/

กระเป๋าผ้าทรงปลานี่แหละ พอจะอวดได้ว่าเป็นของที่ระลึกหรือของฝากจากเมืองพะเยา

Start
416 views
7 mins read

“พี่เริ่มรวมกลุ่มก่อนโควิดมาหลายปีแล้ว ตอนนั้นทางเทศบาลเมืองพะเยาเข้ามาส่งเสริมอาชีพให้กับแม่บ้านและคนวัยเกษียณที่อยู่บ้านเฉยๆ ในชุมชน ก็รวมกลุ่มกันได้สามสิบกว่าคนมาคุยกันว่าอยากทำอะไร แล้วสรุปได้ว่าเป็นงานกระเป๋าที่ทำจากผ้า พวกกระเป๋าเป้ กระเป๋าสะพาย และกระเป๋าสตางค์ รวมถึงงานผ้าอื่นๆ เพราะทุกคนสามารถทำเองได้จากที่บ้าน

ช่วงแรกๆ ก็ได้เทศบาลนี่แหละที่หาตลาดให้ เพราะเขาจะมีเทศกาลหรือพวกงานออกร้านสินค้าจากชุมชนอยู่บ่อยๆ หรือเวลาข้าราชการจากองค์กรไหนท่านเกษียณ เขาก็ออร์เดอร์ให้ทางกลุ่มทำกระเป๋าเป็นของที่ระลึก ซึ่งก็สร้างรายได้ให้ทางกลุ่มให้ทุกคนพออยู่ได้ แต่พอโควิดเข้ามา งานจัดไม่ได้ เราก็ขายกระเป๋ากันไม่ได้ ทางกลุ่มแม่บ้านก็เลยหยุดไปพักหนึ่ง

มาจน อาจารย์เอ (รศ.ดร.ผณินทรา ธีรานนท์) ทำโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ และชวนพี่และทางกลุ่มเข้าร่วม โดยให้พี่และเพื่อนๆ ในกลุ่มไปสอนเด็กๆ และผู้สูงอายุในชุมชนอื่นเย็บกระเป๋า ตอนแรกเราก็แปลกใจนะ เพราะโควิดกำลังมา ลำพังที่เราขายอยู่ก็ขายไม่ค่อยได้แล้ว แล้วจะทำการเรียนการสอนในช่วงนั้นทำไมอีก


แต่ต่อมาก็พบว่าเขาไม่ใช่แค่ให้เราไปสอนคนอื่นอย่างเดียว ทางโครงการหาคนมาสอนเราด้วย ก็จัดการเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ มีการเว้นระยะ วิทยากรที่มาสอนเราก็เหมือนมาเติมในสิ่งที่ขาด เช่นพวกดีไซน์ใหม่ๆ การเลือกใช้เศษผ้าที่เหลือจากโรงงานตัดผ้ามาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไปจนถึงวิธีการขายทางออนไลน์ ซึ่งกลุ่มเราอยากจะทำมาตลอด แต่ไม่รู้จะทำยังไง

ก็เลยเหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนที่ได้ประโยชน์กันหมด เราแบ่งปันทักษะทางการทำกระเป๋าให้คนอื่นๆ ที่อยากเรียนรู้ ทางโครงการก็แบ่งปันวิธีการทำให้กระเป๋าที่เราทำอยู่แล้วมีความน่าซื้อ ต้นทุนถูกลง และขายได้มากขึ้น

ที่พี่ชอบที่สุดคือทางโครงการร่วมกับกลุ่มเราออกแบบกระเป๋ารูปแบบใหม่ เป็นกระเป๋าทรงปลาที่สะท้อนความเป็นกว๊านพะเยา เราก็ขายกระเป๋ามานานแล้วนะ แต่ก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา แบบกระเป๋าที่เราขายก็เหมือนๆ คนอื่น จนมีกระเป๋าผ้าทรงปลานี่แหละ พอจะอวดได้ว่าเป็นของที่ระลึกหรือของฝากจากเมืองพะเยา” (ยิ้ม)

สุนทรีย์ มหาวงศ์

กลุ่มกระเป๋าผ้าด้นมือ วัดเมืองชุม
https://www.facebook.com/profile.php?id=100054493027942

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย