จุดเปลี่ยนของกาดกองต้า
คือปีพ.ศ. 2548 ที่มีน้ำท่วมหนักเมืองลำปาง สินค้าในโกดังเสียหาย เจ้าของต้องเอาของมาขายในราคาถูก คนแห่มาซื้อกันคึกคัก จากที่เศร้าๆ เพราะน้ำท่วม ก็กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมา จนเป็นจุดเริ่มต้นของถนนคนเดิน

Start
844 views
20 mins read

“คนมักเข้าใจกันว่าชาวลำปางในศตวรรษที่แล้วร่ำรวยจากการทำสัมปทานค้าไม้ แต่เปล่าเลย รายได้จากการค้าไม้นี่เข้ากระเป๋าคนอังกฤษหมด ที่คนในพื้นที่รวยๆ กันนี่ส่วนหนึ่งมาจากการค้าฝิ่น สมัยก่อนฝิ่นยังเสรี หลังธนาคารกรุงไทยในตลาดยังเคยมีโรงฝิ่นขนาดใหญ่ พ่อค้าจีนล่องเรือมาใช้บริการกันงอมแงม แต่ในขณะเดียวกันยุคค้าไม้ ก็ทำให้เกิดธุรกิจอื่นๆ ขึ้นตามมาในเมือง จนทำให้ลำปางรุ่งเรืองอย่างมากในตอนนั้น

สมัยพี่เป็นเด็ก พี่ยังทันเห็นที่เขาขนท่อนซุงกันอยู่เลยนะ ตอนนั้นแม่น้ำวังตั้งแต่เกาะคาลงมาเต็มไปด้วยท่อนซุงในแบบที่ลงไปวิ่งเล่นบนแม่น้ำได้เลย ก่อนพี่จะเกิด ครอบครัวแม่พี่อยู่เกาะคา แกยังเคยทำงานรับจ้างขนท่อนซุงขึ้นฝั่งอยู่เลย จนช่วงหลังๆ การขนไม้เริ่มซาลง ศูนย์กลางเมืองลำปางเปลี่ยนจากเกาะคามาอยู่แถวริมแม่น้ำวังในเมือง พร้อมๆ กับที่เกิดสงคราม แกก็ย้ายมาอยู่แถวย่านกาดกองต้า

ในยุคนั้นคนกาดกองต้าส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ค้าในตลาด ส่วนอาคารในกาดกองต้าเขาจะใช้เป็นโกดังเก็บสินค้าหรือไม่ก็พักอาศัย ส่วนคหบดีก็ทำห้องแบ่งให้เช่า กาดกองต้าจึงเต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ คนพม่า จีน ญวน ไทย เกือบทั้งหมดล้วนทำการค้า อาจด้วยบรรยากาศแบบนั้น มันก็ทำให้พี่ที่โตมาในย่านนี้เป็นคนชอบค้าขายไปด้วย

พี่หาเงินเองได้ตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ เรามีโอกาสลงไปเรียนกรุงเทพฯ ช่วงไหนมาลำปางพี่จะขนกระเทียมเป็นเข่งขึ้นรถไฟไปขายตลาดวัดจันทร์สโมสร แถวซอยองครักษ์ ถ้าช่วงไหนกลับบ้าน พี่ก็ไปซื้อพวกทัพเพอร์แวร์ จานชามเมลามีน ผ้าปูที่นอน และของเล่นในกิ๊ฟท์ช็อปจากร้านในกรุงเทพฯ ขึ้นไปขายคนลำปาง อะไรขายได้ก็ขายหมด เล่นแชร์พี่ก็เล่น (ยิ้ม) พี่เป็นคนแรกเลยนะที่เอาหนังสือการ์ตูนโดราเอม่อนมาขายที่ลำปาง ตอนนั้นเขายังไม่มีสายส่งหนังสือ รายได้นี่หลายหมื่นเลย จากนั้นก็ลองทำพวกกิ๊ฟท์ช็อปด้วยตัวเอง ก็ใช้แบบจากญี่ปุ่นนั่นแหละ ก็ขายดีอีก

หลังเรียนจบสาขาการตลาดที่รามคำแหงกลับมา อาจเพราะเห็นว่าเรามีประสบการณ์การขายอย่างโชกโชน วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง ก็เลยชวนให้เราไปเป็นอาจารย์ โดยเปิดสาขาการขายให้เราดูแลเลย และเพราะความที่เราเป็นอาจารย์ที่อาชีวะนี่แหละ ที่ทำให้ชาวชุมชนกองต้ามักจะมาปรึกษาเราอยู่เสมอ กระทั่งพอมีการจัดตั้งชุมชน เขาก็ชวนให้พี่ไปเป็นคณะกรรมการชุมชน

จุดเปลี่ยนของกาดกองต้า คือปี พ.ศ. 2548 ที่มีน้ำท่วมหนักเมืองลำปาง อย่างที่บอกว่าอาคารส่วนใหญ่ในกาดกองต้าเป็นโกดังเก็บสินค้าของพ่อค้าแม่ค้าในตลาด พอน้ำท่วม สินค้าก็เสียหาย เจ้าของเขาก็จำใจเอาของที่ยังมีสภาพดีบางส่วนมาขายเลหลังในราคาถูก ขายบนถนนที่ยังเปื้อนโคลนแบบนั้นเลย มีตั้งแต่เหล้าฝรั่ง เครื่องดื่ม ขนม ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ และข้าวของเครื่องใช้ คนลำปางก็แห่กันมาซื้อกันเต็มไปหมด จากบรรยากาศที่เศร้าๆ เพราะน้ำท่วม ย่านนั้นกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นมาทันใด เราก็คุยกันว่าน่าจะจัดตั้งให้เป็นถนนคนเดินไปเลยนะ

คือก่อนหน้านั้น ทางเทศบาลเขาเคยมีความคิดจะทำถนนคนเดินตรงนั้นอยู่แล้วด้วย เพราะเห็นศักยภาพของตึกเก่าแก่ในย่าน เขาก็เคยเอางบมาลงและจัดถนนคนเดินอยู่สองสัปดาห์ แต่ความที่เป็นราชการน่ะ เขาทำโดยไม่ได้สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน แล้วพองบหมดเขาก็ไม่ทำต่อ ก็เลยเลิกกันไป จนมาเกิดน้ำท่วมนี่แหละ เราก็คิดว่าไหนๆ คนก็มากันเยอะแล้ว เราทำตลาดของพวกเราเองดีกว่า จะได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย

นั่นแหละ คนในกาดกองต้าก็เลยรวมตัวกันไปขอจัดตั้งชุมชน จัดตั้งกันช่วงปลายเดือนตุลาคม 2548 หลังน้ำท่วมได้ไม่นาน และเปิดถนนคนเดินกาดกองต้าครั้งแรกเย็นวันที่ 9 พฤศจิกายน ตอนนั้นยังมีโคลนจากน้ำท่วมติดอยู่เลยนะ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสมาก บ้านบางหลังทำเครื่องหมายโชว์ไปเลยว่าน้ำเคยท่วมถึงระดับไหน ส่วนพี่ก็ชวนเพื่อนๆ ที่ชอบเล่นสะล้อซอซึงในวงเหล้า มาเล่นเปิดหมวกในกาด เอาวงสะล้อมาเล่นเพลงสากลด้วย สร้างสีสันให้กาดจนกลายมาเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างจนทุกวันนี้

เราไม่เก็บเงินค่าเช่าพื้นที่พ่อค้าแม่ค้าสักบาทเลย คือคุณแค่มาลงชื่อ เราก็จัดสรรล็อคให้ ตลาดเราไม่ทำโซนนิ่ง เพราะตั้งใจให้เป็นตลาดที่ทุกคนในครอบครัวมาเดิน อยากให้ทุกคนเดินไปด้วยกันไม่ต้องแยกกันเดิน อย่างเดินไปล็อคหนึ่งคุณจะเจอลูกชิ้นปิ้ง ถัดไปอาจเป็นกิ๊ฟท์ช็อป ถัดไปเป็นเสื้อผ้าแบบนี้ มันหลากหลายน่ะ แต่ความหลากหลายนี้ก็ทำให้พ่อแม่ลูกก็จะเดินไปพร้อมๆ กันได้ ซึ่งทันทีที่เปิด กาดกองต้าก็เป็นที่นิยมมาก จากตลาดของคนในเมือง ก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ รวมถึงตัวแทนจากจังหวัดต่างๆ อย่างน่าน แพร่ และเลย มาศึกษาดูงานวิธีการทำตลาดเรา เขาอยากรู้ว่าเราทำยังไงโดยไม่เก็บค่าเช่า และประสานกับเทศบาลอย่างไรในการจัดการกับขยะ

แต่แน่นอนในทางกลับกัน ก็มีแรงเสียดทานเยอะ หลายคนก็บอกทำไมไม่จัดโซนนิ่ง บางคนบอกพอทำแบบนี้กาดกองต้ามันไม่มีเอกลักษณ์ ทำไมไม่มีเอาพวกกาแลมาตบแต่งให้เป็นถนนสายวัฒนธรรมอะไรแบบนี้ เราก็อธิบายว่าเราตั้งใจให้พื้นที่แห่งนี้รองรับคนลำปาง แต่ก่อน เวลาหยุดเสาร์-อาทิตย์ คนลำปางนี่ขับรถไปเที่ยวเชียงใหม่กันหมด ตัวเมืองลำปางนี่เงียบเลย เราก็หวังเปิดตลาดแห่งนี้เป็นที่พักผ่อนให้คนในพื้นที่เป็นหลัก เราไม่ได้อยากให้ที่นี่เป็นแฟรนไชส์ของถนนคนเดินเชียงใหม่ (หัวเราะ)

จริงอยู่แม้เราจะทำการค้ามาอย่างโชกโชน แต่เรื่องการทำตลาดนัดนี่คนละเรื่องเลย เหนื่อยมากๆ แม้จะผ่านมาสิบกว่าปีแล้ว ก็ยังเหนื่อยอยู่ คือต้องจัดการหมดตั้งแต่การใช้พื้นที่ คุยกับทางเทศบาลเรื่องการทำความสะอาด หรือตอนเปิดใหม่ๆ ยังมีปัญหาพวกแก๊งซามูไรมาก่อกวนอีก รวมถึงการต้องคุยกับคณะกรรมการที่ต่างคนก็ต่างมีความคิดเป็นของตัวเอง คิดอยากจะวางมือหลายครั้งแล้ว ยิ่งอายุเยอะก็ยิ่งอยากพักผ่อน แต่ก็รู้สึกว่าถนนคนเดินนี้มันเหมือนลูก ยังรู้สึกสนุก และดีใจที่ได้เห็นพ่อค้าแม่ค้าได้เติบโต

ส่วนภาพที่อยากเห็นในกาดกองต้าแห่งนี้น่ะหรือ พี่อยากเปลี่ยนถนนสายนี้ให้ทุกคนได้ขายของกันทุกวันน่ะ จริงอยู่ช่วงหลังๆ เริ่มมีคนรุ่นใหม่กลับมาทำธุรกิจในกาดกองต้าบ้างแล้ว แต่เราก็อยากทำให้มันเป็นย่านค้าขายจริงจัง คือเจ้าของตึกในกาดกองต้าส่วนใหญ่เขาปิดตึกเขาไว้เฉยๆ น่ะ เขาก็อยู่ข้างในทำอะไรของเขาไป เลยคิดว่าถ้างั้นปล่อยให้คนอื่นมาเช่าทำการค้าในราคาไม่แพงกันไหม ดีกว่าปล่อยให้ตึกมันร้างเปล่าๆ  หรือทำแผงลอยริมฟุตปาธก็ได้ คือเย็นเสาร์และอาทิตย์ก็ขายกันตามปกติแหละ แต่วันธรรมดาก็น่าจะมีด้วย เพราะถ้าคุณมาเห็นในเวลาปกติ กาดกองต้านี่เงียบมากเลยนะ ก็อยากให้มันกลับมามีชีวิตชีวา แทนที่จะรอสุดสัปดาห์ สู้ขายไปทุกวันเลยดีกว่า”

พจนารถ พัฒนานุกูล

ประธานชุมชนกาดกองต้าใต้

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย