/

การมีนักท่องเที่ยวหรือใครเข้าไปทำให้หลายอย่างดีขึ้น บางที่มีของกินของดีแล้วหายไปเนื่องจากช่วงโควิดที่ผ่านมา ถ้ามีนักท่องเที่ยวเข้าไป เขาก็จะเริ่มฟื้นตัวกลับมาให้เห็น อันไหนที่ซบเซาไปก็จะเรียกคนกลับมา

Start
259 views
9 mins read

“เดิมผมเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเขตธนบุรี เพิ่งย้ายมาเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเขตคลองสาน เมื่อเดือนตุลาคม 2565 นี้เอง ผมก็เข้ามาเรียนรู้ว่าเขตคลองสานมีอะไรดี จะทำอะไรได้บ้าง ตอนผมอยู่ธนบุรี มีย่านกะดีจีน ซึ่งต่อเนื่องไปเป็นฝั่งคลองสาน สามารถทำเส้นทางท่องเที่ยวได้ยาวต่อเนื่องเลย เริ่มตั้งแต่บางกอกน้อย มาบางกอกใหญ่ ข้ามมาธนบุรีคือวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ย่านกะดีจีน วิ่งลอดใต้สะพานพุทธ ก็เข้าเขตคลองสาน ซึ่งมีสถานที่สำคัญมากมาย ตั้งแต่ศาลเจ้ากวนอู สวนสมเด็จย่า (อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) วัดอนงคาราม วัดทองนพคุณ ซึ่งผมเพิ่งได้พบเจ้าอาวาส ท่านแจ้งว่ามีโครงการจัดทำพิพิธภัณฑ์ด้วย

ผมมองดูว่า ถ้าทำเส้นทางจักรยานด้วย ไม่น่าอันตรายเท่าไหร่ เพราะเป็นการวิ่งลัดเลาะอยู่ข้างใน เราสามารถทำเส้นทางยาวๆ หรือสั้นๆ ได้เลยทันที ถามว่าคนอยากมามั้ย ตอนนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติปั่นจักรยานข้ามมาตั้งแต่สะพานพุทธฯ เขาวิ่งดูตามวัดประยุรฯ วัดกัลยาฯ ถ้าเราคุยกับทางไกด์เขา ให้เบนมาอีกฟากคือคลองสาน ก็น่าจะทำได้ แต่ตรงนี้เราก็ต้องมองว่าเรามีอะไรให้เขามาดู อยู่ที่เราจะเสนออะไร เราต้องคุยกับประชาชน ซึ่งเขายินดีให้ความร่วมมืออยู่แล้ว อย่างเจ้าหน้าที่อุทยานสมเด็จย่าก็ยินดีให้ความร่วมมือกับเราอยู่แล้ว เพราะการมีนักท่องเที่ยวหรือใครเข้าไปทำให้หลายอย่างดีขึ้น บางที่มีของกินของดีแล้วหายไปเนื่องจากช่วงโควิดที่ผ่านมา ถ้ามีนักท่องเที่ยวเข้าไป เขาก็จะเริ่มฟื้นตัวกลับมาให้เห็น อันไหนที่ซบเซาไปก็จะเรียกคนกลับมา

ในพื้นที่ประมาณสองไร่ข้างโรงเกลือแหลมทอง ทางสำนักสิ่งแวดล้อมได้งบประมาณเข้าไปปรับปรุง ก็อาจจะมีกิจกรรมที่ต้องไปลงอีกพอสมควร รวมทั้งชุมชนที่อยู่รอบข้าง อุทยานสมเด็จย่า มัสยิดกูวติล เราต้องไปเชิญชวนเขามา อาจทำเป็นแผนว่า ตรงนั้นมีกี่ศาลเจ้า กี่มัสยิด น่าจะทำกิจกรรมได้เดือนละครั้ง ที่เขตเคยจัดถนนคนเดินตรอกดิลกจันทร์ครั้งหนึ่ง ถึงวันนั้นฝนตก แต่คนก็ให้ความร่วมมือ ทางเขตก็มองว่าเดี๋ยวอาจจะจัดอีก แล้วพยายามจัดให้ต่อเนื่อง แต่ความสำคัญคือ ผมอยากให้มันเกิดขึ้นจากชุมชน อย่างกิจกรรมตลาดพลูตอนผมอยู่เขตธนบุรี คนตลาดพลูเป็นคนเริ่ม เพราะเขาบอกว่าเขามีของดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะของกิน เราไม่ต้องไปทำอะไรเลย แค่ประสานงานให้พื้นที่สะอาดเรียบร้อย เขาจัดของเขาเอง ดูแลของเขาเอง แล้วก็ทราบว่าพอผมมานี่ ผอ.เดชาธร (ว่าที่ร้อยตรี เดชาธร แสงอำนาจ) ซึ่งเป็นผู้ช่วยผอ.เขตขึ้นมาเป็นผอ. สำนักงานเขตธนบุรี ทางชุมชนตรงนั้นก็ให้ความร่วมมือจัด นี่คือความต่อเนื่อง และดำเนินการโดยชุมชน ถ้าคลองสานจัดงานโดยชุมชน เขตหรือหน่วยงานราชการสนับสนุน จะมีความยั่งยืน รายได้อาจจะไม่ได้พุ่ง แต่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ทำให้ค่อยๆ เป็นที่รู้จัก แล้วถ้านักท่องเที่ยวมา เราทำได้ดีจริง เขาก็ช่วยประชาสัมพันธ์ให้เรา”

ว่าที่ร้อยตรี สรวุฒิ วิเศษสงวน
ผู้อำนวยการสำนักงานเขตคลองสาน

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย