/

ความสุขของเราสองคน คือการได้แบ่งปันสิ่งที่เรารู้ให้คนอื่นไปต่อยอด

Start
421 views
16 mins read

“ก่อนหน้านี้ ผมเป็นสัตวแพทย์อยู่กองงานสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมของเทศบาลเมืองพะเยา และมีโอกาสทำโครงการพลังงานทดแทนจากก๊าซชีวภาพ ได้เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ในสิ่งที่เราทำ และพบว่าการได้แบ่งปันความรู้ให้คนอื่นๆ ได้ใช้ประโยชน์นี่เป็นเรื่องที่ดีและน่าภูมิใจนะ

หลังเออรี่รีไทร์ ผมกับแฟนตัดสินใจย้ายบ้านไปอยู่นอกเมือง เรามีที่ดินอยู่สองไร่ ตอนแรกคิดว่าคงจะใช้ชีวิตเกษียณ ทำสวนครัว และพักผ่อนที่นี่ แต่ความที่ผมมีทักษะเป็นวิทยากรและมีเครือข่ายที่เทศบาล คนที่นั่นเขาก็ชวนให้เราทั้งคู่ทำบ้านให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง เพราะวิถีชีวิตเราก็เป็นไปตามครรลองนี้อยู่แล้ว ก็เลยเปิดพื้นที่ให้คนจากเทศบาลชวนเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่สนใจมาเรียนรู้

ขณะเดียวกัน ความที่ชุมชนเกษตรพัฒนาที่เราอยู่เนี่ย ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนเฒ่าคนแก่ ตอนกลางวันถ้าลูกหลานไม่ออกไปทำการเกษตรก็จะไปเรียนหรือทำงานในเมือง ผู้สูงวัยก็อยู่บ้านกันเฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร แฟนผมจึงชักชวนพวกเขามาเรียนทำขนมกินกัน พวกเขาก็พอใจ จึงนัดกันว่างั้นเรามาเจอกันทุกวันอังคารเว้นวันอังคารไหม จะได้มีกิจกรรมทำด้วยกันประจำ กลับกลายเป็นว่าหลังจากนั้นพวกพ่อๆ แม่ๆ ก็ห่อข้าวกันมาที่บ้านเราทุกวันเลย (หัวเราะ)

จากศูนย์การเรียนรู้เล็กๆ พอเราเริ่มคุ้นเคยกับชุมชนแล้ว ผู้ใหญ่บ้านแกก็เสนอว่าน่าจะทำธุรกิจของชุมชนสักอย่าง ก็พอดีกับที่แกซื้อเครื่องทำภาชนะจากใบไม้มา และความที่เราก็มีสวนป่าอยู่บนเนินที่แต่ละวันต้องเก็บใบตองตึงที่ตกพื้นทุกวัน เราเลยเห็นด้วยกับไอเดียของผู้ใหญ่ เอาใบไม้ที่เก็บได้มาอัดเป็นจานใบไม้ จะได้มีกิจกรรมให้ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้เพิ่มอีกอย่าง

เครื่องทำจานใบไม้เป็นเครื่องบีบอัดใบไม้ด้วยความร้อนครับ ก่อนอื่นเราต้องทำบล็อกสำหรับขึ้นรูปจานหรือภาชนะอะไรก็ตาม จากนั้นก็เอาใบไม้ที่มีขนาดพอๆ กับบล็อกมาอย่างน้อยสามใบ ใช้แป้งเปียกติดให้ใบซ้อนกัน แล้วเอาใส่บล็อก ความร้อนจะอัดให้ใบไม้แข็งตามบล็อกเกิดเป็นจานหรือชามขึ้นมา

เราลองผิดลองถูกอยู่สักพัก เพราะไม่ใช่ว่าจะเอาใบไม้จากไหนมาทำจานชามก็ได้ อย่างใบไม้ที่เป็นรู พอทำจานออกมา จานก็จะเป็นรู หรือถ้าคุณเอาใบสักเนี่ย พื้นผิวมันจะมีขนติดไปกับอาหารที่เราใส่ ใบยอมีรสขม ถ้าเอาไปทำชามใส่น้ำแกง รสชาติน้ำแกงก็จะเปลี่ยนไป โชคดีที่สวนป่าของเรามีใบตองตึงกับใบทองกวาวอยู่แล้ว ใบตองตึงนี่ชาวบ้านเขาใช้ห่ออาหาร ใบทองกวาวก็ถูกใช้ห่อขนมเทียน พอเอามาทำเป็นจานชามจึงไม่มีปัญหา แข็งแรงทนทาน ทำชามก็ยังใส่น้ำแกงแบบขลุกขลิกได้ ใส่ขนมจีนกินก็ได้ ใช้เสร็จล้างทำความสะอาดก็สามารถใช้ต่อได้อีก 2-3 ครั้ง

ส่วนเศษใบไม้ที่หลงเหลือจากการเอาไปใส่บล็อก เราก็เอาไปอัดรวมทำเป็นกระถางสำหรับเพาะพันธุ์ต้นไม้ ใช้แทนถุงดำได้อีก กระบวนการนี้เลยไม่เหลือของตกค้าง ลดปริมาณการเผาใบไม้ที่ตกในสวนไปพร้อมกัน

พอองค์ความรู้เรื่องทำจานใบไม้อยู่ตัว เราจึงตั้งชื่อศูนย์การเรียนรู้ว่า ‘จานใบไม้ศิริสุข’ ในปี 2563 หลังจากนั้น มหาวิทยาลัยพะเยาเขาทำโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ ก็เลยมาชวนเราร่วมเป็นเครือข่ายพื้นที่แห่งการเรียนรู้พอดี

ที่ผมชอบโครงการนี้เป็นพิเศษ คือเขาไม่ได้แค่ชวนให้ชาวบ้านมาเรียนรู้ในพื้นที่ของเราอย่างเดียว แต่ยังชวนให้เราไปเรียนรู้จากพื้นที่อื่นๆ ด้วย ซึ่งก็ทำให้เรามีโอกาสไปเรียนรู้การสกรีนผ้าด้วยกรรมวิธีนึ่งใบไม้ ไปเรียนเสร็จกลับมา เราเห็นว่ากระบวนการนี้ใช้เวลาทั้งวันกว่าจะเสร็จ ก็เลยทดลองต่อยอดด้วยวิธีการทุบใบไม้ผสมกับน้ำด่างลงบนผืนผ้า ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง ก็ได้เสื้อยืดที่มีลายใบไม้แล้ว แถมยังสามารถตัดใบไม้เป็นตัวอักษร หรือรูปทรงต่างๆ บนเสื้อได้อีก เราก็เลยเปิดสอนวิชานี้ต่อด้วย เพราะคิดว่าถ้าสอนทำจานใบไม้อย่างเดียว คนมาเรียนกลับไป เขาไม่มีทุนทรัพย์ที่จะซื้อเครื่องทำ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร แต่สกรีนลายใบไม้บนเสื้อนี่ไม่ต้องใช้ทุนอะไรเยอะ คนมาเรียนก็เอาไปทำเป็นอาชีพได้อีกต่อ

ถามว่าเราขายของที่เราทำด้วยไหม ขายครับ แต่ขายถูก จานชามใบไม้เราขายอันละ 5 บาท มีคนมาซื้อเขาไปขายต่อ 10-15 บาท เสื้อสกรีนลายเราขายแค่ตัวละ 300 บาท คนมาซื้อบอกว่าขายแบบนี้แล้วเราจะได้กำไรอะไร ผมก็บอกว่าเราไม่ได้คิดว่านี่คือธุรกิจ สิ่งที่เราขายคือกิจกรรมที่เปิดให้ผู้ที่สนใจมาเรียนกับเรา เพื่อเอาความรู้ไปทำธุรกิจ จุดประสงค์หลักของเราคือการได้แบ่งปันความรู้ ส่วนสินค้าที่เราขาย เป็นแค่ผลพลอยได้

นอกจากจานใบไม้กับเสื้อ แฟนผมเขายังมีทักษะเรื่องเย็บปักถักร้อยและตัดตุง ก็เปิดสอนด้วย คนเฒ่าคนแก่ในชุมชนมาเรียนฟรี แถมพอของที่พวกเขาทำขายได้ เขาก็ได้รายได้จากสิ่งนั้น ซึ่งทุกวันนี้ผมก็ดีใจที่มีหน่วยงานให้ความสนใจมาเรียนรู้กับเราอย่างต่อเนื่อง มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจากพื้นที่ต่างๆ กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว กระทั่งคณาจารย์ที่อยู่ไกลถึงจังหวัดยะลา เขาก็สนใจมาเรียนกับเรา   

อย่างที่บอกครับว่าความสุขของเราสองคน คือการได้แบ่งปันสิ่งที่เรารู้ให้คนอื่นไปต่อยอด ผมว่าองค์ความรู้คือสิ่งที่ทุกคนควรเข้าถึงอย่างเท่าเทียมและไม่ควรมีอะไรมาขวางกั้น ชีวิตเราสั้น อีกหน่อยเราก็ตาย พอเราตาย ความรู้ก็จะตายไปกับเราด้วย ดังนั้นก่อนจากไป เราก็ควรแบ่งปันสิ่งที่เรามีให้คนอื่นไม่ดีกว่าหรือครับ”

 
ณรงค์ พัวศิริ และสุดา พัวศิริ
กลุ่มจานใบไม้ศิริสุข
 

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย