“การพัฒนาเศรษฐกิจต้องสอดคล้องไปกับการยกระดับการศึกษา เพราะถ้าทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่ดี ก็จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจของเมืองได้”

Start
344 views
13 mins read

“อากงของผมเป็นชาวจีน ท่านนั่งเรือสำเภาจากบ้านเกิดลงมาประเทศไทย และล่องเรือเข้าแม่น้ำแม่กลองมาลงหลักปักฐานในเมืองราชบุรีราวเกือบ 100 ปีที่แล้ว ท่านน่าจะเป็นรุ่นต่อจากคนจีนที่เข้ามาบุกเบิกทำโอ่งมังกรที่เมืองเมืองนี้

อากงเริ่มจากศูนย์ ก่อนก่อตั้งธุรกิจและส่งต่อมาที่รุ่นพ่อแม่ ผมโตมาในครอบครัวที่มีต้นทุนที่ดีอยู่แล้ว จึงสามารถริเริ่มธุรกิจของตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อยได้ไม่ยาก แต่นั่นล่ะ แม้เรามีแต้มต่อที่ดี ก็ใช่ว่าชาวราชบุรีทุกคนจะมี พอทุกอย่างลงตัว ผมก็เลยอาสาเข้ามาสมัครเป็นนายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี หวังจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยกระดับให้เมืองของเราเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

ผมเข้ามาเป็นนายกเทศมนตรีในปี พ.ศ. 2564 มีความตั้งใจจะทำให้ราชบุรีพัฒนา 3 ด้านหลัก คือการทำให้เป็นเมืองน่าอยู่ เศรษฐกิจดี และที่สำคัญคือการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษา เพราะการศึกษานี่แหละที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนได้

เริ่มจากเมืองน่าอยู่ ผมเน้นการทำให้เมืองเป็นมิตรกับผู้คน โดยเฉพาะการจัดการขยะมูลฝอยให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงแผนการบูรณะคลองฝรั่งที่เป็นคลองดินซึ่งถูกทิ้งร้าง ให้กลายมาเป็นคลองปูนและเพิ่มพื้นที่สีเขียวรอบคลอง สร้างพื้นที่สาธารณะใหม่แก่คนในเมือง ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างของบประมาณจากกรมโยธาธิการและผังเมืองมาจัดการพื้นที่อยู่ นอกจากนี้ยังมีแผนการทาสีและตีเส้นจราจรใหม่ ทำให้เมืองมีภาพลักษณ์สดใสและทันสมัย

ส่วนด้านเศรษฐกิจ ผมทำควบคู่ไปกับด้านการศึกษา เพราะอย่างที่บอกว่าถ้าการศึกษาของคนในเมืองดี ความคิดและองค์ความรู้ใหม่ๆ จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ในเบื้องต้น ก็พยายามส่งเสริมตลาดในเมืองซึ่งมีจุดแข็งอยู่แล้ว อย่างตลาดโคยกี๊ หรือตลาดสนามหญ้าที่เป็นแหล่งอาหารการกินที่ขึ้นชื่อ โดยหนุนเสริมเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก การปรับปรุงภูมิทัศน์ และเปิดให้เอกชนหรือหน่วยงานต่างๆ มาร่วมจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ใหม่ๆ หรือกิจกรรมเชิงการเรียนรู้ในพื้นที่

และด้านการศึกษา นอกจากการพัฒนาในระบบที่เรายกระดับโรงเรียนเทศบาล 3 ให้กลายมาเป็นโรงเรียนสาธิตเทศบาลเมืองราชบุรี ซึ่งช่วยดึงดูดให้ผู้ปกครองส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนกับเราเพิ่มมากขึ้น ทางเทศบาลก็มีแผนจะร่วมกับ หน่วยงาน อปท. สถาบันการศึกษา และนักวิจัย ในการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ในเมืองราชบุรีที่เปิดให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้

เพราะอย่างที่ทราบกัน ราชบุรีเรามีต้นทุนที่ดีมากๆ ในด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นต้นทุนอันยอดเยี่ยมที่สามารถนำมาต่อยอดทางการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ได้ ซึ่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการพัฒนาต้นทุนที่เรามีดีอยู่แล้ว ให้กลายเป็นพื้นที่ที่ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ในแม่น้ำแม่กลองของเรายังมีระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ถูกทิ้งลงที่นี่และยังไม่ระเบิดจมอยู่ข้างใต้ แล้วก็บริเวณใต้สะพานธนะรัชต์ก็มีหัวรถจักรสมัยสงครามโลกจมอยู่ ทางเทศบาลจึงคิดจะนำหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยุคสงครามโลกที่สำคัญสองสิ่งนี้มาเป็นตัวชูโรง ดึงดูดด้านการท่องเที่ยว ให้เป็นจิ๊กซอว์ที่สำคัญอีกชิ้นในประวัติศาสตร์อันยาวนานของเมือง

จึงคิดไว้ว่าถ้าเราใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายใต้น้ำ บันทึกภาพลูกระเบิดและหัวรถจักรนำมาฉายลงบนโปรเจกเตอร์ภายในสวนรถไฟ ซึ่งเป็นสวนสาธารณะริมแม่น้ำแม่กลอง ให้คนได้ชมกัน อาจช่วยดึงดูดชาวต่างชาติที่เป็นลูกหลานของทหารที่เคยร่วมรบในสงครามมาเยี่ยมชมได้อีกด้วย

ในฐานะที่ทำงานมาปีกว่า ผมยังไม่เจออุปสรรคใหญ่ๆ ของเมืองเราเท่าไหร่ แค่เห็นว่าหลายจุดในเมืองเราสามารถพัฒนาให้ดีกว่านี้ได้ ก็อยู่ระหว่างการประสานไปกับหน่วยงานหรือผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาต่อไป

ส่วนความท้าทายที่ผมเห็น ก็น่าจะเป็นเรื่องของประชากร ทุกวันนี้เรามีประชากรในเขตเทศบาลราว 40,000 คน แต่มีประชากรแฝงกว่า 30,000 คน คิดว่าถ้าเปลี่ยนให้ประชากรแฝงบางส่วนมาเป็นประชากรในเมือง เราจะสามารถยกระดับเทศบาลเมืองให้กลายเป็นเทศบาลนครได้ ถ้าเป็นเช่นนั้น เราก็จะได้งบประมาณมาพัฒนาพื้นที่ให้ตอบโจทย์กับผู้คนได้มากกว่าเดิม”

ศักดิ์ชัย พิศาลผล
นายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย