สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพร
หัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด
“พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต”
ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย “โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย เศรษฐกิจดีเกินร้อย: การยกระดับนิเวศเศรษฐกิจของเมืองร้อยเอ็ด” สนับสนุนโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด บอกเล่าถึงแนวคิดในการขับเคลื่อนงานวิจัยที่มุ่งหวังพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดให้มีเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเกินร้อยดังชื่อเมือง สอดรับไปกับวิสัยทัศน์ของ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด ดังนี้
เริ่มต้นจากผู้คน
“งานวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด เกิดจากความต้องการร่วมกันระหว่างเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ภาคประชาชน ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ตระหนักถึงเป้าหมายการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และศิลปวัฒนธรรม ให้ควบคู่กันไปกับการเปลี่ยนแปลงของเมือง เพราะภายหลังที่หอโหวด ๑๐๑ เปิดทำการ เราก็ต่างเห็นตรงกันว่าเมื่อร้อยเอ็ดมีการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ ไม่เพียงการมาเที่ยวแลนด์มาร์กแห่งใหม่ เศรษฐกิจโดยรอบหอโหวดฯ และบึงพลาญชัย รวมถึงภายในเทศบาลเมืองควรต้องได้รับการยกระดับไปด้วย
“นั่นทำให้เราตั้งทีมกันเพื่อสำรวจและศึกษาจุดขายของเมืองเพิ่มขึ้น ช่วยกันหา ‘ของดี’ ‘ของเด่น’ และ ‘คนดัง’ เพื่อเป็นสินค้าทั้งในเชิงผลิตภัณฑ์ การบริการ และการสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้มาเยือน ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นได้ เราจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างเครือข่ายชุมชน และภาคธุรกิจ ในระยะแรก เราได้ทำการนัดหมายตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ มาพูดคุย โดยเริ่มจากตัวแทน 100 คนจากทั้ง 20 ชุมชนในเขตเทศบาลฯ ตามมาด้วยตัวแทนภาคธุรกิจ ก่อนจะทำเวิร์กช็อปการยกระดับ ‘ของดี’ ที่เรามีร่วมกัน โดยอ้างอิงจากความต้องการของคนร้อยเอ็ด จริงอยู่ เราอาจมีภาพในใจไว้ส่วนหนึ่งแล้วว่าร้อยเอ็ดจะขายอะไรบ้าง แต่ภาพที่มีอาจจะไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของคนร้อยเอ็ดเลยก็ได้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดภาพที่แท้จริงที่ทุกคนต้องการ
เมื่อเมืองเดินได้ เดินดี เศรษฐกิจจะเด่นดีตามไปด้วย
“ในหัวข้องานวิจัย เราได้ใส่คีย์เวิร์ดคำว่า ‘เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย’ ที่เป็นเช่นนั้น เพราะข้อแรกคือแผนการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดให้เป็นเมืองเดินได้เดินดี (Walkable City) อยู่ในความตั้งใจของเทศบาลฯ อยู่แล้ว ซึ่งจะเห็นว่าเทศบาลฯ พยายามปรับปรุงทางเท้า และร่มเงาตามจุดต่าง ๆ พร้อมทั้งใส่อัตลักษณ์ ๑๐๑ ไปตามพื้นที่สาธารณะทั่วเมือง รวมถึงการนำเทคโนโลยีในกรอบของสมาร์ทซิตี้เพิ่มเติมเข้ามา เพื่อเพิ่มเสน่ห์และความปลอดภัยให้เมืองมีความน่าเดินมากขึ้น ขณะเดียวกัน เมื่อปีที่แล้ว (2566) ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ก็ได้ร่วมกับทาง บพท. ขับเคลื่อนงานวิจัยเรื่อง Green City เมืองอาหารปลอดภัย ไปจนถึงเมืองแห่งการเรียนรู้ จะเห็นได้ว่าร้อยเอ็ดมีองค์ความรู้และสาธารณูปโภคที่พร้อมต่อการพัฒนาเมืองค่อนข้างครบแล้ว มาที่โครงการเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด โครงการนี้ เราจึงอยากเติมเต็มในเรื่องการขับเคลื่อนฟันเฟืองทางเศรษฐกิจของเมือง ด้วยต้นทุนของการเป็นเมืองน่าอยู่ และสมาร์ทซิตี้
“ด้วยเหตุนั้น การเดินในคีย์เวิร์ดงานวิจัยเราครั้งนี้ จึงเป็นการทำให้เศรษฐกิจของเมืองเดินได้ ให้ผู้คนทำมาค้าขึ้น และมีความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งก็สอดรับกับกายภาพของเมืองที่ทางเทศบาลฯ ตั้งใจให้เมืองมีความเป็นมิตรกับผู้คนเดินเท้า ทำให้ผู้คนสุขภาพดี และช่วยกระตุ้นธุรกิจรายย่อยที่กระจายตัวอยู่ทั่วเมือง”
Eco Room รูปธรรมของความร่วมมือเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
“นอกจากการได้มาของความต้องการของผู้คนในเขตเทศบาลฯ เป็นอีกหนึ่งผลลัพธ์ที่เราคาดหวัง คือการมีเครื่องมือประสานธุรกิจภายในเมืองเข้าด้วยกัน ในปีที่แล้ว บพท. ได้เข้ามาสนับสนุนแอฟพลิเคชั่น ‘ร่วมเรียน’ และ ‘ร่วมค้า’ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางเชื่อมผู้ประกอบการและนิเวศของเมืองแห่งการเรียนรู้ไว้ด้วยกัน กล่าวคือ เรามีแพลตฟอร์มแบบ on cloud แล้ว มาปีนี้ เราจึงตั้งใจทำแพลตฟอร์ม on ground เสริมเข้าไป ด้วยการนำข้อมูลและเครือข่ายภาคธุรกิจที่ได้ มาไว้ใน Eco Room โดยได้รับความอนุเคราะห์จากทางเทศบาลในการให้ใช้พื้นที่ภายในหอโหวดฯ
“Eco Room เป็นเหมือนห้องปฏิบัติการให้คนร้อยเอ็ด สำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร อัปเดตกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงเป็นพื้นที่จัดเวิร์กช็อปเพื่อเพิ่มองค์ความรู้และทักษะใหม่ ๆ ให้กับผู้คนในเมือง เราตั้งใจให้พื้นที่นี้เป็น Open – Source Data ที่ใครอยากรู้เรื่องอะไรของเมืองร้อยเอ็ด ตารางกิจกรรม แผนการพัฒนาเมือง ไปจนถึงพื้นที่พัฒนาศักยภาพ เพราะต้องยอมรับว่าแม้ร้อยเอ็ดจะพัฒนาไปไกล แต่หลายหน่วยงานของภาครัฐก็อาจจะยังไม่มีการประสานข้อมูลเข้าด้วยกันเท่าที่ควร พื้นที่นี้และช่องทางออนไลน์จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้ผู้คนรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต เราหวังให้พื้นที่นี้ช่วยติดอาวุธให้คนร้อยเอ็ดในการยกระดับเศรษฐกิจ และตอกย้ำความเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดของหอโหวดฯ นอกเหนือไปจากการเป็นแลนด์มาร์ก หรือแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของเมืองดังที่เป็นอยู่”
ติดตามความก้าวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด https://www.facebook.com/researchreru
พลังคน พลังโคมลำพูน: เมืองเล็ก ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์ แม้ ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์ เป็นคนเชียงใหม่ เธอก็หาใช่เป็นคนอื่นคนไกลสำหรับชาวลำพูนเพราะก่อนจะเข้ามาขับเคลื่อนงานวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดกับเทศบาลเมืองลำพูน เธอได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเมืองแห่งนี้มาหลายครั้ง โดยเฉพาะโครงการขับเคลื่อนเยาวชนเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นพลเมืองของเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ในปี 2566-2567 - นั่นล่ะ…
“เป็นสิ่งวิเศษที่สุด ที่ผ้าไหมของจังหวัดลำพูนได้ปรากฏต่อสายตาผู้คนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งเมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้การส่งเสริม และทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ และกระทั่งในปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 10 ก็ทรงส่งเสริมผ้าไหมไทย และฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญเช่นกัน ดิฉันเป็นคนลำพูน มีความภูมิใจในงานหัตถศิลป์การทอผ้าไหมยกดอกนี้มาก ๆ และตั้งใจจะรักษามรดกทางวัฒนธรรม ทำหน้าที่ส่งต่อถึงคนรุ่นต่อไป…
“ความที่โตมาในลำพูน เราตระหนักดีว่าเมืองเรามีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สูงมาก ทั้งยังมีบรรยากาศที่น่าอยู่ อย่างไรก็ดี อาจเพราะเป็นเมืองขนาดเล็ก ลำพูนมักถูกมองข้ามจากแผนการพัฒนาของประเทศ เป็นเหมือนเมืองที่มีศักยภาพ แต่ยังไม่ถูกปลุกให้ตื่นความที่เราเคยทำงานที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ปัจจุบันคือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA - ผู้เรียบเรียง) ได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จของกระบวนการพัฒนาย่านด้วยกรอบพื้นที่สร้างสรรค์ในหลายพื้นที่…
“ผมเป็นคนลำพูน และชอบทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันเป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดลำพูน ควบคู่ไปกับกำลังศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากประสบการณ์การทำงานในสภาฯ ทำให้ผมเห็นว่า เยาวชนลำพูนมีศักยภาพที่หลากหลาย แต่สิ่งที่ขาดไปคือเวทีที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความสามารถและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการสนับสนุนจากโรงเรียนหรือโครงการของภาคเอกชน ปี 2567 พี่อร (ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์…
“อาคารหลังนี้แต่ก่อนเป็นที่ประทับของเจ้าราชสัมพันธวงษ์ลำพูน (พุทธวงษ์ ณ เชียงใหม่) น้องเขยของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของลำพูน อาคารถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2455 หลังจากนั้นก็ถูกขายให้พ่อค้าชาวจีนไปทำเป็นโรงเรียนหวุ่นเจิ้ง สอนภาษาจีนและคณิตศาสตร์ โรงเรียนนี้เปิดได้ไม่นานก็ต้องปิด เพราะสมัยนั้นรัฐบาลเพ่งเล็งว่าอะไรที่เป็นของจีนจะเกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่หนูก็ไม่รู้หรอกว่าโรงเรียนนี้เกี่ยวข้องหรือเปล่า (ยิ้ม) จากนั้นอาคารก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนมงคลวิทยาในปี…
“เราโตมากับวัฒนธรรมของคนลำพูน ชอบไปเดินงานปอย ร่วมงานบุญ ก่อนหน้านี้ก็เคยทำงานรับจ้างทั่วไป จนเทศบาลฯ มาส่งเสริมเรื่องการทำโคม โดยมีสล่าจากชุมชนศรีบุญเรืองมาสอน เราก็ไปเรียนกับเขา ตอนนี้อาชีพหลักคือการทำโคม ทำมาได้ 2 ปีแล้ว สำหรับเรา โคมคืองานศิลปะ เป็นสัญลักษณ์และมรดกที่ยึดโยงกับวัฒนธรรมของคนบ้านเรา ตอนแรกเราไม่มีความคิดเลยว่ามันจะกลายมาเป็นอาชีพได้…