/

ตัวชี้วัดจริงๆ ของเรา คือการที่ทั้งผู้สอนและผู้เรียนสามารถต่อยอดความรู้ของตัวเองให้เป็นมูลค่าได้

Start
423 views
13 mins read

“คุณทราบไหมว่าสาเหตุที่รัฐตั้งวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยนเรศวรไว้ที่จังหวัดพะเยา ซึ่งมีทำเลค่อนข้างห่างไกลกว่าจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือ ส่วนหนึ่งมาจากธุรกิจค้าบริการ

ในอดีต พื้นที่หนึ่งในจังหวัดพะเยา ขึ้นชื่อเรื่องการที่ผู้หญิงท้องถิ่นออกจากหมู่บ้านเพื่อเข้าทำงานค้าบริการในเมืองใหญ่ๆ  จะเป็นเพราะถูกหลอก สมัครใจด้วยตนเอง หรือพ่อแม่เป็นคนตัดสินใจก็ตาม แต่จำนวนผู้หญิงที่เข้าสู่ธุรกิจที่มากเป็นพิเศษนี้ ทำให้มีหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าเพราะผู้คนในพื้นที่ยังเข้าไม่ถึงการศึกษา ทำให้ผู้หญิงหลายคนตัดสินใจดำเนินชีวิตด้วยรูปแบบนี้

และในเมื่อเราต้องการให้ผู้คนในพื้นที่เข้าถึงการศึกษา เราก็จำเป็นต้องมีพื้นที่การศึกษา จึงมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นนั่นเอง


แม้เรื่องที่เล่ามานี้จะไม่ใช่สาเหตุหลัก แต่ภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตพะเยา หรือที่ต่อมาจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยพะเยา นับตั้งแต่การก่อตั้งจนถึงทุกวันนี้ คือนำความรู้มาให้บริการและพัฒนาชุมชน ตลอดเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยจึงมีโครงการหรือหน่วยงานที่ช่วยยกระดับชุมชนมากเป็นพิเศษ และโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ ที่เราได้รับทุนจาก บพท. ก็คือหนึ่งในนั้น

พะเยามีแหล่งทรัพยากรที่ยังมีบทบาทในฐานะแลนด์มาร์คสำคัญของเมืองอย่างกว๊านพะเยา โดยพื้นที่รอบๆ กว๊านยังมีทรัพยากรที่ชาวบ้านแปลงเป็นสินค้า ไปจนถึงการพัฒนาเป็นพื้นที่การเรียนรู้ โครงการของเราจึงมีแต้มต่อไม่น้อย แต่โจทย์สำคัญของโครงการหาใช่การนำเสนอพื้นที่เหล่านั้น แต่เป็นการเชื่อมโยงผู้มีความรู้ในพื้นที่ต่างๆ มาให้บริการชุมชน ช่วยฝึกอาชีพแก่ผู้ที่ด้อยโอกาส และสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน

เหตุนี้ จุดเด่นของโครงการพะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้ที่น่าจะต่างจากเมืองอื่นๆ ส่วนใหญ่คือ กลไกในการขับเคลื่อนการเรียนรู้ไม่ได้มาจากพวกเราในฐานะคณะนักวิจัย แต่เป็นชาวบ้านในพะเยาที่เป็นวิทยากรให้ความรู้ในด้านต่างๆ เป็นรูปแบบของชาวบ้านสอนชาวบ้าน ชุมชนหนึ่งสอนอีกชุมชนหนึ่ง แลกเปลี่ยนศาสตร์ความรู้ซึ่งกันและกัน และเผยแพร่ไปสู่ผู้อื่นอีกทอดหนึ่ง

นักวิจัยในโครงการนี้มีหน้าที่เพียงเชื่อมต่อวิทยากรเข้ากับผู้เรียน ไปจนถึงเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งอาจรวมถึงอาจารย์จากมหาวิทยาลัยพะเยาเอง ไปเป็นโค้ชช่วยเหลือผู้ประกอบการในการยกระดับผลิตภัณฑ์ และรวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้เรียน การทำเครดิตแบงค์ หรือการให้ผู้เรียนที่สามารถเก็บหน่วยกิตไปใช้กับมหาวิทยาลัยพะเยาอย่างเป็นทางการได้ ก็เป็นเครื่องมือหนึ่ง

ถามว่าคนมาเรียนหลายคนเป็นผู้ใหญ่ที่ทำงานทำการกันหมดแล้วหรือกลุ่มผู้สูงอายุ พวกเขาจะใช้คะแนนสะสมจากมหาวิทยาลัยไปทำอะไร ก็ต้องบอกอย่างนี้ครับ สิ่งนี้สร้างความภูมิใจแก่ผู้เรียนได้ว่าอย่างน้อยก็มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา เพราะเมื่อเรานำเครดิตแบงค์มาใช้ เราก็จำเป็นต้องทำการสอบวัดผลผู้เรียนเพื่อให้ได้หน่วยกิต จึงช่วยจูงใจให้พวกเขามีความตั้งใจเรียน ขณะเดียวกันผู้ทำการสอนก็ต้องหาวิธีทำให้ผู้เรียนเข้าใจ หรือสนุกไปกับบทเรียน

มีตัวอย่างที่ชัดเจนคือกลุ่มบ้านดินคำปู้จู้ ที่สอนงานปั้นดิน ทางกลุ่มใช้กุศโลบายทางความเชื่อ ด้วยการให้ผู้เรียนใช้ดินปั้นบล็อคพระเครื่อง คนที่เรียนก็รู้สึกว่ามีแรงจูงใจ เพราะถ้าทำเสร็จก็จะมีพระเครื่องเป็นของที่ระลึก หรือจะเอาไปปลุกเสกก็ยังได้ จึงตั้งใจในบทเรียนและพิถีพิถันกับการทำงานเป็นพิเศษ

ขณะเดียวกัน หน่วยกิตที่สะสมนี้ ผู้เรียนยังสามารถนำไปใช้เป็นต้นทุนหนึ่งในการยื่นขอประกาศนียบัตรรับรองจากคณะต่างๆ ของทางมหาวิทยาลัย รวมถึงองค์กรอื่นๆ ว่าได้ผ่านการเรียนรู้หรือมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านได้อีกด้วย เช่นคุณเรียนรู้การแปรรูปอาหารมาแล้ว คุณต้องการนำไปพัฒนาเป็นอาชีพต่อ คุณก็นำหน่วยกิตที่ได้มาเป็นองค์ประกอบเพื่อยื่นขอรับประกาศนียบัตรรับรองความชำนาญได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้ว ตัวชี้วัดจริงๆ ของเรา คือการที่ทั้งผู้สอนและผู้เรียนสามารถต่อยอดความรู้ของตัวเองให้เป็นมูลค่าได้ ทุกคนสละเวลามาเรียน เพราะรู้ว่าจะได้ประโยชน์กลับไป ได้ผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าเอาไปขายได้ และเมื่อโครงการนี้สิ้นสุดลง หากผู้ร่วมโครงการยังคงต่อยอดสิ่งที่เรียนมาเพื่อเป็นอาชีพต่อโดยไม่มีพวกเรา นั่นหมายถึงโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ของเรา ประสบความสำเร็จ”  

ศ.ดร.เสมอ ถาน้อย
รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพะเยา

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย