/

ถ้าเมืองมีสุนทรียะ
มูลค่าเพิ่มก็จะตามมาเอง

Start
450 views
9 mins read

“ผมเริ่มเล่นดนตรีกลางคืนระหว่างที่เรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนเรียนจบออกมาก็ไม่ได้ทำงานตรงสายที่เรียน เป็นนักดนตรีกลางคืนอย่างเดียว เล่นตั้งแต่ที่มังกี้คลับยังเปิดอยู่ ที่วอร์มอัพ และอื่นๆ ต่อเนื่องมา 12 ปี จนแม่ตามตัวให้ผมกลับไปช่วยธุรกิจที่บ้านที่ลำปางเมื่อราว 5 ปีที่แล้ว ก็เลยตัดสินใจเลิกเพื่อกลับมาอยู่บ้าน

ผมเรียนมัธยมที่โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จากนั้นก็ไปอยู่เชียงใหม่มา 16 ปี ระหว่างนั้นมีโอกาสกลับบ้านบ้าง แต่การกลับมาอยู่ลำปางแบบเต็มเวลา รวมถึงเปลี่ยนรูปแบบงานโดยสิ้นเชิงเลยก็ทำให้ผมใช้เวลานานเหมือนกันกว่าจะปรับตัวได้

เพราะถึงลำปางจะไม่ใช่เมืองเล็กแล้ว แต่พูดถึงความหลากหลายทางด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ก็ถือว่ายังห่างไกลจากเชียงใหม่มาก อย่างพวกร้านเหล้าก็จะเปิดเพลงคล้ายกันไปหมด ไม่ได้มีทางเลือกมากนัก ตอนกลับมาใหม่ๆ หลักๆ ผมจะไปนั่งที่ Mao Deep Café จนผ่านไปปีหนึ่ง มีรุ่นน้องที่โรงเรียนไปได้อาคารตรงเชิงสะพานรัษฎา แล้วเขาก็เปิดร้านกันตรงนั้น ผมก็เลยย้ายไปนั่งประจำที่นั่น นั่งบ่อยๆ เข้าเขาก็ชวนมาร่วมหุ้น ซึ่งเขาก็ให้อิสระผมในการเลือกเพลงหรือเลือกวงดนตรีมาเปิด ผมก็เลยลองนำเสนอเพลงอินดี้ที่ต่างออกไปจากร้านส่วนใหญ่ในลำปางดูบ้าง คือเลือกให้ตอบโจทย์เราก่อน ซึ่งทุกคนก็โอเค ร้าน The Gravity Club จึงกลายมาเป็นธุรกิจที่เติมเต็มชีวิตผม  

ร้านนี้เปิดมาได้ 5 ปีแล้วครับ ตอนกลางวันผมจะช่วยธุรกิจที่ครอบครัว พอตกเย็นก็มาเปิดร้าน ผมทำทั้งดูแลจัดการภายในร้าน เลือกเพลงที่จะเปิด และทำอาหาร พอโควิด-19 เริ่มซา แล้วรัฐบาลอนุญาตให้กลับมามีการแสดงดนตรีสดได้ ด้วยความที่ทางร้านกระทบหนักเอาการ เราก็เลยประหยัดเงินลงด้วยการเลือกจ้างวงดนตรีแค่ช่วงสุดสัปดาห์ ส่วนวันธรรมดา ผมก็จะเล่นดนตรีโฟล์คในร้านบ้าง ลูกค้าของร้านส่วนหนึ่งเป็นคนทำงานที่ชอบฟังเพลง ส่วนอีกกลุ่มใหญ่ๆ คือนักศึกษาธรรมศาสตร์ครับ คือรุ่นพี่เขามากันก่อน แล้วก็ชวนรุ่นน้องตามๆ กันมา กลายเป็นร้านประจำของพวกเขา

เรื่องทำเลของร้านนี้ก็เป็นส่วนสำคัญครับ เราได้ตรงเชิงสะพานรัษฎา ติดริมน้ำวัง คนมากินข้าวหรือมาดื่มก็ได้เห็นวิวทั้งสะพานและแม่น้ำ เป็นทิวทัศน์แลนด์มาร์คของเมืองเลย ส่วนเสาร์-อาทิตย์ คนมาเดินกาดกองต้า เขาก็แค่ข้ามสะพานมานั่งได้ง่ายๆ และก็เพราะผมได้เห็นทิวทัศน์แบบนี้ทุกวัน เลยทำให้ผมคิดว่าเอาเข้าจริงถ้าหน่วยงานราชการเขาทำงานกับนักออกแบบ เมืองเราสวยกว่านี้ได้อีกเยอะนะครับ

อย่างช่วงเทศกาล เขาจะประดับไฟสะพาน ตบแต่งทัศนียภาพในเมือง สวยเลย แต่พอพ้นเทศกาล เขาก็เอาออก ปล่อยให้มันมืดๆ ทึมๆ แบบเดิม คือผมมองบางเรื่องก็ไม่ได้ใช้งบประมาณอะไรเยอะ ถ้าเขาทำต่อเนื่อง รวมถึงทำที่อื่นๆ มีการจัดการเรื่องไลท์ติ้งดีๆ ไม่ต้องแฟนซีหวือหวา แค่เรียบๆ แต่ให้สถาปัตยกรรมมันโดดเด่นขึ้นมา คือพื้นฐานของเมืองเก่าลำปางนี่สวยอยู่แล้วนะครับ ทั้งสะพาน ทั้งทิวอาคาร หรือวัดวาอาราม อาจจะเติมแค่วิธีการที่จะทำยังไงให้มันโดดเด่นหรือเสริมเสน่ห์ขึ้นมา ถ้าเมืองมีสุนทรียะ มูลค่าเพิ่มก็จะตามมาเองครับ”

สุเมธ เชาว์เสาวภา
หุ้นส่วนร้าน
The Gravity Club

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย