“โครงการ ‘รู้สู้น้ำ’ เป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำที่พัฒนาโดยเทศบาลนครปากเกร็ด เพื่อแก้ปัญหาน้ำขังระบายไม่ทันในเขตเทศบาลฯ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2554 โดยพัฒนาต่อยอดจาก ‘ปากเกร็ดโมเดล’ เดิม สู่ ‘ปากเกร็ดโมเดลใหม่’ ที่ผสานเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ากับระบบบัญชาการเหตุการณ์ (ICS)
หัวใจสำคัญของโครงการนี้ คือความสามารถของเทศบาลฯ ในการจัดการข้อมูลจำนวนมากให้เป็นระบบ และนำมาใช้ได้อย่างตรงจุด เช่น ข้อมูลปริมาณน้ำ การประเมินสถานการณ์ฉุกเฉิน วัสดุอุปกรณ์ ไปจนถึงการใช้ LINE OA เพื่อสื่อสารกับประชาชน

ความสำเร็จของโครงการนี้ไม่เพียงช่วยลดความซ้ำซ้อนของการทำงานและลดความเสียหายจากน้ำท่วมขัง แต่ยังทำให้หน่วยงานในสังกัดและทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องมองเห็นภาพตรงกัน และสามารถประสานงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นต้นแบบของการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบควบคู่ไปกับการสร้างบริการที่ดีให้แก่ประชาชน
โครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ซึ่งเทศบาลฯ ร่วมกับ บพท. ได้เข้ามาหนุนเสริมระบบที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดช่องทางให้ชาวบ้านแจ้งข้อมูลปริมาณน้ำผ่าน LINE OA หรือการจัดทำห้องเรียนรับมือภัยพิบัติให้แก่เด็ก ๆ ในโรงเรียนเทศบาล ซึ่งช่วยปลูกฝังความเข้าใจเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
อีกหนึ่งนวัตกรรมสำคัญคือการใช้เครื่องโซนาร์ ตรวจจับการอุดตันของทางระบายน้ำ แต่เดิมกองช่างของเทศบาลฯ จะมีทีมงานวนไปลอกท่อตามชุมชนต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่เมื่อมีเทคโนโลยีนี้ เราสามารถระบุพื้นที่ที่มีความเสี่ยงท่ออุดตันมากที่สุด และเข้าแก้ไขได้ก่อนเกิดปัญหา
เดิมทีเราคิดว่าท่ออุดตันเป็นปัญหาปลายทาง ขณะที่น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาหรือน้ำบนผิวถนนน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ต้องกังวล แต่กลับกลายเป็นว่าการจัดการทางระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นทาง คือสิ่งที่ช่วยให้ปากเกร็ดรอดพ้นจากน้ำท่วมขังได้”
#เทศบาลนครปากเกร็ด #CIAP #โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด #PMUA #บพท #Wecitizens