การเปิดบ้านหลุยส์ จึงเป็นครั้งแรกที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือบนร่วมมือกับชุมชนในรูปแบบของการเปิดบ้านเพื่อการท่องเที่ยว

Start
514 views
10 mins read

“องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือบน แต่เดิมมีชื่อว่า ‘กองทำไม้’ สังกัดกรมป่าไม้ องค์กรนี้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2476 ในยุคที่อังกฤษเข้ามาทำสัมปทานไม้สักในภาคเหนือของประเทศไทย ผ่านบริษัท บอร์เนียว จำกัด และบริษัท หลุยส์ ที. เลียว โนเวนส์ บทบาทในตอนนั้นคือการทำไม้เพื่อหารายได้ให้รัฐบาล ซึ่งต่อมาในปี 2482 เมื่อสัมปทานป่าไม้ของทั้งสองบริษัทนี้สิ้นสุดลง ที่ดินและอาคารต่างๆ ของทั้งสองบริษัทจึงตกอยู่ในกรรมสิทธิ์ของกรมป่าไม้ โดยหนึ่งในนั้นคือ บ้านหลุยส์

บ้านหลุยส์ เคยเป็นบ้านของ หลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ เป็นนักธุรกิจชาวอังกฤษที่เข้ามาทำสัมปทาน ลูกชายของ แอนนา เลียวโนเวนส์ อาจารย์สอนภาษาอังกฤษของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เป็นบ้านกึ่งไม้กึ่งปูน หลังคาทรงปั้นหยา สไตล์โคโลเนียล ซึ่งสมัยนั้นถือเป็นบ้านที่หรูหรามาก ก่อสร้างเสร็จปี 2449 ทุกวันนี้มีอายุ 116 ปีแล้ว อย่างไรก็ตาม ด้วยบทบาทขององค์กรเราดูแลเรื่องการปลูกและใช้ประโยชน์จากป่าเศรษฐกิจเป็นหลัก ภายหลังที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ของเรารับบ้านหลังนี้มา บ้านจึงถูกปิดไว้มาหลายสิบปีโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ใดๆ

จนภายหลังที่ชาวบ้านในชุมชนท่ามะโอรวมตัวกันจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมภายในชุมชน และทางชุมชนเห็นตรงกันว่าน่าจะมีการเปิดบ้านหลังนี้ที่เป็นหนึ่งในมรดกชิ้นสำคัญของยุคสัมปทานค้าไม้ให้ผู้ที่สนใจเข้าชม ความที่องค์กรของเราก็ผูกพันกับผู้คนในชุมชนนี้มาตลอด เราจึงยินดีเปิดบ้านให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ

อันที่จริง องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ก็มีภารกิจที่ต้องทำงานส่งเสริมชุมชนอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาภารกิจหลักของเราคือการส่งเสริมให้ชาวบ้านร่วมปลูกป่าและทำผลิตภัณฑ์จากไม้ รวมทั้งไม้สักในภาคเหนือ นี่จึงเป็นครั้งแรกที่องค์กรร่วมมือกับชุมชนในรูปแบบของการเปิดบ้านเพื่อการท่องเที่ยว

ผมย้ายมาประจำการที่นี่ปี 2559 ตอนนั้นบ้านได้เปิดสู่สาธารณะในบางวาระบ้างแล้ว และก็มีเครือข่ายลำปางรักษ์เมืองเก่า เข้ามาร่วมหาแนวทางในการบูรณะร่วมกับชุมชน จนมาปี 2563 ที่ทางจังหวัดตัดสินใจสนับสนุนงบประมาณในการบูรณะบ้านใหม่ทั้งหลัง จนทำให้บ้านหลังนี้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ผ่านการจัดการของผู้คนในชุมชน

และเพราะเห็นว่าสถานที่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของเราแห่งนี้ สร้างประโยชน์ในฐานะแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของเมืองได้ ปัจจุบันทางองค์กรของเราเองก็กำลังทำแผนเพื่อการบูรณะสถานที่อย่างยั่งยืนซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินงาน แต่ก็อาจมีความซับซ้อนเล็กน้อย เพราะที่ดินที่บ้านหลังนี้ตั้งอยู่เป็นที่ดินราชพัสดุที่ดูแลโดยกรมธนารักษ์ ขณะที่ตัวอาคารซึ่งมีอายุมากกว่าร้อยปี กรมศิลปากรก็ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน การจะบูรณะบ้านหลังนี้ต่อไป ก็ต้องประสานกับทั้งสองหน่วยงาน 

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวผมรู้สึกภูมิใจที่เห็นบ้านหลังนี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เพราะมันไม่ใช่แค่บ้านที่เชื่อมร้อยประวัติศาสตร์ของเมืองในยุคหนึ่งเข้ากับวิถีชีวิตของชุมชนในปัจจุบัน แต่ยังเป็นบ้านที่เป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือขององค์กรเรา หน่วยงานระดับจังหวัด และพี่น้องในชุมชนนี้อีกด้วย”

วิมล เจียรรัตนสวัสดิ์

ผู้จัดการส่วนอำนวยการ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือบน

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย