/

“คณะหนังใหญ่วัดบ้านดอนเคยแสดงทั้งในศูนย์วัฒนธรรม พิธีบรมราชาภิเษก เทศกาลหุ่นระดับโลกในต่างประเทศ หรือกระทั่งงานเปิดตัว Netflix ประเทศไทย พวกเราก็เล่นมาแล้ว”

Start
272 views
23 mins read

“แต่เดิมหนังใหญ่เล่นกันเฉพาะในวัง นักแสดงเป็นเพศชายล้วน มีหลักฐานว่าเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่การแสดงนี้จะแพร่ออกมาจัดในวัด และมาถึงชุมชนในที่สุด

จังหวัดระยองไม่เคยมีการแสดงหนังใหญ่ กระทั่งราวร้อยกว่าปีที่แล้ว พระยาศรีสมุทไชยโชคชิตสงคราม (เกตุ ยมจินดา) เจ้าเมืองระยอง (พ.ศ. 2408-2436) ได้ติดต่อซื้อตัวหนังประมาณ 200 ตัวมาจากพัทลุง และว่าจ้างครูประดิษฐ์ให้ขึ้นมาฝึกสอนคนในบังคับของท่าน เพื่อจัดแสดงในระยองและจังหวัดในภาคตะวันออก หลังจากเจ้าเมืองท่านเสียชีวิต หนังใหญ่ก็ถูกเก็บไว้ที่วัดเก๋ง (วัดจันทอุดม ปัจจุบันคือที่ตั้งของโรงพยาบาลระยอง – ผู้เรียบเรียง)

ตัวหนังพวกนี้ต่อมาถูกย้ายมาไว้ที่วัดบ้านดอน เนื่องจากคนเชิดหนังและนักดนตรีวงปี่พาทย์ส่วนใหญ่เป็นคนบ้านซากใหญ่และทุ่งโพธิ์ซึ่งอยู่ในละแวกนั้น ทำให้สะดวกต่อการฝึกซ้อม จากนั้นก็มีการถ่ายทอดทักษะการแสดงหนังใหญ่ต่อมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันมีครูหนังเป็นรุ่นที่ 5 ทุกวันนี้หนังใหญ่เหลือเล่นกันน้อยแล้วครับ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ภาคกลาง เช่น หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี วัดพลับพลาชัย เพชรบุรี และวัดขนอน ราชบุรี แต่ละแห่งก็มีคณะที่ฝึกซ้อมคนเชิด นักดนตรี และนักพากย์ จากรุ่นสู่รุ่นมาถึงทุกวัน

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นยุคที่หนังใหญ่เสื่อมความนิยมลงไปมาก ก็ประกอบกับที่มีมหรสพอื่นๆ เข้ามาในบ้านเราด้วย เช่น โรงภาพยนตร์ ลิเก ลำตัด และอื่นๆ หนังใหญ่ในระยองจึงหยุดเล่นไปพักใหญ่ ตัวหนังถูกเก็บไว้ในลิ้นชักในอาคารของวัดบ้านดอน กระทั่งราวปี 2523 ทางการมีการประกวดหมู่บ้านดีเด่นในอำเภอเมืองระยอง และชาวบ้านซากใหญ่ก็คิดว่างั้นเอาหนังใหญ่ที่เก็บไว้มาจัดแสดง เพื่อให้กรรมการประทับใจดีกว่า ซึ่งช่วงเวลานั้นยังมีครูหนังและคนเชิดที่ยังมีชีวิตเหลืออยู่บ้าง จึงมีการฝึกซ้อมให้คนในหมู่บ้านได้แสดงกัน

จากนั้นก็เริ่มมีการแสดงเรื่อยมาตามเทศกาลต่างๆ เช่น งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี (พ.ศ. 2525) และงานอื่นๆ แสดงไปแสดงมา ชาวบ้านก็เห็นว่าจริงๆ บ้านเรามีของดี น่าจะเอามาฟื้นฟูและถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่แสดงอย่างจริงจัง ก็ได้อาจารย์อำนาจ มณีแสง ปูชนียบุคคลด้านศิลปวัฒนธรรมระยองและเป็นหลานของครูหนังด้วย เป็นตัวตั้งตัวตี โดยมีพระครูบริเขต วุฒิกร เจ้าอาวาสวัดบ้านดอนในสมัยนั้น ร่วมสนับสนุน

แต่ความที่แผ่นหนังส่วนใหญ่ที่เจ้าเมืองระยองซื้อมาจากพัทลุงถูกปล่อยทิ้งไว้นานจนชำรุดเสียหาย จึงมีการว่าจ้างช่างทำหนังจากพัทลุงมาทำให้ใหม่เพื่อใช้ทำการแสดง และเอาแผ่นหนังต้นฉบับจัดแสดงให้คนรุ่นหลังได้เห็น จึงมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดบ้านดอนขึ้นในปี 2538

ผมเข้ามาในคณะนี้ในช่วงเวลานั้น เนื่องจากผมได้รู้จักอาจารย์อำนาจ มณีแสง ตอนนั้นผมรับราชการเป็นศึกษานิเทศก์อำเภอ ส่วนอาจารย์อำนาจเป็นศึกษานิเทศก์จังหวัด ท่านเห็นว่าผมมีทักษะในการร้องเพลงฉ่อยและร้องลิเก ท่านก็เลยชวนเข้ามา เพราะคณะตอนนั้นไม่มีคนพากย์เสียง ผมบอกท่านไปว่าผมไม่เคยดูหนังใหญ่มาก่อน แต่ความที่ผมดูโขน แล้วก็ทราบมาว่าการพากย์หนังใหญ่มีความคล้ายคลึงกับการพากย์โขน เลยลองดู ก็ให้คนเก่าๆ ในตอนนั้นที่เคยดูหนังใหญ่มาดูว่าพอได้ไหม เขาก็บอกว่านี่แหละ ก็ค่อยๆ ฝึกฝน ครูพักลักจำกันไป

หนังใหญ่วัดบ้านดอนเริ่มมีชื่อเสียงช่วงราวปี 2546 เนื่องจากครูเล็ก-ภัทราวดี มีชูธน มาร่วมงานด้วย ท่านก็มาออกแบบวิธีการแสดงให้มีความร่วมสมัยขึ้น มีการทำโรงละครในวัดเพื่อจัดแสดงเป็นกิจจะลักษณะ จากเดิมที่เราจะจัดแสดงตามมหรสพต่างๆ อย่างเดียว

จนราวปี 2550-2551 อาจารย์พันพัสสา ธูปเทียน อาจารย์ด้านการแสดงจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านมาทำงานวิจัยกับคณะหนังใหญ่วัดบ้านดอน และท่านก็นำคณะเราไปเผยแพร่ในวงกว้าง เราได้รับเชิญไปแสดงในเทศกาลหุ่นโลกที่ประเทศสวีเดน จากนั้นก็ได้ไปโชว์ที่กรีซ มาเก๊า และสิงคโปร์ ได้รางวัลทางวัฒนธรรมจากหน่วยงานต่างๆ และก็ได้ออกรายการโทรทัศน์ ช่วงนั้นเด็กๆ ในวัดบ้านดอนก็ให้ความสนใจมาฝึกซ้อม ประกอบกับพระครูบริเขต วุฒิกร สนับสนุนให้เด็กนักเรียนโรงเรียนวัดบ้านดอนได้ร่วมกิจกรรม เลยมีบุคลากรร่วมคณะอย่างต่อเนื่อง

จนเวลาผ่านไป อาจารย์คนเก่าๆ ทยอยกันเสียชีวิต พระครูเจ้าอาวาสก็มรณภาพ จนเหลือผมที่เป็นผู้อาวุโสอยู่คนเดียว โดยมีคุณวัลลภ แสงอรุณ เป็นครูหนังที่ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรม เป็นครูรุ่นที่ 5 ของคณะ

ปัจจุบันเรามีสมาชิกอยู่สามสิบกว่าคน อาวุโสสุดเป็นคนเชิดอายุ 29 ปี ซึ่งอยู่คณะเรามาตั้งแต่ 8 ขวบ ส่วนสมาชิกอายุน้อยที่สุดคือ 5 ขวบ เป็นลูกของคนเชิดในคณะเหมือนกัน มีผมเป็นคนพากย์ เขียนบท กำกับการแสดง ปกติหนังใหญ่จะใช้คนพากย์คนเดียว ก็พยายามหาเด็กแววดีๆ มาพากย์และกำกับการแสดงแทนอยู่ ส่วนคนเชิดผมไม่ค่อยห่วงเท่าไหร่ พอฝึกได้รุ่นหนึ่งแล้ว คนที่เป็นแล้วเขาก็พร้อมจะฝึกให้รุ่นต่อๆ ไป ก็มีการส่งต่อมาหลายต่อหลายรุ่น คณะเรามีคนว่าจ้างอยู่เรื่อยๆ เคยไปแสดงงานใหญ่ๆ อย่างที่ศูนย์วัฒนธรรมกรุงเทพฯ พิธีบรมราชาภิเษกในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ท้องสนามหลวง กระทั่งงานเปิดตัว Netflix ที่เซ็นทรัลเวิลด์ เขาก็จ้างวงเล็กเราไปแสดงสั้นๆ ประกอบอีเวนต์ด้วย ขณะเดียวกันก็มีงานจ้างตามมหรสพต่างๆ อย่างล่าสุดเราไปแสดงหน้าศพมา

ส่วนที่วัดบ้านดอนเราก็มีการจัดแสดงประจำปี ชื่อ ‘เทศกาลหนังใหญ่ไฟกะลา’ โดยจะจัดทุกวันที่ 15 เมษายนของทุกปี จัดต่อกันมาได้ 6-7 ปีแล้ว โดยงานนี้ริเริ่มโดยเด็กๆ ในคณะเองนะ เขาอยากให้หมู่บ้านมีงานแสดงประจำปีที่เป็นเอกลักษณ์ ก็เริ่มจากไปของบประมาณสนับสนุนจากชาวบ้านและหน่วยงานต่างๆ พอภาครัฐมาเห็นว่าเราจัดงานดี ภายหลัง อบจ. เขาก็ตั้งเป็นโครงการประจำปีเลย ให้งบประมาณเรามาจัดงานทุกปี โดยงานนี้เราจัดแสดงที่ลานวัฒนธรรมของวัด และใช้จุดไฟจากโคมกะลาแทนไฟสปอตไลท์ เพื่อสร้างบรรยากาศแบบดั้งเดิม

ทุกวันนี้ รูปแบบการแสดงก็เปลี่ยนไปพอสมควรนะ บทหนังมีความกระชับและร่วมสมัยขึ้น หรือบางทีถ้าบทพากย์เป็นบทสนทนา ผมก็จะสอดแทรกภาษาถิ่นระยองเข้าไปให้มันเชื่อมร้อยกับผู้ฟัง หรือแต่เดิมหนังใหญ่เขาจะนิยมเล่นกันเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์อย่างเดียว เราก็ลองนำเรื่องพระอภัยมณี บทประพันธ์ของสุนทรภู่มาเล่นด้วย เพื่อสะท้อนความเป็นเมืองระยอง หรือเมื่อก่อนเขาจะเข้มงวดไม่ให้ผู้หญิงเข้ามายุ่งกับการแสดง แต่ตั้งแต่ครูเล็กท่านเข้ามา ท่านก็ริเริ่มให้คนเชิดผู้หญิงมาแสดงเป็นนางสีดาในเรื่องรามเกียรติ์ตอนสีดาลุยไฟ ผมก็เห็นว่าดี ในบางโอกาสถ้ามีคนเชิดเป็นผู้หญิงสนใจอยากแสดงด้วย เราก็ยินดี อย่างไรก็ตาม เราก็ยังรักษาจารีตดั้งเดิมอยู่ อย่างตัวหนังโบราณในยุคแรก เราก็ไม่ให้ผู้หญิงเชิดเพราะถือว่ามีครู

ทุกวันนี้หนังใหญ่วัดบ้านดอนก็มีการส่งทอดอย่างต่อเนื่อง เราจะนัดฝึกซ้อมกันทุกเย็นวันจันทร์ พุธ และศุกร์ และก็รับงานจัดแสดงตามที่ต่างๆ เหมือนเดิม นอกจากนี้ เรายังมีการจ้างช่างทำตัวหนังมาสอนเด็กๆ ของเรา จะได้ทำตัวหนังได้ด้วยตัวเราเองด้วย

นอกจากนี้ครูจากโรงเรียนนาฏศิลป์หลายแห่งก็มาร่วมกับเราด้วย โดยการให้เราส่งนักแสดงไปสอนนักเรียนของเขา หรือที่สถาบันการเรียนรู้ทุกช่วงวัย หรือ RILA ก็เข้ามาร่วมทำหลักสูตรการเรียนรู้ระยะสั้นกับเรา โดยทำเป็นคลิปวิดีโอเกี่ยวกับประวัติและการเชิดหนังเบื้องต้น

พอได้เห็นว่ามรดกเก่าแก่ของวัดบ้านมีหน่วยงานต่างๆ ให้ความสนใจ มีคนรุ่นใหม่เข้ามาสืบทอด แค่นี้ผมก็รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมาหลายปีไม่สูญเปล่าแล้ว”

อำไพ บุญรอด
นักพากย์และหัวหน้าคณะหนังใหญ่วัดบ้านดอน
Facebook: หนังใหญ่วัดบ้านดอน ระยอง

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย