จริงๆ ซานฟรานซิสโกที่เราเคยอยู่ด้วยกันก่อนหน้านี้ก็มีบรรยากาศคล้ายกับพะเยาเลยครับ เมืองริมอ่าว อากาศดี ผ่อนคลาย และผู้คนเป็นมิตร

Start
627 views
7 mins read

“ผมมาประเทศไทยครั้งแรกจากการเข้าร่วมเป็นศิลปินพำนักในโครงการศิลปะ One Year Project ของมูลนิธิที่นา (The Land Foundation) ที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2007 การมาใช้ชีวิตครั้งนั้นนอกจากได้รู้จักเพื่อนศิลปินในเชียงใหม่หลายคน ยังพบเสน่ห์จากวิถีชนบทในภาคเหนือของประเทศไทย และนั่นทำให้เมื่อกลับไปทำงานที่สหรัฐอเมริกา ผมก็ยังมีความคิดถึงบรรยากาศแบบนี้อยู่

จากนั้นไม่นาน ก็มีโอกาสได้กลับมาอีกครั้งในฐานะศิลปินพำนักของโครงการคำเปิงในอำเภอดอยสะเก็ด ที่นั่นไม่เพียงทำให้ผมพบหลุยส์ คู่ชีวิต แต่ยังได้พบกับอาจารย์โป้ง (ปวินท์ ระมิงค์วงศ์) ซึ่งสอนศิลปะอยู่ที่มหาวิทยาลัยพะเยา เราพูดคุยกันถูกคอ ถึงขนาดอาจารย์โป้งชวนให้ผมมาสอนหนังสือที่นั่น ผมไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับพะเยา แต่รู้สึกว่าเป็นงานที่น่าสนใจดี ก็เลยตามเขามา

ทุกวันนี้ผมสอนหนังสือที่พะเยามาได้ 5 ปีแล้ว โดยเช่าบ้านอยู่ในตัวเมืองกับหลุยส์ ก่อนหน้านี้ผมอยู่บอสตัน แอลเอ และซานฟรานซิสโก ส่วนหลุยส์เคยอยู่ปารีสและซิดนีย์ แต่เราทั้งคู่พบว่าไม่มีเมืองไหนเหมือนพะเยา

พวกเราชอบความสุขสงบ เมืองเล็กๆ ที่ไม่ว่าจะเดินไปทางไหนก็เหมือนทุกคนรู้จักกันหมด และในทุกเย็น ราวกับผู้คนจะมาเดินเล่น ตกปลา หรือพักผ่อนอยู่ริมกว๊านพะเยากันทั้งเมือง ซึ่งก็รวมถึงเราสองคนด้วย (หัวเราะ) เพราะเมื่อมองออกไป เห็นทะเลสาบที่มีภูเขาเป็นฉากหลัง ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย และให้พลังไปพร้อมกัน

จริงๆ ซานฟรานซิสโก ที่เราเคยอยู่ด้วยกันก่อนหน้านี้ ก็มีบรรยากาศคล้ายกับพะเยาเลยครับ เมืองริมอ่าว อากาศดี ผ่อนคลาย และผู้คนเป็นมิตร เพียงแต่ตอนที่เราอยู่ที่นั่น เราจะอยู่ได้แค่ในอพาร์ทเมนต์เล็กๆ ที่มีพื้นที่จำกัด แต่พอมาอยู่พะเยา เรามีที่อยู่อาศัยที่กว้างขวางขึ้นเยอะในราคาที่ถูกกว่าหลายเท่า ที่สำคัญผมชอบอาหารของที่นี่ ปลาส้ม แกงอ่อม ไปจนถึงลาบ (หัวเราะ)

แน่นอน บางครั้งก็เหงาครับ ที่นี่ชาวต่างชาติน้อยมาก และคนส่วนใหญ่ก็ไม่พูดภาษาอังกฤษ แต่ขณะเดียวกัน ถ้าเทียบกับชีวิตประจำวันที่ลงตัว ไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัย ออกกำลังกายและพักผ่อนริมกว๊าน หรือการได้อยู่ท่ามกลางบรรยากาศสงบ แต่เปี่ยมแรงบันดาลใจให้ได้ทำงานสร้างสรรค์ การอยู่ที่นี่ก็มีข้อดีกว่าเยอะ ที่สำคัญด้วยข้อจำกัดทางภาษา ก็เป็นสิ่งท้าทายให้เราได้เรียนรู้ตลอดเวลา ทั้งเรียนรู้วัฒนธรรมของผู้คน เรียนรู้ภาษาไทย และเรียนรู้ภาษาเหนือแบบคนพะเยา” (ยิ้ม)

Alex Wang และ Louise Cooper-Wang
ศิลปิน/ อาจารย์สาขาศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยพะเยา

ศิลปิน/ ครูสอนภาษา

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย