ไลเร่: ดินแดนแห่งตำนาน (Lejre: Land of Legends) เป็นชื่อพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งขนาด 106 เอเคอร์ (ประมาณ 265 ไร่) ซึ่งอยู่ห่างจากโคเปนเฮเกนเมืองหลวงของเดนมาร์กเพียง 47 กิโลเมตร
ไลเร่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2507 แบ่งออกเป็นเขตห้องปฏิบัติการช่างฝีมือ (ทอผ้า ปั้นหม้อและตีเหล็ก) เขตการตั้งแค้มป์ยุคหิน (5400-3900 ปีก่อน ค.ศ.) หมู่บ้านยุคเหล็ก (200 ปีก่อน ค.ศ. จนถึง ค.ศ. 200) ตลาดสมัยไวกิ้ง (ค.ศ. 800-ค.ศ. 1050) และฟาร์มศตวรรษที่ 19 การออกแบบและก่อสร้างทุกอย่างที่นี่อาศัยการค้นพบทางโบราณคดีอย่างจริงจังสมกับที่ชื่อทางการของไลเร่คือศูนย์สำหรับการวิจัยและเผยแพร่ด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ (Centre for Historical-Archaeological Research and Communication) ทุกเขตจึงสร้างขึ้นโดยการรวบรวมหลักฐานทางโบราณคดี เอกสารประวัติศาสตร์ ความรู้ทางเทคนิควิทยาในอดีตและบางส่วนก็จำเป็นต้องอาศัยจินตนาการในการต่อยอดหลักฐานที่ได้พบ หน้าที่หลักด้านหนึ่งของไลเร่ได้แก่การส่งเสริมการค้นคว้าทดลองทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ แต่ละปี ที่นี่จะมีทุนให้ประมาณ 1 ล้านบาท ไลเร่จึงมีนักวิจัยจากทั่วโลกที่สนใจโบราณคดีภาคทดลอง (experimental archaeology) ทั้งด้านวัฒนธรรม ธรรมชาติวิทยาและเทคนิควิทยามาร่วมมือกันทำวิจัยหัวข้อต่างๆ แบบสหวิทยาการตลอดเวลา แต่ไลเร่ไม่ได้สนใจแค่การค้นคว้าทดลองเท่านั้น
หน้าที่หลักอีกด้านของไลเร่คือการเผยแพร่ความรู้และผลการศึกษาทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์สู่สาธารณชน วิธีการที่เขาเลือกใช้ในการถ่ายทอดผลงานวิจัยนี่เองที่ทำให้ฉันตื่นเต้นอยากเห็นที่นี่มากทั้งที่ความจริง ฉันก็เคยไปพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งมาแล้วหลายแห่งในหลายประเทศ
แต่ไลเร่ไม่เหมือนพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแห่งอื่นที่ฉันเคยไปมา เหตุที่ฉันตื่นเต้นกับที่นี่และพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งบางแห่งของเดนมาร์กจนออกปากว่าถ้าฉันมีลูก ก็อยากให้ลูกโตในเดนมาร์กก็เพราะที่นี่เป็นประเทศเดียวที่ฉันเคยไปมาที่เปิด โอกาสและสนับสนุนให้เด็กได้มาใช้ชีวิตอยู่ในพิพิธภัณฑ์พร้อมครอบครัวหรือเพื่อนนักเรียนเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตในอดีตโดยสวมบทเป็นเด็กที่เกิดในสมัยนั้นดำรงชีวิตและทำกิจกรรมต่างๆ เหมือนเด็กในยุคนั้นจริงๆ ทุกฤดูร้อน ไลเร่จะเปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถสมัครมาใช้ชีวิตเป็น “ครอบครัว” ในยุคหิน ยุคเหล็กและฟาร์มศตวรรษที่ 19 ได้ครอบครัวละ 1 สัปดาห์ โดยส่งเสริมให้มาพร้อมหน้ากันทั้ง 3 รุ่นคือปู่ยาตายาย พ่อแม่และลูก (ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้เหมือนผู้คนสมัยก่อนที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันหลายรุ่น) พวกเขาจะต้องใช้อุปกรณ์และสวมใส่เสื้อผ้าที่ห้องปฏิบัติการช่างฝีมือเป็นผู้ผลิตด้วยกรรมวิธีและวัสดุที่ใช้กันในยุคนั้น จะมีคนมาแนะนำวิธีทำอาหารด้วยตำรับและเครื่องปรุงที่มีอยู่ในแต่ละยุคโดยทางพิพิธภัณฑ์จะจัดเตรียมเครื่องปรุงพื้นฐานต่างๆ ให้
แต่ทางครอบครัวสามารถไปหาเก็บพืชผักหรือผลไม้ป่าที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ในบริเวณรอบๆ มาเสริมได้ นอกจากนั้น
แต่ละครอบครัวยังต้องร่วมมือกับครอบครัวอื่นๆ ที่เลือกมาใช้ชีวิตในยุคเดียวกันในการทำกิจกรรมบางอย่างเช่นเดียวกับคนในยุคนั้นจริงๆ รวมทั้งต้องช่วยเผยแพร่ความรู้โดยการตอบคำถามให้กับผู้เข้าชมอื่นๆ ด้วย
สำหรับคนที่มาเที่ยวที่นี่เพียงวันเดียว ทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดเขตที่เรียกว่าหุบเขาไฟ (The Fire Valley) ไว้ให้เป็นเขตทดลองปฏิบัติการทางโบราณคดี เช่น อาจลองก่อไฟโดยการปั่นไม้หรือใช้หินเหล็กไฟช่วยสร้างเรือขุดจากต้นไม้ทั้งต้น ลากหินหนัก 500 กิโลกรัม ตัดฟืนด้วยขวานสมัยยุคเหล็ก โม่แป้งด้วยโม่หินโบราณหรือแม้แต่ทำขนมปังกรอบด้วยตำรับของยุคเหล็กเมื่อ 2 พันกว่าปีที่แล้ว โดยทางพิพิธภัณฑ์จะจัดเตรียมเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ไว้ให้โดยไม่คิดค่าธรรมเนียมเพิ่ม
หลักการอย่างหนึ่งของไลเร่ที่ฉันเห็นด้วยหมดหัวใจก็คือเขาพยายามปลูกฝังให้เด็กรู้จักเคารพสิ่งที่ไม่คุ้นเคย พวกเรามักมีแนวโน้มที่จะมองอดีตว่าล้าสมัยไม่เจริญ ไลเร่หวังว่าการได้ใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมและได้รู้เห็นฝีมือการประดิษฐ์ข้าวของต่างๆ ของผู้คนในอดีตจะสอนให้เด็กๆ เรียนรู้ที่จะชื่นชมภูมิปัญญาของคนโบราณและเลิกคิดดูถูกวิถีชีวิตที่พวกเขาไม่คุ้นเคย นอกจากนั้น ไลเร่ยังหวังจะปลูกฝังทัศนคติให้กับเด็กๆ ว่าประวัติศาสตร์ไม่ใช่การเรียนรู้ “ความจริง” เกี่ยวกับอดีต พวกเขาเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของการ “ตีความ” ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในอดีตมากกว่าการค้นหาสัจธรรมที่เป็นคำตอบสุดท้าย
“ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องราวที่อยู่ไกลตัวและหยุดนิ่งแต่เป็นอะไรที่ยังดำรงอยู่และเกี่ยวเนื่องกับปัจจุบัน อีกทั้งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา” พวกเขาจึงค้นคว้าศึกษาและตีความอดีตเพื่อทำความเข้าใจกับปัจจุบันเพื่อเป็นรากฐานของการสร้างความคาดหวังในอนาคต
เหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้ฉันรอคอยการได้ไปชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็คือฉันเชื่อว่านี่เป็นวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง และเมื่อได้ไปพิพิธภัณฑ์ทำนองนี้ที่เดนมาร์กมา 2 แห่ง ก็ไม่ได้ผิดหวังเลย ชอบมากและอิจฉาเด็กๆ ที่นั่นที่มีโอกาสเรียนรู้ประวัติศาสตร์สังคมโดยผ่านการใช้ชีวิตซึ่งฉันเชื่อว่าเขาจะจดจำเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างง่ายดายและแม่นยำ แถมยังจดจำไปได้นานเพราะสนุกกับการเรียนประวัติศาสตร์แบบที่ “เน้นประสบการณ์เป็นหัวใจสำคัญ” ซึ่งเป็นแนวทางการสื่อสารความรู้ทางวิชาการที่ไลเร่วางไว้
ฉันเห็นด้วยกับวิธีคิดของเขาที่ว่าการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์แบบที่ต้องอาศัยประสาทสัมผัสทั้ง 5 เช่นนี้สามารถช่วยให้เด็กที่เรียนอ่อนประสบความสำเร็จได้โดยช่วยกระตุ้นและดึงความสามารถทางกายภาพ ความแคล่วคล่องว่องไวและศักยภาพในทางสร้างสรรค์ของพวกเขาออกมา ซึ่งเป็นความสามารถที่ปกติจะไม่มีโอกาสได้ใช้ในการเรียนด้วยตำราในห้องเรียนสักเท่าไร
ที่ฉันประทับใจอีกอย่างในการไปชมไลเร่ก็คือทัศนคติของคนที่ทำงานที่นั่น เมื่อฉันบอกสาวในกระท่อมยุคเหล็กว่าฉันอิจฉาเด็กเดนมาร์กจัง เขาตอบฉันว่า “ฉันก็เหมือนกันและนั่นคือเหตุที่ทำให้ฉันภูมิใจกับงานของฉันมาก” ไลเร่จึงไม่ใช่ดินแดนแห่งตำนานสำหรับฉัน แต่เป็นตัวอย่างของดินแดนแห่งความหวังท่ามกลางกระแสข่าวการตกต่ำของคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยอย่างน่าใจหายในทุกวันนี้
“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…
ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…
WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…
ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…
สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…
"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…