/

“จริงอยู่ที่การทำงานหลายหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว แต่พอการทำงานหลายหัวโดยไม่ได้มีทิศทางรวมที่ชัดเจน การจะเห็นความเปลี่ยนแปลงมันก็ยาก”

Start
140 views
13 mins read

“พื้นที่เทศบาลเมืองแก่งคอยจะมีขนาดเล็ก 4.05 ตารางกิโลเมตร โดย 15-20% ของพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ของการรถไฟ มีบ้านพักอาศัยราว 60% ที่เหลือคือพื้นที่ราชการและอื่นๆ จากตัวเลขนี้พอจะเห็นภาพว่าเทศบาลเราเล็กขนาดไหน เล็กในแบบที่ในย่านใจกลางเมือง เราสามารถเดินเท้าหากันได้ทั่ว

แต่ถึงเป็นแบบนั้น ที่ผ่านมา แก่งคอยเรากลับไม่มีพื้นที่กลางที่คนในพื้นที่จะมาพบปะหรือทำกิจกรรมร่วมกันสักเท่าไหร่ หรือที่มีอยู่แล้ว เช่น สวนสาธารณะก็ยังคงถูกใช้ในมุมของสถานที่พักผ่อนหรือออกกำลังกายของคนในเมืองมากกว่า และมันค่อนข้างขาดการเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่นๆ ในเมือง

ผมมองว่าการไม่มีพื้นที่กลางเหมือนที่เมืองอื่นๆ อาจจะมีในรูปแบบของศาลาประชาคม ลานคนเมือง หรือจัตุรัสกลางเมือง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การรวมกันของภาครัฐและประชาชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองไม่ได้เดินหน้าเท่าที่ควร รวมถึงการที่ประชากรกว่าครึ่งของแก่งคอยเป็นประชากรแฝง คือเป็นคนจากที่อื่นซึ่งมาอยู่ในแก่งคอยเพื่อทำงานตามโรงงานต่างๆ เมืองจึงมีรูปแบบของการต่างคนต่างอยู่ หลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชุมชนที่เขาอยู่ชื่อชุมชนอะไร ซึ่งก็โทษเขาไม่ได้ เพราะเขามาที่นี่เพื่อทำงานเป็นหลัก

ผมไม่ได้หมายความว่าที่ผ่านมาแก่งคอยไม่มีความเคลื่อนไหวของการภาครัฐและประชาชนในการขับเคลื่อนเมืองนะครับ เพราะหลายปีหลังมานี้ ก็ยังมีกลุ่มต่างๆ ที่เขาทำงานของเขา ทั้งด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น

แต่นั่นล่ะ เมื่อเราขาดพื้นที่กลาง รวมถึงขาดบุคลากรที่ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมในพื้นที่ มันก็ขาดการเชื่อมร้อยการทำงาน และเป็นไปในรูปแบบของต่างคนต่างทำในกรอบความสนใจของตัวเองไป ทั้งที่จริงๆ ถ้าทุกกลุ่มมารวมกัน และมีการกำหนดทิศทางการพัฒนาให้เห็นภาพตรงกัน แก่งคอยมีขนาดเล็กแค่นี้ พวกเราทำได้อยู่แล้ว

จริงอยู่ที่การทำงานหลายหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว แต่พอการทำงานหลายหัวโดยไม่ได้มีทิศทางรวมที่ชัดเจน การจะเห็นความเปลี่ยนแปลงมันก็ยาก

ขณะเดียวกัน ในฐานะที่ผมทำงานเทศบาลเมืองแก่งคอย ก็ต้องยอมรับว่าเทศบาลเรากำลังเผชิญภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง เนื่องจากงบประมาณที่เราได้รับการจัดสรรค่อนข้างจำกัด มันเพียงพอแค่การจ้างบุคลากรและขับเคลื่อนโครงการที่มีอยู่แล้วในเมือง แต่ไม่สามารถนำไปลงทุนกับโปรเจกต์ใหญ่ๆ สำหรับการเปลี่ยนแปลงเมืองได้ 

ผมจึงเห็นด้วยกับที่ทาง บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด หอการค้าแก่งคอย และนายกเทศมนตรี (สมชาย วรกิจเจริญผล) ที่ต่างเห็นตรงกันว่าเราควรทำแผนแม่บทที่ครอบคลุมทั้งอำเภอได้แล้ว เพื่ออย่างน้อยจะได้มีทิศทางของการพัฒนาร่วมกันเทศบาลแต่ละแห่งร่วมกับภาคประชาชนก่อน พร้อมกันนั้น เทศบาลเมืองแก่งคอยก็พยายามจะดึงงบประมาณหรือดึงการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ มาสร้างพื้นที่สาธารณะเพิ่มเติม พื้นที่ที่เราหวังจะเป็นพื้นที่กลางให้เราพูดคุย

นอกจากนี้ ผมยังเสนอว่าระหว่างที่ยังไม่มีพื้นที่กลางที่เป็นรูปธรรม เราควรเปิดพื้นที่ออนไลน์ ให้ชาวแก่งคอยมาร่วมสะท้อนปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เพื่อสะท้อนให้หน่วยงานรัฐส่วนท้องถิ่นรับฟัง เพื่อหาวิธีการประสานความร่วมมือ 

ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่ผมเห็นในแก่งคอยทุกวันนี้ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่จอดรถในย่านการค้าที่ไม่เพียงพอ รวมไปถึงทางเท้าที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเดิน ซึ่งสองเรื่องนี้มันก็สัมพันธ์กันโดยตรง เพราะทางเท้าเดินไม่ได้และไม่มีร่มเงาบัง แม้จะไปทำธุระใกล้ๆ คนแก่งคอยก็ไม่อยากเดิน และเลือกขับรถไปมากกว่า แต่พอจะขับรถไป ก็กลับหาที่จอดรถไม่ได้อีก

นั่นล่ะครับ อย่างน้อยๆ ถ้าแก่งคอยมีการจัดระเบียบทางเท้าให้เดินได้สะดวก รถก็จะติดน้อยลง ปัญหาที่จอดรถก็จะหายไป และถ้ามีพื้นที่กลางสักแห่งที่ผมเสนอมา หรือพื้นที่สีเขียวที่มากยิ่งขึ้น รวมถึงมีกลุ่มคนมาช่วยขับเคลื่อนกิจกรรม อย่างน้อยที่สุด มันก็ช่วยสร้างบรรยากาศให้คนท้องที่รวมถึงประชากรแฝง อยากออกมาจากบ้าน มาใช้พื้นที่ในเมือง ที่ซึ่งเมืองเราถูกใช้ประโยชน์หรือผู้คนเห็นความเคลื่อนไหวผ่านกิจกรรมในเมืองมากๆ เข้า นอกเหนือไปจากแค่การขับรถผ่านไปมา พวกเขาก็จะมีความคิดอยากจะช่วยกันทำให้เมืองเราพัฒนาให้มากกว่านี้ตามมา”

ธัชชัยม์ สุรินทอง
นักจัดการงานทั่วไปปฏิบัติการ เทศบาลเมืองแก่งคอย

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย