“เราจัดกิจกรรมครั้งหนึ่งมีเด็กๆ และผู้ปกครองมาร่วมหลักร้อย อาจไม่เยอะมากถ้าเทียบกับจำนวนประชากรของเมือง แต่ถือเป็นแนวโน้มที่ดีที่เห็นว่า พวกเขาไม่ได้มองว่าการไปเดินในห้างสรรพสินค้าเป็นทางเลือกเดียวในการใช้เวลาร่วมกันในวันหยุด”

“เราเริ่มสนใจประเด็นการพัฒนาเมืองอย่างจริงจัง คือราวปี 2553 ตอนเป็นประธานสโมสรนักเขียนภาคอีสาน คือก่อนหน้านี้เราทำรายการวิทยุ เขียนหนังสือ และเป็นอาจารย์สอนด้านการสื่อสาร แต่ก็ไม่ได้สนใจเรื่องประเด็นเมืองนัก เพราะขอนแก่นมีคนทำเรื่องนี้เยอะอยู่แล้ว แต่พอมาทำงานด้านการประสานงานกิจกรรมเกี่ยวกับการสื่อสารที่โฟกัสไปที่เด็กและเยาวชน จึงทำให้เรากลับมาคิดถึงพื้นที่ส่งเสริมสิ่งนี้ในเมือง อีกอย่างคือ เราก็มีลูกด้วย ก็อยากให้ลูกเข้าถึงพื้นที่ที่เป็นประโยชน์ในเมือง เลยคิดว่าน่าจะใช้บทบาทของเราขับเคลื่อนพื้นที่เหล่านี้ได้  

ขอนแก่นมีต้นทุนที่ดีตรงที่มีห้องสมุดเด็กสวนดอกคูนอยู่ตรงบึงแก่นนคร ซึ่งเทศบาลนครขอนแก่นเขาจ้างให้มูลนิธิไทยสร้างสรรค์ทำไว้ และความที่เราชอบพาลูกไปใช้พื้นที่บ่อยๆ ก็เลยได้ร่วมเป็นภาคีจัดกิจกรรมกับเขา ช่วงที่เรามาเป็นประธานสโมสรฯ ก็ทำให้เรารู้สึกว่า ที่นี่แหละมันคือพื้นที่ความสุขของครอบครัว เราก็เลยมีส่วนปรับปรุงโมเดลเรื่อยมา

กิจกรรมที่เกิดในพื้นที่ห้องสมุดก็เช่นเวิร์คช็อประบายสีน้ำ ทำเข็มกลัด ทำที่คั่นหนังสือ เพ้นท์เสื้อ เป็นต้น คือเป็นกิจกรรมที่พ่อแม่ร่วมทำกับลูกๆ ไปพร้อมกันได้ กระทั่งพี่ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการทำโครงการในพื้นที่เขาไม่สบาย เลยหยุดไป เราก็ไปคุยกับเทศบาล และตั้งกลุ่ม ‘เครือข่ายศิลป์สร้างสรรค์’ สร้างเครือข่ายคนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ มาสานต่อกิจกรรม ทีนี้มันก็ไม่ใช่แค่กิจกรรมในห้องสมุดที่เดียวแล้ว เราก็ขยายไปทำกิจกรรมในพื้นที่เรียนรู้แห่งอื่นๆ ของเมืองด้วย 

อย่างการจัดอีเวนท์ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ที่หอศิลป์ เพราะเรามีโจทย์ว่าจะทำยังไงให้คนเข้าหอศิลป์มากขึ้น ไม่อยากให้มันเป็นแค่พิพิธภัณฑ์แข็งๆ อย่างเดียว จึงจัดงานเสวนาวรรณกรรม หรือเวิร์คช็อปที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม หรือมีโครงการดนตรีและอ่านบทกวีในสวนที่สวนประตูเมือง และห้องสมุดเด็กรัชดานุสรณ์ เป็นต้น ก็พยายามประสานกับหน่วยงานนั่นนี่ หางบประมาณมารันกิจกรรมให้เกิดอย่างต่อเนื่อง

พอเราทำกิจกรรมโดยเฉพาะกับที่ห้องสมุดเด็กฯ จึงพบว่าจริงๆ แล้ว ขอนแก่นมีผู้ปกครองที่สนใจหาพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียนให้แก่ลูกๆ เยอะมาก อย่างวันเสาร์-อาทิตย์ เขาพาลูกมาอ่านหนังสือหรือมาทำกิจกรรมแทนที่จะไปเรียนพิเศษ รวมไปถึงผู้ปกครองที่ทำโฮมสคูล (home school) ไปจนถึงเด็กนักเรียนเองที่พอเห็นว่าห้องสมุดเปิดพื้นที่ด้านกิจกรรม เขาก็ขอมาใช้เป็นที่แสดงคัฟเวอร์แดนซ์ หรือเล่นดนตรี เป็นต้น

อย่างที่ผ่านมา เราจัดกิจกรรมอาทิตย์เว้นอาทิตย์ ครั้งนึงก็มีคนมาร่วมงานหลักร้อยคนได้ จริงอยู่มันไม่ได้เยอะมากถ้าเทียบกับประชากรในเมืองขอนแก่น แต่ก็ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีที่เห็นว่าผู้ปกครองและเด็กๆ หลายคน ก็ไม่ได้มองว่าการไปเดินในห้างสรรพสินค้าเป็นทางเลือกเดียวในการใช้เวลาร่วมกันในวันหยุด

เราว่าขอนแก่นมีข้อดีตรงที่ ถึงเมืองจะใหญ่ แต่เครือข่ายของคนที่พยายามขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอย่าง กลุ่มการเมือง นักวิชาการ นักจัดกิจกรรม และกลุ่มธุรกิจ ส่วนใหญ่จะรู้จักกันหมด และมีท่าทีที่ช่วยหนุนเสริมกันมาก อย่างถ้ากลุ่มนี้จัดงาน อีกกลุ่มเขาก็มาช่วย หรือมาร่วมกิจกรรม หรือบางทีเขาก็หาคอนเนกชั่นดึงองค์กรหรือกลุ่มจากเมืองอื่นๆ มาช่วยด้วย เราจึงมองว่าเราสามารถร่วมกันออกแบบการพัฒนาเมืองไปในทิศทางที่เราต้องการได้ แต่ในอีกแง่หนึ่ง กลุ่มเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็โฟกัสอยู่เพียงในเขตเทศบาลนคร แต่เทศบาลเขตอื่นๆ หรือตำบลอื่นๆ มันไม่ได้มีความเคลื่อนไหวแบบนี้ ทั้งที่จริงๆ มันควรขับเคลื่อนไปด้วยกัน ซึ่งตรงนี้ยังรวมถึงการลงทุนจากภายนอกด้วยนะ เขาก็ยังมองถึงการลงทุนในตัวเมืองเป็นหลักก่อน

กับอีกเรื่องที่ถือเป็นปัญหาเรื้อรังมานานของเมือง คือผู้คนยังขาดจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อม เมืองยังจัดการขยะในระดับเบื้องต้นได้ไม่ดี รวมถึงยังขาดระบบขนส่งสาธารณะ คนเกือบทั้งเมืองจึงยังต้องพึ่งพารถส่วนตัว ซึ่งมันก็เกิดปัญหาการจราจรแออัดในช่วงเข้างาน-ออกงาน หรือช่วงโรงเรียนเลิก คล้ายๆ กับที่กรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ ยังคงเผชิญอยู่

เราจึงเห็นว่าโครงการรถไฟรางเบาที่กลุ่มขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT) กำลังทำอยู่ถือเป็นความหวังได้ ถึงจะมีความกังวลถึงจุดเชื่อมต่อจากสถานีไปยังจุดอื่นๆ ว่าถ้าเราลงรถไฟแล้ว จะไปต่อยังไง ตรงนี้ก็น่าจะคุยเรื่องเส้นทางกับรถสองแถวที่มาช่วยหนุนเสริมให้ดีๆ คือถ้าทำให้เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพารถส่วนตัวตั้งแต่ออกจากบ้านไปจนถึงที่ทำงานหรือสถานศึกษาเลยก็จะดีมากๆ

ถ้าเมืองมีการจัดการปัญหาอย่างที่เราเห็นขณะนี้ คิดว่าขอนแก่นมันดึงดูดการลงทุนได้อีกเยอะมากๆ เพราะในปัจจุบันเราก็เริ่มเห็นว่าคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเรียนที่นี่ เขาเริ่มไม่คิดว่ากรุงเทพฯ จะเป็นจุดหมายหลักในการเป็นแหล่งงานของพวกเขาแล้ว เขามองถึงเมืองในระดับภูมิภาคอย่าง เชียงใหม่ อุดรธานี หรือขอนแก่นของเราเอง ถ้าเมืองเรามันมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม มีแหล่งงาน มีพื้นที่เรียนรู้และสร้างสรรค์ให้กับเด็กๆ และเยาวชน และมีความสะอาด ปลอดภัย ขอนแก่นจะเป็นเมืองที่หลายคนวางใจจะฝากอนาคตไว้ได้”   

สุมาลี สุวรรณกร
ประธานเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน

กองบรรณาธิการ

Recent Posts

WeCitizens เมืองร้อยเอ็ด : ก้าวสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด

WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…

1 week ago

City View : ๑๐๑ เมืองรองที่ไม่เป็นรองใคร

ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…

1 week ago

๑๐๑ สานพลังผู้คนเพื่อกำหนดทิศทางเมือง

สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…

1 week ago

THE MAYOR : บรรจง โฆษิตจิรนันท์ : นายเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด และนายกสมาคมเทศบาลนครและเมือง

"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…

2 weeks ago

อ่านเสียงแก่งคอย เสียงของเมืองที่ก้าวข้ามบาดแผลประวัติศาสตร์มาสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

WeCitizens ชวนผู้อ่านเรียนรู้เมืองแก่งคอย เมืองประวัติศาสตร์ที่มีบาดแผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในวันนี้ แก่งคอยเปลี่ยนบาดแผลแห่งประวัติศาสตร์เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอ่านความคิด วิถีชีวิตผู้คนแก่งคอยได้ที่ WeCitizens : เสียงแก่งคอย, สระบุรี - WeCitizens Flip PDF…

1 year ago

ฟังเสียงนครสวรรค์ เมืองศูนย์กลางแห่งภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน

WeCitizens ชวนผู้อ่านเดินทางไปจังหวัดนครสวรรค์ เมืองที่อยู่กึ่งกลางระหว่างภาคเหนือและภาคกลาง เมืองที่เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางทางน้ำในอดีต นครสวรรค์จึงเป็นเมืองสำคัญอีกเมืองหนึ่งในฐานะของเมืองที่เป็นศูนย์กลาง (Hub) ทั้งด้านการค้า การคมนาคม และนำมาซึ่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้คนหลากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะชาวจีนโพ้นทะเล E-book ฉบับเสียงนครสวรรค์ฉบับนี้ จะพาผู้อ่านทุกคนไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวนครสวรรค์ วัฒนธรรมชาวจีนและเทศกาลตรุษจีนที่มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับประเทศและนานาชาติ และไปฟังเสียงผู้คนชาวนครสวรรค์ที่มองบ้านเมืองของตนเองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน…

1 year ago