เมื่อความเสี่ยงจากภัยพิบัติกลายมาเป็นต้นทุนของเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด
จริงอยู่ที่การเป็นเมืองติดแม่น้ำซึ่งเผชิญกับความเสี่ยงด้านอุทกภัยจะดูไกลห่างจากความเป็น “เมืองน่าอยู่” กระนั้น เทศบาลนครปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ก็นำสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นจุดด้อย แปรเปลี่ยนเป็นต้นทุนสำคัญในการพัฒนาเมืองอย่างชาญฉลาด
โครงการบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด และการพัฒนาความเป็นเลิศในการบริหารจัดการความเสี่ยงอุทกภัย เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างเทศบาลนครปากเกร็ดและบพท. ในการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเมือง (City Data Report) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเมือง รวมถึงพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในเขตเทศบาลนครปากเกร็ด
โครงการดังกล่าวเริ่มต้นจากโจทย์หลักที่เทศบาลฯ โดย วิชัย บรรดาศักดิ์ นายกเทศมนตรี ต้องการยกระดับประสิทธิภาพในการรับมือปัญหาน้ำท่วม อันเป็นความท้าทายสำคัญที่ผู้คนในเขตเทศบาลฯ มองเห็นตรงกัน ซึ่งสอดรับกับที่ รศ. ดร.สมพร คุณวิชิต อาจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านการจัดการภัยพิบัติในระดับเมือง ตระหนักในศักยภาพของเมืองปากเกร็ดในการเป็น Resilient City (เมืองที่มีความพร้อมต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง) รวมถึงการเป็นเมืองต้นแบบในการรับมือกับภัยพิบัติ จึงร่วมมือกันทำวิจัยในกรอบของเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ผ่านการสนับสนุนของ บพท.
“ปากเกร็ดเป็นเมืองที่มีความพร้อมในสาธารณูปโภค พื้นที่เพื่อการผ่อนคลาย และเศรษฐกิจที่ดีอยู่แล้ว หากเราสามารถทำให้ประชาชนวางใจว่าเมืองจะปลอดพ้นจากปัญหาน้ำท่วม หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่น ๆ สิ่งนี้จะช่วยเสริมภาพของเมืองน่าอยู่โดยสมบูรณ์ และแน่นอน การหนุนเสริมในด้านนวัตกรรมที่ช่วยอำนวยความสะดวกวิถีชีวิตของผู้คน ก็จะทำให้ปากเกร็ดเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดไปพร้อมกัน” วิชัย บรรดาศักด์ นายกเทศมนตรีนครปากเกร็ด กล่าว


โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการฯ ประกอบไปด้วยการจัดตั้งโปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (CIA) การสำรวจข้อมูลเมือง (City Scan) การจัดทำโครงสร้างข้อมูลเมือง (City Data Infrastructure) และการส่งเสริมการลงทุนระดับพื้นที่ นอกจากนี้ โครงการยังเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน ผ่านการจัดเวทีสาธารณะเพื่อรวบรวมความคิดเห็น (แนวทางวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม)
ในส่วนของผลลัพธ์ของงานวิจัยจะปรากฏในรูปแบบของการพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์พื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น
· City Digital Data Platform (CDDP) หรือระบบฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาเมือง
· LINE OA Pakkret Connect ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติสำหรับประชาชนที่ได้รับการยกระดับฟังก์ชันแบบเรียลไทม์ และเปิดให้ประชาชนแจ้งข่าวสารอย่างทันท่วงที
· Climate Change & Disaster Learning Platform แพลตฟอร์มการเรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ โดยนำร่องที่กลุ่มนักเรียนในโรงเรียนสังกัดของเทศบาลฯ· โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและประชาชน เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการจัดการภัยพิบัติด้วยเทคโนโลยี
และที่สำคัญคือการจัดเวทีภาคประชาชนเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง “ต้นแบบเมืองที่มีความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงอุทกภัย” ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความเป็นเมืองน่าอยู่และน่าลงทุน
“แม้โจทย์ของเราคือการพัฒนาแผนและเครื่องมือเสริมศักยภาพการรับมือกับภัยพิบัติที่ทางเทศบาลฯ ได้ริเริ่มไว้ดีอยู่แล้ว แต่หัวใจสำคัญอีกเรื่องที่เราคาดหวังจากงานวิจัยนี้ คือการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการกำหนดทิศทางและแผนการพัฒนาเมืองร่วมกับเทศบาลฯ ซึ่งหากกระบวนการนี้สำเร็จ นี่ต่างหากที่จะเป็นผลลัพธ์ของการทำให้ปากเกร็ดเป็นเมืองน่าอยู่อย่างแท้จริง” รศ. ดร.สมพร กล่าว


วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. เพื่อจัดตั้งโปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIA) ระดับพื้นที่
2. หนุนเสริมกิจกรรมการสำรวจเมือง (City Scan) การจัดตั้งกลไกในพื้นที่ (City Charter) และการจัดทำ City Data Infrastructure
3. เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนระดับพื้นที่
4. เพื่อจัดทำแผนพัฒนาเมืองของเทศบาลนครปากเกร็ด เพื่อมุ่งสู่ “ต้นแบบเมืองที่มีความเป็นเลิศด้านการบริหาร จัดการความเสี่ยงอุทกภัย”
5. เพื่อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาสำคัญของเมือง (City Solution) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการยกระดับ การบริหารจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
6. เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรมร่วมกับโครงการกลาง โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด
#เทศบาลนครปากเกร็ด #CIAP #โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด #PMUA #บพท #Wecitizens