RILA กับการพัฒนาคนระยองให้เท่าทันการพัฒนาเมืองสนทนากับ รศ.ประภาภัทร นิยมผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันการเรียนรู้ของคนทุกวัยจังหวัดระยอง (RILA)

‘การวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนสถาบันการเรียนรู้ของคนทุกวัยในบทบาทกลไกสนับสนุนความเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้จังหวัดระยอง คือชื่อเต็มของอีกหนึ่งโครงการวิจัยในจังหวัดระยองที่สถาบันอาศรมศิลป์ ได้รับทุนจาก บพท. มาขับเคลื่อนในปี 2564-2565 (อีกหนึ่งโครงการมีเจ้าภาพคือ บริษัท ระยองพัฒนาเมือง จำกัด)

โครงการดังกล่าวมี รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ เป็นหัวหน้าโครงการ โดยโครงการเองมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองเป็นพาร์ทเนอร์หลัก รวมถึงการร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ในจังหวัด จัดตั้งสถาบันการเรียนรู้ของคนทุกวัยจังหวัดระยอง (RILA) ขึ้น แพลทฟอร์มกลางที่ช่วยประสานพื้นที่ กลุ่มบุคคล หรือหน่วยการเรียนรู้นอกห้องเรียนทั้งจังหวัดระยองมาไว้ด้วยกัน ก่อนจะเชื่อมโยงเข้าหาผู้เรียน

ใช่… นี่เป็นงานวิจัยที่ไปไกลกว่าการทำข้อเสนอแนะให้กับภาครัฐ เพราะเป็นการร่วมกับภาครัฐสร้างเครื่องมือที่มีส่วนช่วยพัฒนาเมืองขึ้นมาอย่างจริงจังเลยทีเดียว

อะไรที่ทำให้งานวิจัยที่แรกเริ่มโฟกัสไปที่ในระดับภูมิภาคสามารถไปต่อถึงกลไกระดับจังหวัด แถมยังเป็นต้นแบบของการจัดการพื้นที่การเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับจังหวัดอื่นๆ ได้อีก WeCitizens ชวน รศ.ประภาภัทร พูดคุยถึงที่มาของโครงการ การเปลี่ยนผ่าน และบทบาทของ RILA กับการพัฒนาเมืองระยอง… เชิญรับชม

ทราบมาว่าโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ระยองที่สถาบันอาศรมศิลป์รับผิดชอบนี้ เป็นการต่อยอดมาจากโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของจังหวัด เลยอยากให้อาจารย์เล่าความเป็นมาว่าจากพื้นที่นวัตกรรมฯ เราต่อยอดมาทำโครงการนี้ได้อย่างไร
ต้องเล่าถึงพื้นหลังก่อนว่าโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามาจาก พรบ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 แนวคิดของมันคือ การทำให้พื้นที่ต่างๆ ซึ่งในที่นี่หมายถึงจังหวัด มีอิสระในการจัดการการศึกษาแก่ผู้เรียนตามบริบทของจังหวัดตัวเอง โดยเป้าหมายหนึ่งของแนวคิดนี้ก็คือการสร้างบุคลากรที่มาช่วยพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง

 ซึ่งก็สอดคล้องกับที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (ปิยะ ปิตุเตชะ) เคยบอกไว้ว่าแม้ระยองเป็นเมืองใหญ่ และเป็นเมืองอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ แต่ลูกหลานคนระยองเมื่อเรียนจบออกมา ส่วนใหญ่กลับไปทำงานที่อื่น และมีแต่คนที่อื่นที่เข้ามาทำงานในจังหวัดระยอง เราก็คิดว่าแนวคิดเรื่องพื้นที่นวัตกรรม นี้เป็นเรื่องที่ดี

ทั้งนี้ ระยองเป็น 1 ใน 6 พื้นที่ 8 จังหวัดนำร่องของโครงการดังกล่าว ซึ่งได้แก่ ระยอง ศรีสะเกษ สตูล กาญจนบุรี เชียงใหม่ และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) อย่างไรก็ดี ก่อนที่ระยองจะได้รับการประกาศเป็นจังหวัดนำร่องอย่างเป็นทางการ ทางภาคส่วนต่างๆ ของจังหวัดเขาก็มีการพูดคุยกัน และมีความคิดที่จะจัดทำหลักสูตรของจังหวัดมาได้สักพักแล้ว ซึ่งนั่นทำให้สถาบันอาศรมศิลป์ได้เข้ามามีส่วนร่วม ก่อนที่เราจะร่วมทำงานด้วยกันมาจนมาถึงปัจจุบัน

ปัจจัยอะไรที่ทำให้ทางภาคส่วนต่างๆ ในระยองพิจารณาถึงเรื่องการทำหลักสูตรของตัวเองครับ ทันทีที่เมืองเข้าสู่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เมืองระยองมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วมากจากโปรเจกต์ใหญ่ๆ ที่เข้ามาลงทุน ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายก อบจ. เขามีอุดมการณ์ชัดในการจะทำให้คนระยองรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ทัน ดังคีย์เวิร์ดที่ผู้บริหารเมืองเขาบอกว่า ‘พัฒนาคนให้ทันกับการพัฒนาเมือง’  

พอเป็นแบบนี้ทางภาคส่วนต่างๆ ทั้ง อบจ. สภาอุตสาหกรรม จังหวัด เขาก็มาคุยกัน และนำงานวิจัยที่มีคนเข้ามาทำแล้วมากางดู ก็พบว่าบุคลากรที่ทำงานอยู่ในระยองขณะนี้ เป็นคนระยองแท้ๆ ไม่ถึง 70% โดยงานวิจัยดังกล่าวได้ให้ข้อมูลแต่เพียงที่เป็น fact (ข้อเท็จจริง) หากยังไม่ได้มีการวิจัยไปถึงข้อเสนอแนะว่าแล้วถ้าเป็นแบบนี้ เราควรจะทำยังไง

นั่นสิ แล้วทำยังไงกันครับ
อาศรมศิลป์เลยได้ถูกชวนให้เข้ามาระยองในตอนนั้น เราก็ชวนกันไปตั้งต้นดูงานที่สิงคโปร์ก่อน เพราะประเทศนี้ขึ้นชื่อเรื่องการพัฒนาไปพร้อมกัน ทั้งการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม และผังเมือง ทีนี้ทางผู้บริหารเมืองเขาก็เห็นภาพของความสัมพันธ์กันหลายมิติ จริงอยู่เราอยากพัฒนาการศึกษาให้ประชาชน แต่เราจะพัฒนาแค่การศึกษาอย่างเดียวโดดๆ ไม่ได้ แต่มันต้องพัฒนามิติอื่นๆ ของเมืองควบคู่กันไป

พอกลับมา เราเชิญคนระยองทุกภาคส่วนมามองให้เห็นภาพเดียวกันก่อน จึงเป็นที่มาของการทำ social lab (กระบวนการห้องปฏิบัติการทางสังคม) ในช่วงปลายปี 2561 ให้ตัวแทนแต่ละภาคส่วนมาแชร์มุมมองที่มีต่อเมือง จัดเก็บข้อมูล และสังเคราะห์ข้อมูลออกมา เราก็พบคำตอบแบบเดียวกับที่ นายก อบจ. ท่านเคยเสนอไว้ว่าหัวใจของการพัฒนาระยอง คือการพัฒนาคน และจะพัฒนาคนก็คือการทำให้เขาเข้าถึงการศึกษาที่เชื่อมโยงกับตัวเขาเอง เมืองของเขา หรือบริบททางศิลปวัฒนธรรมของเขาเอง

นั่นทำให้เรามาคิดถึงการทำยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัด ซึ่งระยองเป็นจังหวัดแรกของประเทศที่ประกาศยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดเลยนะ ทำให้ระยองมีหลักสูตร Rayong MACRO เป็นตัวย่อมาจาก manpower (กำลังคน) ancestor (รากเหง้า) resources (ทรัพยากร) city planning (ผังเมือง) และ occupation (อาชีพ) ใช้ขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัด พอกระทรวงศึกษาฯ ประกาศให้ระยองเป็นจังหวัดนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ก็สอดคล้องลงตัวกับหลักสูตรนี้พอดี

กลับมาที่คำถามแรก แล้วจาก Rayong MACRO และพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มาสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ได้อย่างไรครับ
เพราะเราพบว่าลำพังพัฒนาแค่ในรั้วโรงเรียนมันไม่พอ เราต้องพัฒนาการศึกษาให้คนระยองทุกระดับ นั่นหมายถึงระยองต้องมีพื้นที่การเรียนรู้ให้คนทุกวัย ซึ่งที่จริง ระยองเขามีพื้นที่หรือกลุ่มบุคคลที่ทำเรื่องการเรียนรู้อยู่เยอะและดีอยู่แล้วด้วยนะ อาทิ ย่านเมืองเก่าถนนยมจินดาที่บริษัทระยองพัฒนาเมืองเขาทำ กลุ่มวัฒนธรรมหนังใหญ่ กลุ่มชุมชนปากน้ำประแส และอื่นๆ

แต่ที่ผ่านมา แต่ละกลุ่มหรือพื้นที่เขาก็ทำของเขา ต่างคนต่างทำ เลยมาคิดว่าเมืองจำเป็นต้องมีตัวกลางมาประสานพื้นที่หรือกลุ่มบุคคลเหล่านี้ เพื่อทำให้คนระยองทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างครอบคลุม ให้องค์ความรู้เข้าถึงคนที่อยากรู้ ให้คนที่ยังไม่รู้ ได้รู้ว่าเขาพบสิ่งที่เขาต้องการจะเรียนเพื่อนำไปต่อยอดสู่การทำงาน เป็นต้น ก็พอดีกับที่ทาง บพท. สนับสนุนทุนโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ เราจึงขอทุนนี้เพื่อทำ RILA

RILA?
มาจาก Rayong Inclusive Learning Academy หรือสถาบันการเรียนรู้ของคนทุกวัยจังหวัดระยอง

แล้ว RILA ทำงานอย่างไรครับ?
เราไม่ได้มีสถาบันที่เป็นห้องเรียนอะไร บทบาทของ RILA คือกลไกบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนการเรียนรู้ระดับเมือง เราทำในรูปแบบแพลตฟอร์มการเรียนรู้และกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งทางนักวิจัยของอาศรมศิลป์ก็เข้าไปประสานกับกลุ่มบุคคลหรือพื้นที่การเรียนรู้ต่างๆ ทั่วจังหวัด ชวนให้เขามาทำงานร่วมกัน ซึ่งรูปแบบการเรียนรู้ก็มีทั้งแบบออนไซท์ผ่านกิจกรรมต่างๆ และออนไลน์ในเว็บไซต์ของ RILA เอง (https://www.rayongrila.ac.th) ทั้งนี้ทาง อบจ. เขาก็รับเป็นเจ้าภาพใหญ่ในการขับเคลื่อนสถาบันนี้ แล้วก็มีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ มาเป็นคณะกรรมการ

เนื่องจาก RILA คือหนึ่งในรูปธรรมของงานวิจัยเมืองแห่งการเรียนรู้ของอาจารย์ เลยอยากทราบว่าทีมอาจารย์มีกระบวนการทำงานในการจัดตั้งหลักสูตรใน RILA นี้อย่างไร

เราใช้กระบวนการเดียวกับตอนทำ Rayong MACRO คือการทำ social lab แต่คราวนี้เราสโคปให้แคบลงมาที่เรื่องเมืองโดยเฉพาะ จนเกิดเป็น city lab ก็ให้ทุกคนที่มีส่วนในการขับเคลื่อนพื้นที่การเรียนรู้ตามจุดต่างๆ ของระยองมาคุยกันว่าคนระยองควรต้องเรียนรู้เรื่องอะไรของเมือง มาแชร์กัน และเราก็วิเคราะห์จากข้อมูลเหล่านั้น จนได้แนวทางที่น่าสนใจหลากหลาย

กลุ่มหนึ่งสนใจศิลปวัฒนธรรม เช่น ภาษาถิ่น การฟื้นฟูผ้าทอพื้นถิ่น หนังใหญ่ อาหาร และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น อีกกลุ่มสนใจเรื่องการเติบโตของกายภาพเมือง รวมถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมกับวิถีเกษตรพื้นบ้าน และอีกกลุ่มเน้นไปที่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ นี่คือ 3 ประเด็นหลักที่ได้ โดยแต่ละกลุ่มเขาก็คิดจากบริบทของพื้นที่ที่เขาอาศัยเป็นหลัก

ส่วนเรื่องโจทย์การเรียนรู้ จากกระบวนการ city lab เราก็พบว่าคนระยองต้องเรียนรู้ 3 เรื่องหลักๆ เพื่อบรรลุเป้าหมาย ได้แก่ หนึ่ง. การเรียนรู้ระดับเมือง ทำให้คนระยองเห็นภาพรวมและกลไกของเมือง สอง. เรียนรู้อัตลักษณ์คนระยอง กล่าวคือการรู้จักรากเหง้าและตัวตนของตัวเองเพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และ สาม. ส่วนการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และเราก็ใช้โจทย์นี้ออกแบบหลักสูตรต่างๆ ออกมา

ในงานวิจัยโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ มีการนำเสนอ 14 หลักสูตรหรือชุดการเรียนรู้ที่อยู่ใน RILA ซึ่งยึดโยงอยู่กับพื้นที่การเรียนรู้ 4 แห่งในจังหวัดระยอง อยากทราบว่าทีมวิจัยใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกหลักสูตรเหล่านี้

ต้องยกเครดิตให้อาจารย์ปุ้ม (อภิษฎา ทองสะอาด) ผู้เป็น key person ในส่วนนี้ อาจารย์แกเดินทางมาระยองรอบแล้วรอบเล่าจนนับไม่ถ้วน เพื่อประสานและพูดคุยกับภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำเรื่องการเรียนรู้ต่างๆ ทุกกลุ่มในระยอง ทีนี้อาจารย์ก็นัดให้ทุกกลุ่มส่งตัวแทนมาร่วมคุย ร่วมทำ city lab กันได้ ซึ่งมีมากถึง 65 หน่วยงานในระยะแรก และทำให้เราสามารถสกัดชุดการเรียนรู้เกี่ยวกับเมืองนี้ออกมาได้มากถึง

52 ชุด อย่างไรก็ดีในขั้นของการนำเสนองานวิจัย เราเลือกมา 14 หลักสูตร ส่วนหนึ่งก็มาจากความพร้อมของบุคลากรในพื้นที่ซึ่งพร้อมจะขับเคลื่อนอยู่แล้ว กับอีกส่วนมาจากการที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าจำเป็นที่จะต้องเผยแพร่ให้คนระยองทุกคนได้รู้ ยกตัวอย่างเช่นที่ตำบลบ้านเพ มีนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (จิระพันธุ์ สัมภาวะผล ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านเพ) ที่สามารถรื้อฟื้นผ้าทอตาสมุก (หรือภาษาถิ่นระยองเรียกว่า ‘ตากะหมุก’ – ผู้เรียบเรียง) จากเอกสารโบราณในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งก็พอดีกับที่ทางจังหวัดประกาศให้ผ้าชนิดนี้เป็นผ้าทอประจำจังหวัด เราจึงเข้าไปร่วมกับเขาเพื่อจัดทำหลักสูตรและสื่อการเรียนรู้เรื่องผ้าทอผ่านทางออนไลน์

หรือที่ตำบลกะเฉด อำเภอแกลง เขามีการตั้งกลุ่มการอนุรักษ์ภาษาถิ่นระยอง ผ่านการจัดประกวดการพูดภาษาถิ่นในระดับเยาวชน เราก็เข้าไปช่วยเขาทำหนังสือรวบรวมคำศัพท์ภาษาระยอง รวมถึงสื่อวิดีโอบอกเล่าวิธีการสื่อสารภาษาถิ่น เป็นต้น

ที่จริงแล้ว เราไม่ได้ทำในแง่ของการออกแบบหลักสูตรใหม่เลยนะ เพราะแต่ละที่เขาก็มีของดีที่มีคนขับเคลื่อนอยู่แล้ว สิ่งที่เราทำคือรวมพวกเขามาไว้ด้วยกัน ช่วยทำสื่อการสอน และสร้างช่องทางในการเผยแพร่ไปสู่ระดับจังหวัดและระดับประเทศ

ที่อาจารย์เล่ามาคือการพัฒนาชุดสาระและพื้นที่การเรียนรู้ ซึ่งเป็นโครงการวิจัยย่อยที่ 1 ก่อนจะนำไปสู่ชุดโครงการย่อยที่ 2 คือการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ทั้ง online และ offline ในด้าน online ผมพอเห็นภาพว่าอาจารย์มีเว็บไซต์ มีสื่อวิดีโอ รวมถึงอีบุ๊ค (e-book) ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ แต่อยากทราบว่าในเชิง offline มีรูปแบบอย่างไรครับ
ยกตัวอย่างที่ตำบลปากน้ำประแส (อ.แกลง) ซึ่งเป็นที่แรกที่เราลงทำกิจกรรมหลังจากก่อตั้ง RILA เราก็มาคุยกันว่าจะทำยังไงให้คนเข้าถึงดี ก็เลยลองชวนเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดตะเคียนงาม ซึ่งเป็นโรงเรียน sandbox ของพื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้อยู่แล้ว มาทำงานร่วมกับเด็กนักเรียนจากโรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนในเครือสถาบันอาศรมศิลป์ของเรา

เราชวนให้เด็กๆ ทั้งสองโรงเรียนไปสัมภาษณ์ชาวบ้าน เก็บข้อมูล และทำกิจกรรมการเรียนรู้ในพื้นที่ ให้เด็กจากโรงเรียนวัดตะเคียนงามได้เรียนรู้เกี่ยวกับบ้านเกิดของตัวเอง ขณะเดียวกันก็ให้พวกเขาพาแขก (เด็กจากโรงเรียนรุ่งอรุณ) ชมชุมชนของพวก ก็ทำกิจกรรมกันหลากหลายเลย ไปเดินดูป่าชายเลน นั่งเรือ คราดหอย ไปเรียนรู้วิถีประมงพื้นบ้าน เป็นต้น 

พร้อมกันนั้นทางทีมนักวิจัยของเราก็เอาข้อมูลที่เด็กๆ สัมภาษณ์คนในชุมชนมาประมวลและจัดระเบียบ เพื่อนำเสนอคืนกลับสู่ชุมชน ทีนี้บริบทของปากน้ำประแส แต่เดิมเขาเป็นเมืองที่ร่ำรวยจากการทำประมงพาณิชย์ จนกระทั่งมีกฎหมายใหม่เข้ามาควบคุม ทำให้ประมงพาณิชย์ซบเซาลงราวพลิกฝ่ามือ ชาวบ้านเลยหันไปโฟกัสกับการท่องเที่ยว แต่พอเรานำข้อมูลไปประมวลก็พบว่า จริงๆ แล้วประมงพื้นบ้านที่เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในพื้นที่ก็มีศักยภาพทางเศรษฐกิจไม่น้อย การผันตัวมาทำท่องเที่ยวอาจไม่ใช่หนทางเดียว การลงพื้นที่ครั้งนั้นจึงทำให้ชาวบ้านพบโจทย์ใหม่ๆ ที่น่านำมาพิจารณาต่อ สำหรับทิศทางในอนาคตของชุมชน

แต่เหนือสิ่งอื่นใด การลงพื้นที่ของเด็กๆ ยังช่วยสร้างประสบการณ์การทำงานร่วมกัน รวมถึงทำให้เด็กๆ ในพื้นที่ได้มีโอกาสรู้จักบ้านเกิดของพวกเขาเอง เพราะถึงแม้พวกเขาจะเห็นชุมชนตัวเองทุกวันตั้งแต่เกิด แต่ก็ไม่เคยได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้ใหญ่ หรือเรียนรู้ถึงบริบททางสังคมในด้านต่างๆ เลย หลังกิจกรรม พวกเขายังฟีดแบ็คให้เราฟังว่าตั้งแต่เกิดมา หลายเรื่องในชุมชนเขา ก็เพิ่งรู้จากวันนั้น

อาจารย์คิดว่าสิ่งนี้มันช่วยปลูกฝังความรักในบ้านเกิดให้แก่เด็กๆ ให้เขามีแรงบันดาลใจที่อยากมีส่วนร่วมทำอะไรดีๆ เพื่อพัฒนาบ้านเกิดตัวเองเหมือนกัน

ผมมักถามนักวิจัยในโครงการทุกคนว่าการทำโครงการวิจัยเมืองแห่งการเรียนรู้ของแต่ละท่าน มีส่วนช่วยพัฒนาเมืองอย่างไร แต่ความที่โจทย์ของเมืองระยองที่อาจารย์บอกไปว่ามันคือ ‘การพัฒนาคนให้ทันการพัฒนาเมือง’ นั่นหมายความว่าเมืองมันมีการพัฒนาอยู่แล้ว เลยอยากรู้ว่าถ้าพัฒนาคนให้เท่าทันกับเมืองแล้ว คนระยองจะได้อะไรครับ
ตอบได้สองทางนะ คือตอนนี้ระยองกำลังมีการพัฒนาโปรเจกต์ใหญ่ๆ หลายด้านมาก เมืองการบิน (airport city) เอย Smart Park เอย ถ้าเราสามารถพัฒนาคนระยองได้ เราก็จะได้บุคลากรในพื้นที่มาขับเคลื่อนโครงการเหล่านี้ ซึ่งนั่นก็หมายถึงการที่คนระยองเองจะมีอาชีพที่มั่นคง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในภาพรวมอีก

แต่ในอีกมุม ระหว่างที่เราทำ city lab เราก็ได้มุมมองที่น่าสนใจมาเหมือนกัน เพราะมีชาวบ้านบางส่วนมองว่าจริงๆ คนระยองไม่เห็นจำเป็นต้องเข้าไปทำงานใน EEC ทุกคน เพราะการเกษตรกรรมหรือการประมงที่เป็นวิถีชีวิตอีกด้านของผู้คนในจังหวัดก็ยังเข้มแข็ง

พวกเขาไม่คิดจะเข้า EEC ในความหมายของ Eastern Economic Corridor แต่จะเข้า ELC หรือ Eastern Learning Corridor หรือ ‘ระเบียงแห่งการเรียนรู้ภาคตะวันออก’ กล่าวคือให้เมืองเป็นพื้นที่ให้คนระยองได้เรียนรู้รากเหง้าของตัวเอง เรียนรู้บริบทของบ้านเกิด ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ โดยเฉพาะกับเทคโนโลยี พวกเขาก็สามารถนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปต่อยอดต้นทุนทางการเกษตรหรือประมงของตัวเอง สู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือการเข้าถึงตลาดที่ใหญ่กว่านี้ได้ ซึ่งนั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็น EEC หรือ ELC ปลายทางสำคัญเลยก็คือการที่คนระยองได้มีงานที่มั่นคง เข้าถึงโอกาส และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในบ้านเกิดของตัวเอง

คำถามสุดท้าย ถ้าไม่นับตัวชี้วัดจากงานวิจัย อาจารย์มีเครื่องชี้วัดส่วนตัวอะไรไหม ที่พอจะบอกว่าสิ่งที่ RILA และโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้เริ่มต้นมาเนี่ย เป็นที่น่าพอใจ หรือประสบผลสำเร็จแล้ว
ง่ายๆ เลย เพราะเราเป็นนักวิจัย เราไม่สามารถอยู่ระยองไปตลอด แต่ที่น่ายินดีก็คือ เมื่อเราทำวิจัยเสร็จ เราได้ฝังกลไกที่ช่วยให้คนระยองสามารถขับเคลื่อนการเรียนรู้กันต่อเองอย่างยั่งยืน เราไม่ต้องทำอะไรให้เขาอีกแล้ว ซึ่งอันที่จริง อย่างที่บอกว่าที่ผ่านมา เราแทบไม่ได้ทำอะไรเลยด้วยซ้ำ นอกจากมาชวนพวกเขาคุย สร้างกระบวนการให้เขาได้มองเห็นตัวเอง และความเชื่อมโยงจากกลุ่มหนึ่งสู่อีกกลุ่ม จากเจ้าขององค์ความรู้สู่ผู้เรียน

และที่สำคัญคือ เหมือนเรามาช่วยเขาเริ่มต้น หลังจากนั้นแต่ละกลุ่มเขาก็มีโปรเจกต์ที่พัฒนาได้ด้วยตนเอง ที่ป่าโกงกางตรงเจดีย์กลางน้ำก็มีแผนพัฒนาของจังหวัดขึ้นมาใหม่ ตำบลกะเฉดก็มีการตั้งศูนย์อนุรักษ์ภาษาถิ่นขึ้นมา รวมถึงการปรับทิศทางของคนปากน้ำประแสที่หันมาทำด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวิชาชีพประมง ซึ่งแต่ละกลุ่มเขาก็ประสานกับภาครัฐในการหางบประมาณมาขับเคลื่อนของเขาเอง

จากปี 2561 ที่ทางอาศรมศิลป์เข้ามาที่ระยอง เราพบว่าพร้อมกับเมืองที่มันพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว การรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายของคนระยองก็พัฒนาขึ้นเร็วตามไปด้วยเช่นกัน ก็ดังที่นายก อบจ. บอกไว้ว่าอยากพัฒนาคนให้เท่าทันการพัฒนาเมือง อาจารย์ว่าระยองตอนนี้มีความหวังมากๆ นะ     

กองบรรณาธิการ

Recent Posts

THE INSIDER : ณัฐธิยาภรณ์ อ้วนวงศ์ นักวิจัยโครงการเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ร้อยเอ็ด และนักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองยุทธศาสตร์และงบประมาณ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด

“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…

4 days ago

WeCitizens : The Concept

ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…

6 days ago

WeCitizens เมืองร้อยเอ็ด : ก้าวสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด

WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…

1 month ago

City View : ๑๐๑ เมืองรองที่ไม่เป็นรองใคร

ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…

1 month ago

๑๐๑ สานพลังผู้คนเพื่อกำหนดทิศทางเมือง

สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…

1 month ago

THE MAYOR : บรรจง โฆษิตจิรนันท์ : นายเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด และนายกสมาคมเทศบาลนครและเมือง

"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…

2 months ago