/

กว๊านพะเยาจึงเป็นทั้งแหล่งทำมาหากิน แหล่งอาหารประทังชีวิต แหล่งพักผ่อน และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจ

Start
439 views
9 mins read

“นักท่องเที่ยวมักถามผมว่าทำไมจึงมีบ่อน้ำผุดขึ้นมาในกว๊าน ก็ในเมื่อตรงนี้เป็นแหล่งน้ำทำไมยังมีบ่อน้ำอยู่ (หัวเราะ) คือกระทั่งคนพะเยาเองบางคนก็อาจลืมไปแล้วว่าเมื่อ 80 กว่าปีก่อน พื้นที่กว๊านตรงนี้ทั้งหมดเคยเป็นหมู่บ้าน คนที่อยู่ทันเห็นสภาพเดิมส่วนใหญ่ก็เสียชีวิตไปหมดแล้ว บ่อน้ำตรงนั้นจึงเป็นอนุสรณ์ให้เรายังจำได้อยู่ว่าเมื่อก่อนตรงนี้เคยเป็นอะไร

ผมเป็นคนตำบลบ้านตุ่น ตรงท่าเรือโบราณบ้านทุ่งกิ่ว เมื่อก่อนพ่อผมเป็นทหารรับใช้จอมพล ผิน ชุณหะวัน ที่กรุงเทพฯ แกย้ายมาอยู่พะเยาช่วงสงครามโลก สมัยนั้นพะเยายังมีถนนไม่ทั่วถึง การจะเดินทางไปโรงเรียนซึ่งอยู่ในเขตตัวเมือง คือต้องนั่งเรือข้ามกว๊านไป ผมจำได้ว่าค่าเรือรอบหนึ่งแค่ 50 สตางค์ ราคาเท่ากับข้าวสารหนึ่งกิโลกรัม สมัยก่อนคนเรือหาเงินได้วันละ 10 บาทนี่ก็ดีใจกันมากแล้ว

พ่อผมเสียชีวิตตั้งแต่ผมยังเด็ก สมัยนั้น พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านยังส่งเงินมาช่วยงานศพพ่อ พอไม่มีพ่อ ผมก็เลยทำงานรับจ้างช่วยแม่มาตั้งแต่เด็ก หาปลาในกว๊านบ้าง ไปทำสวนบ้าง แล้วแต่ช่วง จนมีการขุดพบวัดติโลกอารามนี่แหละ จึงได้งานขับเรือพานักท่องเที่ยวไปไหว้พระ


เรื่องเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 เกาะที่เป็นที่ตั้งของวัดตอนนี้ เมื่อก่อนเป็นเกาะเล็กๆ มีต้นไม้ใหญ่ตั้งอยู่ วันหนึ่งเกิดพายุและต้นไม้หัก ชาวบ้านก็ทราบอยู่บ้างว่าแถวนั้นเคยเป็นวัด ก็เลยพากันไปขุดหาพระยอดขุนพล ซึ่ง เดี๋ยวนี้เช่ากันเป็นแสนเลยนะครับ ขุดๆ กันไป ก็มาพบพระพุทธรูปปางมารวิชัยอยู่ใต้รากต้นไม้ลึกลงไปกว่าสองเมตร ทางจังหวัดก็เลยอัญเชิญพระพุทธรูปไปแห่รอบเมือง 7 วัน  7 คืน ก่อนจะประดิษฐานที่วัดศรีอุโมงค์คำ

จนมาปี 2550 นี่แหละที่มีการค้นพบศิลาจารึกที่ระบุว่าวัดนี้สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าติโลกราช ซึ่งก็ราว 500 ปีแล้ว ท่านธนเษก อัศวานุวัตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาสมัยนั้นก็มีความคิดในการบูรณะวัดร้างกลางกว๊านแห่งนี้ โดยอัญเชิญพระพุทธรูปที่ขุดพบเมื่อ 24 ปีที่แล้วมาประดิษฐาน พระพุทธรูปได้รับการตั้งชื่อว่า ‘หลวงพ่อศิลา’ โดยวัดเกาะกลางแห่งนี้ถูกเรียกว่า ‘วัดติโลกอาราม’ 

ตั้งแต่นั้นใครมาเยือนพะเยา ก็มักจะนั่งเรือมานมัสการหลวงพ่อบนเกาะนี้ ซึ่งผมก็ได้งานเป็นคนขับเรือข้ามฟากไปด้วย ช่วงไหนไม่มีงานก็ไปรับจ้าง และก็ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านไปพร้อมกัน

ต้องชื่นชมวิสัยทัศน์ของท่านธนเษก ที่ทำให้วัดแห่งนี้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำเมืองพะเยา โดยมีการจัดประเพณีเวียนเทียนรอบกว๊านในทุกวันมาฆบูชา วิสาขาบูชา และอาสาฬหบูชา ปีละสามครั้ง ที่นี่น่าจะเป็นแห่งเดียวในประเทศด้วยนะครับ ที่มีการเวียนเทียนด้วยเรือรอบเกาะ แล้วพอจัดช่วงเย็นที่พระอาทิตย์ค่อยๆ ตกจนมืดแล้วเห็นแสงเทียนรอบวัด ภาพกว๊านพะเยายามเย็นสวยงามอยู่แล้ว พอได้แสงเทียนกลางน้ำก็งดงามเข้าไปใหญ่

กว๊านพะเยาสำหรับจึงเป็นทั้งแหล่งทำมาหากิน แหล่งอาหารประทังชีวิต แหล่งพักผ่อน และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจ”   

สุทัศน์ ปทุมวงศ์
คนรับจ้างพายเรือในกว๊านพะเยา

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย