/

การเรียนรู้เป็นแค่กระบวนการเท่านั้น เพราะปลายทางที่เราวางไว้ คือจะทำอย่างไรให้คนพะเยามีความสุข อิ่มท้อง และค้าขายมีกำไร

Start
345 views
7 mins read

“ดิฉันเห็นว่ากองสวัสดิการสังคม เทศบาลเมืองพะเยา กับโครงการพะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยพะเยา มีปลายทางเดียวกัน นั่นคือการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซึ่งในที่นี้หมายถึงประชาชนชาวพะเยาของเรานี่เอง

เพราะไม่ว่าเราจะออกแบบกิจกรรมด้วยการดึงต้นทุนของเมืองพะเยาด้วยวิธีการไหน การชวนกันทำบ้านดินริมกว๊านเอย เพ้นท์ผ้าจากใบไม้เอย ทำขนมเอย หรือส่งเสริมให้เกิดวิชาชีพใดๆ สุดท้ายผลลัพธ์ที่เรามองตรงกันคือการทำให้ชาวบ้านที่ด้อยโอกาสกลับมามีความสามารถในการพึ่งพาตนเอง นักเรียนมีทักษะทางวิชาชีพใหม่ๆ ที่มากกว่าสิ่งที่เรียนรู้ในห้องเรียน และผู้สูงอายุมีกิจกรรมที่ช่วยสร้างคุณค่าและความภูมิใจให้เขาเอง

อย่างไรก็ดี ในอีกมุมหนึ่ง การได้ร่วมงานกับทางโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ ก็ทำให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดเทศบาลได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ อันหลากหลายด้วย ทั้งจากกิจกรรมการเรียนรู้ที่โครงการส่งเสริมชาวบ้าน และการเรียนรู้จากการทำงานร่วมกันกับคณาจารย์และนักวิจัย โดยเฉพาะเรียนรู้กระบวนการสร้างเครือข่ายและดึงผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ มาแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน ไปจนถึงการต่อยอดและขยายขอบเขตการทำงาน เช่นที่ในปีล่าสุดโครงการได้ร่วมกับ อบจ. ขยายพื้นที่เมืองแห่งการเรียนรู้ออกไปทั่วจังหวัด ขยายโอกาสการฝึกทักษะวิชาชีพใหม่ๆ ให้แก่ประชาชนในพื้นที่อื่น

ปี 2565 นี้ถือเป็นปีที่สามที่เทศบาลร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยาขับเคลื่อนโครงการนี้ต่อ โดยเราได้วางคอนเซปต์ร่วมกันไว้ที่ ‘กินอิ่ม อบอุ่นใจ มีกำไร หนี้ลด’ และอย่างที่บอกว่า การเรียนรู้เป็นแค่กระบวนการเท่านั้น เพราะปลายทางที่เราวางไว้ คือจะทำอย่างไรให้คนพะเยามีความสุข อิ่มท้อง และค้าขายมีกำไร โดยเราก็อยู่ระหว่างการออกแบบกิจกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมาย

ส่วนในฐานะกองสวัสดิการสังคมที่เรามีศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ เป็นพื้นที่แนวร่วมของโครงการอยู่แล้ว เราไม่เพียงใช้ศูนย์แห่งนี้ขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยความที่เราพบข้อจำกัดในการเดินทางของผู้สูงอายุในชุมชนต่างๆ เราจึงจัดศูนย์เรียนรู้ย่อยตามวัดต่างๆ ที่อยู่ใกล้บ้านของผู้สูงอายุ โดยออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดรับกับความต้องการของคนในพื้นที่ และนัดหมายให้ผู้สูงอายุเข้าไปร่วมเรียนรู้ ทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นไปกับวิถีชีวิตและเกิดขึ้นได้ทุกที่อย่างไม่มีข้อจำกัด

ดร.สุรีพร โกมลธง

ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม เทศบาลเมืองพะเยา 

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย