฐ์ อาคารเก่าแก่หลังหนึ่งในย่าน ท่านมีเจตจำนงอยากให้บริษัทระยองพัฒนาเมืองเข้าไปดูแลบ้านหลังนี้ ก็สอดคล้องกับความต้องการที่เราอยากให้มีพื้นที่กลางของการเรียนรู้ในย่าน เลยถือโอกาสปรับปรุงเป็น Conversation ให้คนรุ่นใหม่เข้ามาใช้พื้นที่

ส่วนพื้นที่ป่าชายเลน ระยองเรามีป่า 500 ไร่ เป็นป่ากลางเมืองที่เป็นปอดช่วยฟอกอากาศให้เมืองที่รายล้อมด้วยโรงงานอุตสาหกรรมของเรา ผมมองว่าผืนป่าแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นความเป็นเมืองเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ของระยองในอนาคต ฉะนั้นเราสามารถยกทั้งสองพื้นที่นี้มาเป็นศูนย์รวมของคนในเมืองทั้งในเชิงอัตลักษณ์และกายภาพ ให้คนเมืองรู้สึกว่ามันมีความสำคัญและสร้างสรรค์กิจกรรมร่วมกันได้

อยากให้เล่าถึงแอคชั่นที่โครงการคุณทำในสองพื้นที่โดยสังเขปหน่อยครับ

ยมจินดาเป็นย่านเศรษฐกิจเก่าแก่ของเมือง ที่ช่วงหลังมานี้ เริ่มมีคนรุ่นใหม่เข้ามาทำธุรกิจใหม่ๆ ซ้อนทับเข้ามา ผมจึงคิดว่าย่านนี้มันตอบโจทย์การเรียนรู้ได้ดีมากๆ โดยเฉพาะการหนุนเสริมเรื่องทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ก็เลยใช้ Conversation เป็นฐานทัพ ให้ทีมงานช่วยกันออกแบบกิจกรรม และชวนคนระยองเข้ามาเรียนรู้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น digital literacy, cryptocurrency การสร้างสรรค์สื่อ และอื่นๆ ขณะเดียวกันก็ให้กลุ่มผู้เรียนร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมที่ช่วยฟื้นฟูหรือกระตุ้นเศรษฐกิจภายในย่าน ผ่านงานยมจินเดย์ที่เราจัดไปแล้วถึง 3 ครั้งตลอดปีที่ผ่านมา (2565)

เหมือนเติมพื้นที่เรียนรู้ใหม่ท่ามกลางบริบทของย่านเก่า

ไม่ใช่แค่ยมจินดา กับพื้นที่ป่าโกงกาง เราก็ใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนอย่าง Virtual Reality, Augmented Reality มาเล่าเรื่องเช่นกัน เราอยากให้คนระยองเข้าใจว่าป่าโกงกางมีประโยชน์ต่อเมืองหรือต่อพวกเราอย่างไร แล้วเราใช้ประโยชน์กับมันอย่างไรให้ยั่งยืน โชคดีอยู่อย่างที่ อบจ. และ EEC เขามีงบประมาณพัฒนาป่าเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ก็เลยทำให้ระยองพัฒนาเมืองสามารถหาช่องว่างในการสร้างเสริมกิจกรรม ส่งเสริมให้เขาเอาเทคโนโลยี หรือสิ่งต่างๆ ในผืนป่าแห่งนี้ มาเป็นเครื่องมือแห่งการเรียนรู้ นอกจากนี้ เรากำลังทำ Rayong Metaverse เลือกพื้นที่ป่าโกงกางมาทำ ในนั้นจะมีคอมมูนิตี้ของหน่วยงานเอกชนภาคต่างๆ มาใช้ในโลกเสมือน ใช้ token มาแลกเปลี่ยน และสามารถทรานส์ฟอร์มมาสู่โลกจริง เช่นนำ token มาแลกเป็นคูปองส่วนลดร้านกาแฟในยมจินดา หรือคูปองสำหรับร่วมกิจกรรมระยองพัฒนาเมือง

ช่วงปลายปี 2565 บริษัทระยองพัฒนาเมืองก็ต่อยอดโมเดลนี้ไปสู่การทำโครงการเมืองคาร์บอนต่ำ (low carbon) ด้วยใช่ไหมครับ

ใช่ครับ เมืองคาร์บอนต่ำเป็นเทรนด์ของโลกในปัจจุบัน และอย่างที่รู้กันว่าเมืองอุตสาหกรรมอย่างระยองนี่เป็นแหล่งปล่อยคาร์บอนอย่างมีนัยสำคัญเลย เราจึงอยากสร้างแนวร่วมทั้งภาคประชาชน เอกชน และโรงงานต่างๆ หันมาตระหนักในเรื่องนี้และขับเคลื่อนไปพร้อมกัน โครงการนี้เราเน้นใช้การตลาดนำ สร้าง rewards ให้คนที่มาร่วม เช่น ถ้าคุณสนับสนุนธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คุณก็จะได้ส่วนลดจากร้านค้าในโครงการ เป็นต้น

แล้วนอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อม คุณคิดว่าคนระยองควรต้องตระหนักกับความท้าทายอะไรในอนาคตอันใกล้เป็นพิเศษอีกไหม

ต้องขอปูพื้นก่อน ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเดินทางไปทั่วประเทศ เวลาใครมาถามว่ามาจากไหน ผมก็จะบอกว่ามาจากระยอง เกือบทั้งหมดเขาก็บอกว่า อ่อ เมืองคนรวยนี่… นั่นคือภาพที่คนอื่นมองมา แต่อย่างที่บอก ผมคนระยอง ผมเห็นว่าความรวยมันกระจุก คนจนที่เข้าไม่ถึงโอกาสมีอีกเยอะ ขณะเดียวกัน ไปถามคนรุ่นใหม่ในระยองว่าเมืองเราน่าอยู่ไหม ผมคิดว่าหลายคนก็อาจไม่ได้คิดแบบนั้น

เพราะเอาเข้าจริงพอฝนตกหนักๆ ตัวเมืองเราก็มีน้ำท่วม รถก็ยังติดหนักในชั่วโมงเร่งด่วน ผู้สูงอายุเราก็เยอะ ไหนจะปัญหาสุขภาพจากมลภาวะอีก

ไม่ว่าจะทำบริษัทพัฒนาเมืองหรือจะเป็นงานเทศบาลและอื่นๆ ผมมองว่าสิ่งที่ทำเหล่านี้มันนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือทำให้เมืองเราน่าอยู่ เมืองที่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย มีความสุข มีรายได้ที่มั่นคง และมีสุขภาพที่ดี กับคำถามที่ว่าคนระยองควรตระหนักกับความท้าทายอะไรเป็นพิเศษ ผมคิดว่าเราควรตระหนักว่าจะทำยังไงให้เมืองเราไปสู่เป้าหมายนี้ และถ้าถามต่อว่าแล้วพวกเขาจะทำอย่างไร ผมว่าคำถามที่ยังไม่มีใครตอบ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรมันต้องมีคำตอบ บริษัทระยองพัฒนาเมืองจึงต้องชวนทุกคนร่วมหาคำตอบด้วยกัน

แล้วถ้ามองในเชิงบวกอย่างศักยภาพด้านธุรกิจของเมืองที่เป็นอยู่ขณะนี้ล่ะครับ มีอะไรบ้างที่คนระยองต้องตระหนักเป็นพิเศษ
เราจะเห็นว่าคลื่นความเปลี่ยนแปลงมันมาแล้ว ทั้งเรื่องของงบประมาณ นโยบายของภาครัฐ โลกที่มันเกี่ยวข้องกับระยอง อย่างเรื่องการพัฒนาเมืองการบิน (airport city) ในพื้นที่บ้านเรา รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือน้ำลึกเฟส 3 โครงการ Smart Park พื้นที่ 500 ไร่ ในเขตมาบตาพุด ซึ่งมันเชื่อมเขตเทศบาลกับเมืองการบิน และมันเชื่อมกันระหว่างกิจกรรมและการเติบโตในอนาคต แต่อย่าลืมว่าภาพใหญ่ระดับสากล เรามีสนามบินนานาชาติที่เป็นโพงพางให้คนจากทั่วโลกเข้ามาที่ระยอง รวมถึงให้คนในจังหวัดเดินทางไปทั่วโลกได้ ด้วยการเชื่อมต่อนี้ ทำให้เราพิจารณาว่าเราจะสร้างประโยชน์ให้กับคนในเมืองอย่างไร

นั่นล่ะครับ เราไม่สามารถอยู่เฉยๆ โดยที่ไม่ได้สนใจว่าโอเค แอร์พอร์ทซิตี้จะเกิด ข้างในมันจะเกิดฟรีเทรดโซน เราจะทำเป็นไม่สนใจไม่ได้ คนระยองโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ต้องเห็นโอกาส ให้บ้านเมืองเราเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจรอบข้าง เศรษฐกิจระดับโลก แล้วมันก็ย้อนกลับมาในเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้ นอกจากรักเมืองแล้ว เราต้องรักตัวเอง เพื่อใช้พวกเราไปขับเคลื่อนเมืองให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ผมจึงมักย้ำอยู่เสมอว่าสิ่งที่ทุกฝ่ายร่วมกันทำเพื่อพัฒนาระยองอยู่ทุกวันนี้ มันไม่ใช่แค่ระยอง แต่มันเปลี่ยนแปลงประเทศของเราได้ เปลี่ยนคนไทยให้เห็นว่าทุกเมืองมันเป็นเมืองที่น่าอยู่ได้ เพียงแต่มันต้องมีโอกาส ให้โอกาสคนรุ่นใหม่ๆ ได้คิด ได้ทำ ได้เห็นภาพอย่างที่เขาอยากจะเป็น

กองบรรณาธิการ

Recent Posts

THE INSIDER : ณัฐธิยาภรณ์ อ้วนวงศ์ นักวิจัยโครงการเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ร้อยเอ็ด และนักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองยุทธศาสตร์และงบประมาณ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด

“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…

4 days ago

WeCitizens : The Concept

ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…

6 days ago

WeCitizens เมืองร้อยเอ็ด : ก้าวสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด

WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…

1 month ago

City View : ๑๐๑ เมืองรองที่ไม่เป็นรองใคร

ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…

1 month ago

๑๐๑ สานพลังผู้คนเพื่อกำหนดทิศทางเมือง

สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…

1 month ago

THE MAYOR : บรรจง โฆษิตจิรนันท์ : นายเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด และนายกสมาคมเทศบาลนครและเมือง

"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…

2 months ago