“ถ้ารถไฟรางเบาสำเร็จ มันไม่เพียงกระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในเมือง แต่ยังรวมถึงการสร้างความรู้สึกของการมีส่วนร่วม ที่คนขอนแก่นรู้สึกเป็นเจ้าของเครือข่ายรถไฟท้องถิ่นสายนี้”

Start
258 views
17 mins read

“โครงการขนส่งมวลชนรถไฟรางเบาขอนแก่น (LRT) เป็นหนึ่งในโครงการสมาร์ทซิตี้ในส่วนของสมาร์ทโมบิลิตี้ (smart mobility) เราเริ่มคุยกันจริงจัง ตอนที่ผมดำรงตำแหน่งคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น โดยมีเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรม รวมถึงสถาบันการศึกษาในเมือง มาหารือกันว่าเราต้องการขนส่งมวลชนแบบไหนที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เมืองเราได้

และแนวคิดเรื่องการทำระบบรางก็เริ่มขึ้นจากตรงนั้น อย่างไรก็ดี โมเดลนี้ก็แตกต่างจากโมเดลด้านขนส่งมวลชนอื่นๆ ตรงที่มันต้องเป็นโครงการที่บริหารจัดการและลงทุนโดยท้องถิ่นเอง ไม่ใช่จากส่วนกลางมาทำให้ เพราะเราต้องการให้มีการบูรณาการจากความต้องการของคนท้องถิ่นจริงๆ

ทั้งนี้ การลงทุนเองในท้องถิ่น ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตชิ้นส่วนของเทคโนโลยีรถไฟ การติดตั้ง ไปจนถึงการบริหารจัดการ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว เรามีทรัพยากรและองค์ความรู้ที่พร้อม และสิ่งนี้ยังช่วยกระตุ้นการจ้างงานในท้องถิ่น เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในจังหวัด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ

จากจุดนี้แหละ ทางมหาวิทยาลัยก็เข้าไปเติมเต็มในส่วนของการวิจัยด้านระบบรถไฟรางเบาหรือ light railway ก็ไปดูกันว่าจะออกแบบอย่างไร และพัฒนาให้เป็นแบบไหน จึงเป็นที่มาที่เราไปร่วมกับ บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด (KKTS) และเทศบาลทั้ง 5 เทศบาลในจังหวัดขอนแก่น เสนอโครงการไปทาง บพท. และได้งบประมาณมาทำการศึกษาครั้งแรกในปี 2563 และต่อเนื่องถึงปี 2564 จากนั้นก็ไปจับมือกับบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) บริษัทเอกชนที่มีศักยภาพในการผลิตเทคโนโลยีรถไฟรางเบา โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการซึ่งมาจากตัวแทนของภาคส่วนต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนให้โครงการเกิดเป็นรูปธรรม

หลังจากที่เราผลักดันให้เกิดการทำวิจัยรถไฟ LRT ต้นแบบแล้ว เราก็ยังใช้กรอบของเมืองแห่งการเรียนรู้ มาใช้สร้างความรับรู้ให้คนขอนแก่นเข้าใจถึงประโยชน์ของการพัฒนาเมือง ในโครงการที่ชื่อว่า ‘รางสร้างเมือง-รางสร้างไทย’ โดยเรานำร่องที่รอบบึงแก่นนคร โดยสร้างโมเดลธุรกิจด้านการท่องเที่ยวรอบบึง โดยใช้เส้นทางรถไฟรางเบาเป็นศูนย์กลาง

พอเรานำโครงการนี้ไปเสนอชุมชนที่อยู่รอบบึงแก่นนคร บางคนเขาเริ่มจากคัดค้านก่อน เพราะเข้าใจว่าการทำรถไฟรอบสวนสาธารณะ จะทำให้เกิดมลภาวะทางเสียงและอากาศ กระทั่งเราสื่อสารไปว่ารถไฟรางเบามันไม่สร้างปัญหานี้ และมันสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร จากที่คัดค้าน เขาก็สนับสนุนและเรียกร้องให้โครงการนี้เกิดเร็วๆ  

ถามว่าแล้วโครงการรถไฟรางเบามันสามารถสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ได้อย่างไร? เบื้องต้นเลย มทร. อีสาน มีหลักสูตรวิศวกรรมระบบรางที่เปิดในปี 2560 ซึ่งเรามองว่าหลักสูตรมันจะมีส่วนสำคัญในการผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมระบบรางที่ขอนแก่นกำลังจะทำ ครอบคลุมตั้งแต่การสร้างรถไฟไปจนถึงการวางรางและการดูแลรักษา

แล้วพอทุกอย่างมันเริ่มได้จากเมืองของเราเองหมด ต้นทุนในการผลิตก็ลดลงมาก อย่างรถไฟฟ้าบีทีเอสที่วิ่งในกรุงเทพฯ ค่าผลิตต่อหนึ่งขบวนอยู่ที่ 200 กว่าล้านบาท จากการศึกษาของเรา เราพบว่าถ้าเราสร้างเอง เราสามารถสร้างได้ในราคาที่ประหยัดลงมาราว 30-40% คือนอกจากประหยัดแล้ว เงินมันก็หมุนเวียนอยู่ในขอนแก่นเอง เพราะเราไม่ต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

แล้วลงทุนอย่างไร? เรามองไปที่ตลาดหุ้น เปิดให้ทุกคนสามารถซื้อหุ้นตัวนี้ เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของร่วม ขณะเดียวกัน ก็แบ่ง 10% จากรายได้ไปสนับสนุนคนท้องถิ่นที่มีรายได้น้อย ทั้งนี้ การสร้างความเป็นเจ้าของร่วมนี่สำคัญนะครับ เพราะเราเห็นบทเรียนจากหลายๆ เมืองที่มีการลงทุนขนาดใหญ่จากภาครัฐ แต่กลับไม่ค่อยได้รับการสนับสนุน เพราะคนใช้ก็ไม่ได้คิดว่าสิ่งนี้เป็นสมบัติของเขาเอง ซึ่งตรงนี้ เราเชื่อว่า มันจะเป็นโมเดลหนึ่งที่จะสามารถที่จะพัฒนาท้องถิ่นจากกระบวนการการมีส่วนร่วม ก็เป็นที่มาอันหนึ่งที่เราเคยได้ยิน นั่นก็คือ ‘ขอนแก่นโมเดล’

ปัจจุบัน LRT ต้นแบบอยู่ในขั้นที่ทดสอบการใช้งานจริงแล้ว โดยนำร่องที่ 2 ขบวน ก่อนที่เราจะได้งบวิจัยเพิ่มเติมในปี 2566 นี้ และทดลองวิ่ง 3 ขบวน ซึ่งจะเป็นรูปแบบสำหรับใช้งานจริง ส่วนเส้นทางการวิ่ง เรากำหนดไว้ทั้งหมด 5 สาย เริ่มแรกจากสายสีแดงที่วิ่งจากทิศเหนือจรดทิศใต้ ซึ่งมีกำหนดในการก่อสร้างปีหน้า  

ทั้งหมดทั้งมวล การที่เราปลุกปั้นโครงการนี้ เราไม่ได้มองเฉพาะแค่ขอนแก่นอย่างเดียว เพราะถ้าโมเดลนี้สำเร็จ มันจะกลายเป็นต้นแบบอุตสาหกรรมระบบรางในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะการกระจายการผลิตไปสู่จังหวัดใกล้เคียง เช่น ร้อยเอ็ดเขามีศักยภาพผลิตล้อ มหาสารคามผลิตระบบสัญญาณ กาฬสินธุ์ผลิตเบาะ ก่อนจะนำชิ้นส่วนทั้งหมดมาประกอบรวมกันที่ขอนแก่น เป็นต้น

มีตัวเลขการศึกษาของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เขาทำไว้ประมาณเมื่อ 4–5 ที่แล้ว ประมาณการณ์ว่า ถ้าประเทศไทยสามารถที่จะผลิตชิ้นส่วนบางส่วน ประมาณสัก 30 -40 % ของตัวรถไฟ เราจะสามารถประหยัดงบประมาณการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้ถึงแสนล้านบาท แต่นั่นล่ะ เรื่องงบประมาณก็ส่วนหนึ่ง แต่หัวใจสำคัญ ผมมองว่าถ้ารถไฟมันสำเร็จ มันไม่เพียงกระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในเมือง แต่ยังรวมถึงการสร้างความรู้สึกของการมีส่วนร่วม ที่คนขอนแก่นรู้สึกเป็นเจ้าของเครือข่ายรถไฟท้องถิ่นสายนี้ และนั่นจะทำให้การลงทุนอะไรต่อมิอะไรที่จะเกิดต่อไปในเมือง มันจะมีเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืน”

ปริญ นาชัยสิทธิ์
อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น
และนักวิจัยโครงการขนส่งมวลชนรถไฟรางเบาขอนแก่น (LRT)

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย