“ต่อให้เราได้รับจัดสรรงบประมาณมาพัฒนาเมืองมากแค่ไหน แต่ถ้าขาดแผนแม่บท สระบุรีก็จะพัฒนาอย่างไร้ทิศทาง และไม่เติบโตอย่างที่ควรจะเป็น”

Start
246 views
12 mins read

“จริงอยู่ที่แก่งคอยจะเป็นอำเภอที่ได้ประโยชน์จากโรงงานอุตสาหกรรม หากพื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองแก่งคอยกลับไม่มีโรงงานขนาดใหญ่ตั้งอยู่ นั่นทำให้เราเก็บภาษีได้น้อย ทั้งยังต้องจัดสรรงบประมาณมาแก้ปัญหาผลกระทบจากโรงงานที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่แต่ส่งผลมาถึงผู้คนในเขตของเราโดยตรงอีกด้วย ทั้งมลภาวะทางอากาศเอย การขาดแคลนน้ำเอย และอื่นๆ

ในฐานะนายกเทศมนตรีเมืองแก่งคอย ผมก็พยายามสื่อสารเรื่องนี้เพื่อให้มีการจัดสรรงบประมาณใหม่ รองรับกับผลกระทบจริงในพื้นที่ ไม่ใช่คำนวณจากจำนวนโรงงานที่ตั้งอยู่ในเขต  

อย่างไรก็ตาม เรื่องการจัดสรรงบประมาณยังไม่ใช่ปัญหาที่สำคัญที่แก่งคอยกำลังเผชิญ เพราะจากการที่ผมมีโอกาสมาดำรงตำแหน่งนี้หลายสมัยจึงเห็นว่าการที่เมืองของเรา… ซึ่งไม่ใช่แค่ในระดับเทศบาลเมือง แต่เป็นอำเภอทั้งอำเภอ รวมถึงจังหวัดทั้งจังหวัด ยังคงขาดแผนแม่บทในการพัฒนา เพราะต่อให้เราได้รับจัดสรรงบประมาณมาพัฒนาเมืองมากแค่ไหน แต่ถ้าขาดแผนแม่บท สระบุรีก็จะพัฒนาอย่างไร้ทิศทาง และไม่เติบโตอย่างที่ควรจะเป็น

พอไม่มีแผนแม่บท มันก็เกิดภาพที่หลายคนชินตา หน่วยงานต่างหน่วยงานต่างทำงานของตัวเองไป หน่วยหนึ่งทำถนนเสร็จ อีกหน่วยเพิ่งได้งบมาทำเดินท่อประปา ก็รื้อถนนที่เพิ่งทำเสร็จใหม่เพื่อทำท่อ หรือหน่วยงานอื่นมาก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ในเขตเมืองเรา ก็ไม่ได้มีการคุยกับท้องถิ่นก่อนเรื่องเส้นทางระบายน้ำ พอฝนมา น้ำก็ท่วม เราก็ต้องแก้ไขกันอีก เหมือนวิ่งตามปัญหาไม่จบสิ้น

นี่ยังไม่รวมระบบระเบียบราชการที่มีข้อกำหนดจุกจิกอีกหลากหลาย ซึ่งทำให้หน่วยงานต่างๆ ไม่กล้าที่จะทำอะไรเกินไปกว่ากรอบงานของตัวเอง เราจึงไม่สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันที ทั้งๆ ที่ไอ้การไม่มีแผนแม่บทเนี่ยแหละที่ทำให้เมืองของเราต้องพบปัญหาเฉพาะหน้าทุกเมื่อเชื่อวัน

และก็เพราะเมืองไม่มีแผนมาตั้งแต่ต้น ที่ดินมันจึงไม่ได้ถูกจัดสรรอย่างเหมาะสม พื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะเราจึงไม่พอ ที่ผ่านมา ผมเล็งเห็นเรื่องนี้ ก็พยายามดึงงบประมาณจากนั่นนี่ ถ้าเจอตรงไหนที่ดินไม่แพง ก็จะให้เทศบาลซื้อไว้เผื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่ไม่วายได้รับคำครหาว่าจะซื้อไปทำไม ล่าสุด ผมจึงประสานไปทางกรมโยธาธิการฯ ให้เขาทำทางเดินริมตลิ่งเลียบแม่น้ำป่าสักให้เลย จะได้มีที่สาธารณะเพิ่มมา รวมถึงผู้คนยังได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำกลางเมืองด้วย ตอนนี้ทำไปได้พอสมควรแล้ว จากนี้ก็พยายามเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ทางเดินมันร่มรื่น และทำเพิ่มไปยังวัดบ้านม่วง รวมถึงเชื่อมตรงตลาดท่าน้ำเข้ากับวัดแก่งคอย จะได้กลายเป็นที่ท่องเที่ยวไปในตัวพร้อมกัน 

ซึ่งอย่างที่บอก ผมจึงเห็นด้วยกับ บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด ของคุณนพดล ธรรมวิวัฒน์ ที่เขาพยายามจะประสานความร่วมมือระหว่างเอกชนกับท้องถิ่นในการผลักดันให้จังหวัดเรามีมาสเตอร์แพลน หรือแผนแม่บทขึ้น ท้องถิ่นจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีพันธมิตรแบบนี้ ถึงแม้ระบบราชการบางอย่างในปัจจุบันอาจไม่เอื้อให้ท้องถิ่นทำงานร่วมกับเอกชนได้อย่างเต็มที่ก็ตาม แต่การได้พูดคุย หารือ และทำ MOU ร่วมกันในบางโครงการ มันก็มีส่วนให้โครงการดีๆ หลายอย่างเข้าไปอยู่ในนโยบายที่บังคับให้เจ้าหน้าที่ทำต่อในอนาคต

อย่างล่าสุดเทศบาลเมืองแก่งคอยเพิ่งเซ็น MOU ร่วมกับบริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด ในการขับเคลื่อนแก่งคอยเป็นเมืองอัจฉริยะ (smart city) ซึ่งนั่นก็เป็นสัญญาณที่ทำให้ภาคประชาชนเห็นว่าเทศบาลพร้อมเปิดรับหน่วยงานหรือองค์กรที่มีนวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิคคนในเมือง มาเสนอโครงการหรือแนวทางในการทำงานร่วมกันต่อไปได้

ในฐานะคนแก่งคอย จริงอยู่ เรามีปัญหาหลายประการที่ต้องแก้เฉพาะหน้า กระนั้น ในภาพรวมของเมือง แก่งคอยก็ยังมีความน่าอยู่และผู้คนก็เป็นมิตร ถ้าหน่วยงานระดับบริหารของเมืองและทั้งจังหวัดมาคุยกัน หรือมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากกว่านี้ ผมคิดว่าเราสามารถตั้งแผนแม่บทของอำเภอและจังหวัดได้ เมืองจะเติบโตด้วยความน่าอยู่กว่านี้ และปากท้องผู้คนจะอิ่มกว่านี้ ซึ่งนี่คือสิ่งที่ผมอยากให้เป็น”

สมชาย วรกิจเจริญผล
นายกเทศมนตรีเมืองแก่งคอย

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย