ขอนแก่นโมเดล
The Legacy of City Development

Start
393 views
41 mins read

เพราะเมือง คือ ผู้คน และผู้คน คือ ตัวแปรสำคัญที่สุดในการพัฒนาเมือง ความเจริญงอกงามทางวัฒนธรรมหรือการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมาตรฐานคุณภาพชีวิต จึงขึ้นอยู่กับศักยภาพ ความสามารถ และความร่วมมือร่วมใจของคนในเมืองเป็นฐานสำคัญ

กว่าทศวรรษที่ ‘ขอนแก่นโมเดล’ เป็นโมเดลการพัฒนาเมืองที่ได้รับการยอมรับ และพูดถึงในฐานะแนวคิดและปฏิบัติการการพัฒนาเมืองที่ก้าวหน้ามากที่สุด โดยสามารถผสานพลังของคนในเมืองจากทุกภาคส่วน ให้ขยับขับเคลื่อนเดินหน้าด้วยเครื่องมือ และความท้าทายใหม่ๆ อย่างเป็นรูปธรรม กลายเป็นต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลใจให้งานพัฒนาเมือง และการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเมืองให้กับเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ WeCitizens ฉบับเสียงขอนแก่น จึงอยากชวนทุกท่านนั่ง Time Machine ย้อนเวลาไปทำความเข้าใจถึงการก่อรูป เส้นทาง และมรดก (Legacy) การพัฒนาเมืองที่คนขอนแก่นร่วมกันสรรค์สร้างเอาไว้ จากยุคต้นปี 2500 จนถึงปัจจุบัน

รถไฟถึงขอนแก่น ญวนอพยพ และคอมมิวนิสต์

แต่เดิมขอนแก่นเป็นเพียงจังหวัดหนึ่งในอีสานตอนเหนือ ที่ว่ายเวียนอยู่ในกระแสการพัฒนาตามสายลมแห่งนโยบายของส่วนกลาง ความแปรเปลี่ยนที่เห็นชัดแจ้ง จนอาจเรียกขานได้ว่าเป็นยุคแห่งการ ‘สร้างบ้านแปงเมืองขอนแก่น’ เริ่มต้นจากการมาถึงของรถไฟ เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา ซึ่งริเริ่มก่อสร้างกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2431 จนมาบรรจบกับอำเภอเมืองขอนแก่น ในปี พ.ศ.2476 นำพาความเจริญ และการค้าการขายหลั่งไหล กับผู้คนอพยพเข้าสู่ตัวเมืองขอนแก่นอย่างมหาศาล

การอพยพของผู้คนเข้าสู่จังหวัดขอนแก่นระลอกที่ 2 เกิดขึ้นราวปี พ.ศ.2492  ผลพวงจากการลี้ภัยของชาวเวียดนาม ด้วยภาวะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และการสู้รบเพื่อปลดแอกตนเองของจากฝรั่งเศส การลี้ภัยครั้งนั้นประเทศลาว และภาคอีสานของไทย คือพื้นที่รองรับหลัก และเป็นจุดเริ่มของการผสมผสานวัฒนธรรมญวนเข้ากับคนขอนแก่น

เมื่อเทคโนโลยีการสร้างถนน และรถยนต์กลายเป็นปัจจัยหลัก ขอนแก่นจึงเป็นหนึ่งในจังหวัดยุทธศาสตร์ที่รัฐไทย และอเมริกาใช้ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ และสร้างความมั่นคงให้กับภูมิภาค ‘ถนนมิตรภาพ’ กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อขอนแก่น และอีสานเข้ากับกรุงเทพฯ เริ่มจากโคราช ใน พ.ศ. 2500 มาถึงขอนแก่นในปี พ.ศ. 2504 และเชื่อมไปถึงอุดรธานี และหนองคาย ตามลำดับ

รากฐาน และแรกมี ความเป็นเมืองขอนแก่น

พลานุภาพของแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ปี พ.ศ.2504 คือ หมุดแรกที่ทำให้จังหวัดในภูมิภาคหลายแห่งเติบโต จากจังหวัดธรรมดาแห่งหนึ่งกลายเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ขอนแก่น ก็เป็นเช่นนั้น ภายหลังการประกาศแผนฯ ฉบับที่ 1 ขอนแก่นถูกระบุให้เป็นเมืองศูนย์กลางของภูมิภาค พร้อมด้วยแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงการส่งเสริมอาชีพของเกษตรกร และตามมาด้วยการใส่ฟันเฟืองการพัฒนาเมืองใหม่ๆ เข้ามา เช่น สำนักงานสื่อประชาสัมพันธ์วิทยุและโทรทัศน์ การวางผังเมือง การจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีขอนแก่น ในปีพ.ศ. 2505 (ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น) ท่าอากาศยานขอนแก่น ปี พ.ศ.2506  การจัดตั้งศูนย์ราชการหน่วยงานระดับจังหวัดและภูมิภาค อย่างพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข สำนักงานขนส่ง ในปีพ.ศ.2509 มีการเปิดวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น (ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน) เปิดใช้งานเขื่อนอุบลรัตน์ ปี พ.ศ.2511 และเปิดทำการธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กำเนิดจากเถ้าถ่านฟอนไฟ

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเมืองขอนแก่นในช่วงปี 2500 ถึงทศวรรษ 2520 ดึงดูดการลงทุน และผลิตระบบเศรษฐกิจกับกลุ่มเครือข่ายนักธุรกิจภายในจังหวัด ความคึกคักของการค้าการลงทุนอันทำให้เกิดวงจรการเงินนอกระบบ ‘โต๊ะแชร์’ ระดับจังหวัดที่เครือข่ายกว้างขวาง จนมาถึงปี พ.ศ.2526 เกิดวิกฤตแชร์ล้มครั้งใหญ่ ส่งผลสะเทือนต่อภาคธุรกิจของเมืองขอนแก่นในวงกว้าง และรุนแรง การค้าขายลงทุนหยุดชะงัก ธนาคารในพื้นที่ก็ไม่สามารถปล่อยกู้ให้กับนักธุรกิจได้ เป็นที่มาของการก่อตั้งกองทุนเงินกู้โดยการรวมตัวของกลุ่มพ่อค้าและนักธุรกิจเมืองขอนแก่นรวมกันตั้ง ‘ทรัสต์เถื่อน’ ขึ้นมา เพื่อปล่อยเงินกู้ให้กับพ่อค้าและนักธุรกิจในพื้นที่ นำพาการเกาะเกี่ยวจับมือกันร่วมผ่านพ้นวิกฤต ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ความเชื่อมั่น การพึ่งพาซึ่งกันและกัน และการพึ่งพาตนเอง มีความสำคัญต่อคนขอนแก่น เป็นวันที่ธุรกิจขอนแก่นได้เกิดใหม่จากความพังทลาย สู่ความไว้เนื้อเชื่อใจ และการร่วมมือร่วมใจเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของเมือง

กลไกพัฒนาเมืองแบบขอนแก่นสไตล์

ความที่ภาคธุรกิจในเมืองขอนแก่นเชื่อมโยงกันแน่นแฟ้น การทำงานกับรัฐ และพลเมืองซึ่งก็เห็นหน้าค่าตากันอยู่แล้วในเมืองจึงเป็นเรื่องที่อาศัยการล้อมวงพูดคุยประสาวงน้ำชาสภากาแฟมาโดยตลอด จนเมื่อบรรยากาศของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นกระแสระดับประเทศ และการเติบโตของภาคประชาสังคม และพลเมืองมีความแข็งแรง ปี พ.ศ.2540 เทศบาลนครขอนแก่น จึงได้จัดตั้ง สภาเมืองขอนแก่น (Khon Kaen’s Citizen Council)’ เป็นพื้นที่กลางสำหรับการประชุมวาระสำคัญของเมือง

รวมกลุ่มจึงเกิดพลัง

ปี พ.ศ. 2545 มีการจัดตั้ง กลุ่มปัญจมิตร จากความร่วมมือระหว่างองค์กรธุรกิจ อุตสาหกรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตเมืองขอนแก่น 5 องค์กร ได้แก่ 1.) เทศบาลนครขอนแก่น 2.) องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น 3.) หอการค้าจังหวัดขอนแก่น 4.) สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น และ 5.) สภาทนายความจังหวัดขอนแก่น ร่วมกันผลักดันการพัฒนาเมืองเกิดเป็นผลสัมฤทธิ์สำคัญ ได้แก่ ถนนคนเดินขอนแก่น โครงการขอนแก่นมาราธอนนานาชาติ และแผนแม่บทพิพิธภัณฑ์เมืองขอนแก่น

ต่อมากลุ่มปัญจมิตรได้เล็งเห็นถึงข้อจำกัดของการขับเคลื่อนงาน ด้วยเหตุของงบประมาณที่ต้องรอคอยจากภาครัฐเป็นหลัก รวมถึงประสิทธิภาพการทำงาน และยังขาดความร่วมมือจากภาควิชาการ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และกลุ่มพ่อค้า นักธุรกิจ กลุ่มธนาคาร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงจัดตั้ง แปดองค์กรเศรษฐกิจจังหวัดขอนแก่น ในปี พ.ศ. 2549 เพื่อมาทำงานพัฒนาเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และแก้ปัญหาของเมือง ซึ่ง 8 องค์กรหลักประกอบด้วย 1. ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2. ชมรมธนาคารจังหวัดขอนแก่น 3. สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น 4. สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดขอนแก่น 5. คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 6. ศิษย์เก่าวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (MBA KKU) 7. สมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยจังหวัดขอนแก่น และ 8.) หอการค้าจังหวัดขอนแก่น

แผนพัฒนาเมือง ถึงยุทธศาสตร์จังหวัด

เมื่อ ‘แปดองค์กรเศรษฐกิจจังหวัดขอนแก่น ดำเนินการมาได้ระยะหนึ่ง ก็เกิดข้อค้นพบว่า การพัฒนาเมืองตามโจทย์ปัญหา และกระแสงานพัฒนาที่มีลักษณะเป็น Project Based ไม่สามารถสร้างแนวทางหรือแผนการพัฒนาเมืองระยะยาวได้ แนวทางของการสร้างองค์กรร่วมที่มีสถานะชัดเจน และสามารถรับบทบาทในการขับเคลื่อนพัฒนาแนวคิด หรือโมเดลการพัฒนาเมืองขอนแก่นที่มีความชัดเจน และเชื่อมโยงทุกกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำมาสู่การก่อตั้ง มูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า จึงเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2551 โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นพื้นที่กลางและเป็นผู้นำในการส่งเสริมสนับสนุนและประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ภายในพื้นที่ให้เกิดการขับเคลื่อน ‘ขอนแก่นโมเดล’ ผ่านการทำงานประสานกันของกลุ่มเครือข่าย รวมไปถึงงานประสานงานกับภายนอกพื้นที่จังหวัดขอนแก่นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แลกเปลี่ยน

ผลลัพธ์จากการทำงานของมูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า นำมาสู่การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมในจังหวัดขอนแก่นขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์จังหวัดขอนแก่นทศวรรษหน้า ในปีพ.ศ.2556 ซึ่งได้ข้อสรุปเป็นมติสมัชชาใหญ่จังหวัด ในประเด็นสำคัญๆ อาทิ การมีธรรมนูญเพื่อการจัดการตนเอง ปฏิรูประบบป้องกันปราบปรามการทุจริต ปฏิรูประบบพลังงานหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน สร้างความเป็นธรรมทางสังคม สื่อเพื่อการปฏิรูปสังคม ความเสมอภาคทางเพศ การบริหารจัดการน้ำ และการแก้ไขอุทกภัยอย่างมีส่วนร่วมและบูรณาการ นอกจากนี้มูลนิธิฯ ยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดัน การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดจาก “ขอนแก่นทศวรรษหน้า สู่ ขอนแก่น Smart City” ในปี 2561 การก่อตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง(เคเคทีที) จำกัด (Khon Kaen Think Tank : KKTT)

รวมทุนวันนี้ เป็นเจ้าของอนาคต

ปลายทศวรรษ 2550 ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจของงานพัฒนาเมืองในประเทศไทย ด้วยแนวทางการพัฒนาเมืองในหลายเมืองเริ่มตั้งคำถามถึงความยั่งยืน และการขยายพลังของการพัฒนาเมืองไปสู่การลงทุนโครงการใหม่ๆ เป็นที่มาของการก่อตั้งโมเดลใหม่ โดยที่ขอนแก่นมีการริเริ่มจัดตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง(เคเคทีที) จำกัด เป็นโมเดลพัฒนาเมืองต้นแบบของการระดมทุน ทั้งตัวเงิน และทุนทรัพยากรในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือการพัฒนาเมืองที่ส่งผลดีกับทุกฝ่าย

บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง(เคเคทีที) จำกัด หรือ KKTT เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มธุรกิจชั้นแนวหน้าของจังหวัดขอนแก่นทั้งหมด 20 บริษัท เพื่อระดมทุนมาใช้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2558 โดยมีฐานคิด และการส่งต่ออุดมการณ์จากพลเมือง ภาคประชาสังคม การรวมตัวของคนขอนแก่นจากภาคส่วนต่างๆ นับตั้งแต่ กลุ่มแปดองค์กรเศรษฐกิจจังหวัดขอนแก่น, มูลนิธิขอนแก่นทศวรรษหน้า,  24 องค์กรจีน, สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ภาคประชาสังคม, กลุ่มปัญจมิตร หรืออาจเรียกได้ว่า ทุกภาคส่วนทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองในขอนแก่น

การทำงานของ KKT นำมาสู่การขับเคลื่อนเมือง และจังหวัดขอนแก่นอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น การขับเคลื่อนแผนพัฒนาจังหวัดขอนแก่นให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Khon Kaen Smart City) การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายในและภายนอกพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานต่างประเทศเพื่อเข้ามาทำงานหรือให้ความช่วยเหลือการพัฒนาเมืองอัจฉริยะขอนแก่น  และมีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนาให้เกิด ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น(KICE), โครงการ Smart Bus KKU, โครงการขอนแก่นซิตี้บัส, โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ, โครงการสนามบินนานาชาติขอนแก่น, โครงการท่าเรือบก(Dryport), โครงการร้อยแก่นสารสินธุ์ Railway Innopolis, โครงการนิคมอุตสาหกรรมระบบราง, โครงการ Tramnoi รอบบึงแก่นนคร และการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ย่านศรีจันทร์ เป็นต้น นอกจากนี้การเกิดขึ้นของ KKTT ยังส่งแรงกระเพื่อมเป็นกระแสการพัฒนาเมือง กระตุ้นให้อีกหลายเมืองพยายามสร้างโมเดลที่คล้ายกัน เช่น เชียงใหม่พัฒนาเมือง พิษณุโลกพัฒนาเมือง สระบุรีพัฒนาเมือง ระยองพัฒนาเมือง ฯลฯ

ให้เมืองโตแบบก้าวกระโดด ด้วยระบบขนส่งมวลชนรูปแบบใหม่

จากผลการศึกษาระบบขนส่งมวลชนแบบรางเบา (LRT) หรือ TRAM โดย สนข. ซึ่งได้มอบหมายให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินการในปี พ.ศ. 2559 สู่ความหวังครั้งใหม่ของชาวขอนแก่นที่จะอาศัยระบบขนส่งมวลชนรูปแบบใหม่นี้ เป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองของการพัฒนาเมืองแบบก้าวกระโดด ด้วยระบบขนส่งมวลชนรูปแบบใหม่ที่ต้องการการบริหารจัดการรูปแบบใหม่ จึงเป็นสาเหตุที่สนับสนุนให้เกิดการก่อตั้ง ‘บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด หรือ KKTS’ ตามข้อตกลงบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือการดำเนินกิจการสาธารณูปโภค หรือ เครือข่ายสาธารณูปโภคเมืองขอนแก่น ของ 5 เทศบาลในเขตเมืองขอนแก่น ประกอบด้วย เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลตำบลเมืองเก่า เทศบาลตำบลสำราญ และเทศบาลตำบลท่าพระ ซึ่งภายหลังได้รับการอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 ด้วยทุนจดทะเบียนแรกเริ่มจำนวน 5 ล้านบาท โดยเทศบาลถือหุ้นร้อยละ 100 แบ่งเป็น เทศบาลนครขอนแก่น ถือหุ้นร้อยละ 80 เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลตำบลเมืองเก่า เทศบาลตำบลสำราญ และเทศบาลตำบลท่าพระ ถือหุ้นเทศบาลละ ร้อยละ 5 บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด มีภารกิจจัดทำ ดำเนินการ บริหารโครงการระบบขนส่งในเมืองภูมิภาคจังหวัดขอนแก่น บริหารโครงการพัฒนาพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง และต่อเนื่องกับระบบขนส่งให้เกิดรายได้เชิงพาณิชย์ ควบคุม และกำกับดูแลการดำเนินงานของคู่สัญญาผู้รับจ้างโครงสร้าง งานปฏิบัติการเดินรถ งานบำรุง งานบริการ และงานพัฒนาเชิงพาณิชย์ ให้เป็นไปตามข้อตกลงของสัญญา โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งในด้านความปลอดภัย สะดวกและตรงเวลา

จากการระดมทุน 5 ล้านบาทเมื่อปี พ.ศ. 2560 ข้อมูลปี พ.ศ.2565 บริษัทฯ มีเงินทุนสะสมรวมกว่า 25 ล้านบาท เป็นเงินที่ได้จากการบริจาคและระดมทุนจากภาคประชาชนและภาคส่วนต่างๆในจังหวัดขอนแก่นที่ต้องการให้มีโครงการรถไฟฟ้ารางเบาเกิดขึ้นในจังหวัดขอนแก่น และปรารถนาให้บริษัทฯ แห่งนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่มีบทบาทในการพัฒนาเมือง และมีอิสระในการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ

Khon Kaen Smart City 2029

ในช่วงปี 2564-2565 สภาเมืองขอนแก่น (Khon Kaen’s Citizen Council) ได้จัดเสวนา  “แผนแม่บทการพัฒนาเมืองขอนแก่นสมาร์ทซิตี้ (Khon Kaen Smart City 2029)” ครอบคลุมประเด็นการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน ได้แก่ การคมนาคมขนส่งอัจฉริยะ (smart mobility) การใช้ชีวิตอัจฉริยะ (smart living) ประชาชนอัจฉริยะ (smart citizen) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (smart environment) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (smart economy) และการจัดการภาครัฐอัจฉริยะ (smart governance) และได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะขอนแก่น (Khon Kaen Smart City) เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนงานและโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะตามแผนแม่บทการพัฒนาเมืองขอนแก่นสมาร์ทซิตี้ (Khon Kaen Smart City 2029) ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ติดตามความก้าวหน้างานพัฒนาเมืองขอนแก่นได้ที่

Facebook : ขอนแก่นพัฒนาเมือง KKTT
Website : khonkaenthinktank.com

(*บทความนี้เรียบเรียงจากเนื้อหางานวิจัย ขอนแก่น : สู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้)

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย