“ขนาดผมเป็นคนพิจิตร ซึ่งเจริญน้อยกว่าพิษณุโลก ยังไม่มีตลาดเช้าที่มีกลิ่นอายแบบนี้หลงเหลืออยู่เลย”

Start
282 views
9 mins read

“ในงานวิจัยเมืองแห่งการเรียนรู้ ย่านเก่าเล่าเรื่อง ตลาดใต้ พิษณุโลก ผมรับหน้าที่เป็นทีมนักวิจัยในโครงการย่อยที่ 2 สื่อนวัตกรรมการเรียนรู้เมืองท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ มีอาจารย์อรวรรณ (ดร.อรวรรณ ศิริสวัสดิ์ อภิชยกุล) เป็นหัวหน้าโครงการ โดยผมรับผิดชอบในการจัดการข้อมูลสารสนเทศที่จะเผยแพร่ทางออนไลน์ ทั้งเพจเฟซบุ๊ค WordPress รวมถึง E-book

จริงๆ ผมเป็นคนติดตามคอนเทนต์ออนไลน์อยู่แล้วครับ โดยเฉพาะคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองหรือชุมชน อย่างไรก็ตาม ที่ประทับใจโครงการตลาดใต้ซึ่งผมมีส่วนร่วมนี้ก็คือ ในขณะที่คอนเทนต์ออนไลน์ส่วนใหญ่มักจะมาจากการที่สื่อมวลชนที่เป็นคนนอกเข้าไปเก็บข้อมูลมาเผยแพร่ หรือนำเสนอมุมมองที่เขามีต่อชุมชนนั้นๆ แต่กับงานวิจัยนี้ เหมือนกับเป็นการเปลี่ยนบทบาทให้คนในชุมชนเป็นคนทำคอนเทนต์เสียเอง ผ่านการบอกเล่าความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับย่านของแต่ละคน โดยมีเราเป็นเพียงผู้เรียบเรียงออกมาสู่สาธารณะ

ซึ่งพอเป็นแบบนั้น ผู้คนในชุมชนจึงมีความผูกพันไม่เฉพาะกับย่านที่ตัวเองอยู่ แต่ยังผูกพันกับทั้งสื่อออนไลน์ที่พวกเขาเป็นผู้ถ่ายทอดข้อมูลด้วย ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนตรงที่พอภายหลังโครงการวิจัยเสร็จสิ้นแล้ว แต่เพจ ‘ตลาดใต้ พิษณุโลก’ www.facebook.com/profile.php?id=100068896173400 ก็ยังคงแอคทีฟต่อเนื่องอยู่ เนื่องจากมีพ่อค้าแม่ค้าในตลาด รวมถึงชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนคอยส่งข่าวประชาสัมพันธ์ หรือใช้เพจนี้เป็นสื่อกลางในการประสานความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาอันหลากหลายที่เกิดขึ้นในชุมชนจนถึงทุกวันนี้

ถามว่าชอบอะไรในตลาดใต้เป็นพิเศษ? ผมชอบความที่มันยังเป็นชุมชนเมืองที่ยังคงมีความดั้งเดิม เพราะทุกวันนี้เหลือตลาดเช้าไม่กี่แห่งที่อยู่ใจกลางย่านธุรกิจของเมือง และไม่ว่าภูมิทัศน์ของเมืองจะเปลี่ยนไปแค่ไหน หรือมีร้านค้าแบบโมเดิร์นเทรดเพิ่มมากขึ้นแค่ไหน แต่ตัวตลาดเองก็ยังกลับรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิมไว้ได้

แน่ล่ะ ภายในตลาดเองเขาก็มีการใช้เทคโนโลยีอย่างพวกการโอนเงินจากมือถือ หรือสแกนคิวอาร์โค้ดมาใช้ตามยุคสมัยอยู่แล้ว เพียงแต่สินค้าที่ขาย อย่างขนมโบราณ หรืออาหารตำรับเก่าๆ ก็ยังคงอยู่ รวมถึงไดนามิกอื่นๆ อย่างวิถีชีวิตชาวจีนที่ผูกโยงกับศาลเจ้า พระสงฆ์มาบิณฑบาตกลางตลาด หรือพ่อค้าแม่ค้าจากทั่วสารทิศเดินทางมาขายของแบบแบกะพื้นกลางถนน ก็ยังคงอยู่ และถ้าอ้างอิงจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ก็น่าตกใจมากที่ตลาดแห่งนี้เป็นแบบนี้มา 120 กว่าปีแล้ว ซึ่งนี่คือเสน่ห์อย่างมาก

ขนาดผมเป็นคนพิจิตร ซึ่งเจริญน้อยกว่าพิษณุโลก ยังไม่มีตลาดเช้าที่มีกลิ่นอายแบบนี้หลงเหลืออยู่เลย

ที่ไปแล้วจะไม่พลาดทุกครั้งน่าจะเป็น ก๋วยจั๊บร้านป้าบุญเทียม เป็นก๋วยจั๊บสูตรแต้จิ๋ว เขาขายมา 50 กว่าปีแล้ว เต้าหู้อาซังที่เป็นเต้าหู้สดทำใหม่ทุกวันก็มีทั้งความสดชื่นและอร่อย น้ำเต้าหู้เขารสชาติดีครับ และพวกขนมโบราณอย่าง แดกงา ขนมด้วง ขนมขี้หนู ข้าวเหนียวหน้ากุ้ง หรือขนมวง พวกนี้ก็น่ากิน แถมหากินที่ไหนในพิษณุโลกไม่ได้แล้ว”  

ทรงพล ชุมนุมวัฒน์
อาจารย์ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร
มหาวิทยาลัยนเรศวร และนักวิจัยโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย