ถ้าคนในเมืองแอคทีฟ และเทศบาล
แอคทีฟ หาดใหญ่จะน่าอยู่และดีกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้แน่นอน

Start
475 views
15 mins read

“แม้จะอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางย่านธุรกิจของหาดใหญ่ แต่พื้นที่ที่ผมอยู่ก็เป็นชุมชนเมือง ทั้งยังเป็นชุมชนแรกๆ ตั้งแต่มีการตั้งเมืองหาดใหญ่ด้วย ชุมชนเรามีชื่อว่าพระเสน่หามนตรี ตั้งตามชื่อของนายอำเภอคนแรกของหาดใหญ่

ชุมชนพระเสน่หามนตรีเดิมเป็นพื้นที่เดียวกับชุมชนกิมหยงสันติสุข ก่อนจะแยกออกมา และเป็น 1 ใน 103 ชุมชนของเทศบาลนครหาดใหญ่ในปัจจุบัน พื้นที่เราเป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าใหญ่ๆ ของเมืองสามแห่ง ได้แก่ ศูนย์การค้าโอเดียน ลี การ์เด้นส์ และเซ็นทรัลพลาซา (ปัจจุบันปิดตัวไปแล้ว – ผู้เรียบเรียง) รวมถึงโรงแรมชั้นนำของเมืองส่วนใหญ่ นอกจากนี้เรายังเป็นที่จัดงานสงกรานต์มิดไนท์ และเคานท์ดาวน์ขึ้นปีใหม่ ที่เป็นงานใหญ่ประจำปี ด้วยเหตุนี้ พื้นที่เราจึงคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน


ความที่พื้นที่ชุมชนทับซ้อนกับแหล่งท่องเที่ยวและสถานบันเทิง แน่นอน แต่เดิมคนในชุมชนก็พบปัญหาเรื่องมลภาวะทางเสียงและการจัดการขยะ แต่อาจเพราะคนในพื้นที่ส่วนหนึ่งก็เป็นผู้ประกอบการด้วย ตลอดเวลาที่ผ่านมา จึงมีความพยายามรวมกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ เห็นได้ชัดจากการเกิดขึ้นของสมาคมพ่อค้าจีนอย่าง สมาคมฮากกา สมาคมฮกเกี้ยน หรือสมาคมไหหลำ ซึ่งข้อดีของเครือข่ายที่ขับเคลื่อนโดยผู้ประกอบการในพื้นที่เหล่านี้คือการมีทุนทรัพย์ ในหลายโครงการเราจึงทำกันเองได้เลยโดยไม่ต้องรองบประมาณของภาครัฐ

ชุมชนเสน่หามนตรียังเป็น 1 ใน 10 ชุมชนนำร่องของโครงการคลองเตยลิ้งค์ หรือโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้หาดใหญ่ โครงการนี้ไม่เพียงมีแผนจะฟื้นฟูพื้นที่ริมคลองเตย รวมถึงสร้างเส้นทางขนส่งมวลชนที่เป็นทางเลือกใหม่ให้กับเมือง แต่ยังเป็นการสกัดองค์ความรู้ที่แต่ละชุมชนรอบคลองมี ทำให้คนในชุมชนได้ย้อนกลับมาสำรวจตัวเองและประวัติศาสตร์ในพื้นที่ ที่สำคัญยังได้สร้างเครือข่ายระหว่างชุมชนด้วย 

แน่นอน การฟื้นฟูพื้นที่ริมคลองเตยและการทำเส้นทางเดินรถเป็นงานใหญ่ และต้องอาศัยงบประมาณจากภาครัฐ ซึ่งต้องใช้เวลายาวนานพอสมควรกว่าจะสำเร็จ แต่การที่โครงการเริ่มต้นโดยชวนคนในพื้นที่มาร่วมกิจกรรม และสร้างเครือข่ายระหว่างชุมชน ก็เป็นการจุดประกายให้คนในพื้นที่มองเห็นภาพเดียวกัน จนนำมาสู่การเริ่มต้นปรับปรุงภูมิทัศน์เล็กๆ ด้วยต้นทุนที่เรามี

อย่างที่เห็นได้ชัดคือการทำสตรีทอาร์ทบนถนนหน้าศาลเจ้าพ่อเสือ รวมถึงแผนการประดับโคมจีน และเสามังกร จนเกิดเป็นจุดเช็คอินแห่งใหม่ของเมือง ซึ่งแม้จะเป็นจุดเล็กๆ แต่ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มชีวิตชีวาให้พื้นที่ได้มาก ตรงนี้เป็นตัวอย่างที่เห็นว่าถ้าเกิดความร่วมมือ ไม่ต้องรอภาครัฐ เราก็ทำกันเองได้

โครงการหน้าศาลเจ้าพ่อเสือยังทำให้ชุมชนในเครือข่ายกลับไปสำรวจพื้นที่ที่แต่ละชุมชนมี และชักชวนศิลปินหรือกลุ่มนักสร้างสรรค์มาทำงานกับคนในพื้นที่ เช่น บริเวณสวนหย่อมข้างโรงเรียนแสงทองวิทยา ซึ่งไม่ค่อยมีคนใช้ คนในชุมชนก็คุยกันว่าน่าจะประสานกับทางโรงเรียน ให้โรงเรียนส่งนักเรียนมาจัดกิจกรรมในพื้นที่ เช่น การแสดงดนตรีของวงดุริยางค์ หรือการสร้างสรรค์งานศิลปะ ทำให้สวนมันกลับมามีชีวิต และดึงดูดให้ผู้คนกลับมาใช้งาน

หรืออย่างชุมชนของผมที่คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวตลอดวัน คนในชุมชนก็มาคิดกันว่าเราควรเติมความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่เข้ามาบ้าง จึงมีแผนจะจัดทำถนนสายดนตรีในช่วงสุดสัปดาห์ ชวนวงดนตรีในพื้นที่มาทำการแสดงริมถนน สร้างสีสันใหม่ๆ ให้กับย่าน  

นอกจากนี้การสกัดองค์ความรู้และข้อมูลของชุมชน ยังทำให้เราใช้มันสร้างมูลค่าเพิ่มในพื้นที่อีกต่อหนึ่งด้วย เช่นที่เราพยายามอัพโหลดข้อมูลร้านอาหารอร่อยคู่ย่านเข้าไปในฐานข้อมูลบน Google Maps จากเดิมที่นักท่องเที่ยวเปิดแผนที่เพื่อค้นหาโรงแรม เขาจะได้รู้ว่าย่านที่โรงแรมตั้งอยู่มีร้านอร่อยร้านไหนที่คนในชุมชนกินกัน เป็นต้น  

จริงอยู่ว่าการพัฒนาหลายๆ เรื่องถ้าภาคเอกชนรวมตัวกันเข้มแข็ง เราก็สามารถทำได้เองเลยอย่างคล่องตัว แต่การพัฒนาอย่างยั่งยืนเราก็ต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐเป็นสำคัญ ผมจึงมองว่าถ้าภาครัฐสามารถแก้ปัญหาเรื่องข้อจำกัดอันหยุมหยิม การลดขั้นตอนทางเอกสารที่เคยยืดเยื้อ และอื่นๆ เพื่อลงมาร่วมทำงานกับภาคประชาชนอย่างคล่องตัว ถ้าตรงนี้เกิดขึ้นจริง ผมว่าคงเป็นเรื่องดีมากๆ

ตรงนี้…ผมขอชื่นชมเทศบาลนครหาดใหญ่ชุดปัจจุบันที่ไม่เพียงรับฟังเสียง แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้คนในชุมชนต่างๆ มาร่วมกำหนดทิศทางนโยบายการบริหารเมือง และส่งเสริมกิจกรรมของชุมชนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ผมหวังให้ความร่วมมือเช่นนี้เกิดขึ้นต่อไป เพราะผมเห็นว่าถ้าคนในเมืองแอคทีฟ และเทศบาลแอคทีฟ ผมว่าหาดใหญ่จะน่าอยู่และเป็นเมืองที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้อย่างแน่นอน”

ก่อเกียรติ เลิศวิทยาวิวัฒน์
ประธานชุมชนพระเสน่หามนตรี

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย