การถอดวิชาล้านนาศึกษาหรือท้องถิ่นศึกษาออก ส่งผลกระทบให้การรับรู้ทางประวัติศาสตร์ของเด็กค่อยๆ เลือนหายไป

Start
391 views
11 mins read

“ผมเรียนมัธยมที่นี่ พอเรียนจบมหาวิทยาลัย ด้วยความอยากเป็นครู ก็เลยกลับมาสมัครทำงานที่โรงเรียน จนทุกวันนี้เราเป็นครูสอนสังคมศึกษาโรงเรียนดาราวิทยาลัยมาได้ 10 ปีแล้ว

ตอนสอนใหม่ๆ หลักสูตรวิชาสังคมของโรงเรียนในเชียงใหม่ยังมีวิชาล้านนาศึกษา หรือท้องถิ่นศึกษาอยู่ จนราว 4-5 ปีที่แล้วที่รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายให้ถอดวิชานี้ออก และแทนที่ด้วยวิชาหน้าที่พลเมือง การเรียนการสอนให้เด็กๆ เข้าใจด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจึงค่อยๆ เลือนหายไป ผลลัพธ์เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะมีหลายครั้งที่ครูสั่งการบ้านเด็กๆ ให้กลับไปค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับของดีประจำชุมชนของนักเรียนมาส่ง ปรากฏว่าเด็กๆ พากันกลับไปเสิร์ชกูเกิ้ลชื่อคาเฟ่หรือร้านกาแฟแถวบ้านมาส่ง สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าความเป็นท้องถิ่นมันไม่เชื่อมโยงกับเด็กๆ พวกเขาไม่ได้มองว่าประวัติศาสตร์หรือภูมิปัญญาที่อยู่ในวิถีชุมชนเป็นของที่มีคุณค่าสำหรับพวกเขาต่อไปอีกแล้ว

จนเมื่อต้นปีที่ผ่านมาที่อาจารย์แนน (อัมพิกา ชุมมัธยา) จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ช. ส่งจดหมายมาให้ครูคัดเลือกเด็กๆ ชั้นมัธยมต้นและปลาย ระดับละห้าคนมาร่วมกิจกรรมลงพื้นที่สำรวจชุมชนควรค่าม้า และชุมชนป่าห้า ครูก็ยินดีให้เด็กๆ เข้าร่วม เพราะแม้โรงเรียนเราจะมีทัศนศึกษานอกสถานที่อย่างไปวัดหรือพิพิธภัณฑ์สำคัญๆ ของเมือง แต่ด้วยข้อจำกัดหลายประการ จึงไม่เคยมีการเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยการลงพื้นที่ชุมชนเลยสักครั้ง

การได้ลงชุมชนครั้งนั้นเปิดโลกกับเด็กๆ มาก เพราะถึงแม้หลายสิ่งที่ผู้ใหญ่อย่างเราคุ้นชินแล้ว เช่น ศาลผี ลำเหมือง หรือกระทั่งการใช้แผนที่กระดาษ แต่เด็กๆ กลับรู้สึกแปลกใจ และบางคนเพิ่งเห็นเป็นครั้งแรก อาจเพราะพวกเขาส่วนมากอยู่ในสังคมสมัยใหม่กันเกือบหมด จึงไม่รู้ว่าทำไมคนเฒ่าคนแก่ต้องตั้งศาลผี หรือไม่เข้าใจว่าทำไมต้องดูแผนที่กระดาษ ในเมื่อเรามี Google Map สิ่งนี้ทำให้ครูกลับมาย้อนคิดถึงทิศทางการสอนของตัวเองเหมือนกัน เพราะแม้จะเข้าใจว่ายุคสมัยเปลี่ยน และเด็กๆ หลายคนก็ไม่เห็นคุณค่าว่าทำไมพวกเขาต้องศึกษาเรื่องราวเก่าๆ ของชุมชนที่อาจไม่เกี่ยวอะไรกับความสนใจส่วนตัว หรือแนวทางการประกอบอาชีพในอนาคตของพวกเขา แต่ขณะเดียวกัน ครูก็มองว่ามันน่าเสียดายมากที่เราไม่ได้ทำให้พวกเขาเข้าถึงหรือเข้าใจในคุณค่าของสิ่งเหล่านี้

ครูจึงคิดว่าเป็นเรื่องดีที่ยังมีความพยายามในการเชื่อมร้อยองค์ความรู้เก่าๆ กับคนรุ่นใหม่โดยคนรุ่นกลางอย่างพวกเราอยู่ แต่ในฐานะคนทำงานในสถานศึกษาที่หลักสูตรไม่เอื้ออำนวยให้เกิดสิ่งนี้ นี่จึงเป็นโจทย์อันท้าทายในการสอดแทรกประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาชุมชนเข้ากับบทเรียนในแต่ละวันของเด็กๆ เพราะแน่นอน การจะพานักเรียนที่ห้องเรียนหนึ่งมีประมาณ 40-50 คน หรือมีชั้นเรียนละประมาณ 500 คน ลงไปศึกษาจากพ่อครูภูมิปัญญาในหมู่บ้านก็เป็นเรื่องที่จัดการได้ยากมาก

ครูจึงคิดว่าน่าจะดี ถ้าต่อไป เราอาจเปลี่ยนมุมของกิจกรรมให้พ่อครูแม่ครูมาเป็นอาจารย์พิเศษ หรือแขกรับเชิญสอนเด็กๆ ในห้องเรียนบ้าง รวมถึงการออกแบบสื่อทางเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทำให้เด็กๆ ได้เข้าถึงข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และพอจะเห็นวิธีในการประยุกต์ชุดความรู้เหล่านี้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะอย่างน้อยที่สุด ทักษะที่จำเป็นอย่างการรู้จักสังเกต ตั้งคำถาม วิเคราะห์หลักฐาน ไปจนถึงการบอกเล่าเรื่องราวซึ่งได้มาจากการใส่ใจเรียนรู้เรื่องใกล้บ้านใกล้ตัว ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากต่อการทำงาน ไม่ว่าโตขึ้นไปพวกเขาเหล่านั้นจะประกอบอาชีพอะไร”

///
ประดิษฐ์ ญานะ
ครูสอนสังคม โรงเรียนดาราวิทยาลัย

#WeCitizensTh#LearningCity#ChiangMai

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย