ถ้าเราไม่สมาร์ทก่อน เทศบาลยังไม่
สมาร์ทระบบราชการยังไม่สมาร์ท คนหาดใหญ่ก็จะไม่เห็นว่าสมาร์ทซิตี้มีประโยชน์ตรงไหน

Start
419 views
15 mins read

“คณะผู้บริหารเทศบาลนครหาดใหญ่กำหนดทิศทางการพัฒนาไว้ 3 เรื่อง คือการทำให้หาดใหญ่เป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว และน่าลงทุน ด้วยเหตุนี้ เมืองเราจึงขับเคลื่อนด้วย 3 กลไกหลัก ได้แก่ สมาร์ทซิตี้ (smart city) กรีนซิตี้ (green city) และเลิร์นนิ่งซิตี้ (learning city) หรือเมืองแห่งการเรียนรู้

ทำไมเมืองต้องสมาร์ท ก็เพราะมันตอบโจทย์ความสะดวกสบายและความปลอดภัยของผู้คน การมี AI มาช่วยจัดการข้อมูลและดำเนินการต่างๆ หรือการมีกล้อง CCTV ที่คอยสอดส่องความปลอดภัยทั่วเมือง ส่วนการเป็นกรีนซิตี้ก็ตรงไปตรงมา แม้เราจะมีสวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่กินพื้นที่กว่า 900 ไร่ และ 60% ของพื้นที่นั้นเป็นป่าคอยฟอกอากาศและเป็นปอดให้คนในเมือง แต่เราก็พยายามจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในย่านใจกลางเมืองอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน

ที่สำคัญคือการเป็นเลิร์นนิ่งซิตี้ คือการทำให้คนหาดใหญ่เข้าใจว่าคุณค่าของการเป็นสมาร์ทซิตี้ และกรีนซิตี้ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเมือง 

ด้วยเหตุนี้เราจึงพยายามผสานทั้งการเป็นสมาร์ทซิตี้ กรีนซิตี้ และเลิร์นนิ่งซิตี้ ให้ทำงานร่วมกันไม่ว่าจะเป็นโครงการอะไร เพื่อตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาเมืองที่ได้วางไว้

เพื่อให้เห็นภาพ ผมขอเริ่มจากการท่องเที่ยว เทศบาลกำลังมีแผนจะใช้ฐานประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองมาสร้างจุดเด่นทางการท่องเที่ยวใหม่ โดยเน้นพื้นที่ใจกลางเมืองที่จะเปลี่ยนให้เป็นไชน่าทาวน์ เนื่องจากเรามีวัดจีนที่เป็นศูนย์รวมใจของคนในพื้นที่หลายแห่ง ขณะเดียวกันก็มีสตรีทฟู้ดและร้านอาหารดังๆ นับไม่ถ้วน พร้อมกันนั้น ก็หาวิธีนำเสนอประวัติของเมืองหาดใหญ่ ซึ่งย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคทวดทอง คนในท้องที่ผู้บุกเบิกชุมชนโคกเสม็ดชุนก่อนมีการสร้างสถานีรถไฟ ต่อมาด้วยยุครัชกาลที่ 5 ที่คนจีนที่มาสร้างทางรถไฟ ร่วมกับคนท้องถิ่นพัฒนาเมืองหาดใหญ่ จนมาถึงยุคปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้นอกจากเรียนรู้วัฒนธรรม อาหาร ประเพณี และสถาปัตยกรรม โครงการหาดใหญ่ไชน่าทาวน์ยังนำเสนอ soft power ผ่านข้อมูลรากเหง้าของคนหาดใหญ่ ให้คนรุ่นหลังเห็นว่าบรรพบุรุษเราเสียสละเพื่อเมืองมาอย่างไร กระตุ้นให้พวกเขาเห็นว่าแล้วเราจะตอบแทนเมืองอย่างไร ดังประโยคคลาสสิคของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ที่ว่า ‘เกิดมาเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน’

เรื่องที่สอง เรื่องนี้สอดคล้องกับการทำให้เมืองหาดใหญ่น่าอยู่ อย่างที่ทราบกันว่าเมืองเรากำลังมีโครงการคลองเตยลิงก์ ซึ่งทางคุณสิทธิศักดิ์ ตันมงคล ได้สร้างเครือข่ายชุมชนเลียบคลองทั้ง 10 ชุมชน พร้อมสกัดภูมิปัญญาในพื้นที่เพื่อสร้างพื้นที่เรียนรู้ของเมืองไว้แล้ว โดยล่าสุด ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้รับการอนุมัติงบประมาณภายใต้แผนพัฒนายุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัด เป็นจำนวนเงิน 300 กว่าล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเลียบคลองเตย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปีหน้า

หลักๆ เราหารือกันว่าจะทำเป็นโครงสร้างเบา เน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และทำทางเท้าที่สะดวกสะบาย เพื่อเชื่อมพื้นที่ใจกลางเมืองผ่านการเดินเท้าเลียบคลองอย่างครอบคลุม ทำให้รอบคลองเตยเป็นทั้งแหล่งพักผ่อนที่ใช้ประโยชน์ได้จริง และพื้นที่เรียนรู้ของคนในเมืองไปพร้อมกัน

เรื่องที่สาม คือการเน้นย้ำการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อย่างที่ทราบว่าเรามีโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ชั้นนำ ขณะเดียวกันเราก็พยายามโปรโมทศูนย์ชีวาสุข ซึ่งเป็นศูนย์การแพทย์ผสมผสานตั้งอยู่ภายในสวนสาธารณะของเทศบาล ทั้งนี้เราพยายามนำต้นทุนทางพหุวัฒนธรรมมาใช้กับการดูแลสุขภาพในศูนย์ ทั้งศาสตร์ของจีน ไทย และมลายู ตอบสนองความต้องการดูแลสุขภาพที่หลากหลายของคนหาดใหญ่และนักท่องเที่ยวจากทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ และอื่นๆ

และเรื่องสุดท้ายคือการทำให้หาดใหญ่เป็นสมาร์ทซิตี้จริงๆ อย่างที่ควรจะเป็น เพราะแม้เทศบาลจะประชาสัมพันธ์การเป็นเมืองสมาร์ทของหาดใหญ่ไปแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าในเชิงกระบวนการ เรายังไปไม่ถึงไหน เพราะหน่วยงานเทศบาลเองก็ยังไม่สมาร์ทเท่าไหร่เลย ผมบอกเสมอว่าถ้าจะสมาร์ท เราต้องเป็นตัวอย่างให้เขาดู เทศบาลควรเปลี่ยนมาใช้โซลาร์เซลล์อย่างเต็มรูปแบบได้หรือยัง บรรจุภัณฑ์พวกพลาสติกหรือโฟมควรเลิกใช้ได้หรือยัง และที่จอดรถ EV มีและครอบคลุมพอหรือยัง

ถ้าเราไม่สมาร์ทก่อน ระบบราชการยังไม่สมาร์ท คนหาดใหญ่ก็จะไม่เห็นว่าสมาร์ทซิตี้มีประโยชน์ตรงไหน นั่นแหละครับ คุณนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาคำนวณว่าถ้าคนหาดใหญ่ช่วยกันปลูกต้นไม้คนละหนึ่งต้น จะช่วยเพิ่มออกซิเจนได้เท่าไหร่ หรือลดก๊าซเรือนกระจกได้มากแค่ไหน ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ดีมากนะถ้าทำได้ แต่ประชาชนเขาก็มีสิทธิ์ไม่เชื่อคุณ ในเมื่อสำนักงานของเรายังมีวิถีปฏิบัติไม่ต่างไปจากเดิม

ผมกล่าวตรงนี้เพื่อเป็นการย้ำเตือนตัวเองและทีมงานเทศบาลทุกคนว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องจำเป็น และเราต้องเริ่มให้เร็วเท่าที่จะทำได้”

เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ 
ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ด้านการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาท้องถิ่น 
และอดีตรองเลขาธิการ ศอ.บต.

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย