การทำงานภาคประชาสังคมไม่ใช่งานที่โดดเดี่ยว แต่ต้องเชื่อมร้อยกับชุมชนและสังคม

Start
485 views
15 mins read

“ระหว่างเรียนมัธยมปลายที่พิษณุโลก ผมมีโอกาสลงพื้นที่ชุมชนที่อำเภอพรหมพิราม ในฐานะอาสาสมัครโครงการยุววิจัยของ สกว. (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม: สกสว. – ผู้เรียบเรียง) การลงพื้นที่ครั้งนั้นเปิดโลกผมมาก เพราะมันไม่ใช่แค่ความสนุกจากการได้ทำงานเป็นทีม หรือการได้เรียนรู้จากชาวบ้าน แต่ยังทำให้เราตระหนักว่าหากมีแผนยุทธศาสตร์ชัดเจน การทำงานภาคประชาสังคมสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อผู้คนในพื้นที่ได้จริงๆ

จนพอถึงเวลาสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผมจึงเลือกมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะเห็นว่าถ้าเราอยากทำงานสายนี้ การอยู่ในเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของภาคประชาสังคม จะทำให้ผมได้เรียนรู้มากขึ้น

ผมเลือกเรียนสาขาส่งเสริมการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท เพราะเห็นว่าการเกษตรคือรากฐานของชุมชนส่วนใหญ่ ถ้าเราเอาความรู้ไปส่งเสริมให้เกษตรกรได้เข้าถึงนวัตกรรมหรือช่องทางใหม่ๆ ในการผลิตและจัดจำหน่าย ความมั่นคงทางเศรษฐกิจนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องเกษตรกร ซึ่งจะส่งผลบวกต่อสังคมในภาพใหญ่ไปด้วย

แต่ในช่วงระหว่างเรียน ผมมีโอกาสเข้าร่วมโครงการด้านประชาสังคมหลากหลายมาก ทั้งชมรมอาสาพัฒนาชนบท ชมรมประชาธิปไตย พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ และกลายเป็นว่าพอเรียนจบปริญญาตรี ก็แทบไม่ได้ใช้ความรู้ด้านการเกษตรเลย กลับกลายเป็นประสบการณ์จากการทำงานอาสาสมัคร และคอนเนคชั่นกับเครือข่ายต่างๆ รวมทั้งทักษะในการประสานงานระหว่างเครือข่าย ที่กลายมาเป็นต้นทุนสำคัญในการทำงานของผมหลังเรียนจบ

หลักๆ ตอนนี้ผมทำงานด้านการพัฒนาเยาวชนในฐานะผู้ประสานงานในภาคเหนือของกลุ่ม ขสย. หรือขบวนการสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน ซึ่งเป็นโครงการลูกของขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.) ของ สสส. มีเป้าหมายคือพยายามนำคนทำงานในเครือข่ายของ สสส. มาทำงานมาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนทรัพยากรกัน โดยในบทบาทที่คล้ายกันนี้ ผมยังเป็นผู้จัดการโครงการ Young Moves ซึ่งเป็นกลุ่มที่สนับสนุนเสียงของเยาวชนในประเทศไทย ให้พวกเขามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาที่ครอบคลุมทุกแง่มุม ตั้งแต่การเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมไปจนถึงความมั่นคงในอาชีพและสิทธิแรงงาน

แม้ผมจะไม่ได้มีประสบการณ์มากนักถ้าเทียบกับคนทำงานรุ่นพี่ แต่ผมก็พอเห็นสิ่งที่เป็น pain point ของภาคประชาสังคมเชียงใหม่ นั่นคือการที่ต่างกลุ่มต่างทำงานของตัวเองไป มันไม่ใช่แค่ไม่มีการเชื่อมโยงระหว่างสายงานที่แตกต่างกัน กระทั่งในแวดวงที่ทำประเด็นเดียวกัน ก็ยังมีลักษณะของการต่างคนต่างทำของตัวเองไปอยู่ตลอดมา

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนบทเรียนระหว่างกลุ่มหรือระหว่างภูมิภาค โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ทำงานด้านเยาวชนและตัวเยาวชนเอง ซึ่งผมมองว่าเป็นรากฐานของบุคลากรที่ทำงานด้านพัฒนาที่จะเติบโตขึ้นมาทำงานร่วมกันกับเราในอนาคต

ต้องอย่าลืมว่าการทำงานภาคประชาสังคมมันไม่ใช่งานที่โดดเดี่ยว คุณไม่สามารถกอดรัดประเด็นของตัวเองแล้วทำไปแค่ฝ่ายเดียว เช่นถ้าคุณทำงานเรื่องแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศ แต่ถ้าคุณไม่เชื่อมร้อยการทำงานร่วมกับกลุ่มที่ทำงานกับชุมชน สังคม หรือชาติพันธุ์ คุณก็ไม่มีทางแก้ปัญหาสิ่งที่คุณเผชิญอยู่ได้ ซึ่งพอเป็นแบบนี้มันยังส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงข้อมูลด้วย เพราะที่ผ่านมา ผมพบเห็นนักวิจัยต้องทำวิจัยเพื่อหาข้อมูลที่โครงการอื่นเคยหาไว้แล้วอยู่ซ้ำๆ พอจบโครงการข้อมูลก็ไม่ได้ถูกใช้ต่อ มีคนมาทำโครงการใหม่ก็ทำข้อมูลใหม่ แทนที่จะเอาข้อมูลมาแชร์กัน กลายเป็นว่านักวิจัยก็ต้องทำข้อมูลเรื่องเดิมๆ ใหม่ทุกครั้ง งานเชิงพัฒนาที่อยู่ในฐานของงานวิจัยมันจึงไปข้างหน้าอย่างเชื่องช้า

ส่วนคำถามว่าทำไมข้อมูลในหลายๆ งานวิจัยยังไม่ถูกทำให้เป็น Open data ผมมองว่ามันอาจเป็นความหวาดระแวงของคนทำงานด้วยว่าผลงานจะถูกช่วงชิง หรือในอีกมุมคือเราอาจยังไม่ค่อยมีสำนึกในการรับผิดชอบในการใช้ข้อมูลของคนอื่น มันจึงเกิดความไม่ไว้ใจกันและกัน แบบบางคนคิดว่าถ้าฉันโอเพ่นดาต้าไป คนเอาไปใช้จะให้เครดิตฉันไหม หรือบางคนคิดว่าแล้วถ้าเราเอาข้อมูลเขาไปใช้ เขาจะฟ้องเราไหม แต่ผมมองว่าช่วงหลังๆ เราเริ่มเปิดกันมากขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องน่ายินดีครับ

ซึ่งนั่นล่ะ ถ้าข้อมูลมันถูกเปิดโดยมีข้อตกลงที่ชัดเจนร่วมกัน พร้อมไปกับการที่คนทำงานทุกส่วนไม่หวงแหนบทเรียนที่ตัวเองได้มา เอามาแชร์กัน เรียนรู้จากกันและกันไม่ว่าคุณจะทำงานสายไหน แน่นอนที่ว่าเป้าหมายของแต่ละกลุ่มอาจแตกต่าง แต่ผลลัพธ์ทางอ้อม มันก็จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของสังคมเมืองและสิ่งแวดล้อมไม่ต่างกัน แล้วทำไมเราจึงไม่เปิดใจทำงานร่วมกันล่ะครับ”

///

ทักษิณ บำรุงไทย

นักกิจกรรมพัฒนา ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.)

#WeCitizensTh #LearningCity #chiangmai

หมายเหตุจากผู้เรียบเรียง: นอกจากบทบาทที่กล่าวมา ทักษิณยังทำงานเป็นผู้ประสานงานเยาวชนให้กับ ACSC (ASEAN Civil Society Conference) และ APF (ASEAN Peoples’Forum) ซึ่งเป็นเวทีขนานกับการประชุม ASEAN Summit ในฝั่งภาคประชาชน โดยเขาทำมาตั้งแต่ปี 2019

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย